menu Menu
เข้าใจภาวะ “ดอกเบี้ยติดดิน”
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in เศรษฐศาสตร์ภาษาคน on August 17, 2016 0 Comments 22 words
[Life+] Productive ขึ้นด้วยการทำงานให้น้อยลง Previous โปเกนอมิกส์: 3 มุมมองเศรษฐศาสตร์โปเกมอน Next

พักนี้มักได้ยินหลายคนบ่นว่าทำไมอัตราดอกเบี้ยมันต่ำจัง  จะฝากประจำทีคิดหนัก ส่วนผู้สูงอายุใกล้เกษียณยิ่งวิตกเพราะอายุเลยวัยเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์กับตลาดหุ้นที่ผันผวนแล้ว

คำถามยอดฮิตทุกวันนี้จึงเป็น “ดอกเบี้ยมันจะต่ำติดดินแบบนี้ไปอีกนานไหม?”

บทความนี้จะนำเสนอมุมมองหลักๆ ในการอธิบายว่า 1.ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำแปลว่าอะไร 2.ทำไมมันถึงต่ำ  3.เมื่อไรมันจะขึ้น

ทบทวนภาวะ ดอกเบี้ยติดดิน

jatusri_s2m_article1_figure1
10-yr Government Bond Yields

อัตราดอกเบี้ยต่ำได้ สูงได้ ติดลบได้ เป็นเรื่องปกติ

แต่ที่หลายคงรู้สึกว่ามันผิดปกติเป็นเพราะว่าเราไม่คุ้นกับภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำติดดินพร้อมหน้ากันหลายประเทศทั่วโลกมาเป็นปีๆ และไม่คุ้นกับการที่ธนาคารกลางหลายแห่งพร้อมเพรียงกันกดดอกเบี้ยให้ต่ำ

ขณะนี้อัตราตอบแทนของสินทรัพย์บางจำพวกเช่นพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวได้เข้าใกล้ศูนย์ไปแล้วในหลายประเทศ  แปลง่ายๆ ว่ารัฐบาลเหล่านี้สามารถยืมเงินมาใช้ได้เป็นสิบปีโดยแทบไม่ต้องจ่ายสักแดง ส่วนในบางประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์นั้นอัตราดอกเบี้ยนี้ดิ่งลงไปต่ำกว่าศูนย์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว นั่นแปลว่าในกรณีนี้ผู้ให้กู้กลับต้อง “จ่ายเพื่อออม” ยอมเสียเงินเพื่อให้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เอาเงินเขาไปใช้ระยะยาว!

ทว่าตัวเลขต่ำติดดินที่เราเห็นพาดหัวข่าวกันบ่อยๆ มักจะยังไม่ได้รวมผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเรามีโอกาสถืออัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% และคาดว่าระดับราคาจะเพิ่มขึ้น 1% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) ก็จะเป็น 2% – 1% = 1%  (ยิ่งต่ำติดดินเข้าไปอีก) แต่กลับกันหากเศรษฐกิจเรามีภาวะเงินฝืดขึ้นมา อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่พาดหัวอยู่

ทำไมอัตราดอกเบี้ยยังต่ำ?

คำถามนี้คงตอบได้ไม่หมดใน 1 บทความ แต่มีอยู่ 4 ปัจจัยหลักๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

หนึ่งคือแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์  ปกติแล้วนักลงทุนจะต้องการผลตอบแทนมากขึ้นเวลาอัตราเงินเฟ้อสูงเพื่อทดแทนกำลังซื้อที่ถูกบั่นทอนไปด้วยความแพงของสินค้า ขณะนี้ตลาดกำลังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะ 10 ปีข้างหน้านั้นต่ำมาก สำหรับประเทศไทยนั้นต่ำสุดตั้งแต่ปี 2001 ด้วยซ้ำไป  จึงไม่แปลกที่ตลาดยัง “โอเค” กับภาวะดอกเบี้ยต่ำติดดินแบบนี้

jatusri_s2m_article2_figure2

ยิ่งไปกว่านั้นการที่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวไม่แตกต่างจากระยะสั้นมากเท่าแต่ก่อน (ดังภาพด้านบน) ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่บ่งบอกว่านักลงทุนทั่วโลกไม่คิดว่าจะมีเงินเฟ้อเกิดขึ้นในสายตาพวกเขาเลยด้วยซ้ำ

สองคืออัตราดอกเบี้ยมักอยู่ในระดับที่ต่ำในเศรษฐกิจที่อ่อนล้า ลุงเบน เบอร์นานเก้ มองว่าดอกเบี้ยติดดินเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าสุขภาพของเศรษฐกิจหลายแห่งยังแย่ และโอกาสในการลงทุนที่กำไรดีในขณะนี้มีไม่มาก  ตรรกะนี้เข้าใจง่ายเพราะหากโอกาสในการลงทุนดีๆ มีมากจริง ดอกเบี้ยซึ่งเป็น “ราคาของทุน”  จะต้องถูก bid ขึ้นไปตามธรรมชาติ  ตราบใดที่เศรษฐกิจท่ายังไม่ดี โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ในเศรษฐกิจจะขึ้นคงเป็นไปได้ยาก

สามคือนโยบายการเงินของธนาคารกลาง จุดนี้เป็นจุดที่มีการถกเถียงมากที่สุดจุดหนึ่งเนื่องจากหลายคนโทษธนาคารกลางว่าทำไมถึง “เหยีบ” ดอกเบี้ยนโยบายไว้แถวๆ ศูนย์ ทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารกลางมักออกมาโต้แย้งว่าพวกเขากำลัง “เล็งยิง” สิ่งที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยแท้จริงสมดุล” หรือเรียกง่ายๆ ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนสถานะของเศรษฐกิจในห้วงเวลาหนึ่งที่ “ทุกอย่างในเศรษฐกิจเข้าที่แล้ว” ได้อย่างเหมาะสมที่สุด  ทว่าการเล็งยิง นี้ทำได้ยากและต้องทำให้แม่น เพราะว่าไม่มีใครสามารถวัดอัตราดอกเบี้ยสมดุลได้ตรงๆ หากขึ้นดอกเบี้ยสูงเลยอัตราดอกเบี้ยแท้จริงสมดุล เศรษฐกิจอาจจะแผ่วลง ลดดอกเบี้ยต่ำไปกว่าตัวเลขนี้เศรษฐกิจก็อาจร้อนแรงเกินจนเกิดเงินเฟ้อขึ้น

สี่คือแรงกดดันจากเงินออมที่ล้น  หลายคนคงจำได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมานาน เช่น ประเทศจีนและเหล่าเศรษฐกิจน้ำมันทั้งหลายเคยแห่กันเอาเงินก้อนใหญ่ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ   การที่ประเทศเหล่านี้เอาเงินจำนวนมากที่ล้นมาจากการส่งออก (การใช้จ่ายในประเทศเขาน้อยกว่ารายได้ที่เขาหาได้) ไปลงที่สินทรัพย์เหล่านี้ทำให้เกิดแรงกดดันต่อผลตอบแทน ที่สำคัญคือเงินออมที่ล้นประเทศเหล่านี้ก็ยังสามารถไหลไปกดให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศตนเองต่ำลงได้ด้วยอย่างเช่นในประเทศไทยของเราเองที่การนำเข้าตกลงเรื่อยๆ

แล้วเมื่อไรอัตราดอกเบี้ยถึงจะขึ้น?

นอกจากการดูปัจจัย 4 อย่างข้างต้นแล้ว คำตอบที่ผมคิดว่าเรียบง่ายและ back to basics ที่สุดคือมันจะไม่ขึ้นจนกว่า “ท่าที” ของเศรษฐกิจยักใหญ่และเศรษฐกิจที่เคยเกิดวิกฤตขึ้นเมื่อหลายปีก่อนจะดีขึ้น

หากเราเชื่อการคำนวนของ IMF  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ “กลุ่มเจ้าปัญหา” เช่น ไอซ์แลนด์ กรีซ อเมริกา อิตาลี สเปน โปรตุเกส จะต้องใช้เวลามากกว่า 9 ปีในการดึง GDP ต่อหัวกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนวิกฤตในปี 2007-8

บทความหน้าผมจะมาเสนอมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นใกล้ฟื้นแล้วหรือยังครับ

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ภาษาคน


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up