ล่าสุดทาง World Economic Forum ได้ออกรายงาน Global Competitiveness Report (GCR) สำหรับปี 2017-2018 ซึ่งถือเป็นรายงานที่มีอิทธิพลอย่างมากในหมู่นักธุรกิจ นักวิชาการและนักพัฒนานโยบายทั่วโลก
สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับรายงานฉบับนี้ GCR เป็นผลพวงมาจากการเก็บข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศจากหลายองค์กร รวมไปถึงการทำแบบสอบถามถึงมุมมองของกลุ่มนักธุรกิจ เพื่อประกอบกันเป็นดัชนีความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index หรือย่อว่า GCI) ที่สามารถใช้ช่วยอธิบายการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวและความมั่งคั่งของแต่ละประเทศได้ จุดเด่นของรายงานฉบับนี้คือเราสามารถเจาะลึกลงไปดูได้ว่าในแต่ละประเทศมีจุดอ่อนจุดแข็งในด้านไหนบ้างใน 12 มิติของการพัฒนา และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วประเทศของเราอยู่ตรงไหน
โดยรวมแล้วดัชนี GCI ของประเทศไทยในปีนี้ขยับขึ้นมา 2 อันดับจากปีที่แล้วสู่อันดับที่ 32 ของโลก (แต่ก็ยังต่ำกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว) เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิกแล้ว ไทยเราจัดว่าอยู่ “กลางๆ” คือยังคงตามหลังมาเลเซีย และเศรษฐกิจรุ่นพี่ที่พัฒนาไปไกลแล้วอย่าง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน แต่ถือว่ายังดีกว่าเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม
บทความนี้จะสรุป 3 ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดจากรายงานฉบับนี้ให้ท่านผู้อ่านเก็บไปขบคิดกันครับ
แม้ว่าสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจมหภาคจะไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนผลิตภาพของประเทศโดยตรง แต่การที่เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างมั่นคงจะเป็นไปไม่ได้เลยหากสภาวะทั่วไปผันผวน นอกจากนี้มันยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจและเป็นสัญญานบ่งบอกถึงศักยภาพในการทำหน้าที่ของรัฐบาลในอนาคตด้วย
สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้อันดับที่ค่อนข้างดีในมิตินี้คือ:
1.เรามี government budget balance (รายรับลบรายจ่ายรัฐ) ที่ยังเป็นบวก ในขณะที่อีกเกิน 100 ประเทศมีตัวเลขเป็นลบ
2.เรามี gross national savings อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง (33.4% ของ GDP) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มหภาคมักมองว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการลงทุนในอนาคตที่หวังว่าจะนำมาซึ่งผลิตภาพที่ดีขึ้น
3.เรามีอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในกรอบ และ
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวผลักดันผลิตภาพโดยตรง แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย อันมีรัฐบาลที่พอมีอิสระและกำลังในการช่วยเหลือ ต่างลิบลับกับสภาพแวดล้อมและความพร้อมของเหล่ารัฐบาลในแถบยุโรปช่วงหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
นอกจาก “ข้อควรปรับปรุง” เดิมๆ ที่รายงานฉบับนี้บอกประเทศเราทุกปีให้แก้ปัญหาคอรัปชันหรือให้ช่วยคลายปมวิกฤตกับความไม่แน่นอนทางการเมืองแล้ว สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดสำหรับประเทศไทยก็คือความพร้อมก่อนก้าวสู่เศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรม
ในตัวดัชนี GCI หลักนั้นเราสามารถแยกออกมาดูความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ถึง 12 มิติด้วยกัน จะสังเกตได้ว่ามิติที่เราด้อยที่สุดคือประเภท “ศักยภาพเชิงนวัตกรรม” และด้อยมานานนับ 10 ปีแล้ว
กราฟด้านบนแสดงคะแนนด้านนวัตกรรม (เต็ม 7) เฉลี่ยของประเทศไทยและของประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน มีข้อสังเกตสองข้อที่น่าสนใจ
หนึ่งคือคะแนนด้านนวัตกรรมของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นน้อยกว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว และเป็นประเทศเดียวในกราฟที่ตอนนี้มีคะแนนในปีนี้น้อยกว่าคะแนนเมื่อ 10 ปีก่อน
สองคือมีประเทศดาวรุ่ง คือ จีนและอินโดนีเซีย ที่เคยได้คะแนนพอๆ กับไทยเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ในช่วงเวลานั้นคะแนนได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอและ ณ ปัจจุบันได้ฉีกตัวออกจากกลุ่มประเทศที่เจออุปสรรคในการผลิตนวัตกรรมอย่างไทยหรือฟิลิปปินส์ไปเรียบร้อยแล้ว
การเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลานาน สิงค์โปร์ที่ทำได้ดีมากมาโดยตลอดก็ไม่ได้เพิ่งเริ่มลงทุนในการเพิ่มศักยภาพทางนวัตกรรม เขาเริ่มมุ่งมั่นหันทิศออกจากการเป็นแค่ประเทศเล็กๆ ที่ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นประเทศที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เองมาเกิน 30 ปีแล้ว
เห็นทีไทยเราต้องศึกษากรณีของจีนและอินโดนีเซียว่าในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาเขาทำอะไร และเราทำอะไรไป 10 ปีที่ผ่านมาของเราหายไปไหน
ในช่วงหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้นได้เกิดกระแสต่อต้านทุนนิยมและการค้าเสรีอย่างเป็นประวัติการณ์ เหตุผลหนึ่งคือเป็นเพราะว่าการเติบโตของเศรษฐกิจมักเป็นการโตแบบกระจุกในหลายประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือมีแค่คนส่วนน้อยในระบบเศรษฐกิจเท่านั้นที่มีโอกาสได้กอบโกยความมั่งคั่งที่มาจากการเติบโตของเศรษฐกิจ
กราฟด้านบนแสดงให้เห็นว่า ดัชนีการพัฒนาแบบรวม (inclusive development index หรือ IDI) ซึ่งวัดว่าประเทศพัฒนาแบบกระจายความมั่งคั่งได้ดีแค่ไหน นั้นแปรผันไปกับดัชนี GCI อย่างเห็นได้ชัด
ปัญหาคือทาง World Economic Forum พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้นดัชนี IDI ปรับตัวลดลงในถึงครึ่งหนึ่งของประเทศทั้งหมดที่เขามีข้อมูล โดย 42 เปอร์เซ็นต์ของประเทศทั้งหมดมี GDP ต่อหัวประชากรที่สูงขึ้นแต่ดัชนี IDI กลับลดลง
จึงเกิดความเชื่อที่ว่า ถ้าจะกระจายการเติบโตให้ทั่วถึงขึ้น อาจจะต้องแลกเสียสละความเร็วหรือความร้อนแรงในการเติบโต ขณะนี้ผู้นำความคิดในสาขาเศรษฐศาสตร์มองว่าความเชื่อนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน การที่เราจะคว้าเอาสองสิ่งนี้มาพร้อมๆ กันไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วๆ หรือจะพัฒนาความสามารถในการแข่งขันสูงไปทำไมกันหากความมั่งคั่งที่ได้มาเพิ่มมันไม่ตกมาอยู่ในมือของประชากรส่วนใหญ่
Recent Comments