โพสนี้เกี่ยวกับภัยสุขภาพจากการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพฯ และอีกหลาย ๆ เหตุผลที่ทำไมทําไมกรุงเทพรถติด และทำไมผมคิดว่ากรุงเทพฯไม่ต้องการโครงการรถคันแรก
ผมกลับกรุงเทพฯทุกครั้ง ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือไม่ แต่รู้สึกเลยว่ารถติดขึ้นทุกวี่ทุกวัน สมัยก่อนติดเฉพาะเวลาฝนตกกับตอนเลิกงาน สมัยนี้สองโมงวันธรรมดาก็ติดได้… ผมว่ามันมีอะไรผิดปกติมาก ๆ ในเมืองหลวงของพวกเราครับ
ก่อนอื่น ผมจะขอไม่พูดถึง “ความแฟร์” ของโครงการรถคันแรกนะครับ (ถ้าจะพูดก็ขอพูดแค่ตรงนี้สั้น ๆ) เพราะว่าเรื่องนี้สามารถเถียงกันได้ไม่รู้จบ บางคนคิดว่ามันไม่แฟร์ที่คนที่ฐานะดีกว่าจะมากีดกันคนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ แต่ในมุมกลับ การช่วยให้ใครบางคนซื้อรถคันแรกได้ง่ายขึ้น และก่อให้เกิดผลเสียต่อการจราจรและสุขภาพของส่วนรวม มันก็ไม่แฟร์กับคนอื่นที่ในอดีตเคยขยันทำงานหาเงินมาซื้อรถด้วยน้ำแรงตัวเองเหมือนกัน
เราแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่าง ว่าอะไรแฟร์อะไรไม่แฟร์ แต่หน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่แค่การปรับให้สังคมแฟร์ขึ้นเท่านั้น! รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องมองความเป็นจริงและคำนวนผลดีผลเสียต่อส่วนรวมก่อนจะตัดสินใจริเริ่มโครงการเช่นนี้ออกมา
โพสนี้จะมาชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงอันน่าวิตกของปัญหา “รถติด” และภัยสุขภาพที่อาจจะตามมาในระยะยาวครับ
ผมนึกถึงคนกรุงเทพฯทันทีที่ผมได้อ่าน literature review ชิ้นนี้ ที่เขียนขึ้นโดยกลุ่มแพทย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจกว่า 15 คน เค้าให้ความเห็นตรงกันว่า ถึงแม้จะยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่าทำไม แต่มีหลักฐานชัดเจนจากการทดลองและจากการวิเคราะห์สถิติ ว่าการรับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm) ทำให้เกิดการป่วยและการเสียชีวิตจากความผิดปกติในระบบหัวใจและหลอดเลือด (cvd)
ฝุ่นละออง pm พวกนี้โดยเฉพาะ pm 2.5 (มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครลูกบาศก์เมตร) มีที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือการเผาผลาญจากโรงงาน
สรุปหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สั้น ๆ ว่า:
1. การรับฝุ่นละอองชนิด pm 2.5 ตั้งแต่หลายชั่วโมงจนถึงหลายอาทิตย์นั้น สามารถเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตจาก cvd ได้
2. คนที่รับ pm 2.5 ในระยะยาว (เป็นปี) จะอายุสั้นลงเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ เลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมยังงงอยู่ถึงทุกวันนี้ ว่าทำไมกรมควบคุมมลพิษถึงไม่รายงานระดับ pm 2.5 (มีแต่ pm 10) ทั้ง ๆ ที่ในเอกสารนี้กรมควบคุมมลพิษก็ออกมายอมรับเองว่า pm 2.5 มีอันตรายต่อเรามากกว่าฝุ่นละอองขนาดใหญ่ด้วยซ้ำ….
จริงอยู่ที่ว่าการทำโครงการเพื่อช่วยให้คนซื้อของบางอย่างได้ง่ายขึ้นนั้นมีความจำเป็นต่อการรักษาความสมดุลย์ของสังคม(และคะแนนเสียง) แต่ผมไม่คิดว่าของสิ่งนั้นควรจะเป็นรถยนต์จำนวนมาก และไม่ควรเป็นรถยนต์ในกรุงเทพฯอย่างยิ่ง
กราฟด้านบนชี้ให้เห็นถึงปัญหา “รถล้นกรุง” ที่มีมาตั้งนานแล้ว (จะโทษโครงการรถคันแรกอย่างเดียวก็ไม่ถูก) แต่ปัญหาเรื้อรังนี้โดนซ้ำเติมหลังจากมีโครงการรถคันแรกขึ้นในปี 2554 ผมจะไม่บ่นหรือกังวลเลยหากกราฟนี้เป็นสินค้าอย่างอื่นที่ไม่ใช่รถยนต์ (แล้วก็คงไม่เขียนโพสนี้ด้วย) แต่ที่คุณเห็นข้างบนคือหนึ่งในปัญหาหลักที่ประเทศไทยต้องแก้ให้ได้ ไม่มีทางอ้อม
ถนนเนี่ย เค้าคำนวนคร่าว ๆ กันมาว่าจุได้มากที่สุด 1.2-1.6 ล้านคัน (ที่นี่บอก1.6) จริงอยู่ที่รถมันไม่มาวิ่งพร้อมกันหมด แต่ถ้าจำนวนรถเพิ่มขึ้นไตรมาสละ 2 – 4% มานาน ๆ การจราจรมันก็แย่ลงเรื่อย ๆ สิครับ ไม่ต้องอะไรมาก หากเราสมมุติว่า 1.2 ล้านคันเป็นลิมิตนะครับ เอาง่าย ๆ ว่าตั้งแต่เริ่มมีโครงการรถคันแรกถึง มิ.ย. 2556 รถถอยใหม่รวมกันก็ปาเข้าไป1.2 ล้านคันแล้ว… อย่างนี้แล้วมันจะไม่ติดได้ยังไง ? ถึงสูตร 1.2 ล้านคันจะผิดก็เถอะ เพิ่มทีละมาก ๆ โดยไม่มีการขยับขยายถนนให้พอก็จะนำไปสู่ปัญหารถติดที่หนักกว่าเดิม
ทีนี้ลองคิดดูละกันครับว่ารถยิ่งมาก คนมาก ถนนเท่าเดิม รถก็ยิ่งติด รถไฟฟ้าก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมากเพราะว่าก็อัดแน่นเป็นปลากระป๋องเหมือนกันเวลาเลิกงาน (แถมบางทีไม่เปิดแอร์อีก…) ข้อเสียของรถติดนั้นมีไม่รู้กี่เท่าไหร่ แต่คร่าว ๆ ที่ผมพอจะคิดได้ตอนนี้ก็คือ:
กรุงเทพฯไม่ได้ต้องการรถยนต์มากขึ้น ไม่ต้องการ GDP ที่โตแบบกลวง ๆ และเศรษฐกิจของเราก็ไม่ได้ต้องการผลิตคนขับรถมากขึ้นเพื่อให้เจ้านายได้ทำงานเวลารถติด
กรุงเทพฯแค่ต้องการขยายถนน ธุรกิจ และการจ้างงานออกไปที่อื่นเมืองอื่นบ้าง ต้องการรถยนต์ที่กรองอากาศได้ดีกว่านี้ และที่สำคัญ…ต้องการนโยบายที่มองการณ์ไกลกว่าสี่ปี…
pm 10 pm 2.5 กรุงเทพ ฝุ่นละออง มลภาวะ รถคันแรก รถติด โรคหัวใจ ไทย
เรื่องนโยบายรถคันแรกว่า แฟร์หรือไม่แฟร์ ผมเห็นว่า ไม่มีอะไรที่แฟร์กับทุกคน อยู่ที่เวลานั้นเราจะมองไปที่ใคร ในเรื่องนี้ เป็นนโยบายรัฐบาล ก็คงต้องมองไปที่ประชาชนส่วนใหญ่หรือสังคมหรือประเทศว่าได้อะไร
รถยนต์ใหม่จำนวนนับล้านคัน ตกเป็นของประชาชนส่วนใหญ่หรือเปล่า ..ไม่ใช่
แต่กระนั้นก็ตาม แล้วสังคมได้ประโยชน์หรือไม่ จากบทความนี้ ชี้ให้เห็นว่า ..ไม่ได้
ประเทศได้อะไรบ้างมั้ย อาจได้บ้างจากภาษีทางตรงทางอ้อม การจ้างงาน แต่ต่างประเทศน่าจะได้มากกว่า!
ด้วยเหตุนี้ผมอยากพูดว่า นโยบายรถคันแรกนี้ ไม่แฟร์ กับประเทศไทย
และยังเป็นนโยบายที่สร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ การเงิน สุขภาวะอนามัย และความน่าเชื่อถือของประเทศ
ประเทศไทยเคยร่วมประกาศแถลงการณ์ Bangkok Declaration for 2020 ในการประชุม Environmentally Sustainable Transportation (EST) ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน 2010 ซึ่งจัดโดย United Nations Centre for Regional Development (UNCRD) ซึ่งเกี่ยวกับการวางแผนระยะเวลา 10 ปีด้านการคมนาคมแบบยั่งยืนในอนาคตของภูมิภาคเอเชีย หลักการสำคัญต่างๆที่ประเทศไทยร่วมให้สัญญาด้วย เช่น การเปลี่ยนวิธีการเดินทาง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดระยะการเดินทาง เพิ่มการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน พัฒนาการเดินทางที่ไม่ใช่รถยนต์ เช่น ทางจักรยาน ลดอุบัติเหตุ ลดมลพิษทางอากาศและเสียง ลดการใช้น้ำมัน ส่งเสริมรถยนต์มลพิษต่ำ เช่น รถไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ
ดังนั้นนโยบายรถคันแรกนี้ มันชัดเจนว่าสวนกระแสโลก สร้างปัญหาให้ตัวเอง แปลกแยกกับประเทศในภูมิภาค ผิดสัญญากับนานาประเทศ และฉุดรั้งการพัฒนาแบบยั่งยืนในอนาคต
เป็นนโยบายที่ผมไม่แน่ใจว่ามีที่ประเทศไทยที่เดียวในโลกหรือเปล่า แต่ไม่ควรได้เกิดขึ้นเลยในโลกปัจจุบัน!
ขอบคุณสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ Bangkok Declaration นะครับ
ผมไม่แน่ใจว่าเราจะทำอย่างไรให้รักษาสัญญาไว้ให้ได้….ที่น่าวิตกอีกเรื่องก็คือ pm 2.5 นี่เป็นแค่เสี้ยวเดียวของปัญหาจากการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯนะครับ ยังมีสารอื่น ๆ ที่เราควรวัดแบบจริงจังและเตือนประชากรให้ได้รับข้อมูลกันได้ง่าย ๆ ณ วันนี้ตอนนี้เลย
อีกเรื่องที่ยังสามารถโยงมาเกี่ยวได้อีกก็คือเรื่องของภัยจาก climate change ที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติรุนแรงได้อีกใน scenario ที่ CO2 emission มันโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ในอนาคต ผมอยากให้เมืองไทยขยายกรุงเทพฯออกไปให้มากที่สุด ยิ่งขจุกกันเป็นกลุ่ม ยิ่งทรัพย์สิน (เช่นรถยนต์) มารวมกันอยู่ในเข่งเดียวกัน ก็ยิ่งจุกเวลามีภัยธรรมชาติ
ส่วนโครงการนี้สวนกระแสโลกหรือไม่ ตอบไม่ค่อยยากครับ ผมพูดคุยกับคนหลายชาติแล้ว ตาเขาแทบจะถลนออกมา ท่าทางจะ Thailand only จริง ๆ
อยากให้วิเคราะห์เรื่องรถไฟความเร็วสูง หรือการคมนาคมระบบทางที่มีประสิทธิภาพที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ลดมลพิษ และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในแง่การลงทุนระยะยาวด้วยครับ โดยส่วนตัว(ความคิดเห็นล้วนๆไม่มีสถิติหรืองานวิจัยรองรับ)เห็นว่า ถ้ารัฐไทยให้ความสำคัญในการวางระบบคมนาคมแบบรางครอบคลุมทั้งประเทศเชื่อมโยงกับอาเซียนและจีนเทียบเท่าการพัฒนาถนนอย่างในอดีต โดยยึดแบบอย่างญี่ปุ่นและยุโรปที่ให้ความสำคัญด้านนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นมาก การคมนาคมสะดวกแก้ปัญหารถติด สามารถเชื่อมเมืองรอบนอกเข้ากับเมืองหลวงได้ดี มีความปลอดภัย ถือเป็นการกระจายความเจริญสู่ชนบทอีกทางหนึ่ง แทนที่อะไรๆก็กทม. กทม. กทม. จน กทม.มีทุกอย่างแต่ชนบทรอบนอกขาดแคลน เป็นช่องว่างในการพัฒนาประเทศ เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาหรือไม่? แก้ปัญหาถูกทางหรือไม่? ใช้งบประมาณถูกต้องเหมาะสมหรือไม่? อยากให้ผู้เขียนลองวิเคราะห์ความเหมาะสมในมุมมองทางเศรษฐมิติครับ…ขอบคุณครับ
ด้านรถไฟหรือระบบคมนาคมนี่ผมยังไม่เชี่ยวชาญครับ แต่เห็นด้วยว่าสำคัญและเกี่ยวข้องกับทั้งคุณภาพชีวิต มลพิษและผลิตผลของระบบเศรษฐกิจ เห็นด้วยสุดๆ กับการกระจายความเจริญสู่ชนบท ผมกลับบ้านปีละหน กทม โทรมลงทุกปี ไว้มีความคิดอะไรใหม่ๆ จะนำมาเขียนครับ