menu Menu
มูลค่ามนุษย์ในยุคหุ่นยนต์
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Driven-by-data, Global Economy on September 20, 2016 5 Comments 46 words
เข้าใจ “คลินตันนอมิกส์” Previous [Life+] Productive ขึ้นด้วยการทำงานให้น้อยลง Next

ทุกวันนี้มนุษย์ทำมาหากินด้วยอวัยวะที่ธรรมชาติให้มา

บางคนหาเช้ากินค่ำด้วยมือและเท้า  บางคนเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วยมันสมอง  แต่เราเคยคิดบ้างไหมว่าวันหนึ่งอวัยวะเหล่านี้อาจไม่สามารถสร้างมูลค่าได้มากเท่าแต่ก่อน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีรายงานหลายฉบับที่ทำนาย (เอาไว้อย่างหดหู่) ว่าในอนาคตหุ่นยนต์และสมองกลจะมีความสามารถก้าวไกลถึงขั้นที่จะมาแย่งงานของมนุษย์ไปเป็นจำนวนมาก  ประเทศไทยเองก็ตกเป็นหนึ่งในประเทศที่จะมีสัดส่วนงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงถูกทดแทนโดย automation สูงมากที่สุดถึงราว 72 เปอร์เซ็นต์ของงานทั้งหมด

jatusri_article28_figure1

ในกราฟด้านบนจะเห็นว่ายุคหุ่นยนต์นั้นอาจเริ่มแล้วก็เป็นได้เพราะว่า การจ้างงานในเศรษฐกิจขนาดยักษ์อย่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นร่วงลงทั้งๆ ที่ผลผลิตยังพุ่งทยานขึ้นปีต่อปี

จะให้เราพูดว่าสิ่งที่เขาทำนายกันมันอยู่ใน “โลกอนาคต” ที่ฟังดูเพ้อฝันห่างไกล ที่จริงแล้วก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าในปัจจุบันหุ่นยนต์และสมองกลได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตคนเราเรียบร้อยแล้ว

ทุกวันนี้หุ่นยนต์และสมองกลไม่ได้อยู่แค่ในโรงงาน (ซึ่งประเทศไทยเองก็ติดอันดับต้นๆ ในการติดตั้งหุ่นยนต์ในโรงงาน) แต่ยังสามารถช่วยนำทางและแปลภาษาให้เมื่อเราไปเที่ยว กวาดบ้านเวลาเราไม่อยู่ ดูแลความปลอดภัยและปรับสภาพอากาศในบ้านให้ ตอบคำถามสัพเพเหระให้ลูก เป็นโอเปอเรเตอร์ที่เป็นรับมือได้กับทุกอารมณ์ของลูกค้า  เป็นเลขาส่วนตัวที่ไม่มีทางพลาดคิวนัดไม่พลาดตอบอีเมล เป็นคนงานล้างสระน้ำ เอาจานใส่เครื่องล้างจาน รีดและพับผ้าอย่างไม่มีอิดออด ขับรถให้แบบไม่มีหลง เลือกคัดเก็บผลไม้ที่สุกแล้วให้ (ปลอกให้ด้วยยังได้) ช่วยให้คนพิการและคนชราเหาะเหินเดินอากาศได้อีกครั้ง หรือแม้กระทั่งช่วยฆ่าศัตรูของมนุษย์ (รวมถึงสู่กับเครื่องบินรบที่ขับโดยมนุษย์) ที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายหมื่นกิโลเมตร

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังมาแรงอย่างเช่น Deep Learning ในวันนี้ก็ก้าวไกลไปถึงขั้นที่ว่าสมองกลเริ่มสามารถแก้ไขปัญหา “กรอบกว้าง” ที่ซับซ้อนอย่างเช่นการเข้าใจภาษาพูดของมนุษย์หรือการมองเห็นได้บ้างแล้ว ไม่ใช่แค่สามารถแก้ปัญหาที่มีลักษณะตายตัวอย่างเช่นการเล่นหมากรุก  อีกไม่นานปัญหาหลายๆ ปัญหาที่มนุษย์เองก็ยังไม่เข้าใจก็อาจถูกแก้ได้ด้วยวิธีนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยี Cloud Robotics ยังจะทำให้ในอนาคตหุ่นยนต์แต่ละตัวสามารถเรียนรู้จากองค์ความรู้ของหุ่นยนต์อื่นๆ ได้อีกด้วย จึงทำให้ความสามารถของหุ่นยนต์ยิ่งทวีคูณเมื่อมีจำนวนหุ่นยนต์ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้หลายคนกังวลว่าในโลกอนาคตอันใกล้นี้ชีวิตของมนุษย์จะเป็นอย่างไร  มูลค่าทางเศรษฐกิจของมนุษย์จะตกลงไปใกล้ศูนย์จริงๆ หรือว่ามนุษย์จะยังสามารถใฝ่หาช่องทางในการเอาตัวรอดได้อย่างในการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งที่แล้วๆ มา

1. หุ่นยนต์ไม่ได้ทดแทนเราได้เสมอ

jatusri_article28_figure2

จริงอยู่ที่นวัตกรรมหุ่นยนต์และสมองกลใหม่ๆ มักมีต้นกำเนิดมาจากความต้องการในการทดแทนแรงงานมนุษย์  (คำว่า robot เองก็มาจากคำว่า robota ในภาษาเชคที่แปลว่า แรงงานทาส)  แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องมาทดแทนบทบาทของแรงงานมนุษย์ทั้งหมดเสมอไป

ในมุมมองเศรษฐศาสตร์นั้นการที่เราจะผลิตสินค้าอะไรก็แล้วแต่ มักจะมีปัจจัยในการผลิตหลักๆ สองปัจจัยคือ แรงงานมนุษย์ (labor) และทุน (capital)  ซึ่งในยุคหุ่นยนต์ เราอาจมองว่าหุ่นยนต์เป็นทุนประเภทหนึ่งก็ได้

สิ่งที่หลายคนกังวลคือการที่ปัจจัยทั้งสองอย่างนี้สามารถทดแทนกันได้เต็มที่ และวิตกว่าหากเป็นเช่นนั้นใครยังจะจ้างแรงงานมนุษย์ที่ด้อยความสามารถและมีต้นทุนสูงกว่า

แต่การทดแทนกันของสองปัจจัยนี้เป็นการมองแค่ด้านเดียว มันมีความเป็นไปได้ที่แรงงานมนุษย์กับหุ่นยนต์จะสามารถเกื้อกูลกันได้ในเชิงที่ว่าทั้งคู่เป็นปัจจัยที่มีลักษณะใช้ร่วมกัน (complementary inputs)

ตัวอย่างล่าสุดจากงานวิจัยของ James Bessen คือผลของการติดตั้งเครื่อง ATM ทั่วสหรัฐฯ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนแรกทุกคนคิดว่านั่นคือจุดจบของอาชีพพนักงานธนาคารอย่างแน่นอน  แต่ผลกลับกลายเป็นว่าขณะนี้มีพนักงานธนาคารมากขึ้นทั่วสหรัฐฯ  เหตุผลเป็นเพราะว่าเครื่อง ATM ทำให้การเปิดสาขาธนาคารแต่ละสาขามีต้นทุนที่ถูกลง ทำอะไรก็ไวขึ้น  แน่นอนว่าแต่ละสาขาก็จะมีพนักงานประจำน้อยลง แต่เครื่อง ATM นั้นได้เพิ่มผลิตภาพของธนาคารถึงขั้นที่ว่าทำให้มีการขยายเปิดสาขาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 40 เปอร์เซ็นต์  จึงทำให้โดยรวมแล้วมีแรงงานอาชีพพนักงานธนาคารเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้สูญพันธุ์ไปแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารเองก็เริ่มมองเห็นถึงคุณค่าของพนักงานธนาคารที่ได้รับการ “อัพเกรด” ความสามารถด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ กลายเป็นว่าหน้าที่ของพนักงานธนาคารในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับลูกค้าและการขายผลิตภันท์ใหม่ๆ มากกว่าแค่การนับธนบัตร อัพเดธบุค หรือเปิดปิดบัญชี  ที่ตัวอย่างนี้เป็นไปอย่างนี้อาจเป็นเพราะว่าลูกค้าธนาคารส่วนมากยังมีความต้องการพบหน้าพบตาและสนทนากับพนักงานธนาคารตัวเป็นๆ แทนที่จะดุ่มๆ เข้าเว็บไซต์ไปซื้อผลิตภัณฑ์การเงินด้วยตัวเองเลย

ฉะนั้นจากมุมมองด้านการผลิตแบบนี้ การมาของยุคหุ่นยนต์ครั้งนี้มีโอกาสสามารถสร้างอุปสงค์สำหรับแรงงานที่ใช้ร่วมผลิตไปกับหุ่นยนต์ได้ด้วย ทั้งแรงงานแบบเดิมๆ อย่างในกรณีพนักงานธนาคาร หรือแรงงานชนิดใหม่ๆ เช่น ช่างซ่อมเครื่อง ATM หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้าน cyber security ประจำธนาคาร

2.สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ

จริงๆ แล้วหากเราไม่สนใจว่าใครได้ใครเสียจากการมาของยุคหุ่นยนต์ (หรือสมมุติว่าทั้งโลกมีเราเพียงคนเดียว) แทนที่จะกังวลเราควรจะฉลองต้อนรับมันเสียด้วยซ้ำไป

หนึ่งคือเพราะมันเป็นเทคโนโลยีที่เสียน้อยแต่ได้มาก  ทำไมเราจะต้องเสียเวลาขับรถเองหรือเสียเหงื่อทำงานทั้งๆ ที่มันมีวิธีทำได้โดยที่เรานั่งอยู่เฉยๆ (หรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ) จริงไหมครับ

สองคือในขณะที่หลายสังคมมนุษย์กำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย (ประเทศไทยด้วย) แท้จริงแล้วหุ่นยนต์คือผู้กอบกู้เศรษฐกิจและสังคมในวันที่พวกเราชรา หากไม่มีหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมใหม่ๆ นักเศรษฐศาสตร์ไม่ว่าจะค่ายไหนต่างเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจจะโตได้ลำบาก ในสังคมที่มีแต่คนชราและมีอัตราการเติบโตของประชากรต่ำ

ในเชิงทฤษฎีนั้นมีความเป็นไปได้ทั้งคู่ว่าหุ่นยนต์จะทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น (ผลิตภาพ ผลผลิต และเวลาพักผ่อนมากขึ้น) หรือแย่ลง (รายได้และความเป็นอยู่ลดลง)  งานวิจัยทางทฤษฎีของ  Jeffrey Sachs พบว่าหากลองดูยาวๆ ข้ามไปเกิน 5 ชั่วอายุคนแล้ว แม้ว่ายุคหุ่นยนต์จะเป็น productivity shock ที่ดีในวันนี้ มันจะดีต่อกับแค่คนไม่กี่ชั่วอายุแต่จะทำให้ความเป็นอยู่ของคนรุ่นหลังๆ แย่ลงกว่าในโลกคู่ขนานที่ไม่มียุคหุ่นยนต์เสียอีก

หากเรามองว่ายุคหุ่นยนต์คือ productivity shock  ที่ดีและหุ่นยนต์นั้นทดแทนแรงงานได้ตรงๆ ในแบบที่ Jeffrey Sachs มอง  ผลิตภาพ กำไรและรายได้จากทุน (จากหุ่นยนต์นั่นเอง) จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้จากการทำงาน เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่เราโอบรับหุ่นยนต์เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เราจะต้องเผชิญกับการปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะทวีคูณขึ้นอย่างแน่นอน

เพราะ เค้กที่สังคมเราแบ่งกันทานในวันที่หุ่นยนต์เข้ามาในระบบเศรษฐกิจจะก้อนใหญ่ขึ้น แต่คำถามคือใครบ้างจะได้ทานเค้กก้อนใหญ่ก้อนนี้ ใครจะได้ชิ้นใหญ่ ใครที่จะอดตาย 

กลุ่มคนที่เสี่ยงตกงานหรือถูกกดรายได้ที่สุดคือแรงงานประเภทที่ไม่สามารถผลิตร่วมไปกับหุ่นยนต์ได้ เช่น พนักงานธนาคารที่พูดคุยกับลูกค้าไม่เก่ง คนขับรถที่ไม่ยอมเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Uber  (หรือแม้กระทั่งคนขับ Uber เองก็ตาม ขณะนี้ในบางเมืองก็เริ่มจะถูกบริษัทที่ตนเองทำงานให้บี้ด้วยรถขับเองได้แล้ว)

บทความของนักเศรษฐศาสตร์แรงงานอันดับต้นๆ ของโลก David Autor ชี้ว่าผลกระทบของหุ่นยนต์ต่อตลาดแรงงานนั้นซับซ้อนกว่าแค่การคิดในมิติของการทดแทนกันหรือการผลิตร่วมกันของปัจจัยการผลิต  แต่ยังต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงอื่นๆ ที่เป็นไปได้ด้วย เช่น หากหุ่นยนต์ทำให้รายได้ของแรงงานในภาคธุรกิจไฮเทคเพิ่มขึ้น จะมีผลกระทบบวกต่ออาชีพหรือธุรกิจที่หากินกับความมั่งคั่งของลูกค้า เช่น ธุรกิจภัตตาคาร ธุรกิจเทรนเนอร์ส่วนตัว หรือธุรกิจความงามทั้งๆ ที่ธุรกิจเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และสมองกลโดยตรง

ส่วนกลุ่มคนที่จะได้รับแบ่งเค้กก้อนใหญ่ที่สุดไปก็จะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้โดยตรงหรือเป็น “นายทุน” ของหุ่นยนต์เหล่านี้  ซึ่งผู้เขียนมองว่าก็คงเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มท๊อป 10 หรือ ท๊อป 1 เปอร์เซ็นต์ในหลายๆ สังคมวันนี้ที่มีความได้เปรียบเพรียบพร้อมในด้านการศึกษา ทักษะ หรือเงินทุนที่จะพาพวกเขาเข้าถึงหุ่นยนต์ก่อนใครเพื่อน   คนกลุ่มนี้จะชนะ สามเด้งเพราะรายได้จากแรงงานไม่ตกมากนัก (เผลอๆ ขึ้น) รายได้จากทุนจะเพิ่มขึ้น แถมราคาสินค้ามีแนวโน้มต่ำลงเพราะน้ำแรงของหุ่นยนต์

ในมุมมองของ Jeffrey Sachs หากมองระยะยาว คนรุ่นหลังจะเสียเปรียบคนรุ่นเรามากเนื่องจากพวกเขาเกิดมามีทรัพยากรแรงงาน (ความอึดอดทนและเวลาทำงาน) มากกว่ามีทุน แต่กลับใช้ประโยชน์จากแรงงานในวัยหนุ่มสาวได้ไม่เท่ากับพวกเราเนื่องจากรายได้ถูกกดโดยหุ่นยนต์ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสระหว่างชั่วอายุคนนี้เป็นตัวแปรสำคัญในเศรษฐกิจจำลองที่ทำให้สังคมในอนาคตอันไกลมีความเป็นอยู่ที่แย่ลงทั้งๆ ที่มีหุ่นยนต์คอยช่วยเหลือ

3.จะเตรียมตัวรับมือยุคหุ่นยนต์อย่างไร?

jatusri_article28_figure3

การมาของยุคหุ่นยนต์นั้นมีส่วนคล้ายกับการมาของยุคเครื่องจักรและนวัตกรรมเมื่อหลายสิบปีที่แล้วที่ทำให้เกิด “การไหล” ของแรงงานมนุษย์จากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคบริการ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นลักษณะเด่นที่พบเห็นได้ในกลุ่มเศรษฐกิจที่ “ผ่านการพัฒนาแล้ว”  และเป็นที่ขาดหายไปในกลุ่มเศรษฐกิจด้อยพัฒนาที่ยังมีแรงงานจำนวนมากตกค้างอยู่ในภาคเกษตรกรรมทั้งๆ ที่ value-added ต่ำจนไม่คุ้นแล้ว  แรงงานที่มีทักษะใหม่ๆ เช่น การใช้ Excel หรือการใช้คอมพิวเตอร์ที่ “ตลาดแรงงานออฟฟิส” ต้องการก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่แรงงานที่ยังจมอยู่ในภาคเกษตรกรรมทั้งๆ ที่ควรจะไหลออกไปที่ภาคอื่นๆ แล้วจะมีความเป็นอยู่ที่แย่ลงมาก

ยุคหุ่นยนต์อาจจะเป็นคนละยุคกัน แม้ว่าความรวดเร็วของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นจะสูงและถี่กว่า  แต่กลไกหลักๆ ของเศรษฐศาสตร์นั้นไม่เปลี่ยนแปลง

คำถามคือจะเตรียมตัวอย่างไรให้เรา (หรือลูกหลานเรา) ไม่ตกที่นั่งลำบากก่อนการมาของยุคหุ่นยนต์ ?

อันดับแรกเลยคือเราไม่ควรจำกัดทักษะตัวเอง แต่ควรเพิ่มความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนงาน เพราะนิยามของหน้าที่การงานของพวกเราจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

มนุษย์ส่วนมากทำนายอนาคตไม่ค่อยเก่ง  ไม่มีใครทราบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่างานชนิดไหนจะถูกทดแทน (ยกเว้นชนิดที่ยังไงก็ถูกทดแทน เช่น นักรับจ้างพิมพ์ดีดหรือพนักงานขับรถ)

เพราะฉะนั้นเราจึงควรเปิดทางเลือกอนาคตตั้งแต่วันนี้ เริ่มพัฒนาทักษะที่สามารถถ่ายทอดไปสู่งานอื่นได้ด้วย และไม่ควรยืนยันว่าเราเป็นอาชีพนี้มาทั้งชีวิต เราจะกัดฟันสู้ต่อไปอย่างไม่มีประโยชน์

อันดับที่สองคือเราควรเลือกพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่ยังไม่ล้นตลาด (หรือกำลังจะล้นตลาดเพราะหุ่นยนต์)  บางคนอาจคิดว่าการมาของยุคหุ่นยนต์จะทำให้ทักษะแบบ “มนุษย์ๆ ” ขายดีขึ้น  เช่น รอยยิ้ม สัมผัส และการดูแลเอาใจใส่ เป็นต้น  ทว่าช้าก่อน…เศรษฐกิจยุคหุ่นยนต์จะไม่เต็มไปด้วยหมอนวดหรือพยาบาลหรอกครับ  เพราะแนวคิดนี้ถูกแค่ตรงที่ว่าผู้บริโภคน่าจะมีความต้องการทักษะเหล่านี้เพราะหุ่นยนต์ยังคงเข้ามาทดแทนลำบาก   แต่ผิดตรงที่ว่าเกือบทุกคนบนโลกอีก 7 พันล้านคนก็มีทักษะเหล่านี้เหมือนกับคุณ  คล้ายๆ กับการที่ Uber ทำให้ความมั่นคงของอาชีพคนขับรถแท็กซี่สั่นคลอนไปทั่วโลกเพราะมันเป็นการ “เปิดเขื่อน” ทำให้เกือบทุกคนที่มีใบขับขี่ไหลเป็นน้ำท่วมเข้ามาในตลาด  หากจะเลือกพัฒนาทั้งทีควรเลือกทักษะที่ทำให้คุณเป็น high-skilled labor เพราะยุคหุ่นยนต์มีแนวโน้มสูงที่จะมาทดแทน low-skilled labor มากกว่า high-skilled labor

อันดับที่สามคือพยายามถ่ายทุนสู่ลูกหลานให้เร็วไว  เนื่องจากรุ่นลูกรุ่นหลายเราเสี่ยงภาวะรายได้ต่ำ ควรมองหาช่องทางถ่ายทอดทุนของเราสู่พวกเขาไม่ว่าจะผ่านทางการให้โอกาสทางการศึกษา (ที่ดี) หรือผ่านทางเงินตราโดยตรงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการออกตัวเข้าใกล้ความเป็น “นายทุนหุ่นยนต์” ก่อนผู้อื่น

ส่วนสิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำเกินไปก็คือนโยบายถ่ายเงินจากผู้ชนะสู่ผู้แพ้ในยุคหุ่นยนต์บ้าง ไม่ว่าจะจาก high-skilled labor สู่ low-skilled labor หรือ จากรุ่นพวกเราสู่รุ่นเหลน เพราะว่าหากทำได้จริงๆ ทุกคนในสังคมสามารถที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องมีใครอดตาย

แต่ทุกคนทราบดีว่าสิ่งที่วิชาเศรษฐศาสตร์แนะนำว่าดีต่อสังคมที่สุดมักทำได้ไม่ง่ายเท่ากับการเขียนสมการสองสามสมการบนกระดาษ

ไม่เราจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะในยุคหุ่นยนต์ ผู้เขียนหวังว่าอย่างน้อยๆ ขอให้พวกเราทุกคนได้รับ “เวลา” เพิ่มขึ้นก็แล้วกัน เพราะมันเป็นทรัพยากรแสนรักที่เราปล่อยเช่าไปอย่างไร้วิญญานเสียจนชิน

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ หุ่นยนต์ เศรษฐศาสตร์


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

  1. ส่วนที่เป็นลิงก์ อยากให้คลิกขวาแล้วเปิดเป็น new tab ได้ครับ จะได้ไม่ต้องคลิกย้อนกลับไปกลับมา

  2. ปัจจุบัน ระบบตอบรับ Call Center ยังพูดเป็นหุ่นยนต์ได้อย่างน่าเบื่อมากครับ พูดตัวเลือกให้ไม่ถูกใจสักที จนต้อง กดหา เจ้าหน้าที่ครับ

    พนักงาน Call Center หลายๆท่านให้บริการได้ดีกว่าครับ 😀

    1. จริงครับ ผมกด option หาคนอย่างเดียวเลยเวลาโทร แต่ในระยะยาวคิดว่าหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นจะช่วยผ่อนภาระไปได้เป็นส่วนมาก เหลือแต่ปัญหายากๆ หรือจุกจิกมากๆ ให้กับพนักงานตอบ

  3. ก็ต้องอยู่แบบเกื้อกูลกันต่อไป เพราะ
    หุ่นยนต์ทำหน้าที่ได้ แต่ไม่มีสำนึก ศรัทธา และคุณธรรม ซึงเป็นแก่นของจิตวิญญานมนุษย์

keyboard_arrow_up