ขณะนี้กำลังมีสัญญานว่าภาวะเงินเฟ้อที่ห่างหายไปนานมีโอกาสที่จะกลับมาเยือนพวกเราในเร็วๆ นี้
ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้เริ่มปรับตัวขึ้นแล้ว เยอรมันเมื่อเดือนธ.ค. ปี 2016 ได้ปรับตัวขึ้นมากถึง 1.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ามากที่สุดตั้งแต่ปี 2013 เฟดเองหลังจากที่ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อท้ายปีที่แล้วก็ได้ใช้คำว่า “ขึ้นมามากพอควร” เพื่อใบ้ว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสูงขึ้น ในประเทศไทยเองอัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค. 2016 ก็ได้ปรับตัวมากที่สุดในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมาเช่นกัน โดยนักวิเคราะห์ส่วนมากมองว่ามีผลมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน (ซึ่งจะสะท้อนถึงต้นทุนที่สูงขึ้นของสินค้าแทบจะทุกประเภท)
บทความนี้จะนำเสนอ 3 คำถามน่าคิดเกี่ยวกับเงินเฟ้อหากเศรษฐกิจโลกจะทำการเข้าสู่วงจรใหม่จริงๆ หลังจากที่จมกับภาวะเงินเฟ้อต่ำมาเป็นเวลานานหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ครับ
คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับสองปัจจัย หนึ่งคือเราเป็นใครและมีบทบาทอย่างไรในเศรษฐกิจและสองคือเงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับรายได้
หากเราเป็นผู้บริโภคทั่วไป สิ่งที่เราควรใส่ใจไม่ใช่แค่ราคา แต่คือราคาที่เทียบกับรายได้ของเรา หากสินค้าปรับราคาสูงขึ้น แต่เงินเดือนหรือรายรับของเราเพิ่มขึ้นเร็วกว่า (เคยเกิดขึ้นไหม?) นั่นไม่มีปัญหา จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อราคาปรับสูงขึ้นแต่เงินเดือนเราดันไม่เพิ่มขึ้นตามนั่นเอง
กลับกันหากเราเป็นผู้กู้การมีเงินเฟ้อกลับสามารถเป็นการเบาภาระหนี้ลงได้บ้างเนื่องจากเงินกู้หรือหนี้รัฐบาลส่วนมากแล้วจะอยู่ใน nominal term ที่มีราคาจ่ายคืนตายตัว เช่น “1 หมื่นบาทถ้วน” เราก็แค่หาแบงค์พันมาสิบใบก็จะยังจ่ายคืนได้แม้ว่าแบงค์พันแต่ละใบจะมีมูลค่าที่แท้จริงไม่มากเท่าเดิม ไม่สามารถซื้อข้าวแกงได้จำนวนมากเท่าแต่ก่อนก็ตาม ฉะนั้นเราจะส
ส่วนผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ชนะอีกกลุ่มหนึ่งที่หลายคนบ่นกันมากบนโลกโซเชียลก็คือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่พอเงินเฟ้อลดแล้วราคากลับไม่ยอมลด จริงๆ แล้วปัญหานี้ไม่ได้เกี่ยวกับเงินเฟ้อโดยตรง แต่เกี่ยวกับปรากฏการณ์พฤติกรรมของผู้ตั้งราคาที่เรียกว่า Sticky-downward นั่นคือ ราคามันขึ้นง่ายแต่พอจะลงปุ๊ปมันจะ “เหนียว” ไม่ยอมลงง่ายๆ ส่วนมากจะพบได้ในกรณีที่ผู้ตั้งราคาพยายามใช้ประโยชน์จากความไม่แน่นอนของราคาสินค้าประเภทที่ผู้บริโภคยังไงก็ต้องบริโภค เช่น เชื้อเพลิงหรืออาหาร โดยที่ความเหนียวจะยิ่งเหนียวขึ้นอีกหากตลาดมีการผูกขาดหรือไม่มีการแข่งขันพอ
การตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่เป็นบวกแบบพอประมาณโดยธนาคารกลางอาจฟังดูไม่เข้าท่าในสายตาผู้บริโภค แต่โดยรวมแล้วมันเป็นเรื่องดีจากมุมมองของสังคมโดยรวม
เนื่องจากรายจ่ายของเราก็คือรายได้ของเขา กลับกัน รายจ่ายของเขาก็คือรายได้ของเรา หากระดับราคาของสินค้าทั่วไปในเศรษฐกิจลดลงแบบในกรณีภาวะเงินฝืด รายได้ของทุกคนก็จะลดลง ผู้คนก็จะไม่ยอมใช้จ่ายเพราะคิดว่าราคาข้าวของจะลดลงอีก ผู้ประกอบการก็ไม่อยากกู้เงินมาสร้างกิจการใหม่ๆ เนื่องจากมูลค่าจริงของหนี้จะ “แพง” ขึ้น เมื่อสินค้าขายไม่ออกธุรกิจก็ต้องโละคนงาน ประชาชนตกงาน ก็ไม่มีกำลังซื้อ เป็นวงจรอุบาทเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้ตลาดจึงมองว่าการที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (แต่ไม่สูงเกินเป้าไปถึงขนาดที่ว่าเกิด hyperinflation ที่ทำให้เงินกลายเป็นเศษกระดาษ) ถือเป็นสัญญานที่ดี แต่ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานจากงานวิจัยที่จะการันตีได้ว่าเงินเฟ้อที่สูงเลยเป้าไปจะเป็นอันตรายต่ออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่ ธนาคารกลางส่วนมาก (ซึ่งไม่ขึ้นกับการเมือง) จึงมักเลือกเดิน “ทางสายกลาง” ไม่บุ่มบ่ามตั้งเป้าเงินเฟ้อสูงเพียงเพื่อเอาไว้ลดภาระหนี้รัฐบาล
1) การคาดการณ์ในวันนี้อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอัตราเงินเฟ้อได้จริง
2) ธนาคารกลางมักคอยมองตัวเลขนี้เนื่องจากมันพอจะบอกได้ว่าตลาดมองว่ามีความเสี่ยงในอนาคตมากแค่ไหน
นักเศรษฐศาสตร์มักมองว่าประชาชนหรือผู้ประกอบการต่างคอย “ระวังหน้า” คอยวางแผนการเงินให้ตนเองไม่เสียเปรียบเมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น นั่นก็คือหากพวกเขาคาดว่าเงินกำลังจะเฟ้อเพิ่มขึ้น พนักงานก็ควรจับกลุ่มกันเรียกเงินเดือนเพิ่ม ผู้ประกอบการก็ควรจะปรับราคาสินค้าขึ้นเนื่องจากหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาจริงๆ ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยในตลาดจะสูงขึ้นพร้อมกัน ทำให้พวกเขามี “ช่อง” ในการถือโอกาสขึ้นราคาโดยที่ลูกค้าจะไม่เปลี่ยนไปบริโภคสินค้าอื่นมากเท่าไรนัก ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาได้จริงๆ
ในกรณีที่เราพอจะวัดระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ (ด้านบน) การที่ระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ต่ำมาก ๆ (เช่นในช่วงหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) เป็นเหมือนสัญญานที่ว่าตลาดขาดความมั่นใจและหวั่นกลัวความเสี่ยงที่จะมากระทบราคาและค่าจ้างในอนาคต จึงไม่แปลกที่เราเห็นธนาคารกลางในหลายประเทศพยายามลด (หรือไม่ยอมขึ้น) อัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากเขาต้องการบรรเทาไม่ให้การคาดการณ์เหล่านี้เป็นความจริงขึ้นมาและมากดราคาและค่าจ้างในวันนี้นั่นเอง
แต่เรื่องนี้ก็ยังคงมีปริศนาที่คอยสร้างความสับสนในหมู่นักลงทุนอยู่เหมือนกัน
ปริศนาแรกคือเงินเฟ้อคาดการณ์ที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อจริงนั้นมันเป็นการคาดการณ์ของใครในระบบเศรษฐกิจ? จากผลสำรวจในสหรัฐฯ และอังกฤษ(www.bankofengland.co.uk/publications/speeches/2008/speech346paper.pdf) พบว่าประชาชนจำนวนมากไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าเงินเฟ้อคืออะไร! จึงอาจเป็นเรื่องตลกที่นักวางนโยบายจะมาคำนึงถึงการคาดการณ์ของประชาชนทั่วไปจากแบบสอบถาม เงินเฟ้อคาดการณ์ที่มีความสำคัญจริงๆ จึงน่าจะเป็นการคาดการณ์ของกลุ่มธุรกิจหรือกองทุนขนาดใหญ่มากกว่า
ปริศนาที่สอง (ซึ่งก็เกี่ยวกับปริศนาแรก) คือทำไมในช่วงปี 2015 เฟดถึงแสดงท่าทีตรงกันข้ามกับแนวโน้มของเงินเฟ้อคาดการณ์ ก่อนหน้านั้นเฟดมักจะตัดสินใจเพิ่ม QE หรือ ชะลอการถอดปลั๊ก QE เมื่อเงินเฟ้อคาดการณ์มีท่าทีจะต่ำลงไปกว่า 2% แต่หลังจากนั้นจนกระทั่งถึงช่วงปี 2016 เฟดกลับไม่พยายามทำการกระตุ้นใดๆ ทั้งๆ ที่เงินเฟ้อคาดการณ์ตกลงไปอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์
หากคำตอบคือธนาคารกลางอย่างเฟดไม่เชื่อตัวชี้วัดเงินเฟ้อคาดการณ์ที่มีอยู่ว่ามันจะบันดาลก่อให้เกิดการปรับราคาตามนั้นจริงได้ในอนาคต นั่นไม่เป็นปัญหามากเท่ากับในกรณีที่ตัวชี้วัดนั้นเที่ยงตรงแต่เฟดกลับเลือกสื่อสารไปอีกทาง การกระทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดความสับสนและความไม่น่าเชื่อถือในสายตานักลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากพวกเขาเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าบทบาทและหน้าที่ของธนาคารกลางแท้จริงแล้วคืออะไร
ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรผู้เขียนหวังว่าการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อคาดการณ์หลังชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์และการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้นจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริง
ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นโยบายการเงิน เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ภาษาคน
Recent Comments