ผมได้ติดตามความเคลื่อนไหวจากการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) 2017 ณ กรุงดาวอสอย่างใกล้ชิด ซึ่งในปีนี้ทาง WEF ได้จัดวงเสวนาในหัวข้อที่สามารถกระทบความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกไว้มากกว่าถึง 400 วงด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องความเหลื่อมล้ำไปจนถึงชะตากรรมของโลกาภิวัฒน์
สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่มีเวลาดื่มด่ำกับการดวลพลังสมองของเหล่าผู้นำการเมือง นักธุรกิจ และนักคิดผู้ทรงอิทธิพลที่มาร่วมการประชุมครั้งนี้ ผมคัด 3 เรื่องที่น่าสนใจที่สุดมาเสนอให้อ่านกันในบทความนี้ครับ
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในการประชุมครั้งนี้ที่ใครๆ ก็พูดถึงกันก็คือบทบาทใหม่บนเวทีโลกของจีนในฐานะ “ผู้กอบกู้โลกาภิวัฒน์” ที่หลายคนต่างให้ความหวังไว้หลังจากชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์
สุนทรพจน์ของผู้นำจีน สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 17 มกราคม ชี้ให้เห็นชัดว่าจีนต้องการอุดช่องว่างผู้นำบนเวทีโลกที่สหรัฐฯ กำลังเปิดทางให้ ตลอดสุนทรพจน์นี้เขาได้ย้ำจุดยืนของจีนไว้อย่างชัดเจนว่าโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยี และการค้าเสรีไม่ใช่ “ปัญหาที่แท้จริง” อย่างที่ “ชนชั้นกลางผู้ถูกลืม” ในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วคิด
ทั้งสามอย่างนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจ การไปต่อต้านมันเพียงเพราะเราไม่ชอบผลกระทบทางลบนั้นไม่ต่างกับการกลัวคลื่นลมในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ (เศรษฐกิจโลก) จนยอมจมน้ำตาย แทนที่จะหาวิธีช่วยกันว่ายน้ำให้แข็ง…เพราะยังไงทะเลก็จะมีคลื่นลมวันยังค่ำ
นอกจากนั้น สี จิ้นผิง ยังใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ เช่น การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย ถึงขนาดที่ว่าหากแทนคำว่า “China” ด้วย “America” อาจจะหลงคิดไปว่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ ที่กำลังกล่าวสุนทรพจน์นี้เลยด้วยซ้ำ!
คำถามคือนี่เป็นแค่ลมปากหรือไม่?
เพราะว่าการเป็น “ผู้กอบกู้โลกาภิวัฒน์” ที่แท้จริงนั้นจะต้องไม่ทำการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุน แรงงาน หรือข้อมูลข่าวสารอย่างที่จีนยังคงทำอย่างเข้มงวด แต่ในเมื่อสถานการณ์โลกาภิวัฒน์ดูหดหู่รอบด้านแบบนี้ ดูเหมือนว่าผู้ร่วมงาน WEF ครั้งนี้แทบจะยอมรับจีนในบทบาทใหม่นี้กันหมดภายในสุนทรพจน์เดียว
(อ่านสุนทรพจน์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.weforum.org/agenda/2017/01/full-text-of-xi-jinping-keynote-at-the-world-economic-forum)
ไม่ต้องมีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ก็มองออกว่าโลกเรากำลังมีปัญหาเวลาผู้ชาย 8 คนมีความร่ำรวยเท่ากับคนที่จนที่สุดในโลกรวมกันทั้งหมดกว่า 3,600,000,000 คน (ลองนึกภาพคนจำนวนไม่ถึงหนึ่งทีมฟุตลอลเทียบกับคนจำนวนมากกว่าประชากรไทย 52 เท่า)
จะเถียงว่าผู้ชาย 8 คนนี้ทำประโยชน์ให้กับคนทั้งโลกพอก็คงเถียงได้ยาก เพราะอย่างที่คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF กล่าวไว้ในวงเสวนาหัวข้อ “Squeezed and Angry: How to Fix the Middle-Class Crisis” คนหลายพันล้านคนทั่วโลกยังลำบากกับการหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวอยู่เลย
จึงไม่แปลกที่ผู้เข้าร่วมประชุม WEF ครั้งนี้เห็นตรงกันว่าความเสี่ยงอันดับหนึ่งของปี 2017 คือกระแสประชานิยมที่กำลังปะทุขึ้นในหลายประเทศ ในอดีตกระแสประชานิยมมักเป็นต้นตอของนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องและนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นเป็นหลัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อและทำให้รัฐบาลขาดดุลการคลังมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด กูรูนักลงทุนชื่อดังอย่าง เรย์ ดาลิโอ ได้กล่าวไว้ในการประชุมครั้งนี้ว่าเขามองว่าปัญหาหลักของกระแสนี้คือความไม่แน่นอนของนโยบายที่จะตามมา
จุดนี้ผมคิดว่าสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราได้เห็นความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ภายในแค่อาทิตย์เดียวหลังจากที่ทรัมป์รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เช่น เซ็นล้มเลิก TPP พยายามระงับวีซ่าตะวันออกกลาง พยายามสหรัฐฯ ออกจาก UN และ เริ่มดำเนินแผนการก่อสร้างกำแพงที่เม็กซิโก)
แต่ที่แน่นอนที่สุดในขณะนี้คือการลงทุนในประเทศที่ “พัฒนาแล้ว” จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเพราะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงทางการเมืองมากกว่าแต่ก่อนด้วย กลายเป็นว่าต้องพลิกตำราแล้วเริ่มลงทุนด้วย mindset ตลาดเกิดใหม่อย่างไรอย่างนั้น
แม้ว่าผู้ร่วมประชุม WEF จะมีความเห็นต่างกันว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไง (จะเพิ่มทักษะประชาชน ขึ้นภาษีคนรวย หรือแจกเงิน) ธีมหลักคือจะต้องทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและสมองกล เป็นไปแบบมีส่วนร่วม (inclusive) มากกว่าเดิม
การที่นายเซอร์เกย์ บริน ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลกล่าวกับนายเคลาส์ ชวาร์บ ประธาน WEF ว่าเขาไม่เคยเห็นค่าของสมองกลเลยเมื่อไม่กี่ปีมาก่อน แต่ทุกวันนี้เขากลับต้องพึ่งพามันในแทบจะทุกผลิตภัณฑ์ของกูเกิล แสดงให้เห็นถึงความเร็วเกินคาดของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทั้งน่าประทับใจและน่าสะพรึงกลัว จากรูปการณ์แบบนี้ หากไม่มีการผลักดันให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เริ่มทดแทนแรงงานมนุษย์ได้แล้ว ระดับความเหลื่อมล้ำจะยิ่งสูงขึ้นอย่างแน่นอน
จุดที่น่าติดตามต่อไปก็คือสิ่งที่ผู้นำทางเทคโนโลยีสามารถช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าจากฝั่งรัฐบาลเอง ถึงแม้ว่าการพลิกล้มระบบเก่าในหลายๆ ประเทศจะเป็นการเบิกทางให้รัฐบาลใหม่ๆ มีโอกาสกระจายรายได้กลับไปสู่ “ชนชั้นกลางผู้ถูกลืม” มากขึ้น ดูจากรายชื่อและประวัติการทำงานของรัฐบาลทรัมป์แล้ว หลายคนเริ่มหวั่นใจแล้วว่ามีโอกาสสูงที่ชนชั้นกลางเหล่านี้ก็จะยังคงถูกลืมต่อไป
ในทางกลับกัน ถึงแม้ว่าธุรกิจยุคดิจิตอลจะมีความต้องการของแรงงานน้อยกว่าธุรกิจยุคเก่า แต่มันมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมากในสังคมนอกจากแค่ผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารเพียงไม่กี่คนได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของรายได้โดยตรง แต่อาจเป็นการให้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมไปกับความก้าวหน้านี้ในลักษณะอื่นๆ เช่น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (ฟินเทค) โอกาสในการหางานหรือตลาดเพื่อขายสินค้า (ดิจิตอลมาร์เก็ตเพลซ) และ ความปลอดภัย (self-driving cars)
ทั้งสามประเด็นที่ผมคัดเลือกมานี้เชื่อมถึงกันหมด ผู้อ่านคิดว่าประเด็นไหนน่าติดตามที่สุดก็คอมเมนต์มาได้เลยครับ
จีน ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ สหรัฐฯ เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐศาสตร์
Recent Comments