menu Menu
สวิตเซอร์แลนด์: ประเทศรักสงบในสงครามค่าเงิน
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Global Economy on January 21, 2015 One Comment 42 words
วิเคราะห์วิกฤต "ความโสด" Previous เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift [ตอนที่ 3] Next

เมื่อประเทศที่รักสงบมากที่สุดประเทศหนึ่งอย่างสวิตเซอร์แลนด์ได้ยกเลิกการผูกค่าเงินฟรังก์สวิสกับยูโรและยอมให้เซ็กเตอร์ส่งออกของตัวเองรับกรรมจากค่าเงินที่แข็งขึ้นเกิน 20% ภายในวันเดียวมันส่อให้เห็นถึงความน่าวิตกของตลาดการเงินโลก

บทความนี้จะอธิบายความเคลื่อนไหวครั้งนี้แบบอ่านง่ายๆ ว่า 1. ทบทวนว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง 2. ทำไมธนาคารกลางจึงตัดสินใจเช่นนั้น  3. แล้วทั้งหมดนี้แปลว่าอะไร  เชิญอ่านครับ

เมื่อวันที่ 15 เดือนมกราคมปีนี้ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ช๊อคตลาดโลกด้วยการยกเลิกการตรึงค่าเงินกับเงินยูโรและลดดอกเบี้ยลงมาที่ -0.75% ซึ่งแปลว่าธนาคารที่ต้องการจะเอาเงินไปฝากกับธนาคารกลางจะต้องเสียดอกเบี้ย

s1

ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีใครคาดไว้และดูฉุกละหุกชอบกล  ความแตกตื่นจึงทำให้ค่าเงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นเกินกว่า 30% ภายในไม่กี่นาที (ซึ่งถือว่าเป็น movement ที่เหวี่ยงรุนแรงมาก) และถึงแม้อัตราแรกเปลี่ยนระหว่างฟรังก์สวิสกับยูโรจะเริ่มปรับตัวหลังจากการช๊อคของตลาดแล้วก็ตามอัตราขณะนี้ที่ราวๆ 0.9884 ยูโรต่อหนึ่งฟรังก์สวิสนั้นยังถือว่าค่าเงินฟรังก์สวิสยังแข็งมากๆ เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน

จะเข้าใจทั้งหมดนี้ได้คงต้องย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตยูโรเมื่อไม่กี่ปีมานี้  เมื่อตอนนั้นหลายประเทศในกลุ่มยูโรดูท่าไม่ดี (ตอนนี้ก็ยังไม่ดี…)  กองทุนและนักลงทุนจำนวนมากมองว่าสวิตเซอร์แลนด์มีสถาบันการเงินที่เข้มแข็งและดูปลอดภัยกว่า จึงแห่กันเอาเงินไปจอดไว้ คิดว่าอย่างน้อยก็น่าจะได้เงินคืน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่ต้องการจะถือยูโรในสมัยนั้น การที่เราจะเอาเงินไปจอดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ก็ต้องขายยูโรซื้อฟรังก์สวิส เมื่อมีความต้องการมากๆ ราคาของฟรังก์สวิสก็สูงขึ้นตามธรรมชาติ (หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเงินแข็งค่าขึ้น” นั่นเอง)

s2

ทั้งนี้ทั้งนั้น สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกมาก  จากกราฟด้านบนจะเห็นได้ว่าการส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์มีขนาดใหญ่มากกว่า 70% ของ GDP ซึ่งพอๆ กับประเทศไทยเลยทีเดียว  เราคนไทยคงเข้าใจความรู้สึกของประเทศที่เน้นส่งออกแล้วอยู่ดีๆ ค่าเงินแข็งขึ้นเรื่อยๆ อย่างควบคุมไม่ได้   สินค้าส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์อยู่ดีๆ ก็เลยมีราคาแพงขึ้นโดยใช่เหตุ…ถือเป็นการถดถอยของความสามารถในการแข่งขันแบบฉับพลัน

ในเดือนกันยายนของปีค.ศ. 2011 ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จึงเริ่มใช้มาตราการปิดฝา ใส่ cap ไม่ให้ฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นไปกว่าลิมิตที่ตนตั้งไว้  โดยประกาศว่าจะพิมพ์เงินฟรังก์สวิสไปแบบไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อเอาไปแลกซื้อเงินสกุลต่างชาติ หวังว่าจะเป็นการตรึงไม่ให้ค่าเงินตัวเองแข็งขึ้นไปอีก

การตรึงค่าเงินของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์นั้นประสบความสำเร็จในแง่ที่ว่าสามารถตรึงค่าเงินไว้ได้  แต่การประกาศสงคราม “สู้ตลาด” ของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์นั้นทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องรักษาคำสัญญาและซื้อเงินสกุลต่างประเทศมาเก็บไว้จำนวนไม่อั้น ล่าสุดมีรายงานว่าเงินสกุลต่างประเทศนั้นมีมากกว่า 75% ของ GDP เลยทีเดียว (บางที่บอก 85% การมีเงินสกุลต่างประเทศเก็บไว้มากเกินไปนั้นก็มีความเสี่ยงเพราะว่ามูลค่าสามารถเหวี่ยงขึ้นลงได้เร็วมากๆ  ซึ่งทั้งหมดนี้คล้ายแต่ต่างกับในกรณีธนาคารกลางอเมริกาที่ปั๊มเงินแลกซื้อกับตราสารหนี้ตัวเองที่ยังไงๆ ก็จะได้คืนในภายหลังเมื่อถึง maturity ไม่ดูเสี่ยงเท่าที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เริ่มทำเมื่อท้ายปี 2011  นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำไมอยู่ดีๆ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ถึงหยุดการตรึงค่าเงินฟรังก์สวิสเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางยุโรป ECB จะประกาศมาตรการ QE ของตนในอีกไม่กี่วันนี้

ผลกระทบของการตัดสินใจของธนาคารกลางนั้นทำให้เริ่มมีกองทุนบางแห่งตกอยู่ในภาวะลำบาก เช่น บริษัทโบรกเกอร์ FX ชื่อ Alpari ในประเทศอังกฤษ  ยักใหญ่อย่าง Citigroup หรือ Barclays เองก็มีข่าวว่าโดนไปไม่ใช่น้อย  ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่ารวมๆ กันแล้วการเลิกตรึงค่าเงินครั้งนี้น่าจะมีคนเสียไปในหลักพันล้านดอลล่าร์

ยกธงขาวก่อนสงครามเริ่ม

s3

การยกเลิกการตรึงค่าเงินนั้นสามารถมองได้ว่าธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยกธงขาวก่อนสงครามจะเริ่มเสียอีก

คำถามที่น่าสนใจกว่าคือสงครามไหน? เพราะในภาวะเศรษฐกิจโลกตอนนี้ไม่ได้มีแค่สงครามค่าเงิน

มองไปทางซ้ายมีสงครามกับภาวะเงินฝืด  มองไปทางขวามีสงครามค่าเงินที่กำลังจะระอุขึ้น

แต่ไม่ว่าจะทำสงครามไหน ทำไมอยู่ดีๆ ธนาคารกลางถึงจะล้มเลิกสิ่งที่ตัวเองสัญญาไว้กับนักลงทุนทั่วโลก  มันช่างน่าสงสัยเพราะว่าในทางเทคนิคแล้วหลายฝ่ายคิดว่ามันไม่ได้มีลิมิตในเรื่องของ balance sheet ของธนาคารกลางขนาดนั้น (อาจจะต้องไปค้นดูกฎหมายธนาคารกลางของแต่ละประเทศ)  จริงอยู่การพิมพ์เงินฟรังก์สวิสเพื่อซื้อเงินสกุลต่างประเทศในจำนวนไม่อั้นนั้นมีโอกาสทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างสวิตเซอร์แลนด์ แต่ตอนนี้ไม่เห็นมีวี่แววเงินเฟ้อเลยสักนิดเดียว price level ในสวิตเซอร์แลนด์ก็ร่วงไป 0.3% เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว  ภาพรวมมีแต่จะเป็นภาวะเงินฝืดกับภาวะเศรษฐกิจหอยทากกันทั้งนั้น  ที่เคยประกาศไปว่าจะสู้กับเงินฝืดเต็มที่เมื่อสามปีก่อนคงเป็นแค่ลมปาก

การไปยกเลิกการตรึงค่าเงินและยอมให้ภาคการส่งออกตัวเองแบกรับผลกระทบไปเต็มๆ คงแปลว่าธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์กลัวโดนลูกหลงจากสงครามค่าเงินมากกว่ากว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือภาวะเงินฝืดเสียอีก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อ ECB จะออกมาตรการ QE ของตนในอีกไม่กี่วันนี้ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์คงจะเกรงว่าจะมีเงินยูโรออกมามากล้นตลาดและตัวเองจะต้องดูดซื้อเงินขยะนี้เข้ามากินเองอีกมากมายก่ายกองเป็นแน่ๆ หากยังคงตรึงค่าเงินไว้

ขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ชื่อ QE

s4

น่าตกใจที่ประเทศที่รักสงบสุดๆ อย่างสวิตเซอร์แลนด์กลับตกเป็นเหยื่อรายแรกๆ ของภาวะการเงินโลกปั่นป่วนทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดเลย….

แท้จริงคือเรากำลังอยู่ในโลกที่การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินนั้นซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ   เป็นโลกที่นโยบายการเงินและนโยบายเศรษฐกิจสามารถแปลงโฉมเป็น “ขีปนาอาวุธ” ชั้นเยี่ยมในการรักษาเศรษฐกิจของตัวเองและส่งกระแสออกไปรบกวนกัดกินความมั่นคงของเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน  (ผู้อ่านท่านไหนสนใจเรื่องนี้ settakid.com เคยเขียนเกี่ยวกับการแลกหมัดเงินร้อนระหว่างจีนกับสหรัฐฯไว้แล้ว ณ ที่นี่ และที่นี่ อาจจะเก่าหน่อยแต่เนื้อหาน่าจะยังคงความจริงอยู่)

เรื่องราวของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อคิด 5 ข้อ

  1. หรือนี่คือ The New Normal – เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศนั้นนับวันยิ่งซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ  มีความเสี่ยงแปลกๆ ที่ไม่อยู่ในหนังสือเรียนให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ  ที่น่าตกใจที่สุดคือสงครามค่าเงินไม่ใช่อะไรใหม่ การที่สินทรัพย์จำพวก “safe haven” มีผลตอบแทนต่ำกว่าศูนย์ก็ไม่ใช่อะไรใหม่ขนาดนั้นแล้ว ตราสารหนี้ประเทศแถบแสกนดิเนเวียนหรือของเยอร์มันก็เคยเข้าไปอยู่ในภาวะต่ำกว่าศูนย์เมื่อไม่กี่ปีก่อน  แสดงให้เห็นว่ามีช่องทางการลงทุดดีๆ เหลือน้อยเต็มที การที่อะไรแปลกๆ พวกนี้ “ไม่ใหม่อีกต่อไป” คงจะเป็นสัญญานว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคการเงินยุคใหม่ที่ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจเราจะไม่ได้ทำอะไรผิดแปลกก็สามารถตกเป็นเหยื่อของขีปนาวุธการเงินได้อย่างที่สวิตเซอร์แลนด์ถูกลูกหลงไปเมื่อปีค.ศ. 2011
  2. ธนาคารกลางทั่วโลกจะทำงานได้ลำบากขึ้น – นอกจากจะต้องรับมือกับเศรษฐศาสตร์การเงินที่นอกรีดแบบทุกวันนี้แล้ว การที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์อยู่ดีๆ เบี้ยวสัญญาคำพูดนั้นทำให้ความเชื่อมั่นในคำพูดของธนาคารกลางทั่วโลกลดลง  กลไกหลายอย่างในตลาดโลกขึ้นอยู่กับความประพฤติและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง เมื่อธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการสร้างความวุ่นวายและขุดหลุมให้กับตัวเองเมื่อตนต้องการที่จะให้สัญญานกับตลาดอีกครั้งในอนาคต
  3. หมั่นศึกษา QE กับ เงินเฟ้อ – การที่เศรษฐกิจใหญ่ๆ อย่างอเมริกาสามารถทำ QE ควบไปกับการเป่าลูกโป่งหนี้รัฐบาลตัวเองไปได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องแบกรับเงินเฟ้อเองนั้นเป็นอะไรที่น่าพิศวงชอบกล  หากเศรษฐกิจที่ทำ QE เป็นบ้าเป็นหลังอย่างอเมริกายังดูท่าว่าดีขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้เราคงจะเห็นประเทศที่สามารถทำ QE ได้เริ่มทำกันมากขึ้นไปอีก  ถ้าเงินเฟ้อไม่ผุดเกิดขึ้นที่บ้าน คำถามสำคัญคือแล้วเงินเฟ้อมันไปโผล่อยู่ที่ไหนในโลก?
  4. คอยจับตาดูการแก้ภาวะเงินฝืด – ในขณะที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ยกธงขาวเลิกสู้ภาวะเงินฝืด หลายประเทศกลับกำลังเห็นแววว่าภาวะเงินฝืดจะเป็นความเสี่ยงสำคัญในปีนี้ (เมื่อราคาของต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วงภาวะเงินฝืด มีความเชื่อว่าผู้คนมักชะลอการจับจ่ายลงรอราคาตกลงอีก อาจเป็นผลทำให้เศรษฐกิจซบเซาได้)  หลายฝ่ายไม่มั่นใจว่าบาซูก้าลูกใหม่ของ ECB จะใหญ่พอที่จะทำให้หลุดรอดภาวะเงินฝืดนี้ไปได้  สุดท้ายชะตากรรมของสวิตเซอร์แลนด์กับกลุ่มประเทศที่พยายามสู้เงินฝืดจริงๆ จังๆ จะเป็นอย่างไร น่าติดตามยิ่งนัก
  5. จับตาดูหมากถัดไปของสหรัฐฯ – ล่าสุดนี้ IMF ได้ปรับลดอัตราเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงมากที่สุดในรอบสามปีที่ผ่านมา จะมีข้อยกเว้นก็แค่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับความเฉื่อยของเศรษฐกิจของมหาอำนาจอื่นๆ  ด้วยเศรษฐกิจที่ดูดีกว่าเดิมเราคงจะได้เห็นสหรัฐฯ เปิดเกมรุกด้านการต่างประเทศในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจมาในรูปแบบของการบี้กับรัสเซียเข้าไปอีก การต่อกรกับ ISIS หรือการหาบริวารใหม่ๆ เพื่อทำให้ตนเองได้เปรียบในเวทีโลกเข้าไปอีก

สุดท้ายนี้ผู้เขียนเองยังสังสัยอยู่ว่าธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์มีข้อมูลอะไรที่เราไม่เห็น ทำไมถึงกลัวลูกหลงสงครามค่าเงินถึงขั้นที่จะต้องเสียสละทั้งแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือที่นับวันยิ่งหายากขึ้นเรื่อยๆ  ถ้าสมมุติว่าธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ทำถูกและไม่ได้พลาด  บางทีเขาอาจมองว่าการทำ QE ให้สำเร็จในยุโรปจะต้องทำเยอะมากๆๆๆ ถึงจะยกเศรษฐกิจเน่าๆ ทั้งหมดขึ้นได้  หมากนี้ของสวิตเซอร์แลนด์จึงอาจทำให้เราฉุกคิดว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศรักสงบที่ “ป๊อด” และ risk-averse ถึงขั้นยอมเจ็บตัวตอนนี้ดีกว่าการรับความเสี่ยงที่จะมาจากการเล่นเกมการเงินเสี่ยงๆ พิเรนๆ กับมหาอำนาจทางการเงินอื่นๆ

ในช่วงเวลาที่นโยบายการเงินดูเหมือนจะเป็นพระเอกหรือตัวร้าย hot topic ในทุกๆ หนังสือพิมพ์ตอนนี้ เราต้องไม่ลืมว่าตัวแปรที่สำคัญกว่าคือการพัฒนาเทคโนโลยีระดับชาติและความสามารถของผู้คนในประเทศ  คงจะต้องจับตามองชะตากรรมของประเทศนี้ต่อไปว่าจะคงความรักสงบและสันโดษไม่เลือกข้างต่อไปได้โดยที่ไม่กระอักเลือดได้จริงๆ หรือไม่ในโลกที่การเงินและการค้าระหว่างประเทศเชื่อมต่อกันขนาดนี้

ธนาคารกลาง สวิตเซอร์แลนด์ เศรษฐกิจ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

  1. สิ่งที่ SNB มีแต่ FED ไม่มี อาจเป็นเพียงของง่ายๆที่โลก(เกือบ)ลืมอย่าง “สามัญสำนึก” “จริยธรรม” และ “ความเป็นมืออาชีพ” ก็เป็นได้ครับ 🙂

    FED and BOJ ทำแบบนั้นได้เพราะมี ชื่อชั้นประเทศ ที่สามารถ inflate เงินโดยไม่ต้องวางหลักประกัน ที่จริง ชื่อชั้น SNB อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำแต่ก็เลือกที่จะไม่ทำ

    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ 🙂

keyboard_arrow_up