คงจะไม่มีวิธีไหนที่เราจะสามารถสัมผัสกับจุดเด่นจุดด้อยและประสิทธิภาพของระบบสาธารณะสุขได้ดีเท่ากับเมื่อตัวเราเองล้มป่วยลงและต้องเดิมพันชีวิตและสุขภาพของเรากับมัน
วันนี้ขอแนะนำหนังสือดีอ่านสนุกชื่อ “The Healing of America: a Global Quest for Better, Cheaper, and Fairer Health Care” ที่มีข้อคิดและบทเรียนดีๆ มากมายหลังจากที่ผู้เขียน T.R. Reid ได้ตัดสินใจออกตระเวนหาหมอทั่วโลกเพื่อค้นหา “ระบบสาธารณสุขในฝัน” ที่มีประสิทธิภาพ มีราคาย่อมเยา และมีความเป็นธรรม
มันน่าทึ่งที่ปัญหาหัวไหล่ปัญหาเดียวนี้ของ T.R. Reid สามารถถูกวินิจฉัยและรักษาบำบัดด้วยวิธีที่แตกต่างกันสุดขั้วในแต่ละประเทศ ตั้งแต่คำแนะนำจากหมอ hi-tech เสนอให้ผ่าตัดแพงๆ แบบ “Total Arthroplasty” ไปจนถึงการนวดแผนโบราณกับจิบชาแบบอายุรเวทในประเทศอินเดียที่ราคาย่อมเยา อีกทั้งรายละเอียดต่างๆ ก่อนเข้าถึงตัวหมอ เช่น การรอคิวและการใช้ประกันสุขภาพก็แตกต่างกันลิบลับ
ความหลากหลายของคุณภาพ ประสิทธิภาพ ราคา และความแฟร์ของระบบสาธารณสุขทั่วโลกที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงทำให้เราฉุกคิดได้ว่าถ้าสมมุติว่ามีเด็กคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่การแพทย์สามารถรักษาได้ ทำไมชะตาชีวิตของเด็กคนนี้ถึงจะต้องมาเดิมพันกับการที่แค่ว่าเขาเกิดมาเป็นพลเมืองของชาติใดด้วย (เลือกไม่ได้) หากโชคดีเกิดมาในประเทศที่ระบบสาธารณสุขให้น้ำหนักกับความแฟร์มากหน่อย เด็กคนนี้ก็จะมีชีวิตรอดและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขแม้ว่าพ่อแม่ของเขาจะไม่มีเงินเลยสักแดงและไม่มีเส้นสายกับคุณหมอชื่อดัง แต่หากเด็กคนนี้โชคร้ายเกิดมาในสังคมที่ระบบสาธารณสุขที่ไม่ดีและไม่แฟร์เท่า (หรือไม่มีเลย…) เขาจะเสียชีวิตแบบที่ไม่มีใครแยแสและไม่มีใครช่วยได้
ผู้เขียนคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าอ่านมากสำหรับใครที่สนใจการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพราะว่า T.R. Reid พบว่าแม้จะไม่มีระบบไหนเลยที่ดีเลิศในทุกๆ มิติแต่ในภาพรวมแล้วมันพอมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าระบบแบบไหนก่อให้เกิดผลลัพธ์แนวไหน และมีหลักฐานพอที่จะแสดงให้เห็นว่าคนส่วนมากมักเข้าใจอะไรผิดๆ เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในต่างแดน
จุดเริ่มต้นของการเดินทางของ T.R. Reid คือความไม่พอใจกับระบบสาธารณสุขในประเทศสหรัฐฯอเมริกาบ้านเกิดของตน คนส่วนมากที่ไม่ได้ติดตามวงการสาธารณสุขจะไม่ทราบว่าระบบสาธารณสุขของประเทศสหรัฐฯอเมริกานั้นมีปัญหาเรื้อรังมากถึงขั้นดูตัวเลขสุขภาพแล้วไม่น่าเชื่อว่าเป็นตัวเลขจากประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
สิ่งที่น่าฉงนที่สุดคือระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและให้บริการทางสุขภาพมาก แต่ผลลัพธ์ทางสุขภาพกลับสู้หลายประเทศรุ่นน้องไม่ได้เลย ดังตัวอย่างในตารางด้านบน อัตราตายทารกถือว่าสูงจนน่าเกลียด อายุคาดเฉลี่ยค่อนข้างต่ำทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงเกินสองเท่าของประเทศอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ประกันสุขภาพของสหรัฐฯ ยังไม่ครอบคลุมประชากรทุกคนอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ T.R. Reid จึงออกตระเวนหาหมอทั่วโลกเพื่อรักษาปัญหาหัวไหล่ของเขาและทำการบันทึกจุดเด่นจุดด้อยของระบบสาธารณสุขหลายๆ แบบในโลก
จากการท่องโลกหาหมอ T.R. Reid สรุปว่าระบบสาธารณสุขทั่วโลกสามารถถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภทแบบคร่าวๆ หยาบๆ :
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะคัดเอาบทเรียนที่ได้จากสี่ประเทศตัวอย่างมาให้ผู้อ่านดู
คนฝรั่งเศสเขาเชื่อกันว่า “เราทุกคนเท่าเทียมกันเมื่อล้มป่วยลง” ส่วนคนญี่ปุ่นเขาเชื่อกันว่า “การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเป็นความรับผิดชอบของคนเรา”
ระบบ Bismarck ในประเทศฝรั่งเศสนั้นแม้ว่าจะเป็นระบบที่ผู้จ้างงานเป็นผู้ไฟแนนซ์ประกันสุขภาพของพลเมือง แต่พลเมืองจะได้ประกันนี้ติดตัวไปตลอดชีวิต ต่างกับชะตากรรมของชาวอเมริกันโดยสิ้นเชิงที่เมื่อลาออกหรือถูกไล่ออก ซึ่งคนเหล่านี้มักจะประสบปัญหาในการหาประกันสุขภาพใหม่ จุดต่างสำคัญอีกจุดคือบริษัทประกันส่วนมากในฝรั่งเศสนั้นไม่แสวงหากำไร ไม่สามารถปฏิเสธใครได้ และไม่สามารถยกเลิกประกันหลังจากผู้ใช้บริการลาออกหรือถูกไล่ออกได้
ออฟฟิศแพทย์ที่ T.R. Reid เอาหัวไหล่ไปรักษาที่ฝรั่งเศสนั้นดูสมถะมากเมื่อเทียบกับออฟฟิศแพทย์ออร์โทพีดิกส์ที่สหรัฐฯ แต่สิ่งที่เขาประทับใจที่สุดเห็นจะเป็นระบบการ์ดสุขภาพชองฝรั่งเศส หรือที่เรียกกันว่า “Carte Vitale” ซึ่งเป็นการ์ดที่บรรจุข้อมูลประวัติสุขภาพและข้อมูลประกันสุขภาพของผู้ป่วยทั้งหมดลงไปในการ์ดใบเดียว ข้อดีคือทำให้ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาประวัตินานเมื่อไปพบแพทย์ใหม่ แค่เสียบการ์ดใบเดียว จ่ายเงินผ่านการ์ดก็ได้ ข้อนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความสะดวกสะบายอย่างเดียวแต่ยังเป็นเรื่องของการประหยัดค่าแรงงานโดยการเอาคอมพิวเตอร์มาทำงานแทนได้ ระบบสาธารณสุขที่ไม่มีระบบการ์ดเช่นนี้อย่างในสหรัฐฯ นั้นทุกคน ไม่ว่าจะคนไข้หรือแพทย์ต่างก็ปวดหัวกับการดึงข้อมูลประกันสุขภาพของผู้ป่วย มันซับซ้อน และมีรายละเอียดมากเกินควรถึงขั้นที่ว่าคลินิกส่วนใหญ่จะต้องจ้างพนักงานมาทำงานนี้โดยเฉพาะ
อีกประเทศที่มีความเชื่อที่แข็งแกร่งเกี่ยวกับสุขภาพคือประเทศญี่ปุ่น T.R. Reid อธิบายว่ามันมีค่านิยมอย่างหนึ่งในชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า “personal mandate” ซึ่งก็คือความรับผิดชอบของคนเราที่จะต้องมีประกันสุขภาพ
ระบบสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่นเป็นระบบที่ T.R. Reid กลัวว่าจะต้องรอคิวนานและต้องจ่ายเงินค่ารักษาแพงที่สุด ทว่าเขาคิดผิดหมดทั้งสองข้อ
ญี่ปุ่นมีระบบสาธารณสุขที่ใช้ระบบ Bismarck เช่นเดียวกับฝรั่งเศสแต่จะแตกต่างก็ตรงที่มีบริษัทประกันที่ไม่แสวงหากำไรให้เลือกแบบไม่รู้จบ (มีเกิน 3 พันบริษัทแข่งกัน…ลองนึกถึงเวลาต้องตัดสินใจเลือกรสป๊อกกี้หรือน้ำดื่มในประเทศญี่ปุ่นดู) เหตุผลที่ราคาค่าบริการนั้นไม่แพงทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าระบบการจ่ายบิลอาจจะยุ่งเพราะว่ามีบริษัทประกันมากมายเป็นเพราะว่า The Ministry of Health, Labour, and Welfare นั้นใช้อำนาจตลาดของตนเป็นผู้ช่วยเจรจาเพียงผู้เดียวและทำการต่อรองราคาให้กับบริษัทประกันกว่า 3 พันบริษัท คนญี่ปุ่นจึงมีทั้งทางเลือกและทั้งราคาที่ไม่แพงเกินจริงพร้อมๆ กันได้ในเวลาเดียวกัน
สองประเทศนี้น่าสนใจตรงที่มีแนวคิดที่ว่า “คนเราไม่ควรต้องจ่ายบิลค่ารักษาโรคใดๆ ทั้งสิ้น” จุดนี้ถือเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวแคนาดาภูมิใจเป็นพิเศษที่ว่าจะไม่มีชาวแคนาดาคนไหนเสียชีวิตเพียงเพราะว่าไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลและจะไม่มีชาวแคนาดาคนไหนต้องล้มละลายเพียงเพราะว่าชำระค่ารักษาโรคไม่ไหว ซึ่งสองสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในสหรัฐฯ เพื่อนบ้านของชาวแคนาดา
อีกจุดเด่นสำคัญของระบบแบบ National Health Insurance นั้นก็คือการที่ใช้รัฐบาลเป็นผู้ดูแลระบบสาธารณสุขในเกือบทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำตัวเป็น Single Payer ซึ่งสามารถทำให้การจ่ายบิลไม่ยุ่งเหยิงและไม่ศูนย์เสียประสิทธิภาพไปในระหว่างการเจรจาราคาบิลอย่างที่เป็นปัญหาอย่างมากในสหรัฐฯ
แต่ข้อจำกัดของแนวคิดและระบบแบบนี้คือการหนีไม่พ้นธรรมชาติของอุปสงค์และอุปทาน การเข้าคิวรอพบแพทย์ยาวเป็นเดือนๆ หรือเป็นปีถือเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักไม่ฉุกเฉินในประเทศแคนาดา เมื่อปรึกษากับแพทย์แล้วก็ยังจะต้องไปต่ออีกคิวเพื่อรอรักษารอผ่าตัดอีก ซึ่งมีการเล่าลือกันว่าชาวแคนาดาจำนวนมากที่ค่อนข้างมีฐานะนั้นบินลงมารักษาที่สหรัฐฯ เพื่อที่จะได้ลัดคิว
ข้อคิดสำคัญที่อยากผู้อ่านติดตัวไปจากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือมันมีหลายวิธีในการนำชาติไปสู่สังคมที่มีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ มีราคาย่อมเยา และมีความเป็นธรรมมากขึ้น
สิ่งที่เห็นในประเทศอื่นอาจไม่เวิร์คในประเทศเรา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราควรปิดกั้นแนวคิดและระบบที่แตกต่าง
บทเรียนหลักๆ ที่เห็นได้ชัดจากการเดินทางของ T.R. Reid คือความคิดแนวทุนนิยมของชาวอเมริกันที่ว่า “กำไร” ในเซ็กเตอร์สุขภาพจะนำประสิทธิภาพที่ดีกว่ามาให้เสมอนั้นไม่ถูกต้องเสมอไปและไม่นำความแฟร์มาให้ด้วย มีหลายประเทศที่บริษัทประกันแบบไม่แสวงหากำไรสามารถทำให้ประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขออกมาดีแถมยังให้บริการคุ้มครองผู้คนได้มากกว่าและไม่น่าเลือดหรือเกี่ยงลูกค้าเท่า
ความเชื่อของชาวอเมริกันอีกอย่างคือไม่ควรให้ภาครัฐรับผิดชอบระบบสาธารณสุขมากเกินไปเพราะรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่ากับการให้บริษัทต่างๆ แข่งกันเองในตลาด ซึ่งก็ไม่จริงอีกเมื่อ T.R. Reid พบว่ายังมีหลายประเทศที่ได้ประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้อำนาจตลาดของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชนในการต่อรองราคา และเป็นการลด administrative costs ไปในตัวอีกด้วย
สุดท้ายหัวไหล่ของ T.R. Reid รักษาหายได้ด้วยระบบสาธารณสุขของประเทศที่ไม่มีใครคาดหวังมากที่สุด จะเป็นประเทศไหนนั้นคงต้องลองไปอ่านกันเอง
แต่ข้อคิดที่สำคัญที่สุดจากหนังสือเล่มนี้ที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้ติดไม้ติดมือไปคือจะเห็นได้ว่ารูปแบบของระบบสาธารณสุขที่แตกต่างกันมากในโลกเรานั้นมีที่มาจากสิ่งเดียวเลยคือ “แนวคิด/ความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพและสิทธิ”
T.R. Reid กล่าวไว้ในตอนท้ายของหนังสือว่าคำถามแรกที่ทุกประเทศควรจะตอบให้ได้ก่อนพัฒนาระบบสาธารณสุขคือ “ชาติเรามีแนวคิดหรือมีค่านิยมที่ว่าการบริการสุขภาพเป็นสิทธิของประชาชนหรือไม่” หรือว่ายารักษาโรคและคำปรึกษาของแพทย์เป็นแค่สินค้าและบริการทั่วไปที่ใครมีเงินมากกว่าก็จะได้ครอบครองมันได้จำนวนมากกว่าและทันเวลากว่า
คำถามนี้เป็นคำถามที่น่าคิด แต่ก็ยังไม่ใช่คำถามที่ดีที่สุด เพราะว่าหากทำผลสำรวจจริงๆ ทุกคนก็ต้องบอกว่าต้องการของฟรี ท้ายสุดแล้วคำถามที่ควรตอบยิ่งกว่าคือ “อะไรบ้างคือบริการสุขภาพที่เป็นสิทธิของประชาชน อะไรบ้างที่ไม่รวมอยู่ในสิทธินี้” เพราะว่าทุกๆ สินค้าและบริการนั้นมีค่าใช้จ่ายและทรัพยากรชาติมีจำนวนจำกัด การแจกทุกอย่างให้ฟรีจึงย่อมมีข้อจำกัด ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นการต้องเข้าคิวเป็นเดือนๆ หรือ ปีๆ อย่างในประเทศแคนาดา แต่เขาก็ทนกันได้เพราะว่าชาวแคนาดาเขาชอบที่ไม่ว่าจนหรือรวยเขารอคิวด้วยกัน เขาไม่ชอบความรู้สึกที่ว่าเราต้องเหนือกว่าคนอื่น
แต่สำหรับชาวอเมริกันที่มีสังคมแบบตัวใครตัวมัน ใครเก่งใครได้ แนวคิดแบบนี้จะรอดยากในเวทีธุรกิจและการเมือง ชาติเราตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วก็มักมีแนวคิดดั้งเดิมที่ว่าชีวิตหนึ่งชีวิตไม่เท่ากับอีกหนึ่งชีวิต ไม่น่าประหลาดใจที่ทำไมเราถึงถูกกดดันเรื่อง human rights violations อยู่เป็นประจำ สำหรับทั้งไทยทั้งสหรัฐฯ ปัญหาประสิทธิภาพของภาครัฐก็น่าเป็นห่วง จะให้ฝากทุกอย่างไว้ในมือรัฐบาลอย่างที่หลายประเทศเขาทำกันได้อย่างประสบความสำเร็จก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากทีเดียว ไม่แปลกที่หลายคนไม่ต้องการให้รัฐบาลหยิบเรื่องนี้ไปทำแต่เพียงฝ่ายเดียวเหมือนในประเทศอังกฤษหรือประเทศแคนาดา จะให้ไทยเราฝากชีวิตประชากรไว้ในอุ้งมือของบริษัทประกันเอกชนแบบที่สหรัฐฯ ทำกันก็น่าหวาดเสียว จะให้ไม่ต้องจ่ายค่าบริการทางสุขภาพก็จะมีบางคนกังวลว่าจะมีคนเลิกดูแลสุขภาพและมาเป็นภาระทางภาษี กังวลว่าจะต้องรอคิวนาน กังวลว่าจะไม่ได้นอนห้อง VIP แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีคนอีกจำนวนมากที่กังวลว่าหากไม่มีบริการฟรี ตนจะไม่สามารถช่วยชีวิตคนที่ตนรักได้
ด้วยความซับซ้อนของเรื่องความแฟร์และความมีประสิทธิภาพเหล่านี้ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างแท้จริงจึงจะมาจากการเปิดประเด็นเกี่ยวกับ “สิทธิพื้นฐานของสุขภาพ” นี้ในสังคมเราเพื่อที่จะช่วยให้เราร่วมกันร่างระบบสาธารณสุขในฝันของพวกเราขึ้นมาได้
อะไรคือระบบสาธารณสุขในฝันของคุณ?
ชอบครับ อ่านแล้วเหมือนเปิดโลก
ปัญหาการปฏิรูประบบสาธารณสุขจะเป็นปัญหาไปตลอดการ เพราะตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่ต้น ไม่ว่าคุณจะคิดว่าสุขภาพเป็นสิทธิหรือสินค้า ก็จะไปสร้างปัญหาอื่นตามมา เพราะการแก้ปัญหาทุกชนิดต้องใช้ความรู้ครับ ไม่ใช่ใช้เงิน(สินค้า) ความรู้สึก (สิทธิ) สุขภาพมีต้นตอใหญ่2แนวทาง โลกกำลังเอียงไปด้านเดียว คือการรักษา แต่ละเลย การป้องกัน แต่ไม่ใช่ความผิดของใคร เพราะเราแทบไม่มีความรู้เรื่องป้องกันเลย เศรษฐกิจและความเจริญ คือตัวแปรสำคัญที่ทำลายสุขภาพเพิ่มขึ้น โรคปวดหัวไหล่ T.R.Reid คือตัวอย่าง ผมขอทายว่าเขาไปรักษาหายที่ไต้หวัน คำถามสำคัญว่า ทำไมถึงหาย ประสิทธิภาพไม่เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขเลย ถ้าหายที่ประเทศนี้จริง สิ่งที่ต้องมาถกเถียงวิธีรักษามากกว่า
จริงอย่างที่คุณว่าครับ ความรู้ด้านการป้องกันยังห่างไกลมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินนะครับ อะไรกินแล้วเกิดมะเร็งจริงๆ นี่ยังตอบไม่ค่อยได้
แต่ผมเห็นต่างนิดนึงตรงที่ว่าความรู้ทางการรักษาและการป้องกันก็ยังไม่พอในการแก้ปัญหานี้ เพราะผมมองว่ามันไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์เท่านั้น มันมีหลายกรณีมากเหมือนกันที่แม้เราจะมีความรู้ในการรักษา แต่เงินคนไข้ส่วนมากไม่พอที่จะเข้ารับการรักษาได้ ถึงแม้โรงพยาบาลตามต่างจังหวัดไทยจะมีแพทย์เก่งๆ ประจำ ร.พ.ก็ยัง understaffed อย่างรุนแรงรับ demand คนไข้ไม่ไหว
ความเห็นต่างนี้ ครงกับคนส่วนใหญ่ 99% แต่จำเป็นต้องปฏิรูป เหมือนระบบสาธารณสุขตอนนี้ การมองปัญหาที่ปลายเหตุ (ป่วยเรื้อรังแล้ว) จะไม่มีวันแก้ปัญหาได้ ทุกๆวันของสังคมผู้สูงอายุ จะเพิ่มจำนวนคนไข้และกลายเป็นปัญหาทวีคูณไม่รู้จบ เงินเท่าไรก็ไม่พอ ถ้าป้องกันได้ ไม่ต้องเดินทางไปทั่วโลก ไปหาหมอที่รู้วิธีแก้ 1-2 ครั้งก็หาย อิทธิพลของโลกตะวันตกทำให้เราพีึ่งการรักษา โรคปวดหัวไหล่เกิดจากการนอนไม่ดี ทำให้แรงจากนำ้หนักตัวมากคทับตรงหัวไหล่ ถ้านอนตะแคงต้องปรับหมอนให้สูงเท่าความกว้างของไหล่ โดยใช้ผ้าห่มพับเพิ่มความหนา รองใต้หมอนเวลานอน ไม่กี่วันก็หาย ถ้าดู youtube เรื่อง Mitochondial etiology of disease ของ NIH ก็จะรู้ว่าปัญหาสุขภาพอีกหลายโรค(รวมทั้งมะเร็ง) ก็เป็นปัญหาของระบบพลังงานในตัวเรา ซึ่งเป็นปัญหาทางฟิสิกส์ ไม่มีทางที่การรักษาด้วยยา (สารเคมี) จะแก้ปัญหาได้ ต้องเน้นการออกกำลังกาย เปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางในชีวิตประจำวัน