menu Menu
อะไร work ไม่ work ในการศึกษา (ตอนที่ 2)
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Human & AI on August 26, 2014 0 Comments 77 words
Plated: อาหารหรูผ่านไปรษณีย์ Previous Galactic Pizza: พิซซ่าพิทักษ์โลก Next

ความยาวในการอ่าน: ~ 4 นาที
บทสรุป:  การทำโครงการ teacher incentive เพื่อประเมินความสามารถของครูนั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของครูและผลการเรียนของนักเรียนได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อที่ ๆ การศึกษายังไม่ค่อยดี  อย่างไรก็ตามต้องอย่าลืมสร้างโครงการอบรมฝึกฝนเพื่อช่วยครูที่ยังด้อยความสามารถให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กับเกณฑ์การประเมินใหม่ ๆ ด้วย


ในตอนที่ 1 ผมได้สรุปผลของงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาไปแล้วในมิติของการลดค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียน การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลดีของการศึกษา และการแจกจ่ายอุปกรณ์การเรียนการสอน  ตอนที่ 2 จะเน้นงานวิจัยที่เกี่ยวกับครูมากขึ้นครับ

การให้เงินตามผลงาน เวิร์คได้แต่มีข้อแม้

ผมดีใจที่เกิดมาโชคดีได้ไปโรงเรียนที่อย่างน้อยที่สุด คุณครูมีจรรยาบรรณ ไม่เคยโดดสอน  ในทางทฤษฎีแล้ว การให้เงินรางวัลน่าจะทำให้ครูที่ชอบโดดสอนหรือไม่ค่อยขยันนั้นพัฒนาตนเองได้  แต่ในชีวิตจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นครับ

9-Child-in-Udaipur,-India-takes-photo-of-her-teacher-and-class,-Andrew-Fraker

  • จ้างครูให้มาทำงานโดยใช้กล้องถ่ายรูป – ไม่น่าเชื่อ แต่ว่ายังมีหลายโรงเรียนในประเทศกำลังพัฒนาที่ครูเอาแต่กินเงินเดือน  “โดดสอน” ไม่ยอมมาทำหน้าที่  งานวิจัยชื่อดังของ Duflo, Hanna, Ryan (2010) วัดผลของการใช้ “กล้องถ่ายรูปบอกเวลา” เพื่อบันทึกการมาเข้าทำงานของครูในอินเดีย และทำการให้โบนัสตามจำนวนวันที่ครูมาทำงานจริง  พบว่า ครูโดดสอนจาก 44% ลงเหลือแค่ 21% ภายใน 30 เดือน  คะแนนสอบเด็กสูงขึ้น 0.17sd เมื่อเทียบกับโรงเรียน control group
  • จ้างครูให้มาทำงานโดยให้ครูใหญ่เช็ค – ไม่มีผลใด ๆ ทั้งสิ้นต่อการขาดสอนหรือคะแนนสอบในโรงเรียนที่ประเทศเคนย่า (Kremer and Chen 2001)
  • จ่ายเงินเดือนตามผลงาน – สามารถนำไปสู่ผลการเรียนที่ดีขึ้นได้จริง (Muralidharan and Sundararaman 2011) ยกตัวอย่างเช่น โครงการหนึ่งในประเทศอินเดียพบว่าการจ่ายเงินตามผลงานครูนั้นมีผลทำให้คะแนนสอบเลขและภาษาเพิ่มขึ้น 0.27sd กับ 0.18sd ภายในสองปี  ที่น่าสนใจกว่าคือโครงการนี้จ่ายเงินให้น้อยกว่าโปรแกรมอื่น ๆ ที่มีการวัดผลในโลก แต่กลับมีผลผลักดันคะแนนสอบได้มากที่สุด  แปลว่าการทุ่มเงินลงไปกับโครงการมาก ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าออกมาครับ   อีกงานวิจัยของ Glewwe, Illias, and Kremer (2010) ที่ประเทศเคนย่านั้นพบว่าการเพิ่มเงินเดือนตามคะแนนนั้นทำให้คะแนนสอบเพิ่มจริง แต่คะแนนเพิ่มเฉพาะในวิชาที่อยู่ในสูตรที่ใช้ในการประเมินโบนัส  ไม่เกิดผลในวิชาอื่นที่ไม่ได้เอาไปผูกไว้กับสูตรโบนัสเลย  ที่น่าวิตกกว่าคือโครงการประเภทนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กขาดเรียนหรือเด็ก drop out ได้เลยแม้แต่นิดเดียว
  • ระวังการ “โกง” – ข้อควรระวังของการทำโครงการประเภทนี้คือพฤติกรรมแย่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การสอนสักแต่ว่าให้เด็กไปทำคะแนนได้ดี (teach to the test) ไม่ได้แคร์ว่าเด็กเข้าใจถ่องแท้จริง  หรือการโกงข้อสอบโดยนักเรียน (เวลามีโบนัสเงินรางวัลให้กับตัวเด็กนักเรียนด้วย)

โครงการพัฒนาครู เวิร์คและสำคัญมาก

บางทีการใช้เงินตราเป็นตัวหลอกล่อจูงใจให้ครูมาสอนหรือตั้งใจทำงานขึ้นนั้นยังไม่พอในการทำให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาการเรียนรู้อย่างจริงจังจริง ๆ  ดังนั้นโครงการฝึกอบรบเพื่อพัฒนาครูจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ขาดไม่ได้หากเราอยากจะก้าวไปอีก step นึงครับ

8295064646_d57b790422_z

 

  • การมี Professional Development สำหรับครูอาจมีผลดี – ยังมีงานวิจัยไม่มากพอในประเทศกำลังพัฒนาที่จะตอบโจทย์นี้ แต่มีงานของ Yoshikawa et al. (forthcoming) ที่ไปทำการวัดผลในโรงเรียนอนุบาลในประเทศชิลี พบว่าการอบรมครูเรื่องเทคนิคการสอนและกลยุทธ์ในการช่วยให้เด็กสามารถควบคุมความประพฤติได้ดีขึ้นนั้น สามารถพัฒนา Emotional Support กับ Classroom Organization ได้ดีขึ้น แต่ไม่มีผลต่อความประพฤติหรือความสามารถทางภาษา  จุดอ่อนของโครงการแบบนี้ในเด็กเล็กคือ ครูเก่งขึ้นจริงแต่เด็กเล็กขาดเรียนบ่อย จึงอาจเป็นเหตุที่ว่าทำไมไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่นัก
  • การให้ feedback เกี่ยวกับผลการเรียนของเด็กไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่นัก – Muralidharan and Sundararaman (2010) ทำการทดลองในอินเดียและพบว่าโครงการแบบนี้ไม่ได้ทำให้ผลการเรียนท้ายปีของเด็กที่ครูได้ feedback ดีขึ้นกว่า control group เลย  ครูที่ได้ feedback อาจจะทำงานหนักกว่าเพราะว่าอยากพัฒนาผลการเรียนของเด็ก ๆ แต่อาจไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรจึงจะพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
  • การแนะนำครูอย่างละเอียดว่าควรสอนอะไรเพิ่มและสอนอย่างไร เวิร์คมาก – โปรแกรม Shishuvachan เพื่อเพิ่มความสามารถในการอ่านหนังสือของเด็ก ๆ ในประเทศอินเดียนั้นถือว่าเป็นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง (ใช้ storybooks, alphabet charts, flashcards และเพิ่มหนังสือที่เหมาะกับวัย) โดยโปรแกรมนี้บอกครูหมดว่าสอนอย่างไร อะไร เมื่อไหร่ และมีการตรวจเช็คค่อนข้างถี่ว่าครูนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้จริง  พบว่าผลความสามารถในการอ่านนั้นเพิ่มขึ้นสูงถึง  0.12-0.70sd
  • แนะนำครูให้นำการอ่านมาราธอน เวิร์คมาก – อีกหนึ่งโครงการที่ดีคือโครงการเพื่อพัฒนาการอ่านที่ฟิลิปปินส์ ที่นำหนังสือบริจาคที่เหมาะกับวัยมาให้โรงเรียนยากไร้ หลังจากนั้นฝึกให้ครูทำการนำ “การอ่านมาราธอน” ยาวหนึ่งชั่วโมงเต็มเป็นเวลาหนึ่งเดือน  พบว่าโครงการนี้ทำให้คะแนนการอ่านขึ้น 0.13sd และเพิ่มจำนวนหนังสือที่เด็ก ๆ อ่านมากกว่าเดือนที่แล้วถึง 7.1 เล่ม

สรุปตอนที่ 2

ผู้อ่านคงเห็นคร่าว ๆ แล้วว่าการพัฒนาการศึกษานั้นใช้แรงเงินและแรงใจ รวมไปถึงแรงวิจัยอันมหาศาล  บทเรียนที่ผมอยากให้ผู้อ่านได้ติดมือกลับไปคือ

  1. อย่าเชื่องานวิจัยที่ไม่ได้มาตรฐาน – พยายามหลีกเลี่ยงงานวิจัยกลวง ๆ ที่ไม่ได้พยายามหา causality แต่เอาแต่โชว์ว่า x กับ y นั้น “แค่เกี่ยวข้องกัน” เพราะมันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจขึ้นเลยว่าทำ x แล้วจะเกิด y ขึ้นไหม
  2. อย่าสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาแบบมั่ว ๆอนาคตของเด็ก ไม่ใช่สนามเด็กเล่นของผู้ใหญ่ที่จะแจกโน่นแจกนี่เป็นว่าเล่น  อย่างที่เห็นมาสองตอนนะครับ  การศึกษานั้นลึกซึ้งและซับซ้อน และต้องการผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์จริง ทั้งในห้องเรียน ห้องวิจัย และห้องประชุมมาช่วยกันพัฒนา
  3. ผลักดันการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้ – การวัดผลการเรียนให้ถูกต้อง สมจริง เป็น step แรก ๆ ที่เราต้องทำให้ได้ดี  ความอื้อฉาวของ O-net A-net เมื่อปีก่อน ๆ อะไรนั่นคือฝันร้ายที่ประเทศไหนในโลกก็ไม่ต้องการ   หากไม่มีมาตราวัดผลการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ  เราจะไปวิจัยอะไรได้?
  4. การพัฒนาคุณภาพครูนั้นสำคัญ – อาชีพครูก็ควรมี professional development เพื่อทำให้ความสามารถของครูพัฒนาขึ้นอยู่ตลอดเหมือนที่อาชีพอื่นเขามีกัน
  5. ทุ่มเงิน ทุ่มแรง ให้พัฒนาครูนั้นไม่พอ – ต้องมีโครงการพัฒนาครูที่สามารถให้คำแนะนำโดยละเอียดที่ครูสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน

ไว้รวบรวมงานวิจัยได้เพิ่มแล้วจะเอามาลงตอนที่ 3 ครับ

education การศึกษา วิจัย


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up