Views:
2,600
อินโฟกราฟฟิกส์ จาก WhoIsHostingThis ชี้ว่าการใช้งาน โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook กับ Twitter อาจจะมีส่วนทำให้เรามีพฤติกรรมที่แย่ลงครับ
ผู้หญิงโกหกมากขึ้นบนโซเชียลมีเดียหรือเปล่า ?
ผลการศึกษาข้อมูลแบบสอบถามจากผู้หญิง 2,000 คน พบว่า
- 30% โกหกเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำที่บ้านเวลาอยู่คนเดียว
- 25% มีข้อมูลเท็จบน Facebook account information
ที่จริงน่าจะมีข้อมูลจากผู้ชายด้วยนะครับ ในความคิดผม ผมว่าจริง ๆ แล้วมนุษย์เราโกหกเก่งตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว โซเชียลมีเดียที่ไม่มีกติกาการเช็คความน่าเชื่อถือ (เช่น facebook ) ก็คงทำให้เราโกหกได้ง่ายขึ้น เพราะไม่มีใครคอยเช็ค และไม่ค่อยมีการลงโทษข้อมูลเท็จ
ใจอยากโซเชียลกลับแอนไทโซเชียลซะงั้น
- 51% เช็คโซเชียลเน็ตเวิร์คเวลาทานอาหารเย็น
- เกือบ 2 ใน 5 คนใช้เวลาบนโซเชียลเน็ตเวิร์คมากกว่าเวลาบนโลกจริง !!
น่าสลดที่มารยาทในการทานข้าวเย็นกับคนอื่นอาจจะแย่ลงจริง ๆ นะครับ ผมเองเดี๋ยวนี้ก็ต้องระวังเพราะว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นตลอดเวลาในมือถือผม บางทีก็มีข่าวเด่น บางทีก็เพื่อนทักมา โดยปกติแล้วมารยาทของการรับประทานอาหารร่วมกันคือต้องสนทนากันให้ความสนใจกับอีกฝ่ายต่างหาก ไม่ควรยุ่งกับโทรศัพท์ ส่วนข้อสุดท้ายนี่น่าเป็นห่วงมาก…ขอไม่คอมเม้นต์…
เรากลายเป็นคนหมกมุ่นกับตัวเอง
- 46% กูเกิลชื่อตัวเองภายใน 24 ชั่วโมงก่อนทำแบบสอบถาม
- มี 90 ล้าน “Selfies” บน Instagram
ผมเชื่อว่าไม่มีใครหรอกที่ไม่สนใจตัวเอง ผมคิดว่าเราควรจะหมกมุ่นกับตัวเองในปริมาณที่พอเหมาะ และหมกมุ่นแบบมีเหตุผล
ข้อแรกน่าจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย การที่เราเช็คชื่อบนกูเกิลบ่อย ๆ เพื่อดูว่าภาพลักษณ์เราเป็นอย่างไรนั้นมีความสำคัญจะตายไปเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเรา แต่ผมไม่แน่ใจว่าทำไมคนที่เช็คภายใน 24 ชั่วโมงถึงมีมากขนาดนั้น
เราเลวลงหรือเปล่า ?
- 42% ของผู้เยาวน์รายงานว่าตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งทางสื่ออิเล็คโทรนิกส์ (cyber bullying)
- 28% ของเด็ก ๆ อายุระหว่าง 11 ถึง 16 ขวบเคยโดนกลั่นแกล้งผ่านอินเตอร์เน็ตหรือทางมือถือ
ใคร ๆ ก็รู้ว่าวัยเด็กก่อนยุคโซเชียลมีเดียมันก็โหดร้ายมากอยู่แล้วสำหรับเด็ก ๆ กลุ่มที่โดนกลั่นแกล้งเป็นประจำ
ถ้ามีโซเชียลมีเดียเข้ามาเพิ่ม เด็กเกเรก็คงจะมี “เสรีภาพในการกลั่นแกล้ง” มากขึ้นหากผู้ปกครองไม่ดูแลดี ๆ เนื่องจากคุณครูไม่สามารถมาคุมได้เวลาเด็กเกเรทำตัวเป็นนักเลง facebook หลังเลิกเรียน
แล้วคุณล่ะคิดอย่างไร ?
โดยส่วนตัวผมคิดว่าเราไม่ควรลืมข้อดีของโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้สังคมและชีวิตเราดีขึ้น
แต่ก็ใช้อย่างพอประมาณนะครับเพราะว่าท้ายสุดแล้วเรามีชีวิตบนโลก ไม่ใช่บนเน็ต
สนใจรายละเอียดเชิญอ่าน infographics ชิ้นนี้ที่นี่ครับ
facebook
สังคม
อินโฟกราฟฟิก
โซเชียลมีเดีย
http://www.miamiherald.com/2013/08/09/3553674/when-murder-goes-viral-homicide.html
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นเครื่องมือสารภาพเผยแพร่การฆาตกรรมชั้นดี เพรียบพร้อมไปทั้งรูปถ่ายประกอบและบทสนทนาความคิดเห็นของสาธารณะชน นี่คือความวิปริตส่วนตัวบุคคล หรือคือความหมกมุ่นกับตัวเองในขั้นวิกฤต?
ในการวัดข้อดีข้อเสียของโซเชียลมีเดีย เราเองก็ควรต้องคำนึงถึงตัวบุคคลเช่นกันแทนที่จะโทษโซเชียลมีเดียซะอย่างเดียว ต้นตอของความเสื่อมทางพฤติกรรมอาจมิใช่บริการโซเชียลมีเดียโดยตรง แต่เป็นนิสัยเสียโดยธรรมชาติของคนเราที่ไม่ได้รับการแก้ไขแต่กลับได้รับการยอมรับ (แบบfake fake) บนโลกโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นพฤติกรรมที่สามารถสร้างอันตรายให้แก่ผู้อื่น
ดูๆแล้วที่แย่ลงคงเป็นเรื่องมารยาทในสังคม เช่น บนโต๊ะอาหาร ในห้องประชุม ในโรงละคร _ฯลฯ นิสัยแย่ลงหรือเปล่า? ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าคนเราจะเปลี่ยนนิสัยได้ง่ายๆครับ แต่พฤติกรรมในชีวิตประจำวันเปลี่ยนแน่ๆ ก้มหน้าทั้งวัน กินน้อย นอนดึก ฯลฯ ที่สำคัญคือ ความสนใจคนอื่นโดยเฉพาะคนในครอบครัวน้อยลง ทั้ง พ่อ แม่ ลูก
ความจริง นี่อาจเป็นข้อพิสูจน์ว่า มนุษย์เราต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นตลอดเวลา ถอยหลังไปแค่สามสี่ปี ก่อนที่โซเชี่ยลมีเดี่ยจะบูมมากขนาดนี้ เราใช้ e-mail, sms และ BB ติดต่อสื่อสารกันทุกวัน บางคนก็ใช้ตลอดวัน ถอยหลังไปอีกสองสามปี ก่อนที่ Smart phone จะบูม เราใช้โทรศัพท์มือถือคุยกันทั้งวัน อยู่ที่ไหนก็ติดต่อคนอื่นได้ และถูกคนอื่นตามตัวได้ตลอดเวลา จนโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์ตู้เกือบไม่มีคนใช้ ย้อนไปอีกหลายปี ก็เป็นยุคของจดหมาย ยุคโทรเลข อยู่กันคนละซีกโลกก็ยังต้องเขียนจดหมายติดต่อกัน แม้จะต้องรออีกฝ่ายตอบกลับนานเป็นสัปดาห์ก็ไม่เคยหยุดการติดต่อ ผิดกับปัจจุบันแบบคาดไม่ถึงว่าเราจะได้คุยแบบเห็นหน้าเห็นตากันได้ในทันทีแม้จะอยู่คนละซีกโลก
ตลอดหลายยุคที่เปลี่ยนผ่านมา พฤติกรรมและวิถีชีวิตของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปตลอด ทุกอย่างเร็วขึ้น เวลาของกิจกรรมสั้นลง ความละเอียดอ่อนหยาบขึ้น ความละเมียดละไมจางลง ฯลฯ
บริบทของสังคมมนุษย์เปลี่ยนไปแล้วอย่างสินเชิง จากสังคมที่จับต้องมองหน้ากันได้ ไปเป็นตัวอักษรและรูปภาพบนฝ่ามือ ทุกที่ทุกเวลา และระยะทางที่เคยเป็นอุปสรรคก็หายไปเกือบจะเป็นศูนย์ โลกมนุษย์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ตัวมนุษย์(รวมถึงจิตใจ)ก็เปลี่ยนไปด้วย ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าอดีตมากจนเราไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน ไม่สามารถจัดระเบียบและทำอะไรให้ถูกที่ถูกทางได้ทัน ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นความซับซ้อนวุ่นวายและความเสียหายหลายเรื่องอย่างที่เป็นอยู่ แต่ทั้งหมดก็ต้องเดินหน้าไม่มีวันย้อนกลับไปแบบเดิม ยากจริงๆที่จะบอกว่าสังคมข้างหน้าของเราจะเป็นอย่างไร เพราะดูเหมือนเราจะพัฒนาตัวเองได้ช้ากว่าเทคโนโลยี่เสียแล้ว
ขอบคุณสำหรับ comment ชวนคิดของทั้งสองท่านนะครับ จากทั้งสองความเห็น ผมว่าเราคงปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยีจริง ๆ ส่วนทางด้านมารยาทกับด้านการใช้เวลากับครอบครัว…อย่างที่คุณยิ่งศักดิ์ว่าแหละครับ ขนาดผมเองบางทีก็ลืมตัว ให้ความสำคัญคนใกล้ชิดน้อยลงกว่าสมัยก่อน
ผมว่าเวลาบนโลกของทุกคนมีจำกัด เพราะฉะนั้นการที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้เราติดต่อและเรียนรู้เรื่องราวของคนอื่น ๆ ทั่วโลกได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักด้วยซ้ำ (ผิดกับในยุคโทรศัพท์หรือยุคจดหมาย) มันทำให้เกิดปัญหาที่ว่าเราจะเลือกใช้เวลาอันแสนมีค่าไปกับใคร ใครที่สำคัญจริง ๆ ต่อเรา? มันยังทำให้เราฉุกคิดได้อีกว่า “อะไรคือความใกล้ชิดที่แท้จริง?” เพื่อนใกล้ตัวที่สนิทกันเพราะใกล้ชิด หรือเพื่อนไกลตัวที่สนิทกันเพราะคุยกันถูกคอ
ความจริงแล้วเทคโลยีไม่ได้เป็นสื่อกลางในการทำให้คนแย่ลงแต่อย่างใดหรอกครับ แต่ความจริงแล้วเทคโนโลยีเป็นเพียงแค่ สิ่งที่ทำให้เรารู้จักชั่ว และรู้จักดีเพิ่มมากขึ้น และรวดเร็วขึ้นเท่านั้นเอง ส่วนการจะแยกแยะ ชั่ว กับ ดี นั้นอยู่ที่จิตใจของมนุษย์แต่ละคนที่จะพึงกระทำได้ บางทีเราหลาย ๆ คนก็กำลังมองข้ามสิ่งสำคัญ มองข้ามคนรอบข้าง มองข้ามคนที่รักเราและเรารัก โดยการไม่พูดคุยกันผ่านปาก แต่สื่อสารกันด้วยนิ้วและข้อความเป็นสำคัญ ซึ่งนั่นอาจจะเกิดปัญหาหรือผลเสียตามมาในระยะยาว ตอนนี้เราอาจจะเห็นเพียงด้านดีของมัน แต่ผมชื่อว่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ ย่อมมีสองด้านเสมอ
ปล.ความคิดเห็นส่วนตัว Disconnect
เดี๋ยวนี้ไปเรียนไปทำงาน เวลากินข้าวเที่ยงเพื่อนผมก็มีแต่ก้มหน้าตาดูมือถือกันทุกคนเลย ผมก็ดูบ้างเป็นบางครั้ง แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็พยายามเลี่ยงๆละ เลยจะเปิดมือถือดูเฉพาะตอนอยู่คนเดียวเท่านั้น (เปิดไปให้อาหารแมว)
แต่ก็นะ พอเพื่อนที่นั่งกินข้าวด้วยมันจดจ่อกับมือถือมัน ผมก็อารมณ์แบบ ไม่กล้ารบกวนเลย พอกินข้าวเสร็จก็ไปทำงานต่อ สุดท้ายก็ไม่ได้คุยอะไรกันเท่าไหร่นัก คิดถึงเวลานั่งกินข้าวกับเพื่อนม.ปลายชะมัด
เข้าใจครับ มันเหมือนกับว่าอะไรในมือถือสำคัญกว่าการพูดคุยต่อหน้ากับเรา ผมก็รู้สึกแปลก ๆ นะ ออกมาทานข้าวด้วยกันทั้งที