Views:
3,873
“Lee Kuan Yew: The Grand Master’s Insights on China, the United States, and the World ” เป็นหนังสือที่รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับอำนาจ การเมืองระหว่างประเทศ และอนาคตของโลกใบนี้จากบทสัมภาษณ์ของนาย “ลี กวนยู ” นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศสิงคโปร์ ผู้ซึ่งมีวิศัยทัศน์เฉียบคม สามารถพลิกเกาะเล็ก ๆ ที่ไร้ซึ่งกำลังทหารและทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่ประเทศที่คนทั้งโลกวันนี้ต้องยอมรับในศักยภาพและได้แต่มองเอาอย่าง เหล่าบรรดานายกฯ ประธานาธิบดี และ CEO จากทั่วโลก ต่างเคยมาเยี่ยมเยียนและคารวะ ลี กวนยู เพื่อที่จะได้ฟังความเห็นและเรียนรู้จากเขากันทั้งนั้น หนังสือเล่มนี้เขียนและรวบรวมโดย Graham Allison กับ Robert Blackwill ขณะนี้ทั้งสองท่านประจำอยู่ที่ Harvard Kennedy School ครับ
ใครที่สนใจเรื่องอนาคตของโลก อนาคตของระบอบประชาธิปไตย เอเชีย จีน และ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะท่านที่ยังไม่เคยอ่านอะไรเกี่ยวกับ ลี กวนยู ผมว่าไม่ควรพลาดเพราะว่าหนังสือเล่มนี้สั้น อ่านง่าย แต่เนื้อหาเข้มข้นครับ
ในบทความนี้ผู้เขียนคัดเอาใจความสำคัญในหัวข้อเด่น ๆ และเติมความคิดเห็นของผู้เขียนเองให้ด้านล่างครับ
ลีมองจีน:
ลี กวนยู คิดว่า สี จิ้นผิง มีบุคลิกที่เหมาะสมกับการรับใช้ประเทศชาติ คล้ายเนลสัน แมนเดลา
จีนคิดที่จะเป็นที่หนึ่งอย่างแน่นอน – ในขณะนี้คนอเมริกันกำลังกังวลว่าจีนกำลังคิดอะไรอยู่ เกรงว่าวันหนึ่งจีนจะต้องการพลิกบทบาทกลับมาเอาชนะเพื่อเป็นที่หนึ่งของโลก จากมุมมองของ ลี กวนยู เขาคิดว่าคนจีนมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ถึง 4 พันปี เคยเจริญที่สุดในโลกมาแล้ว ขณะนี้มีคนพันกว่าล้านคน แน่นอนว่าจะต้องมีคนเก่ง ๆ มากมายที่สามารถเฟ้นหาเลือกมาพัฒนาประเทศ ทำไมจีนถึงจะไม่คิดเป็นที่หนึ่งเล่า?
จีนต้องการให้ชาติอื่น ๆ ให้เกียรติจีนบ้าง – จีนเคยเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่มาก่อน ต่างแดนมาเยี่ยมเยียนต้องเข้ามาหมอบกราบฮ่องเต้ ต้องส่งส่วยมาให้แผ่นดินใหญ่ แต่ในยุคหลังจีนกลับผ่านการถูกรังแกและเอาเปรียบดูถูกมานับหลายศตวรรต เพราะฉะนั้นอย่าได้หวังว่าเมื่อจีนกลับมาอีกครั้งจีนจะก้มหัวยอมทำตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในเวทีโลกที่ชาติอื่นร่างขึ้นมา
แม่เหล็กการค้าจีนจะรุนแรงขึ้นอีกมากหลังจีนเปิดประเทศมากขึ้น – ในอนาคตอันใกล้ นโยบายของประเทศรอบ ๆ จีน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และทั้ง ASEAN ท้ายที่สุดจะ “เบี้ยว” เนื่องจากแรงดึงดูดอันมหาศาลจากลูกค้าอีก 1.3 พันล้านคนที่ร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศจีน
จีนจะไม่มีวันเปลี่ยนไปเป็น Liberal Democracy เด็ดขาด – ลี กวนยู คิดว่าการเปลี่ยนระบบไปเป็น liberal democracy จะนำมาสู่ความพินาศในความมั่นคงของสังคมจีน
จุดอ่อนของจีน
แม้จีนจะแซงอเมริกาได้ในตัวเลข GDP แต่ ลี กวนยูคิดว่าจีนจะไม่มีวันแซงอเมริกาได้เลยในด้านของความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เขาคิดว่ามันเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมจีนไม่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนไอเดีย แต่กลับเน้นให้คนยอมรับแบบแผนที่มีมาแต่ดั้งเดิมมากกว่า
ภาษาจีนที่เข้าใจยากนั้นเป็นจุดอ่อนของประเทศจีนในระยะยาว หากไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก จีนจะมีปัญหาด้านการดึงดูดแรงงานคุณภาพจากประเทศอื่น ๆ
เศรษฐกิจจีนจะยังโตได้ในอัตราที่สูงมาก ๆ – เศรษฐกิจจีนจะยังสามารถโตได้ด้วยอัตราสูงมาก ๆ ไปได้อีกเป็นสิบปีเนื่องจาก ลี กวนยูเชื่อมั่นในความสามารถและความมั่งคั่งของประชาชนจีนกว่าพันล้านคน
[settakid] ในบทเกี่ยวกับอนาคตของประเทศจีน ผมเห็นด้วยกับ ลี กวนยู ในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในเรื่องที่จีนต้องการให้ชาติอื่น ๆ ให้เกียร์ติจีนบ้าง การที่จะให้จีนเคารพกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ส่วนมากร่างขึ้นโดยอิทธิพลของอเมริกาและฝั่งตะวันตก มันคงเป็นไปได้ลำบาก เพราะว่าตั้งแต่วันแรกที่สองชาตินี้พบเจอกัน มันมีปัญหามากกว่ามีมิตรภาพ ยกตัวอย่างรอยร้าวใหญ่ ๆ ในความสัมพันธ์นี้ เช่น สงครามฝิ่น สงครามเกาหลี และ การทิ้งระเบิดผิดใส่สถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด
ด้วยหลาย ๆ เหตุผลดังกล่าว ภาพลักษณ์ของคนอเมริกันในหมู่ชาวจีนจึงเป็นภาพของชนชาติที่เอาตัวเองมาก่อนเสมอ เป็นชาติที่เอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่า และจะเป็นเพื่อนด้วยก็ต่อเมื่อตัวเองได้ประโยชน์ ผมเห็นด้วยกับ ลี กวนยูว่า เมื่อจีนมีอำนาจมากพอ จีนจะพยายามทุกวิถีทางที่จะกู้ศักดิ์ศรีคืนมา และจะไม่ยอมก้มหัวให้ประเทศที่เคยเอาเปรียบจีนมาตลอดอย่างแน่นอน
ส่วนในเรื่องของการเมืองการปกครองกับเรื่องอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนั้น ผมไม่เห็นด้วยเท่าไรนัก ถึงแม้ว่า liberal democracy จะเป็นไปได้ยากในประเทศที่มีประวัติศาสตร์และมีจำนวนประชากรอย่างประเทศจีนแต่ระบอบประชาธิปไตยแบบสองพรรค อาจจะเป็นไปได้เพราะว่าในพรรคคอมมิวนิสต์ที่จริงก็มีสอง factions เด่นๆ ให้เห็นกันอยู่แล้ว และเชื่อว่าเมื่อใดชาวจีนมีความเป็นอยู่โดยรวมดีพอ และได้รับค่านิยมตะวันตกเข้ามามากพอ จะมีแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อร้องเรียนสิทธิมากกว่าสมัยก่อนที่ขอแค่มีเงินมากขึ้นก็พอ (อารมณ์ประมาณว่าได้คืบจะเอาศอก) ส่วนเรื่องที่ว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมาโตเป็นสิบเปอร์เซ็นต์ ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ง่าย ๆ นอกจากจีนจะโตมาถึงระดับที่โตต่อได้ยากขึ้นแล้ว ปัจจัยนอกที่ทำให้จีนเคยโตได้เร็วมันก็ฝ่อไปมากหลังจากที่หลายประเทศคู่ค้าของจีนยังเมากับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และวิกฤตหนี้ยุโรปอยู่
ลีมองอเมริกา:
อเมริกาจะยังเป็นที่หนึ่งไปอีกยาว – ความคิดสร้างสรรค์ แนวความคิดในวัฒนธรรมอเมริกัน และ “entrepreneur spirit” จะช่วยให้อเมริกาฝ่าฟันปัญหาได้ทั้งปวง ลี กวนยูยังมั่นใจว่าอเมริกาก็ยังจะเป็นประเทศเดียวที่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในเวทีโลกได้จริง ๆ อีกทั้งยังเป็นประเทศเดียวที่สามารถเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้
ในอนาคต ประเทศอเมริกาจะกลายเป็น “อนาจักรอเมริกา” – อเมริกาไม่มีทางเลือก ตราบใดที่อเมริกาต้องการที่จะคงความสามารถในการแข่งขัน อเมริกาจะต้องอนุญาติให้ชนชาติใดก็ได้มาทำงานในประเทศหรือในบริษัทข้ามชาติของอเมริกาได้ง่ายขึ้นเพื่อดึงดูดแรงงานคุณภาพ
จุดแข็งของชาวอเมริกันคือวัฒนธรรมอเมริกันและแนวคิดที่ว่า “ทุกอย่างต้องทำได้” (can-do approach to life) – คนอเมริกันมีแนวคิดว่าทุกอย่างบนโลกสามารถถูกนำมาแยกแยะ วิเคราะห์ และทำให้มันดีขึ้นอีกได้ ไม่ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ก็ตาม ทุกอย่างเป็นไปได้ หากมีเงิน มีการวิจัย และมีการลงน้ำลงแรงพอ
ยังไง ๆ อเมริกาก็จะยังจะแกร่งที่สุด ด้วยวัฒนธรรมที่ให้ทุกคนเริ่มจากศูนย์แล้วแข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
ลี กวนยูทึ่งใน mindset ของชาวอเมริกัน พวกเค้าเข้าไปในทวีปที่ว่างเปล่า เข่นฆ่าอินเดียนแดงเกือบเกลี้ยง ยึดพื้นที่ แล้วคุยกันเองว่า ใครจะเป็นทนาย ใครจะเป็นนายอำเภอ ใครจะเป็นนายธนาคาร แยกย้ายกันไปทำงานให้ดี ผ่านไปไม่กี่ร้อยปี กลายเป็นที่หนึ่งของโลก
ข้อดีอีกข้อหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันที่แตกต่างจากวัฒนธรรมเอเชีย คือบทบาทของทุกคนในสังคัม ในวัฒนธรรมอเมริกันนั้น ตัวเองมาก่อน จึงทำให้สังคมอเมริกันมีความสามารถในการแข่งขันและมีสมรรถนะมากกว่าสังคมอื่นมาก
อเมริกายังได้เปรียบชาติอื่นมากตรงที่ว่ามีวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง ต้อนรับแรงงานคุณภาพเข้ามาทำให้ประเทศแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ
จุดอ่อนของอเมริกา – ในขณะเดียวกัน การที่เป็นประเทศที่เปิดรับวัฒนธรรมอื่น ๆ มากก็จะมีความเสี่ยงในระยะยาว โดยในขณะนี้อเมริกามีประชากรฮิสแปนิค (ลาติน) เพื่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามที่ ลี กวนยู สงสัยคือ ถ้าคนเหล่านี้เข้ามาขยายเผ่าพันธุ์และมีลูกมากกว่าคนขาว อะไรจะเกิดขึ้น? วัฒนธรรมอเมริกันจะยังคงมีแนวคิดเดิมที่ช่วยให้ประเทศแข็งแกร่งขึ้นมาอย่างหลายสิบปีนี้อีกหรือไม่? อีกจุดอ่อนก็คือการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ให้ทุกคนมีเสียงเท่าเทียมกัน ลี กวนยูเห็นว่ามันจะนำมาสู่ปัญหาหนี้ของรัฐบาลที่เลี่ยงไม่ได้ ในระบบนี้ พรรคการเมืองจะอยู่รอดได้ ก็ต้องแข่งกันสัญญา นั่นก็แปลว่าต้องแข่งกันจ่ายให้มากกว่าอีกพรรคหนึ่งเสมอ
[settakid] ผมชอบบทนี้มากเพราะว่า ลี กวนยู คอมเมนต์แบบแฟร์ๆ แม้ว่าเขาจะเคยต่อต้านความเป็นอเมริกันอย่างรุนแรงในหนังสือเล่มก่อนๆ ผมอยู่ประเทศอเมริกามาจะครบปีที่สิบแล้ว เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถึงแม้จะมีหลายส่วนในวัฒนธรรมของเค้าที่เราคนเอเชียอาจจะรับไม่ค่อยได้ แต่ต้องยอมรับว่าเค้ามีจุดแข็งอย่างที่ ลี กวนยูได้ย้ำไว้ในบทนี้จริงๆ
ช่วงนี้เป็นเวลาที่อเมริกากำลังเจอกับปัญหารอบด้าน มีทั้งปัญหาเพดานหนี้ที่จะกลับมาหลอกหลอนเดือนหน้านี้ มีทั้งปัญหาในซีเรียที่อาจชักพาอเมริกาไปสู่การสู้รบกับรัสเซียและจีนได้ แต่ผมยังมองว่าวันนี้ยังไม่ใช่วันอวสานของประเทศอเมริกา อเมริกายังมีไพ่ที่เหนือกว่าชาติอื่นทั้งทางทหารและทางการเงินอยู่ในมือ ซึ่งก็คือสกุลเงินดอลล่าห์ที่ใช้ settle trade กันทั่วโลก หลายคนคิดว่ารัสเซียกับจีนอาจรวมหัวกันทิ้งพันธบัตรสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านไม่ให้สหรัฐฯจู่โจมซีเรีย แต่ผมไม่คิดว่าจีนจะกล้าทิ้งพันธบัตรสหรัฐฯ จำนวนมากเพื่อแลกกับซีเรีย จีนได้ผลประโยชน์ในเชิงการค้ากับสหรัฐฯและพันธมิตรของสหรัฐฯในจำนวนมาก ไม่มีทางทำอะไรฮึกเหิมหากไม่จำเป็นจริง ๆ
นอกจากกำลังทางการทหารและการเงินแล้ว ยังมีกำลังทาง “วัฒนธรรม” อย่างที่ ลี กวนยูบอก เวลามีปัญหา อเมริกาจะเป็นชาติที่อยู่กับความเป็นจริง ค่อนข้างยืดหยุ่นมากกว่าประเทศอื่น ๆ ไม่สนใจหากวิธีแก้ปัญหามันจะขัดกับวิธีเดิม ๆ หรือมันขัดกับอะไรก็ตามแต่ ขอแค่ให้มันแก้ปัญหาได้จริง ความไม่ยึดติดในอดีตเป็นจุดแข็ง และจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศอเมริกาเอาตัวรอดและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ดีกว่าประเทศจีนและอีกหลาย ๆ ประเทศบนโลกนี้
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน:
อเมริกากับจีนจะไม่ตีกันจริง ๆ – โอกาสที่สองประเทศนี้จะปะทะกันด้วยกำลังนั้นเป็นไปได้ยากมากในสมัยที่ทั้งสองฝ่ายต้องการทั้งความร่วมมือและการแข่งขันในปริมาณที่พอเหมาะจากอีกฝ่าย
อเมริกาไม่ควรมองจีนเป็น “ศัตรู” ตั้งแต่แรก มันไม่ทำให้อะไรดีขึ้น – หากอเมริกาเริ่มกลั่นแกล้งจีนตั้งแต่ตอนนี้ เท่ากับเป็นการสร้างศัตรูอย่างไม่จำเป็น เพราะจีนยังไงก็จะแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ลี กวนยู กลับแนะนำให้อเมริกายังคงกำลังทหารไว้ในยุโรปและเอเชีย โลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองเจริญมาได้ถึงขนาดนี้ก็เพราะว่าความสงบสุขและความมั่นคงที่อเมริกาเป็นผู้ดูแล
[settakid] ในเรื่องนี้ ผมเห็นด้วยกับ ลี กวนยูทั้งสองข้อ ในข้อแรก จีนและอเมริกาในวันนี้ผูกติดกันเกินกว่าที่ทั้งสองฝ่ายจะยอมให้การค้าโดนกระทบกระเทือน ส่วนในข้อที่สอง ผมอยากให้พรรครีพับลิกันเลิกเรียกและคิดว่าจีนเป็นศัตรูสักที เพราะว่ามันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น
การก่อการร้าย:
ศาสนาอิสลามไม่ใช่ปัญหา – ลัทธิหัวรุนแรงสิคือปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่มากของโลก เพราะว่าความรุนแรงนี้มาจากความเชื่อ ไม่ได้มาจากตรรกะหรือความคิดในเชิงการเอาตัวรอดเลยซักนิด
จุดจบของโลกคือเมื่ออิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ – ความเสี่ยงที่สุดของโลกคือเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก ๆ ของชาวมุสลิมทั้งหมด ได้อาวุธนิวเคลียร์ไปครอบครอง เพราะฉะนั้น ลี กวนยูคิดว่าเราไม่ควรให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำมาซึ่งความกังวลของประเทศรอบ ๆ และเพิ่มความต้องในการผลิตหรือซื้ออาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้มีโอกาสที่อาวุธพวกนี้อาจจะหล่นไปอยู่ในมือผู้ก่อการร้ายได้
อัลกออิดะห์กำลังฝันกลางวัน – อย่างไรก็ตาม อัลกออิดะห์ไม่มีทางชนะได้จริง ๆ เพราะว่าแผนการยึดครองโลกเพื่อสร้างดินแดนมุสลิมนั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ปัญหานี้ยิ่งแก้ยากเวลาไม่มี บิน ลาดิน – การตายของนาย บิน ลาดินทำให้การก่อการร้ายกระจายออกจากศูนย์บัญชาการ ทำให้การปราบปรามในอนาคตยากขึ้นมาก แต่ข้อดีก็คือจะไม่มีการก่อการร้ายในระดับที่รุนแรงถึงขั้นสมัย 9/11 ได้อีก
ผมเขียนเรื่องอัลกออิดะห์ไปแล้วในโพสนี้ ดูเหมือนว่าจะผมจะคิดตรงกับ ลี กวนยูทุกประการในหัวข้อนี้ แต่ผมไม่ได้คิดถึงโอกาสที่อัลกออิดะห์จะได้อาวุธนิวเคลียร์ไปครอบครอง ลองคิดๆ ดูมันก็น่ากลัว เพราะว่าคนพวกนี้เขาไม่กลัว second strike เขาแค่ต้องการทำเพื่อพระเจ้าเท่านั้น ตัวเองจะเจ็บจะตายไม่เป็นไร ยังไง osama care ก็ดีกว่า obama care อยู่แล้ว
การพัฒนาเศรษฐกิจ:
ผู้นำในยุคเปลี่ยนผ่านนั้นสำคัญมาก – ความล้มเหลวของประเทศโลกที่สามที่เห็น ๆ กันมาคือการที่ผู้นำล่าสุดหลังการประกาศเป็นอิสรภาพนั้นใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการใช้และจัดการทรัพยากรแบบผิด ๆ จึงทำให้เกิดโอกาสในการฉ้อโกงมากขึ้น
“ปัจจัย 4” ของ ลี กวนยู – ปัจจัยของความเจริญและความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีอยู่สี่อย่างง่าย ๆ ดังนี้
ทรัพยากรทั้งหมดต่อหัวประชากร
ระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
มาตรฐานของระบบการศึกษา
วัฒนธรรม ความมีระเบียบ และความมุมานะในแรงงานของประเทศ
ค่านิยมและนิสัยของประชากรควรจะเปลี่ยนแปลงได้เพื่อเพิ่มอัตราผลิตภาพ
ลี กวนยู ถึงกับงงที่พบว่ายังมีถึง 55% ของแรงงานสิงค์โปร์ที่กลัวถูกเพื่อนร่วมงานหมั่นไส้หากตนตั้งใจทำงานออกนอกหน้าเกินไป
ประเทศจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อคนที่ทำงานเก่งกว่าทำตัวเป็นคนกำหนดมาตรฐานให้คนอื่น ๆ พยายามทำงานให้ดีเท่า
[settakid] ผมคิดว่า “ปัจจัย 4” ของ ลี กวนยูนั้นเป็นการมองเศรษฐกิจแบบทะลุทะลวงดีมาก ที่น่าคิดคือแม้ว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เรามองเศรษฐกิจในแต่ละประเทศได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปัจจัยเบสิคเหล่านี้กลับเป็นปัจจัยที่เราเปลี่ยนแปลงได้ยากเหลือเกิน และที่น่าเป็นห่วงก็คือเมื่อผมนึกถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะสองปัจจัยสุดท้าย เพราะว่ามันเปลี่ยนกันไม่ได้ง่าย ๆ
ผมเคยคิดเล่นๆ ว่าแทนที่กระทรวงวัฒนธรรมจะเอาเวลามานั่งดูถูกผู้บริโภคโดยการเซ็นเซอร์ชิซูกะอาบน้ำ น่าจะลองเอาเวลาอันมีค่าเหล่านั้นมานั่งคิดดูว่าเราจะสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและค่านิยมเราให้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ทำให้ประเทศเราไปได้ดีขึ้นได้ไหม ? ผมชอบและภูมิใจกับวัฒนธรรมและค่านิยมไทย ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมว่าพวกเราช่วยกันพัฒนาให้มันดีขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมในห้องเรียนที่ “โดดเรียนเท่ห์…ยกมือตอบเสี่ยว” จะทำอย่างไรให้ค่านิยมนี้หมดไป? หากการอาบน้ำของชิซูกะหรือการเบ่งกล้ามหน้าอกของโกฮังในดราก้อนบอล ยังเป็น priority ของทางการไทยอยู่ ลูกหลานของพวกเราก็คงคิดว่าโดดเรียนเท่ห์ไปอีกร้อยปี!!
การเมืองการปกครอง:
หน้าที่ของรัฐบาล – ลี กวนยู คิดว่ารัฐบาลมีหน้าที่ดีไซน์สังคมที่ให้ผลตอบแทนกับประชากรโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมที่คน ๆ นั้นทำให้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านแรงกายหรือด้านการใช้พลังสมองก็ตาม ไม่ใช่คำนึงถึงแค่ว่าเค้ามีทรัพย์สินแค่ไหน
รัฐบาลไม่จำเป็นต้อง “ประชานิยม” ตลอดเวลา – เอาแค่พอหอมปากหอมคอตอนจะเลือกตั้งใหม่พอ เพราะว่าบางที “ยาขม” ก็จำเป็น
ประเทศจะไปรอดไม่รอดให้มองผู้นำ – กองทัพ ไม่ว่าจะแกร่งแค่ไหน หากมีแม่ทัพที่ไม่เอาไหน ก็ยากที่จะชนะสงครามได้
วิธีการเปลี่ยนผ่านอำนาจนั้นสำคัญ – สิ่งที่ผู้นำสามารถสร้างรอยประทับที่ดีงามไว้กับประเทศของตนหลังจากหมดวาระนั้น ไม่ใช่การพยายามผูกตัวเองเข้ากับขาบัลลังก์ แต่เป็นวิธีที่เรามอบอำนาจให้ผู้นำคนต่อไปต่างหาก
ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง – จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสองสิ่งต่อไปนี้
ผู้มีสิทธิออกเสียงที่แคร์บ้านเมืองอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะควบคุมการทำงานของรัฐบาลโดยสร้างแรงกดดันผ่านทางมติมหาชน
มีพรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์และมีความสามารถในเวลาเดียวกันมากกว่า 1 พรรค ประชาชนจะได้มีทางเลือก
การที่ให้คนละหนึ่งเสียงเท่ากันเป็นจุดอ่อนของประชาธิปไตย
มันทำให้ประเด็นและปัจจัยที่ทำให้คนบางคนถูกเลือกขึ้นมาเป็นผู้นำนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนการพัฒนาประเทศเสมอไป แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับอย่างอื่นเช่น รูปลักษณ์ ศาสนา และสีผิว
[settakid] บทนี้เหมือนเป็น “กระจก” สะท้อนเรื่องราวตั้งแต่การเกิดของระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงยุคนี้ของทั้งประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย
ลี กวนยู มีข้อคิดให้คนไทยเก็บไปคิดเยอะแยะในบทนี้ แนะนำให้ผู้อ่านเอา 6 ข้อนี้ไปถกเถียงกับตัวเองและกับเพื่อน (แต่อย่าทะเลาะกันไปก่อน…)
ไม่มีใครเห็นด้วยกับ ลี กวนยู ทุกเรื่อง แต่มุมมองของเขาน่าเก็บไปคิดเพื่อขัดเกลาแนวคิดของเราเองครับ
การเมือง
จีน
ประชาธิปไตย
ลี
ลีกวนยู
สหรัฐฯ
สิงค์โปร์
หนังสือ
อนาคต
อเมริกา
เศรษฐกิจ
ไทย
Recent Comments