menu Menu
ตื่นเถิดชาวไทย: 10 ผล WEF อันน่าวิตก (2006-2014)
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Global Economy on September 5, 2013 0 Comments 84 words
[หนังสือ] มองอย่างเซียนสไตล์ ลี กวนยู Previous [ไอเดีย] Pinot's Palette​: ใครก็เพ้นท์ภาพแบบแวนโก๊ะได้ Next

แม้ว่าปีนี้ประเทศไทยจะขยับขึ้นมาหนึ่งอันดับเป็นอันดับที่ 37 ของโลกในเชิงความสามารถในการแข่งขันที่เวทีเศรษฐกิจโลก หรือ The World Economic Forum (WEF) จัดทำทุก ๆ ปีในรายงาน “The Global Competitiveness Report”  แต่ทว่า หากมองในรายละเอียดแล้ว ประเทศไทยกำลังอยู่ใน “ขาลง” อย่างเห็นได้ชัดในหลาย ๆ มิติ เช่น การศึกษา และประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ ที่ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจเราพัฒนาต่อไปในอีกขั้น

ดัชนีคะแนนของ WEF นั้นคำนวนมาจากทั้งข้อมูลที่วัดได้จริง ๆ (เช่น GDP หนี้รัฐบาล และจำนวนประชากร) และข้อมูลจากการสอบถามผู้นำภาคธุรกิจในแต่ละประเทศด้วย (เช่น ระดับคอรัปชั่น ระดับอุปสรรคในการทำธุรกิจ เป็นต้น)  สำหรับในประเทศไทย แบบสอบถามนี้มีผู้นำภาคธุรกิจตอบมาประมาณ 161 คน (มาจากหน้า 86 ของรายงาน)  เพราะฉะนั้นเวลาเราดูคะแนนจาก WEF ในบางมิติ เราควรคำนึงถึงข้อจำกัดและความลำเอียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการสอบถามผู้นำเหล่านี้ด้วยครับ

วันนี้ผมคัดเอาคะแนนของประเทศไทยในมิติที่ผมคิดว่าเราทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรและเรากำลังจะโดนเพื่อนบ้านเราแซง มาให้ผู้อ่าน settakid.com ได้ชมกันครับ

1. ความสามารถในการแข่งขัน

Global competitiveness index

มาเริ่มกันที่ดัชนีหลักก่อนนะครับ ดัชนีนี้ WEF เขาใช้สูตรเอาดัชนีคะแนนย่อยอื่น ๆ จาก 12 “pillars” มาผูก ๆ กันจนเป็นแต้ม 1 ถึง 7 นะครับ  น่าเจ็บใจที่เราทำได้แย่กว่าเมื่อหกเจ็ดปีที่แล้วอีก…มิหนำซ้ำยังกำลังโดนเพื่อนบ้านตีตื้นเอาดื้อ ๆ  ระวังให้ดี ชาวเขมรกำลังมาแรง…

2. คุณภาพของระบบการศึกษา

ระบบการศึกษา

เป็นที่คุ้นหูกันว่าชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ (อันนี้ผมต้องท่องไปสอบสมัยก่อน)  ผมคิดว่าเราก็ควรคิดแบบเดียวกันว่าระบบการศึกษาก็คือกระดูกสันหลังของชาติเหมือนกัน  ชาติเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต จะยืนหยัดในโลกแห่งการแข่งขันได้ไหม หรือจะฝ่อ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราให้อะไรเด็กพวกนี้กินดื่มเรียนอ่านดูฟัง  แต่จากด้านบนนี้เราจะเห็นได้ว่ากระดูกสันหลังของเรานั้นผุพังเหลือเกิน เพื่อนบ้านชาวเขมรและชาวอินโดเรายังกระดูกดีกว่าเราเลย

3. คุณภาพของการศึกษา (เลข+วิทย์)

เลข วิทย์

วิชาเลขและวิทย์นั้นเป็นที่ลือกันว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน  ที่ประเทศอเมริกามีการผลักดันวิชาสาย STEM ( sciencetechnologyengineering, and mathematics) ทุกครั้งที่ต้องการแข่ง ไม่ว่าจะเป็นสมัยสงครามเย็นหรือในขณะนี้   ตอนนี้คุณภาพของการศึกษาสายวิชาเลขและวิทย์ของเรานั้นอยู่ในระดับ “average” มาก ๆ ในอาเซียน และแย่ลงกว่าเมื่อหกเจ็ดปีที่แล้วอีกด้วย

4. ความไว้ใจในตัวนักการเมือง

ความเชื่อมั่นในตัวนักการเมือง

ตอนนี้เรารั้งท้ายจริง ๆ ครับ อยู่ในอันดับที่ 127 จาก 148 ทั่วโลก  ที่ทำได้แย่กว่าเราในเอเชียเห็นจะมีแค่ ประเทศเนปาลกับบังกลาเทศ สองประเทศเท่านั้น  มิตินี้เราแย่ลงเกือบทุกปี  คิดดูว่าแม้กระทั่งประเทศฟิลิปปินส์ที่ขึ้นชื่อว่านักการเมืองเล่นเส้นสาย นามสกุลมาก่อนความสามารถ คอรัปชั่นสุดขั้ว ยังทำแต้มได้ดีกว่าประเทศไทยแล้ว  คำถามในแบบสอบถามคือ:

In your country, how would you rate the ethical standards of politicians? [1 = extremely low; 7 = extremely high] | 2012–13 weighted average

ไม่มีใครชอบคนที่เราไม่ไว้ใจ  ครอบครัวอยู่กันได้เพราะว่าเราไว้ใจพ่อแม่พี่น้อง ว่าเขาจะไม่ทำร้ายเราหรือโกงเราไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กลุ่มเพื่อน  สังคม ประเทศชาติก็คือครอบครัวในระดับที่กว้างขึ้นมา

ระบบการปกครอง ไม่ว่าจะระบบไหนก็ตาม จำเป็นที่จะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวนักการเมืองและผู้นำ ว่าบุคคนเหล่านี้รับหน้าที่ทำงานเพื่อชาติ ทำงานอย่างสุจริตเพื่อเหตุผลที่ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งมา (หรือเคารพรัก/ศรัทธา ในระบอบอื่น)  หากใจกลางรัฐบาลเรามีภาพพจน์ไม่ดี พูดอย่างทำอย่าง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่มีประชาชนให้ความใว้ใจเลย  นักการเมืองรุ่นต่อมาจะทำอะไรก็ผิด จะทำอะไรก็ติดขัดทั้ง ๆ ที่บางนโยบายมีเจตนาและแผนที่ดี เพียงเพราะว่าประชากรเสียความเชื่อมั่นไปแล้วจากใข่เน่า ๆ ในตะกร้าใบใหญ่เท่านั้นเอง  ในขณะที่ประเทศอื่นการเมืองเขาโปร่งใสกว่า ประชาชนเชื่อใจ ทุกอย่างจะไปราบรื่นกว่า เถียงกันก็เถียงกันได้อย่าง civil ไม่ลำเอียงเท่ากับในระบบที่ความใว้ใจต่ำ ๆ  เราจะเอาอะไรไปสู้ ?

ทำอย่างไรให้ในอนาคต การรับใช้ชาติ การเมืองไม่ใช่แค่ “เกม” ที่เราทุกคนใช้คำกริยาว่า “เล่น” อันนี้เราต้องคิดให้ตกหากเราไม่อยากได้ที่โหล่ในโลก

5. ความเป็นอิสระของตุลาการ

judicial indep

ในมิตินี้เราไม่ได้แย่มาก ตอนนี้อยู่ในอันดับที่ 67 ของโลก แต่ที่สังเกตได้ชัดเลยคือ ความเชื่อมั่นในตุลาการ (Judicial Independence) มันเสื่อมลงเรื่อย ๆ  แนวโน้มดิ่งลงผิดกับของเพื่อนบ้านเรา  ความไม่สั่นคลอนของศาลคือหัวใจของระบอบประชาธิปไตย  อย่างข้างบนนี้ก็หมายความว่าหัวใจเราเริ่มเต้นแผ่ว ๆ ลงแล้วในสายตาผู้นำภาคธุรกิจไทย

6. ความฟุ่มเฟือยของรัฐบาล

thaied7

อันนี้ดิ่งเหวลงเกือบสองแต้มเต็มในหกเจ็ดปีที่ผ่านมานะครับ  ตอนนี้เรารั้งท้ายประเทศทั้งหมดที่ผมเลือกมาไว้ในกราฟด้านบน และอยู่ในอันดับที่ 107 จาก 148

ข้อสังเกต:

  1. ประเทศเรารวยขึ้นก็จริง แต่รวยแล้วได้ใจ ก็จนได้  ความมั่งคั่งของประเทศต้องดูรายจ่ายด้วย
  2. คะแนนเราดิ่งลงมากหลังจากปี 2011-2012 ตั้งแต่มีการถกเถียงกันเรื่องนโยบาย 2 ล้านล้าน  การแจกไอแพดให้นักเรียน ให้ส.ส. การให้เบี้ยเลี้ยงย้อนหลัง รถไฟฟ้าความเร็วสูง ข่าวอื้อฉาวจำนำข้าว และโครงการรถคันแรก
  3. ความไม่ไว้ใจในนักการเมืองในประเทศเราอาจจะทำให้ดัชนีนี้ดูแย่เกินจริง

7. ความชุกของการติดเชื้อเอชไอวี

HIV

อันนี้ผมคาดไม่ถึง  แม้ว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์จะดูต่ำ แต่ผมว่าของเรายังต่ำไม่พอ   ระดับ HIV prevalence เรายังอยู่สูงเกือบที่สุดในบรรดาประเทศนอกทวีปแอฟริกาอีกด้วย  เมืองจีนมีคนเป็นพันล้านเขายังทำได้ต่ำกว่า 0.5% เลย ยังพอมีหวังนะครับ

8. ค่าใช้จ่ายของนโยบายเกษตร

thaied9

มิตินี้เราก็โหล่ในกราฟด้านบนครับ  ผู้นำภาคธุรกิจไทยโดยเฉลี่ยแล้วคิดว่านโยบายเกษตรของไทยเรานั้นเป็นภาระของเศรษฐกิจเรามาก ๆ และไม่ตอบสนองผลประโยชน์และความต้องการของผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้เสียภาษี

9. การจัดซื้อของรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างนวัตกรรม

thaied11

คำถามในแบบสอบถามคือ

In your country, to what extent do government purchasing decisions foster innovation? [1 = not at all; 7 = to a great extent] | 2012–13 weighted average

ที่โหล่ในกราฟด้านบนอีกแล้ว…. แสดงว่าผู้นำภาคธุรกิจไทยคิดว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวมาก ๆ ในการจัดซื้อสินค้าหรือการจัดจ้างที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้ประเทศไทยก้าวกระโดดจาก efficiency stage ที่เราติดหล่มอยู่มาหลายปี

10. ขีดความสามารถด้านนวัตกรรม

thaied10

 

ในสายตาผู้นำในภาคธุรกิจไทย ประเทศเราคงติดหล่ม efficiency-driven economy ไปอีกนาน กว่าจะได้ขยับไปเป็น innovation-driven economy เพราะว่าพวกเขาไม่ค่อยเห็นว่าธุรกิจไทยมีขีดความสามารถที่จะผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้

สรุป

ผลลัพธ์อันน่าวิตกที่เราเห็นกันด้านบนมันบ่งบอกอะไรหลายอย่างครับ

  1. นี่คือมุมมองจากภาคธุรกิจ – หลายมิติที่เราทำได้ไม่ดี มาจากการวัดผลจากแบบสอบถามเหล่าผู้นำภาคธุรกิจ ไม่ได้มาจากภาคประชาชนและไม่ได้วัดได้จริง ๆ
  2. ภาคธุรกิจ vs. รัฐบาล – เห็นได้ชัดว่า ผู้นำภาคธุรกิจเห็นการกระทำของรัฐบาลไทยเป็น “ก้างขวางคอ” ทั้งในการทำธุรกิจของตนและในการพัฒนาประเทศ
  3. รัฐบาลต้องสอบซ่อม – ทุกมิติที่ผมนำมาเสนอวันนี้ถือเป็นความรับผิดชอบหลัก ๆ ที่เป็นมาตราวัดว่ารัฐบาลเราทำได้ดีแค่ไหนในเชิงการพัฒนาขีดความสามารถของชาติ
  4. กระดูกสันหลังเปราะ – ส่วนหนึ่งของเด็ก ๆ ในวันนี้คือแรงงานของภาคธุรกิจในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นหากกระดูกอ่อน ๆ เหล่านี้ผ่านระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพดีพอ ?

การสำรวจความคิดเห็นของผู้นำภาคธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงด้านความลำเอียง แต่อย่างไรก็ตาม การที่ภาคธุรกิจไม่คิดว่ารัฐบาลตัวเองทำหน้าที่ได้ดีพอ เป็นสัญญานร้ายว่าเศรษฐกิจเรากำลังทำงานได้อย่างไม่เต็มที่   ในโลกแห่งการแข่งขันและโค้งสุดท้ายก่อน AEC นี่เป็นสิ่งสุดท้ายที่เศรษฐกิจเราต้องการ!

น่าประหลาดที่หลายอย่างใน 10 มิตินี้มาจาก “pillars” ที่เป็นพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะ “pillar 1” ที่วัดการทำงานของรัฐบาล  ไม่แน่ใจว่าเราเจริญมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร

ในมุมมองของผม ผมคิดว่าก่อนที่เราจะเริ่มแตกตื่นทำอะไรใหญ่โตหรือจัดซื้อจัดจ้างเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ถึงเวลาแล้วที่เราควรหยุดตั้งสติก่อน และย้อนกลับมาทบทวนอะไรที่ basic มาก ๆ ว่า การระบบการปกครองสังคม ระบบการจัดจ่ายทรัพยากร  ระบบการคัดเลือกผู้นำรัฐ และระบบการพิจารณาการลงทุนเพื่ออนาคตของส่วนรวม ควรจะทำด้วยวิธีใดเพื่อที่จะให้ประเทศก้าวหน้าไปได้โดยที่ทุก “ภาค” ทำงานร่วมกันได้แบบมีประสิทธิภาพ

“เท้า” เป็นอวัยวะที่คนเรามองว่าค่อนข้างสกปรก จะมีแผลนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร ไกลหัวใจ  เราไม่ค่อยอยากไปยุ่ง  ปล่อยมันไป

แต่อย่าลืมว่า ไม่มีเท้า เราก็ยืนไม่ได้ …

การเมืองการปกครองก็เหมือนกัน เราอาจไม่พอใจกับสถานะและสุขอนามัยของมันในวันนี้….แต่เราไม่ควรปล่อยปละละเลย

วันนึงหากไม่มีมัน…ก็ไม่มีคำว่าประเทศ  อย่าว่าแต่ความสามารถในการแข่งขันเลยครับ

global competitiveness report wef world economic forum การปกครอง การเมือง ประเทศไทย เศรษฐกิจ ไทย


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up