menu Menu
โปเกนอมิกส์: 3 มุมมองเศรษฐศาสตร์โปเกมอน
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in เศรษฐศาสตร์ภาษาคน on August 12, 2016 0 Comments 88 words
เข้าใจภาวะ “ดอกเบี้ยติดดิน” Previous อนาคตของข้อมูลGIS:เก็บตกงานสัมมนา Esri UC 2016 Next

ก่อนอื่นผมขอขอบคุณที่ท่านผู้อ่านได้สละเวลาอัพเลเวลโปเกมอนอันมีค่ามาอ่านบทความนี้นะครับ สัญญาว่าบทความเกี่ยวกับ “โปเกนอมิกส์” นี้จะสนุก มีสาระ และไม่ใช้เวลาอ่านนานนัก

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น พ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ลูกเล็กเด็กแดง ต่างรู้จักเกม Pokemon GO กันถ้วนหน้า  ซึ่งล่าสุดพบว่าผู้เล่น (Daily Active Users) เกือบ 25 ล้านคนใช้เวลาโดยเฉลี่ยแล้วกว่า 43 นาทีต่อวัน ในเกมนี้ (ทิ้งห่าง Instagram ที่อยู่ที่ 25 นาทีต่อวัน)

ดังเปรี้ยงปร้างขนาดนี้จึงไม่แปลกที่ออฟฟิสสร้างเกมเล็กๆ สองสามออฟฟิส สามารถสร้างรายได้ได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันแม้ว่าผู้เล่นสามารถดาวน์โหลดเกมเล่นได้ฟรี  ความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นนี้เป็นบทพิสูจน์เลยว่าคอนเซ็ปต์ minimum viable product (ออกเกมมาโดยมีแค่ basic feature ก่อนเพื่อทดสอบตลาด) ใช้ได้จริงในวงการนี้

แต่สำหรับผม ที่น่าสนใจกว่าคือสิ่งที่ Pokemon GO สะท้อนให้เห็นถึง 3 มุมมองเศรษฐศาสตร์ต่อไปนี้

1. เศรษฐกิจโปเกมอน: โอกาสและการแข่งขัน

jatusri_article27_figure1

Pokemon GO เป็นมากกว่าแค่ Pokemon GO ในจอโทรศัพท์มือถือของเราและเป็นมากกว่าแค่รายได้ที่เข้าสู่บริษัท Niantic Labs กับ The Pokemon Company

ทุกวันนี้ได้เกิด “Pokemon Economy” หรือ เศรษฐกิจโปเกมอน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเศรษฐกิจจริงกับโลกออนไลน์ในโทรศัพท์มือถือของเราไปเรียบร้อยแล้ว และผมไม่ได้หมายถึงมันในเชิงของ “เศรษฐกิจเกม” ที่เรามักพบเห็นในกรณีเกมดังๆ เช่น การรับจ้างเก็บเลเวล การขายไอเท็มหรือขาย account เท่านั้น  เศรษฐกิจโปเกมอนขยายเป็นวงกว้างกว่านั้นมาก

อธิบายง่ายๆ ก็คือเกม Pokemon GO กลายเป็นสิ่งวิเศษที่สามารถ บังคับให้คนจำนวนมหาศาลออกมาจากบ้าน และอาจถูกเปลี่ยนสถานะไปเป็น ผู้บริโภค ได้อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

jatusri_article27_figure2

“traffic” นี้นับว่าเป็นของขวัญชิ้นโตสำหรับธุรกิจเล็กใหญ่ที่ต้องการเพิ่มยอดขาย

ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ใกล้ PokeStop (ซึ่งส่วนมากเป็นสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมหรือทางประวัติศาสตร์) จึงเริ่มแข่งกันสร้างโปรโมชั่นพิเศษเพื่อล่าผู้เล่นในขณะที่ผู้เล่นล่าโปเกมอน ยกตัวอย่างเช่นร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งซื้อ Lure Module เพื่อล่าให้โปเกมอนมาสุงสิงแถวร้านของเขา พบว่าจ่ายไปแค่ 10 ดอลลาร์สามารถเพิ่มยอดขายได้กว่า 75%  เรียกว่าเป็นการลงทุนทำโปรโมชั่นที่คุ้มมากๆ  บางร้านลดราคาให้สำหรับผู้เล่นบางทีม ร้านกาแฟบางร้านถึงกับสัญญาว่าจะปล่อย Lure Module ทุกๆ 15 แก้วที่ขายได้  งานนี้ผู้เล่นยิ้ม เจ้าของร้านก็ยิ้ม

Pokemon GO ก็ได้แพร่อิทธิพลไปสู่ sharing economy ด้วย  ยกตัวอย่าง เช่น ขณะนี้ได้มีคนขับรถ Uber หลายต่อหลายคนที่เปิดบริการใหม่ รับขับรถช่วยล่าโปเกมอนในเมืองเพื่อดึงลูกค้าที่ไม่อยากเดินในอากาศร้อน หรือไม่อยากเสี่ยงขับรถไปเล่นไป  ส่วนในเมือง Pittsburgh นั้นถึงกับมีบริษัทขับรถใหม่เพื่อล่าโปเกมอนโดยเฉพาะ  ซึ่งคนขับรถจะพาลูกค้าไปยังสถานที่ๆ มีโปเกมอนหรือยิมมากๆ  หรือที่ๆ คนขับเองเคยพบเจอโปเกมอนหายากมาก่อน  แม้ว่าเขาจะคิดราคาแพงที่ 25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงแต่การตอบสนองดีมาก คิวเต็มจนเขากำลังคิดขยายสาขาแล้ว

jatusri_article27_figure3

แน่นอนธุรกิจยักษ์ใหญ่ไม่มีทางปล่อยให้ธุรกิจเล็กๆ ได้โอกาสนี้ไปคนเดียว แมคโดนัลในประเทศญี่ปุ่นก็ได้เซ็นสัญญากับผู้สร้าง Pokemon Go ไปเรียบร้อยแล้วเพื่อทำให้ร้านแมคโดนัลกว่า 3000 สาขากลายเป็นยิม  บริษัทเทเลคอมสหรัฐฯ T-Mobile ก็พยายามแย่งลูกค้าโดยการให้ใช้ data เพื่อเล่น Pokemon GO ได้ไม่อั้นไปตลอดปี  แม้กระทั่งบริษัทออนไลน์อย่าง Yelp ที่ถึงแม้ไม่มี “หน้าร้าน” ก็ไม่น้อยหน้าเขา แข่งโดยการติดตั้ง filter โปเกมอนใหม่ให้ผู้ใช้งานทราบว่ามี PokeStop ใกล้ๆ ร้านอาหารหรือไม่   ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พื้นฐานบอกว่าถ้าเรากำลังเลือกระหว่างสองร้านอาหารที่ราคาพอๆ กัน อาหารอร่อยพอๆ กัน จะไปกินข้าวทั้งที ถ้าร้านหนึ่งมีโปเกมอนให้จับระหว่างรอแต่อีกร้านหนึ่งไม่มี ก็ต้องเลือกร้านที่มี

2. ประสิทธิภาพ: ใช้ทรัพยากรน้อย…แต่ได้มากกันถ้วนหน้า

jatusri_article27_figure4

หากคุณเคยเล่นเกมโปเกมอนสมัยเกมบอยอันเท่าสมุดโทรศัพท์ คุณจะไม่มีทางเชื่อว่า Pokemon GO สามารถเล่นได้สนุกพอประมาณโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย  และคุณก็จะไม่เชื่อว่าเกมที่คนเล่นกันเป็นหลักล้านทุกวันทุกคืนและสร้างรายได้ขนาดนี้จะถูกสร้างได้โดยคนไม่กี่คนในออฟฟิสไม่กี่ออฟฟิส

บางคนมอง Pokemon GO ในแง่ลบในจุดนี้ ว่ามันดูดเวลา และ “ปล้น” เงินมหาศาลต่อวันให้ไหลไปเข้ากระเป๋าสตางค์ของคนไม่กี่คน ผมกลับมองมันในแง่บวก

สมัยก่อนกว่าคนเราจะผลิตสิ่งบันเทิงดีๆ ขึ้นมาได้สักชิ้นต้องใช้เวลา แรงงานและทรัพยากรมหาศาล  (นึกถึงฉากสู้รบที่ไม่มี CGI สมัยก่อนสิครับ) Pokemon GO แสดงให้เห็นว่าเราสามารถหาวิธีผลิตสิ่งบันเทิงโดยใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่ทำให้คนบริโภคได้มากกว่าแต่ก่อนมากด้วยราคาต่ำ 

แทนที่ผู้เล่นเป็นล้านๆ คนจะต้องเสียเงินซื้อตัวเกม ก็สามารถเอาเงินก้อนนั้น (ที่ตอนนี้ไม่ต้องจ่ายแล้ว) ไปซื้อสิ่งของหรือบริการอื่นๆ เข้ามาบำรุงชีวิตได้ในมิติอื่นๆ ได้  แรงงานในวงการบันเทิงหรือวงการเกมที่ไม่จำเป็นในการผลิต Pokemon GO ก็สามารถ “ไหล” ไปผลิตสินค้าหรือบริการอื่นๆ เข้ามาแข่งขันและเสนอต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ ใหม่ได้

นี่เป็นเรื่องน่ายินดีและเป็นนวัตกรรมที่น่าเอาอย่าง เพราะมันทำให้ชีวิตคนจำนวนมหาศาลเติมเต็มขึ้นด้วยทรัพยากรที่น้อยลง

3. ความเหลื่อมล้ำ: กระจกสะท้อนโลกจริง

jatusri_article27_figure5

พักนี้ผู้อ่านคงเคยเห็นสเตตัสจำพวก “ลำปางหนาวมาก…เดินมา 2 ชั่วโมงแล้วไม่มีโปเกมอนเลย จับหมาข้างทางดีกว่า” โผล่มาพอสมควร

นั่นเพราะว่าระบบของ Pokemon GO สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในหลายๆ มิติที่มีอยู่แล้วในสังคมมนุษย์ได้อย่างชัดเจน  คนที่ฐานะดีกว่ามักอยู่อาศัยใกล้ Public Amenities ดีๆ เช่น สวนสาธารณะ สถานที่สำคัญ หรือแม้กระทั่ง “ใจกลางเมือง”  ซึ่งสมัยก่อนเป็นสถานที่ที่ Niantic Labs ใช้ในอีกเกมชื่อ Ingress ก่อนที่จะมาเป็นแม่แบบให้กับสถานที่ๆ จะมาเป็น PokeStop ใน Pokemon GO  (อ่านอีกบทความที่นี่ว่าทำไมในประเทศไทยมี PokeStop ที่ศาลพระภูมิเหลือเกิน)  อีกเหตุผลหนึ่งคือการเกิดของโปเกมอนอาจจะเกี่ยวเนื่องกับการใช้ data ทางโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นคุณจะเห็นโปเกมอนแถวหน้าตึกที่ชุกชุมมากกว่าตามกอหญ้าในต่างจังหวัดมาก  ความเหลื่อมล้ำในมิตินี้จะยิ่งทวีคูณเมื่อผู้เล่นสามารถ trade โปเกมอนกันได้

jatusri_article27_figure6

อีกเรื่องคือคนพิการที่ไม่สามารถเล่น Pokemon GO ได้อย่างคนอื่น ยังดีที่มีคนใจดี (ด้านบน) ดูแล้วสบายใจขึ้นครับ

ประเด็นอื่นๆ ที่น่าจับตามอง

Pokemon GO จะเป็นแค่ฟีเวอร์ชั่วคราวหรือไม่เราคงต้องจับตาดูกันต่อไป

แต่ประเด็นอื่นๆ ที่น่าจับตามองคือ 1. ภาครัฐจะตอบสนองอย่างไร  2. Pokemon GO จะเลือกจับมือกับใครบ้าง

ประเด็นแรกนั้นสำคัญเพราะแม้ว่า Pokemon GO จะเป็นแค่เกม แต่ชีวิตคนที่อาจเป็นอันตรายเพราะ “เทรนแล้วขับ” หรือไปล่าโปเกมอนตามสถานที่อันตรายเป็นเรื่องจริง  การแบนคงรุนแรงไป แต่มีอีกหลายช่องทางในการทำให้ประชาชนปลอดภัยและเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐกับประชาชนไปในตัวด้วย Pokemon GO เช่น การประกาศวิธีการล่าโปเกมอนอย่างปลอดภัยโดยกรมตำรวจแห่งหนึ่งในเมืองซานฟรานซิสโก หรือการรณรงค์วางแผนผังรถเมล์ให้ผู้เล่นออกล่าโปเกมอนอย่างปลอดภัยและราคาถูกบนรถเมล์ของเมืองซานฟรานซิสโก รถติดน้อยลง คนออกเดินมากขึ้น รถเมล์ทำรายได้ดีขึ้น  หากเป็นเช่นนี้จริง ดีไม่ดีภาครัฐอาจผลักดันพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของประชาชนผ่าน Pokemon Go ในมุมอื่นๆ ในอนาคตก็เป็นได้

ประเด็นที่สองนั้นน่าสนใจมากว่าทางผู้สร้าง Pokemon GO จะเลือกจับมือกับธุรกิจยักษ์ใหญ่รายไหนอีกและจะเป็นในรูปแบบใด เพราะการจับมือเพื่อแปลงสาขาให้กลายเป็น PokeStop หรือเป็นยิมไปเลยคือการดูด traffic มาจากคู่แข่งโดยตรง  อดนึกไม่ได้ว่าอีกหน่อยคงจะมีโปเกมอนชนิดพิเศษที่ต้องไปที่ร้านบางร้านเท่านั้น

สุดท้ายนี้หวังว่าผู้อ่านจะได้สนุกไปกับ 3 มุมมองของโปเกนอมิกส์ที่ผมคิดว่าน่าสนใจนะครับ ถ้ามีใครเห็นไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจผ่าน Pokemon GO อย่าลืมแชร์กันในคอมเมนต์ด้วย

ไปเทรนต่อได้เลยครับ!

Pokemon Go ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ โปเกมอน


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up