ทำอย่างไรจึงจะมีความสุข? มีเงินมาก ๆ แล้วจะมีสุขจริงไหม? แฟนทิ้งแล้วโลกจะแตกไหม? “Happy” เป็นสารคดีสั้น ๆ ที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตจากหลาย ๆ สังคมเพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า หากเราต้องการจะมีความสุข เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไร ผมประทับใจสารคดีเรื่องนี้มาก เลยอยากนำบทเรียนที่ได้มาฝากผู้อ่านครับ
“Happy” เปิดฉากด้วยบทสัมภาษณ์ชายลากรถเกวียนรับจ้างในเมืองโทรม ๆ แห่งหนึ่ง เขามีเงินไม่มาก บ้านก็เป็นแค่สังกะสีหลาย ๆ แผ่นมาปะต่อกันให้พอจะกันฝนได้ ทุกวันเขาทำงานหนักรับจ้างลากรถเกวียน แต่เขากลับมีความสุขมากเพียงเพราะว่าตกเย็นจะได้กลับบ้านไปเจอลูก ได้ยินเสียงลูกเรียกว่า “พ่อ” ได้ทานข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตา
ในขณะเดียวกัน กองถ่าย “Happy” ก็ได้ไปสัมภาษณ์เด็กฝึกงานไฟแนนซ์ในเมืองใหญ่ (คิดว่าเป็นนิวยอร์ก) ถามว่าเป้าหมายของชีวิตคืออะไร เขาตอบว่าหาเงินให้ได้มาก ๆ ก่อนค่อยคิดต่อ พอถูกซักถามว่าแล้วความสุขล่ะ ไม่ใช่เป้าหมายหรือ ? ตอนนี้มีความสุขไหม? แม้เขาพอจะเข้าใจคำถาม แต่กลับดูอึดอัดและพูดไม่ค่อยออกซักเท่าไหร่นัก
นี่เป็นสองชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงที่ “Happy” พยายามจะสื่อให้ผู้ชมเห็นว่าความสุขมันอยู่ในกำมือของเรา เราเลือกอนาคตได้ และเลือกความสุขได้
สารคดีนี้รายงานว่า งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า เงินทอง ชื่อเสียง และรูปลักษณ์ มีผลต่อระดับความสุขแค่ 10% เท่านั้น อีก 50% มาจากพันธุกรรม นั่นก็หมายความว่าเราเองมีโอกาสเลือกกิจกรรมในชีวิตเพื่อควบคุมระดับความสุขได้ด้วยตัวเองถึง 40% คงจะเป็นจริงนะครับ เพราะว่าผมเคยได้ยินมาบ่อยมากเกี่ยวกับหลายคนที่รวย ๆ ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ หรือมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ชอบบ่นว่าไม่มีความสุข ทั้ง ๆ ที่จากมุมมองเรา คนเหล่านี้ดูไม่เห็นจะขาดอะไรในชีวิตเลย
สารคดีนี้เสริมมุมมองนี้ด้วยงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่าเราได้รับความสุขจากเงินในอัตราที่น้อยลงเรื่อย ๆ หลังจากที่เราพอมีเงินซื้อของยังชีพได้ การเพิ่มเงินจาก 5 พันเหรียญไปเป็น 5 หมื่นเหรียญต่อปี เพิ่มระดับความสุขให้เราได้มากกว่าการเพิ่มเงินจาก 5 หมื่นเหรียญไปเป็น 50 ล้านเหรียญต่อปีซะอีก (นี่มัน diminishing marginal utility ที่เราเรียนมาในเศรษฐศาสตร์ชัด ๆ คงจะคล้าย ๆ ความรู้สึกเวลาจิบโค้กน่ะครับ จิบแรกหลังเปิดกระป๋องอร่อยกว่าจิบหลัง ๆ เยอะ….)
จริง ๆ เราจะใช้เวลาทั้งชีวิตหาเงินทอง หาชื่อเสียง หาเรื่องทำให้หล่อ ให้สวย ให้ไม่เหี่ยว ไปจนตายก็ได้ ไม่มีใครห้าม แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อ maximize ระดับความสุข ทำไมจะหยุดที่ 10% ทั้ง ๆ ที่เราทำได้อีกตั้ง 40% ?
อีกหนึ่งผลวิจัยคือ มนุษย์เรามักจะประเมินระดับความสุขที่จะได้หรือจะเสียจากเหตุการณ์ต่าง ๆ สูงเกินไป ยกตัวอย่างเช่น เรามักคิดว่าถ้าเราได้เลื่อนตำแหน่ง หรือได้เงินเดือนสูงขึ้น เราจะมีความสุขมากแน่ ๆ เลย…
สุขน่ะสุข แต่ผลวิจัยพบว่าสุขแค่ชั่วขณะเท่านั้น เดี๋ยวเดียวก็หายไป…
ความทุกข์ก็เหมือนกัน เรามักจะคิดอยู่เสมอว่าถ้าคนที่เรารักหายไปจากชีวิตเราแล้ว โลกใบนี้จะจบสิ้น เราจะเหี่ยวเฉาไปชั่วกาล แต่ที่จริงแล้วความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิดครับ โดยธรรมชาติแล้วระดับความสุขและทุกข์จะขึ้นลงเร็ว และจะไม่อยู่ในระดับหนึ่งนาน โดยส่วนตัวผมคิดว่าเวลาเรารู้สึกจมอยู่กับความเศร้านาน ๆ มันคงเป็นเพราะสมองเราเอาแต่คิดถึงเรื่องแย่ ๆ วน ๆ ในหัวเราเองมากกว่า สังเกตดูว่าเวลาเลิกคิดถึงมันหรือเวลาออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ชีวิตมันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น
ผมคิดว่าถ้างานวิจัยนี้ตรงกับชีวิตจริง ๆ มันจะแปลว่าคนที่จะมีความสุขโดยรวมทั้งชีวิตมากที่สุด ก็คือคนที่ล้มแล้วลุกขึ้นมายืนใหม่ได้เร็วและพยายามสรรหากิจกรรมที่ให้ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ กับตัวเองอยู่ตลอดเวลานั่นเอง จะไม่ใช่คนที่ตั้งเป้าไว้ไกลเกินไป
พวกเราคงจะจำคำสอนตอนเด็ก ๆ ว่าให้ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ได้ดี แต่สารคดีเรื่องนี้ขอให้ผู้ชมจำไว้ว่าทำแต่พอประมาณ เพราะว่าหวานเดี๋ยวเดียวก็จืดครับ เป็นกฎธรรมชาติ
สารคดีนี้เล่าเรื่องราวชีวิตคนจากหลายเชื้อชาติหลายประวัติ ทำให้เราเห็นถึงปัจจัยแห่งความสุขที่คนเหล่านี้มีร่วมกัน จริง ๆ แล้วมีอีกหลายปัจจัยในสารคดีนี้ ผมคัดเอาเฉพาะปัจจัยที่เราอาจจะนึกไม่ถึงมาให้ 5 ปัจจัยครับ
มีหนุ่มไฟแนนซ์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เคยต้องการทำงานแข่งขันเพื่อเงินทองและความสำเร็จ เคยตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเป็นนายแบงก์อายุน้อยที่สุดในอินเดีย เวลาผ่านไป เขาประสบความสำเร็จ ได้ใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ แต่วันหนึ่งเขากลับหงุดหงิดที่ว่า ชีวิตมนุษย์เรามีแค่นี้เองหรือ ? หาเงิน หางาน หาภรรยาดี ๆ เลี้ยงลูก เป็นไปไม่ได้! ชีวิตมันต้องมีอะไรมากกว่านี้!
วันหนึ่งเขาได้ไปลองอาสาสมัครช่วยดูแลคนป่วยและคนที่ถูกทิ้งตามกองขยะในกรุงกัลกัตตา วันนั้นชาวฝรั่งเศสผู้นี้ได้มีโอกาสป้อนข้าวให้กับชายชราที่ป่วยหนักใกล้เสียชีวิต ชาวฝรั่งเศสผู้นี้ตระหนักได้ว่าแม้ว่าอาหารคนป่วยและน้ำดื่มจะดูเป็นอะไรที่ธรรมดามากในสายตาเรา แต่มันกลับมีความหมายมากมายเหลือเกินสำหรับคนที่กำลังทรมาร การไปอาสาสมัครในวันนั้นจึงเปลี่ยนเป็นอาชีพใหม่ของเขา ในที่สุดชีวิตเขาก็มีความหมาย มีคนที่ชีวิตอยู่บนเส้นด้ายให้เค้าได้ช่วยเหลือทุกวัน
สุดท้ายก่อนสัมภาษณ์จบ เขาบอกว่าแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานธนาคารแล้ว แต่เขายังคิดว่าชีวิตเขาคือ “เงินกู้” จากพระเจ้า เมื่อถึงเวลากำหนดก็ต้องคืน
เพียงแต่คราวนี้จะแถมดอกเบี้ยงาม ๆ ให้ด้วย…
ผมเองเคยพบเจอกับเหตุการณ์คล้าย ๆ กันเมื่อไม่นานมานี้ ผมเคยได้ช่วยชีวิตยายแก่ที่กำลังโดนประตูลิฟต์หนีบ (สงสัยประตูไม่เด้งเพราะว่าเซ็นต์เซอร์เสีย) หลังจากนั้นก็รู้สึกมีความสุขแบบผิดปกติขึ้นมาทันใด แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ความสุขไม่ว่าจะสุขแค่ไหน ไม่นานก็จางไป มันจริงจนอยากย้ายไปอยู่ในเมืองที่มียายแก่ที่อยู่คนเดียวเยอะ ๆ และมีลิฟต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน มันคงเป็นไปไม่ได้…. น่าอิจฉาชายชาวฝรั่งเศสผู้นี้ที่ค้นพบ “โอกาสทอง” ในการเพิ่มความสุขด้วยวิธีนี้
การจะทำตามสารคดีนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราชาวกรุง เพราะผมคิดว่ามนุษย์ส่วนใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และมีชีวิตที่ถูกผูกมัดไว้กับสังคมที่ตัวเองอยู่ สองสิ่งนี้จะมีแนวโน้มผลักดันให้เราใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ที่อาจจะดีหรืออาจจะไม่ดี เพราะว่าเราไม่รู้เลยว่าถ้าเราเข้าป่าไปจริง ๆ แล้วเราจะรู้สึกอย่างไร ? จะให้นายแบงก์ ทนายความไปล่าสัตว์ น่าจะมีทุกข์มากกว่ามีสุข…. แต่ในขณะเดียวกันเรารู้แน่นอนว่า ถ้าถึงเวลาพักเที่ยงแล้วการที่เราจะได้ไปซัดก๋วยเตี๋ยวเจ้าเก่าแถวหัวมุมมันให้ความสุขเราได้แบบชัวร์ ๆ แม้ว่างานเราจะน่าเบื่อหรือรถมันจะติดในเมืองก็ตาม
ผมสังเกตว่าหลายตัวละครในสารคดีนี้ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเข้าป่าหรือทำกิจกรรมเหล่านี้เพื่อเพิ่มความสุข ส่วนมากชีวิตเค้ามีรูปแบบดังกล่าวเพราะว่าความบังเอิญในชีวิต (ประสบอุบัติเหตุ เกิดมาในชนเผ่านั้น หรือบังเอิญเกิดสงครามโลกทำให้มีชุมชนหญิงหม้ายที่อยู่กันอย่างแน่นแฟ้นในกรณีหมู่บ้านจังหวัดโอกินาว่า)
แต่ผมคิดว่าเราสามารถหลุดออกมาจาก dilemma ที่น่าเศร้าอันนี้ได้โดยการปรับแนวคิดและวิถีชีวิตเราแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปครับ สารคดีนี้แนะนำให้เราคิดว่าความสุขคือทักษะที่ต้องฝึกฝน ควรจะคิดถึงความสุขเหมือนกับการที่เราหัดเล่นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง และคิดอยู่เสมอว่ากิจกรรมและวิถีชีวิตแบบใดทำให้เรามีความสุขบ่อยและมากที่สุด
สำหรับผมแล้ว การฝึกฝนนี้เริ่มจากการคิดว่ากิจกรรมใดในชีวิตประจำวันที่ทำให้ผมมีความสุข อะไรที่ทำให้ผมทุกข์ ณ ตอนนี้วันนี้
หวังว่าผู้อ่านอ่านมาหมดนี่แล้วคงมีความคิดอยากจะลองทำอะไรใหม่ ๆ กับชีวิตนะครับ หากผู้อ่านสนใจดูสารคดีนี้ สามารถหาชมสารคดี “Happy” ได้สะดวกที่สุดบน amazon.com ถ้าใครมี amazon prime ก็ดูฟรีครับ ใครได้ดูแล้ว คิดอย่างไร เชิญ comment ข้างล่างได้ครับ
พี่คิด
บทความอ่านสนุกดี! 🙂 เป็นคนคิดมากเหมือนกัน ว่าจะต้องรีบๆทำนู่นทำนี่ เรียนต่อ ทำงานดีๆ จะได้มีหน้ามีตา มีคนชื่นชม แต่หลังๆได้คิดว่า…จริงๆแล้ว เราจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ก็ไม่มีใครสนใจหรือเดือดร้อนกับเราหรอก แล้วถ้ามัวแต่คิดถึงเป้าหมายอย่างเดียว ว่าต้องรีบไปให้ถึงเร็วๆ ก็จะไม่ได้มีความสุขกับการเดินทาง
เขียนอีกเยอะๆนะ 🙂
ขอบคุณที่มาอ่่านครับ! ความสุขคือ utility function ที่ซับซ้อนมาก! แถมยิ่งพยายาม maximize ยิ่งไปไม่ถึง จะพยายามเขียนอะไรทำนองนี้อีกเรื่อย ๆ ครับ
เห็นด้วยและเข้าใจที่คุณนภัทรพูดค่ะ ความสุขง่ายที่สุดแต่ส่งผลมหาศาลเกิดจากการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นโดยไม่คิดหวังอะไรเลยแต่เป็นไปโดยอัตโนมัติ พลังงานแห่งความดีจะสะท้อนโดยอัตโนมัติเช่นกันเด้งดึ๋งกลับมาหาเจ้าตัวทันทีทันควัน ภาษาฝรั่งบอก what goes around comes around ภาษาจีนแต้จิ๋วพูด “ฮอปักนั้ง ฮอกากี่” เท่านั้นยังไม่พอความสุขต่อมาก็ยิ่งใหญ่ไม่มีอะไรมาเทียบ นั่นคือการลดความสำคัญ ลดขนาดตัวตนของเราเองลง สุขสองชั้น สุขเน้นๆ และสุขได้อีกค่ะ
เห็นด้วยมากๆ กับที่บอกว่าความสุขไม่ใช่เป้าหมายแต่เปนการที่ได้ทำอะไรเล็กๆน้ิยๆระหว่างทางไปเป้าหมายต่างหาก
เพราะเมื่อได้มาแล้ว ความรุสึกนั้นอยู่แป๊ปเดียวมากๆ (เช่นตอนได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ดีใจอยู่แค่วันสองวัน แต่อ่านหนังสือหนักมา 6 ปี ดีนะที่คุณพ่อคอยบอกว่าให้หาอะไรสนุกๆทำระหว่างเรียนด้วย เลยเป็นช่วง 6 ปีที่ได้ทำทั้งกิจกรรมและก็ยังเรียนเต็มที่ ไม่งั้นคงรุ้สึกว่านี่พยายามหลายปีเพื่อมีความสุขแค่ 2-3 วันเองหรอ 555)
ปล. อย่าคิดมากนะคะ บทความของคุณคิดมีประโยชน์มากๆ เลยค่ะ วันนึงอาจรวมมาเป็น pocket book ขายได้เลย ^^ มีความสุขกับการเขียนดีกว่าค่ะ
ขอบคุณครับ ถ้าชอบแนว self improvement หรือวิธ๊ทำให้มีสุข อีกไม่กี่เดือนเดี๋ยวจะออก product ใหม่ชื่อ Life+ ครับ เป็นโปรแกรมอีเมล์ Tip เพิ่มความสุขครับ
ชอบมากค่ะ อ่านแล้วได้อะไรเยอะ ความรู้ แนวคิด งานวิจัย ขอให้ลงเรื่องราวดีๆอย่างนี้ไปเรื่่อยๆ จะรอติดตาม รวมเล่มไว้ก็ดีนะคะ
บทความดีมาก ค่ะ
บทความดีมากเลยครับ ขอบคุณที่มาแชร์ครับ
มีคำถามนิดนึงตรงที่ว่าปัจจัยที่ทำให้มีความสุขนั้นขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ถึง 50% เลย งานวิจัยเค้าศึกษายังไงหรอครับ ถึงรู้ได้ว่ากรรมพันธุ์มีผลถึงขนาดนั้น
ขอบคุณมากครับ