menu Menu
สอนอะไรให้ไทยทันโลก
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Human & AI on November 6, 2014 5 Comments 21 words
อนุบาลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง Previous Buddhanomics: เศรษฐศาสตร์ในพระธรรม Next

เขาว่ากันว่าในอีกไม่กี่สิบปีงานบางชนิดเช่นนักบัญชีและเซลส์ขายบ้านจะหายไปจากโลกเพราะว่าวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ หลายประเทศเริ่มรู้สึกตัวและพยายามเตรียมประชากรรุ่นลูกหลานให้เติบโตขึ้นมาพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้โดยการปรับเปลี่ยนแนวทางการศึกษาให้แฝงเอา 21st century skills เข้าไปด้วย  บทความนี้จะไม่กล่าวถึงวิชาเพิ่มเติมที่โรงเรียนควรจะสอนเพื่อที่จะเตรียมเด็กรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือกับโลกสมัยใหม่ แต่จะเสนอให้ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดการเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครู หรือผู้ใหญ่รอบๆ ตัวเด็กๆ ให้คำนึงถึงการสอนสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ห้าสิ่งต่อไปนี้ที่น่าจะมีเข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่ออนาคตของเด็กมากเสียยิ่งกว่าสิ่งที่วิชาย่อยๆ แต่ละวิชานั้นให้แก่เด็กอีกด้วยซ้ำ

1. สอนให้ใฝ่รู้

225161313_fd388dd01f_z

ในโลกข้างหน้านั้นมีโอกาสสูงที่ระบบเศรษฐกิจจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วถึงขั้นที่ว่าบางสิ่งบางอย่างที่เราเคยเรียน เคยฝึก เคยท่อง เคยจำเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนจะหมดความสำคัญไปโดยสิ้นเชิง  วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงในความต้องการของตลาดโลกสามารถทำให้ทักษะ (skills) หรืองาน (jobs) บางประเภทสูญพันธุ์ไปได้ดื้อๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เทคโนโลยีในด้านการศึกษาออนไลน์ กับ เทคโนโลยีในตลาดแท็กซี่  ครูจำนวนมากจะตกงานเมื่อตลาดการเรียนออนไลน์โตพอและสามารถพิสูจน์ตัวเองให้กับบริษัทและผู้ประกอบการได้ว่าการเรียนออนไลน์นั้นสามารถผลิตและคัดพนักงานเก่งๆ ออกมาได้ดีกว่าโรงเรียนตัวเป็นๆ  ส่วนในกรณีของตลาดแท็กซี่นั้นคงไม่ต้องรอให้ถึง “ยุครถขับเองได้” แค่บริษัท Uber เปิดเกมรุกโดยการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในการใช้มือถือหารถไปรับไปส่งที่บริการดี วาจาสุภาพและตรงต่อเวลาก็ทำเอาเหล่าคนขับแท็กซี่และคนขับรถทั้งหลายผวาไปตามๆ กันแล้ว

แต่ว่าจะให้ฟันธงว่าอะไรคือสิ่งที่จะมาเปลี่ยนโลกในอีกยี่สิบปีข้างหน้าและอะไรที่จะกระทบคนไทยโดยตรงมากที่สุดนั้นคงทำได้ลำบาก  เพราะว่าหากเรานึกดูว่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้วโลกเราอยู่ตรงไหนคงใจหาย  เมื่อยี่สิบปีที่แล้วยังไม่มี Google บนโลกนี้และไม่มีใครใช้ internet ในเมืองไทยได้ด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กมีความใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง สอนให้เด็กมีไฟในแววตาที่จะไม่วอดแม้เวลาจะผ่านไปอีกยี่สิบสามสิบปี แม้ว่าโลกจะหมุนไปถึงไหนแล้ว เด็กๆ จะได้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเอาตัวรอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวได้โดยการหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องมีครูมานั่งจ้ำจี้จ้ำไช ไม่ต้องมีข้อสอบปลายภาคก็ยังอยากค้นหาความรู้อยากฝึกฝนทักษะใหม่ๆ  หากทำเช่นนี้ได้ ไม่ว่าสิ่งที่สอนไปตอนเด็กจะล้าสมัยหรือแม้กระทั่งว่าถูกพิสูจน์ในภายหลังว่าผิดเลยก็ตาม เด็กไทยจะยังมีโอกาสอยู่รอดและประเทศไทยก็จะไม่ต้องคอยเดินตามเขาอยู่ลูกเดียวแน่นอน

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งนี้ทำได้แน่นอนถ้าจะทำจริงๆ เพราะว่าเราทุกคนเคยมีความใฝ่รู้อันมหาศาลตั้งแต่เกิดมาแล้ว  ตั้งแต่เล็กคนเราส่วนมากเป็นคนขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็น ถามนู่นถามนี่ อยากเอานิ้วไปแยงโน่นแยงนี่  ไฟในแววตามันจะวอดก็เพราะว่าเราโตขึ้นมาในสังคมที่ทำให้การเรียนรู้ไม่สนุกอีกต่อไป เป็นสังคมที่ให้ผลตอบแทนกับการท่องหนังสือเป็นพันๆ หน้า อยากเรียนเคมีต้องจำตารางธาตุให้ได้ก่อนเลย  อยากเรียนฟิสิกส์ต้องจำสูตร ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงไม่มีใครต้องจำอะไรมากขนาดนั้น อยากอ่านหนังสือหาความรู้ก็ไปซื้อมาอ่าน อ่านแล้วสิ่งที่จำได้ปกติก็คือโครงเรื่องและข้อคิดต่อชีวิตจริง ไม่เห็นต้องจำรายละเอียดทุกรายละเอียด

2. สอนให้เรียน

3660097148_5d3ac33084_z

“สอนให้เรียน” ฟังดูเหมือนเล่นคำ เพราะจริงๆ แล้วครูมีหน้าที่สอนนักเรียนไม่ใช่หรือ  แต่ทว่า “สอนให้เรียน” นั้นเป็นสามคำที่ละเอียดอ่อนและน่าค้นหากว่าที่เราคิดยิ่งนัก  เพราะว่าเวลาการสอนเกิดขึ้นในห้องเรียนนั้นไม่ได้แปลว่าการเรียนจะต้องเกิดขึ้นด้วยเสมอไป  คนเรามีวิธีเรียนที่ต่างกัน บางคนต้องการให้มีครูสอนตัวต่อตัว แต่บางคนไม่จำเป็นต้องฟังครูก็ยังเรียนได้ ขอแค่มีหนังสือดีๆ มี internet และมีที่สงบๆให้เรียน  แม้กระทั่งเมื่อเด็กเหล่านี้เข้าสู่วัยทำงาน คนที่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าก็ยังจะเป็นคนที่ได้เปรียบกว่าคนอื่นมาก

“สอนให้เรียน” จึงแปลว่าสอนอย่างไรให้เด็กค้นพบวิธีเรียนที่เข้ากับตัวเองที่สุด  จะอ่านอย่างไรให้ไวและได้ใจความ จะทำการบ้านตอนเช้าหรือตอนเย็น จะแบ่งเวลาพักกับเวลาทำงานอย่างไร  น่าเสียดายที่ขณะนี้ดูเหมือนว่าทักษะเหล่านี้จะยังไม่มีโรงเรียนไหนสอน ส่วนมากมักจะปล่อยให้ทักษะเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาเองแบบเป็นไปตามธรรมชาติ  แต่สภาวะแวดล้อมในโรงเรียนแบบไหนที่จะทำให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะพวกนี้ขึ้นมาได้ง่ายกว่า ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะต้องเป็นสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างแข่งขันสูงและมีกิจกรรมให้เด็กทำจนตารางเวลาแทบไม่ว่างจะได้เกิดความคิดที่จะค้นหาวิธีเรียนให้มีประสิทธิภาพที่สุดในเวลาที่จำกัด  พูดง่ายๆ ก็คือสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อให้เด็ก “ทำน้อยให้ได้มาก” นั่นเอง

3. สอนว่า “คิด”  “รู้”

3479598520_4b10c80fff_z

ข้อแตกต่างข้อนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในหมู่นักปรัชญาและนักรัฐศาสตร์  รู้คือรู้ในสิ่งที่รู้ได้ ยกตัวอย่างเช่น รู้ว่าประเทศไทยมีดินแดนกว้างเท่าไร รู้ว่าขับรถยังไง ไปบ้านเพื่อนยังไง รู้ว่าหากเพิ่มความร้อนให้กับน้ำมากและนานพอน้ำจะเดือด  แต่ในทางกลับกัน คิดคือการก้าวไปให้ไกลกว่าพรมแดนและข้อจำกัดของความรู้ คิดถึงเป้าหมายของความรู้และคิดเพื่อเข้าไปสู่บางสิ่งที่จะรู้ยังไงก็รู้ไม่ได้ด้วยซ้ำ

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเราคิดกันจริงๆ จังๆ กันน้อยเหลือเกินในโลกสมัยนี้เพราะเราไม่จำเป็นต้องคิดก็รู้ได้ ในวันหนึ่งจะมีกี่นาทีเชียวที่เราหยุดทำอย่างอื่นแล้ว “คิด” อย่างจริงๆ จังๆ  สมัยนี้ไม่รู้อะไรก็ Google ขึ้นมาได้ภายในห้าวินาที  จะเสียเวลานั่งคิดไปทำไม

ผู้เขียนเห็นว่าความคิดสำคัญไม่แพ้ความรู้เพราะว่าการไร้ซึ่งความคิดนั้นมีอันตรายแฝงอยู่  แนวคิดนี้เป็นหนึ่งในแนวคิดของ Hannah Arendt (ฮานนาห์ อาเรนด์) นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมัน  เธอคิดว่าการไร้ซึ่งความคิดเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเยอรมันจำนวนไม่น้อยที่มีจิตปกติกลับฟังและทำตามคำสั่งเพื่อฆ่าชาวยิวอย่างโหดเหี้ยมและชินชา  แม้ว่าบ้านเมืองเราจะไม่อยู่ในสถานะเป็นตายแบบในสมัยสงครามโลก  แต่การมีความคิดนั้นก็ยังมีสำคัญมากต่อการดำรงชีวิตเพื่อให้ไม่โดนเอาเปรียบ  หากเรารู้แต่ไม่คิด เราอาจตกเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อให้เลือกอะไรที่ไม่ได้ดีต่อเราจริงหรืออะไรที่เราไม่ได้ต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ที่บริษัทต่างๆ แข่งขันกันมากถึงขั้นต้องแข่งกัน “ป้อน” ความคิดแบบเนียนๆ ให้กับผู้บริโภค ว่าใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามนี้แล้วจะสวยเหมือนดารา ดื่มน้ำนี้แล้วจะได้ออร่าดุจดั่งพระเอกละคร  ในด้านสังคมและการเมืองก็คล้ายกับตัวอย่างข้างต้นอย่างน่าตกใจ เพียงแค่ว่าผลิตภัณฑ์ชนิดการเมืองการปกครองนั้นมีราคาแฝงที่แพงและกระทบผู้คนมากมากว่าการซื้อแชมพูหรือเครื่องดื่มแก้กระหายเท่านั้นเอง

อีกจุดหนึ่งที่ต้องย้ำคือการเข้าใจว่าการไร้ซึ่งความคิดนั้นไม่ได้แปลว่าโง่เขลาหรือด้อยความรู้ เพราะว่าคนฉลาดก็ยังไร้ซึ่งความคิดได้  เพราะฉะนั้นสังคมไม่ควรมีแค่เป้าหมายที่จะผลิตคนรุ่นใหม่ที่ฉลาดรอบรู้แต่อย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงการปลูกฝังนิสัยช่างคิดเอาไว้ด้วยเพราะนั่นจะเป็นของขวัญชิ้นที่มีค่าที่สุดที่ใครที่ไหนก็เอาไปจากพวกเขาไม่ได้

สิ่งที่โรงเรียนทำได้ในข้อนี้คงจะเป็นการส่งเสริมนิสัยช่างคิดกับการประเมินผลการเรียนที่อิงการใช้ความคิดมากกว่าการใช้ความรู้  ในใจหลายๆ คนที่เคยเรียนในโรงเรียนหลายๆ ประเภท ข้อสอบแบบช๊อยส์ในประเทศไทยน่าจะเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาหลักในคดีทำให้เด็กไม่ได้คิด  ในกรณีที่คำถามมีคำตอบชัดเจนนั้น ผู้เขียนคิดว่าข้อสอบแบบช๊อยส์ไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไปและสามารถออกข้อสอบช๊อยส์ให้เกิดกระบวนการคิดจริงๆ ก็ทำได้หากผู้ออกข้อสอบตั้งใจสร้างโครงสร้างคำถามให้ดีพอ ไม่ใช่ออกข้อสอบช๊อยส์ที่ “ยาก” แต่เหมือนกับว่าเป้าหมายหลักคือจะคัดเด็กออกไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้  ยิ่งในกรณีที่คำตอบที่ถูกต้องนั้นยังไม่มีแน่นอนยิ่งไม่ควรทำข้อสอบแบบช๊อยส์ ควรจะเป็นคำถามแบบข้อเขียน เรียงความหรือควรจะประเมินความเห็นที่นักเรียนแสดงออกมาในระหว่างคาบเรียนเสียมากกว่า

4. สอนให้เถียงและเจรจา(แบบศิวิไล)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“สอนให้เถียง” นั้นไม่ได้หมายความว่าให้สอนให้เด็กไร้กาลเทศะหรือสอนให้พูดจาย้อนผู้ใหญ่ทุกครั้งที่มีโอกาส แต่เป็นการสอนพื้นฐานของทักษะที่มีความจำเป็นเหลือเกินต่อการดำรงชีวิตให้มีสุข การทำงานให้ประสบความสําเร็จ และการทำหน้าที่เป็นประชากรคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย  หากเราลองนึกดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในสมองเราเวลาเราเถียงและเจรจาอย่างมีเหตุผล  มันมีทั้งการฟัง การประเมินสถานการณ์  การคิดและการพูดอย่างมีชั้นเชิงเพื่อที่จะนำเราไปสู่ผลลัพธ์ที่เราต้องการ  สิ่งเหล่านี้ดูไร้ประโยชน์สิ้นดีในห้องสอบแต่กลับจะมามีประโยชน์เหลือเกินเมื่อคนเราโตขึ้นและจะต้องเริ่มบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เช่น คนรัก เพื่อน หรือนายจ้าง

ทักษะและนิสัยในการชอบเถียงอย่างมีเหตุผลนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย มันเป็นเหมือนเป็นทักษะในการควบคุมฟืนไฟในการผลักดันนโยบายและสังคมให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีเหตุมีผลโดยที่ไม่ทำให้เราทะเลาะกันเองด้วยอารมณ์จนมอดไหม้ด้วยฟืนไฟนั้นไปซะก่อน

การที่นักเรียนไทยเถียงอย่างมีเหตุผลไม่เป็นนั้นอาจจะมาจากการที่ไม่เคยเถียงได้ด้วยซ้ำในห้องเรียน  การเถียงว่าอาจารย์พูดผิด ไม่เชื่อในสิ่งที่อาจารย์สอนหรือแสดงความคิดเห็นที่อาจจะต่างกับสิ่งที่ครูสอนนั้นในบ้านเราโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นการเสียมารยาทและไม่รู้จักกาลเทศะ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรเป็นเช่นนั้นทุกกรณีไป ควรตัดสินใจว่าจะแยกแยะ “มารยาททางสังคม” กับ “การเรียนรู้” ออกจากกันอย่างไรดี   ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างกับวัฒนธรรมในห้องเรียนอเมริกันโดยสิ้นเชิง  นักเรียนอเมริกันส่วนมากไม่ได้ให้เกียรติอาจารย์เพราะตำแหน่งหรือความอวุโส  อีกทั้งอาชีพอาจารย์หรือศาสตราจารย์ในสังคมอเมริกันถือว่า “ไม่เจ๋งเล้ย” ด้วยซ้ำไป  แต่พวกเขาให้เกียรติอาจารย์เพราะอาจารย์พิสูจน์ตัวเองได้หน้าชั้นเรียนว่าเป็นผู้มีความรู้ที่ถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรแก่ความเคารพนับถือ  ยิ่งในบางสถานศึกษาเช่น Johns Hopkins University SAIS ที่ผมทำปริญญาโทมา การประเมินคุณภาพการสอนที่นักเรียนเป็นผู้ประเมินเองตอนท้ายปีการศึกษานั้นมีอำนาจสูงมากถึงขั้นสามารถชี้ชะตาว่าอาจารย์บางคนจะได้อยู่รับเงินเดือนปีหน้าหรือไม่เพราะเขาถือว่าค่าเล่าเรียนสูง บางคนยอมติดหนี้มากมายเพื่อมาเรียนที่นี่  ที่คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมินเนโซตาที่ผมกำลังศึกษาอยู่ก็ขึ้นชื่อว่ามีวัฒนธรรมลับๆ ซ่อนอยู่ว่า “เราจะแสดงความเคารพให้เฉพาะกับคนที่สมควรแก่การเคารพเท่านั้น”  เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่จะพบเห็นนักเรียนปริญญาเอกเถียงกับ TA (นักศึกษาช่วยสอน) รุ่นพี่เมื่อ TA สอนไม่กระจ่างและสามารถเดินออกนอกห้องทันทีถ้าเกิด TA ยังสอนได้ไม่ดีพอ  ในการสัมมนาก็เหมือนกัน คณะนี้ขึ้นชื่อว่าเหี้ยมมากไม่ว่าศาสตราจารย์ที่เดินทางมาพรีเซนต์ผลงานจะดังจะใหญ่มาจากไหน หากมีช่องโหว่ในงานจะโดนรุมกัดกระจุยหน้าแตกไม่มีชิ้นดี แถมใครพรีเซนต์ไม่เอาไหนมีการบอกนักเรียนให้ผู้ชมอย่าปรบมืออีกด้วย  ตอนแรกๆ ที่ผมเห็นอะไรแบบนี้ผมรู้สึกแย่มากๆ รู้สึกว่าไม่มีมารยาทเลย  แต่พอเวลาผ่านไปก็พอจะเข้าใจว่ามันมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน การที่เราแสดงความเห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของ TA ก็จะทำให้ TA คนนั้นกลับบ้านไปปรับปรุงตัวใหม่ อีกหน่อยก็จะจบออกไปเป็นอาจารย์ที่สอนเก่งขึ้น ดีกว่าปล่อยให้เขานึกว่าเขาสอนเก่งทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่มีใครเรียนรู้เรื่องเลย  งานสมมนาสุดโหดก็มีข้อดีเหมือนกัน แม้จะโหดถึงขั้นฝันร้ายและมีความเสี่ยงในการหน้าแตกก็ยังมีอาจารย์นับไม่ถ้วนที่ต้องการเดินทางมาพรีเซนต์ผลงานที่มหาวิทยาลัยมินเนโซตา

ในประเด็นนี้ผมคิดว่าเราน่าจะเดินทางสายกลาง  ไม่ต้องแยกมารยาททางสังคมออกจากการเรียนรู้ 100% ก็ได้  เอาให้เด็กพอมีมารยาทในห้องเรียน ไม่รบกวนการเรียนรู้ของคนอื่น ให้เด็กเคารพอาจารย์ด้วยความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่สอนเก่งไม่ใช่แค่เพียงเพราะว่าเป็นอาจารย์ของตน และเมื่อจะเถียงก็เถียงเกี่ยวกับประเด็นอย่าเถียงเกี่ยวกับคน  ผมคิดว่าอาจารย์ในอุดมคติก็น่าจะต้องการให้ความเคารพของเด็กๆ มาจากฝีมือของตน ไม่ใช่มาจากตำแหน่งหรือความอวุโส  หากเป็นเช่นนี้แล้วก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มาจากการถกเถียงได้มากขึ้นในห้องเรียนไทย

5. สอนให้เขียน

3245260680_7eabe5e375_z

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการเล่าเรียนในเมืองไทยและต่างประเทศ ผู้เขียนคิดว่าหลักสูตรไทยควรเน้นให้เด็กๆ เขียนบ่อยกว่านี้มาก  ยังจำได้แม่นว่าสมัยยังเป็นนักเรียนประถมและมัธยมได้มีโอกาสเขียนอะไรยาวๆ จริงๆ จังๆ (ไม่นับข้อสอบข้อเขียนสั้นๆ) แค่เฉลี่ยปีละสามครั้งคือ  วันพ่อ วันแม่ และวันสุนทรภู่  เวลาที่เหลือเอาไปเน้นติวเลขกับวิทยาศาสตร์หรือเอาไปเรียนพิเศษ  ในขณะที่เด็กๆ รุ่นราวคราวเดียวกันในประเทศอื่นหลายประเทศเขามีโอกาสเขียนวิเคราะห์อะไรที่ลึกๆ ยากๆ มากมายตั้งแต่เล็ก หัวข้อเรียงความก็จะไม่ใช่แค่การอ่านนิยายแล้วเขียนว่าอะไรเกิดขึ้น ใครไปที่ไหน ใครพูดว่าอะไร อย่างนั้นแค่อ่านหนังสือเป็น เขียน ก ไก่ ข ใข่เป็นก็ทำได้ ไม่นับว่าเขียนได้  แต่จะต้องเป็นการวิเคราะห์อะไรที่ลึกซึ่งกว่านั้นมากและเป็นโอกาสให้เด็กรู้จักใส่ความคิดของตัวเองลงไปด้วย ไม่ใช่แค่การอ่านจับใจความ

สามก๊กตอนจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊านั้นเป็นหนึ่งในนิทานร้อยแก้วที่ผมชอบมากที่สุด แต่ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมข้อสอบมักถามเราอย่างกับเราเป็นหุ่นยนต์เหมือนกับว่าทุกอย่างมีคำตอบที่แท้จริงหมด ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถามว่าเล่าปี่เตียวหุยกวนอูยกทัพไล่หรือยกทัพหนีกี่ครั้ง หรือให้เรายกตัวอย่างว่าจูล่งแสดงฝีมือรบที่ดีตอนไหนบ้างในเรื่อง หรือถามว่าอาเต๊าเป็นบุตรของใคร  จริงอยู่สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องแต่มันเป็นแค่องค์ประกอบ  โจทย์ที่ท้าทายกว่าน่าจะเป็นการให้เด็กเขียนเรียงความหาหลักฐานที่แฝงอยู่ในสามก๊กตอนอื่นมาเถียงว่าเพราะเหตุใดจูล่งจึงยอมลำบากเสี่ยงตายไปรับอาเต๊าให้เล่าปี่แล้วค่อยให้คะแนนนักเรียนตรงความสามารถในการวิเคราะห์หลักฐานและการเขียนเพื่อโน้มน้าวความเห็นของผู้อ่าน

บางทีการกระทำของตัวละครในบทละครหรือนิยายนั้นไม่สามารถตอบได้ด้วยการวงช๊อยส์หรือการเขียนแค่สามสี่ประโยค การที่นางบิฮูหยิน (ภรรยารองของเล่าปี่) ยอมโดดน้ำตายเมื่อเห็นจูล่งวิ่งมาหรือการที่เล่าปี่ทำเป็นโกรธและทิ้งอาเต๊าลงตอนที่จูล่งเอาบุตรตนเองมาส่งนั้นเป็นการกระทำที่ซับซ้อนมากและไม่ควรฟันธงว่านิสัยของบิฮูหยินกับเล่าปี่เป็นอย่างไรจากแค่การกระทำเดียว  ใครเคยอ่านสามก๊กจบจะทราบว่าเล่าปี่เป็นตัวละครที่ซับซ้อนและไม่ได้เพอร์เฟ็ค การถามว่า “นาย ก. ทำอย่างนี้แปลว่านาย ก. เป็นคนอย่างไร” จะกลายเป็นการยัดเยียดข้อมูลและความคิดเห็นของผู้สอนหรือผู้สร้างหลักสูตรให้กับนักเรียน กลายเป็นการบังคับให้เชื่อมการกระทำดังกล่าวกับนิสัยบางอย่างโดยที่ไม่ได้เกิดกระบวนการคิดเลยซักนิดเดียวว่าคำตอบนั้นมันเหมาะสมแค่ไหน

การเพิ่มโอกาสให้นักเรียนเขียนมากขึ้นนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการบังคับให้นักเรียนท่องจำแล้วฝนช๊อยส์ ไหนจะต้องมาฝึกครูให้สอนวิธีเขียน ต้องเจียดเวลาคาบภาษาไทยมาสอนวิธีเขียนให้นักเรียน  และยังต้องเสียเวลาตรวจเรียงความเป็นร้อยๆ เรื่องต่อปี  ในมุมมองเรื่องค่าใช้จ่านนั้นการสอนภาษาไทยแบบดั้งเดิมทำได้ไม่เลวเลยในการทำให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้และจับใจความจากการอ่านได้ด้วยงบประมาณที่จำกัด  แต่ทักษะพื้นฐานเหล่านี้ไม่พอแล้วในโลกสมัยนี้ที่การแข่งขันสูง  ผู้เขียนคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเพิ่มความคาดหวังในตัวเด็กๆ ให้ไปได้ไกลกว่าการท่องจำและพ่นความรู้ออกมาบนข้อสอบ  การเขียนจะทำให้เกิดความคิดและการเรียนรู้ขึ้นในตัวนักเรียนอย่างแท้จริงเพราะว่ามันต้องใช้ความพยายามมากกว่าการท่องหนังสือไปฝนข้อสอบหรือการตอบคำถามสั้นๆ มาก

**** ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่มาจากประสบการณ์ในประเทศไทยและประเทศสหรัฐฯอเมริกาของผู้เขียน  ผู้อ่านคิดว่ามีอะไรที่เราควรจะสอนเด็กๆ อีกหรือคิดต่างจากห้าข้อด้านบนก็คอมเมนต์มาได้ครับ

การศึกษา


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

  1. มีค่ามากน้องคิด หวังว่าจะมีคนที่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ในประเทศนี้จะมาเห็นและนำไปทำประโยชน์ต่อยอดได้ครับ

  2. เคยสงสัยตัวเองว่าฟังวัยรุ่นที่เติบโตข้ึนยุคน้ีสื่อสารแล้วไม่ค่อยเข้าใจกระจ่าง มักมีคำถามต้องถามต่อเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน อ่านบทความน้ีก็พอจะเข้าใจแล้วว่าเด็กขาดประสบการณ์ในการเขียน เพราะส่วนใหญ่เป็น multiple choice
    ให้เลือกเอามากกว่าการเขียนคำตอบของตนเอง ขอบคุณค่ะ

  3. ฝังลึกมานาน อยาก จริง จริง ผม อยู่ กับ การ สอน มา นาน พยายาม ให้ ผู้เรียน ทำ กิจกรรม หลาย อย่าง เพื่อ พัฒนา ทักษะ ทั้ง การ คิดและการกระทำ แต่เหมือน ว่า เขา ไม่ เคย ลำ บาก จึงไม่ อดทน ไม่ใผ่แสวง การดำรงชีวิตกับวัฒนธรรมแบบบ้านเราวัฒนธรรมมีส่วนกำหนดด้วย เศร้า ใช้เวลานาน อีก แล้ว

  4. สังคมโรงเรียนให้ผู้เรียนอยู่ด้วยความหวาดกลัวเพื่อการปกครองที่ง่ายจะคล้ายๆกับการปกครองประเทศที่เป็นอยู่จะได้ปกครองง่าย

keyboard_arrow_up