menu Menu
To มี or not to มี: ขบคิดเรื่อง fertility rate ตกต่ำ (ตอนที่ 2)
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Global Economy on September 19, 2013 0 Comments 222 words
เรียนวิทย์กับเชฟร้านอาหารอันดับ 1 ของโลก Previous ทำไมต้องปั๊มลูก?: ขบคิดเรื่อง fertility rate ตกต่ำ (ตอนที่ 1) Next

โพสนี้เป็นตอนที่ 2 ของซีรี่ส์ “ขบคิดเรื่อง fertility rate ตกต่ำ”  ในตอนที่แล้วเราได้เห็นกันว่าภาวะเจริญพันธ์ุตกต่ำสามารถมีผลเสียต่อประเทศได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะลองชั่งน้ำหนักดูว่าประเทศเราควรเพิ่ม fertility rate ไหม  มาคราวนี้เราลองมาดูกันว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงมีลูกกันน้อยลง? ในตอนต่อไปเราจะได้สำรวจนโยบาย fertility ที่ทำกันทั่วโลกว่านโยบายเหล่านี้แก้โจทย์ได้ถูกหรือไม่ใน “สมการผลิตลูก”

ตอนที่ 2: ทำไมคนรุ่นใหม่มีลูกน้อยลง?

ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่ตอบยากแต่จำเป็นที่จะต้องตอบให้ได้ก่อนที่สังคมเราคิดจะทำนโยบายแก้ภาวะ fertility rate ตกต่ำ เพราะว่าหากเราแก้ไม่ตรงสาเหตุ นอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาจริง ๆ แล้ว การเก็บภาษีหรือการลดหย่อนภาษีไปโดยยังไม่เห็นว่าทำไมคนเราไม่ค่อยมีลูกยังเป็นการ “ลงโทษ” หรือ “ให้รางวัล” คนบางกลุ่มอย่างผิดพลาดอีกด้วย

ในโพสนี้ผมจึงขอเขียนถึงการตัดสินใจมีลูกจากมุมมองเศรษฐศาสตร์  เผื่อเราจะมองประเทศไทยอีกทีแล้วตระหนักว่า  หากเราคิดว่าควรเพิ่ม fertility rate เพื่อส่วนรวมจริง  เราควรจะแก้ที่จุดไหน

ลูก: สินค้าที่ซับซ้อน?

Belly

**ขอเกริ่นก่อนว่าผมต้องการอธิบายเรื่องนี้ผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์ และไม่ได้มองชีวิตมนุษย์เป็นสินค้าจริง ๆ แต่อย่างใด เพียงแต่จะพยายาม simplify ให้เห็นกรอบความคิดที่ชัดเจน และชี้ให้เห็นชัด ๆ ถึงปัจจัยในการตัดสินใจของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ให้ผู้อ่านชมกันครับ**

สำหรับคนรุ่นก่อน ๆ ใครจะไปคิดว่าการตัดสินใจมีบุตรในสังคมสมัยใหม่จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนได้ถึงเพียงนี้ ?  แต่ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้เริ่มมีการคุมกำเนิดที่ทำได้ด้วยราคาไม่แพงนัก มนุษย์เราจึงเริ่มมีโอกาสที่จะวางแผนครอบครัว ว่าเราต้องการบุตรกี่คน เมื่อไหร่ และต้องการทำให้ชีวิตเขามีคุณภาพแค่ไหน  สังคมสมัยใหม่จึงไม่จำเป็นที่จะต้องคุมจำนวนประชากรแบบ “โหด ๆ” เช่น การบังคับทำหมัน บังคับทำแท้ง (ยกเว้นในจีนเมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้ว) หรือบังคับห้ามมีเพศสัมพันธ์ถี่เกินไปอีกต่อไป

คุมกำเนิด
ที่มา: ธนาคารโลก

จากกราฟด้านบน เราจะเห็นได้ว่าอัตราการคุมกำเนิด (รวมทั้งการคุมกำเนิดของคู่นอนด้วย) นั้นสูงขึ้นกว่าเมื่อสี่สิบปีก่อนมากสำหรับประเทศที่เพิ่งจะมาเจริญได้ในระยะหลังเช่นไทยกับเกาหลีใต้

ในที่สุด มนุษย์เราเริ่มมีทางเลือกว่าอยาก “บริโภค” สิ่งที่เรียกว่า “ลูก” ในจำนวนแค่ไหน คุณภาพเท่าไหร่ (หรือไม่ก็ถูกบริโภคโดยลูก….ในบางครอบครัว…..)

ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ คนเราจะพยายามใช้ทรัพยากรที่มีและเวลาที่มีจำกัดให้ได้ “utility” หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่า “อรรถประโยชน์” กับตัวเองมากที่สุด

ทั้งนี้ผลตอบแทน อรรถประโยชน์ และราคาต้นทุนทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะแปรผันตามปัจจัยและความน่าจะเป็นเป็นล้าน ๆ อย่างที่บางทีสมองอันน้อยนิดของเราก็คงประมวลไม่ได้และคิดไม่ถึง…

กระนั้นก็ตาม หากลองคิดดูเล่น ๆ ในมุมนี้ เราจะเห็นว่าการตัดสินใจมีลูกมักจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยในกรอบแนวคิดแบบอุปสงค์อุปทานดังนี้

1. รายได้ของเรา

หากลูกเป็นสินค้าปกติ เราจะต้องการมีลูกมากขึ้นเมื่อเรามีรายได้มากขึ้น (เมื่อสิ่งอื่น ๆ มีค่าคงที่) ที่เราสังเกตเห็นว่าคนสมัยใหม่มีรายได้โดยรวมมากขึ้นแต่ fertility rate กลับตกลงไม่ได้หมายความว่าลูกเป็น “inferior good” อย่างเช่น บะหมี่สำเร็จรูป หรือ อาหารกระป๋อง ที่เวลาคนรวยขึ้นแล้วอยากได้น้อยลงครับ  อาจจะเป็นเพราะว่าปัจจัยอื่นก็เปลี่ยนไป และที่สำคัญกว่าอาจจะเป็นแนวคิดในเรื่องของ “คุณภาพ” ของลูก  ซึ่งคุณภาพในที่นี้หมายถึงคุณค่าหรืออรรธประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับหรือ (คุณภาพชีวิตของลูกก็ได้)  การที่เราเห็น fertility rate ตกทั้ง ๆ ที่รายได้เราเพิ่ม อาจจะมาจากสาเหตุนี้ก็เป็นได้ครับ

2. ค่าใช้จ่าย vs. ผลตอบแทนที่มาพร้อมกับลูก

จะมีหรือไม่มีลูก เราก็ต้องลองมองไปในอนาคตแล้วคิด NPV (Net present value) ย้อนกลับมาสู่ปัจจุบัน ว่าการมีลูกจำนวนเท่านี้ จ่ายเท่านี้ เราจะได้ผลตอบแทน (ทั้งทางกายและทางใจ) มากหรือน้อยกว่าราคาต้นทุนที่เสียไป  ปัจจัยนี้มีความซับซ้อนสูงมาก ผมขอแยกมันออกเป็นส่วนเล็ก ๆ ย่อย ๆ ลงมาอีกด้านล่างครับ

ค่าใช้จ่าย vs. ค่าตอบแทน “ทางโลก”

ในจุดนี้เรากำลังพูดถึงค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนในรูปของเงินตราและอะไรที่จับต้องได้  คนรุ่นใหม่ในสังคมเมืองไม่ได้ต้องการบุตรหลานมากมายเพื่อเอามาช่วยทำไร่เลี้ยงสัตว์เหมือนสังคมเกษตรในสมัยก่อน  ค่าตอบแทนทางโลกจากการมีลูกจึงไม่ค่อยเห็นได้ชัดเท่าสมัยก่อนอีกต่อไป  

มิหนำซ้ำ สังคมสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกมา (แบบเน้น individualism) ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ชินกับการอยู่กับพ่อแม่หรือการมีครอบครัวใหญ่ ๆ แต่จะต้องการอิสระเพื่อแยกตัวไปอยู่กับครอบครัวใหม่ของตัวเองแบบโดด ๆ มากกว่า  ผลก็คือพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ผลิตจะได้เป็นผู้บริโภคสิ่งทางโลกจากลูกได้ไม่กี่ปี  ผู้ที่จะได้รับ “ปันผล” กลับเป็นคนอื่น (เช่นแฟน) 

นอกจากนั้นการกินอยู่ของพวกเราชาวกรุงในสมัยนี้จำเป็นที่จะต้องมีเงินจำนวนมากไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงครอบครัว  หลายคนที่โตมาจากค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่รุ่นปู่รุ่นย่าลงทุนกับลูกเขา  จึงเห็นว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการเลี้ยงลูกนี่มันมากจริง ๆ  และอยากรอให้เก็บทรัพยากร (เงิน) ให้มากพอจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเลี้ยงดูตัวเองและลูกพอไหว  

แถมสมัยนี้หากต้องการมีลูกมาช่วยเราด้านการเงินมันก็ไม่ง่ายเท่าสมัยก่อนที่ให้มาช่วยด้านแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตรอย่างเดียว  มันมีความไม่แน่นอนสูงว่าลูกเราจะมีความสามารถหรือแรงจูงใจในการมาทำงานกับเราแค่ไหน โอกาสอื่น ๆ สำหรับลูกเราก็มีมากขึ้น ไม่ต้องมาทำฟาร์มกับเราเสมอไป ลูกคนอื่น เก่ง ๆ ก็เกลื่อนเต็มตลาด สู้จ้างพวกเขามาไม่ดีกว่าหรือ?  

สรุป…โดยส่วนตัว ผมคิดว่าค่าใช้จ่ายทางโลกนั้นมากกว่าค่าตอบแทนทางโลกลิบลับจนแทบไม่ต้องเสียเวลาอ่าน!

ค่าใช้จ่าย vs. ค่าตอบแทน “ทางใจ”

แต่ผมเป็นคนนึงที่คิดว่าค่าตอบแทนทางใจจากการมีลูกคงจะมีมากเสียยิ่งกว่าค่าใช้จ่ายใด ๆ ในโลกนี้

อาจจะเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้แต่น่าจะมีค่ามากพอที่เราจะสละทุกอย่างในชีวิตเพื่อดูครึ่งหนึ่งของตนและคนรักเจริญเติบโตขึ้นมา (และดูอีกหลาย ๆ ครั้งเพื่อความสนุกและเพื่อเพิ่ม fertility rateให้ประเทศ…) แถมถ้าเราอายุ 50-60 แล้ว เพื่อน ๆ เริ่มมีหลานกันแล้ว เราอาจจะเสียใจที่ไม่มีลูก

แต่ก็ต้องอย่าลืมว่ามันก็มีค่าใช้จ่ายทางใจเช่นกัน ซึ่งส่วนมากมาจาก มาตรฐานของตัวเราเอง สังคม ค่านิยม ศาสนา และวัฒนธรรม หากเราเลี้ยงลูกในเมืองที่มลภาวะสูง ไม่มีที่ให้ออกไปออกกำลังกลางแจ้ง โตขึ้นก็ต้องเรียนพิเศษ โตขึ้นสมองและสุขภาพก็จะไม่ดีเท่ากับลูกคนที่ไปเกิดในสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า  นั่นไม่เท่ากับว่าเราทำให้ลูกเราทุกข์หรือ?

หรือหากเราเกิดมามีลูกไม่ได้แล้วเราไป adopt ลูกคนอื่นมา สังคม (ที่ยังไม่ยอมรับการ adopt) ก็อาจจะมองเราและลูกเราแปลก ๆ ทำให้ชีวิตลูกเราอาจจะมีอุปสรรคโดยใช่เหตุ ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของค่าใช้จ่ายทางใจนั่นเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือประเทศญี่ปุ่น ที่ “ความไม่มั่นใจในตนเองของผู้ชาย” เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะ fertility rate ตกต่ำที่คนไม่ค่อยพูดถึง ผู้ชายญี่ปุ่นเขากังวลมากในเศรษฐกิจที่ซบเซามาเป็นสิบ ๆ ปี ยิ่งไปกว่านั้น ความเสี่ยงทางการเงินในประเทศนี้ยิ่งทวีคูณเพราะว่าสังคมเขาค่อนข้างที่จะมีค่านิยมว่า “ผู้หญิงเลี้ยงลูก ผู้ชายหากิน” เท่ากับว่าผู้ชายมีหน้าที่แบกรับภาระทางการเงินไว้เต็ม ๆ เราคงเคยได้ยินว่าภาคเอกชนญี่ปุ่นทำงานโหดมาก หากการไต่เต้าในบริษัทมันยากมาก เศรษฐกิจซบเซา แถมต้องเลี้ยงดูคนอีกสองหรือสามคนอีก (เลี้ยงตัวเองยังยากเลย…) เขาจึงไม่คิดว่าการมีครอบครัวมันดีที่สุดสำหรับทั้งสามชีวิต ค่าใช้จ่ายทั้งทางโลกและทางใจมันมากไป เขาเลยชะลอการตัดสินใจว่าจะมีบุตรดีหรือไม่หรือแม้กระทั้งการแต่งงานครับ

3. คุณค่าของเวลาที่ใช้ในการ “ผลิต”

การศึกษาหญิง
ที่มา: ธนาคารโลก

“ลูกในเนื้อ” จำเป็นต้องผลิตเองที่บ้านด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดเหมือนสัตว์เลี้ยงหรือสินค้าอื่น ๆ  การผลิตแต่ละครั้งก็ไม่การันตี “คุณภาพ”  มีความเสี่ยงต่าง ๆ นานา  แม้เดี๋ยวนี้จะไม่ค่อยมีอันตรายต่อสุขภาพแม่และลูกเท่ากับสมัยก่อน  ที่เสี่ยงที่สุดเห็นจะเป็นระยะเวลาในการผลิตที่ยาวนานเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น ๆ เพื่อใช้เวลา 9 เดือนนั้น  

การศึกษาและโอกาสในหน้าที่การงานของผู้หญิง

การศึกษาของผู้หญิงที่สูงขึ้นทำให้ fertility rate ลดลง Rindfuss and Brewster (1996)  (Dr. Trude Lappegård ทำวิจัยเรื่องนี้เยอะมาก หากใครสนใจลองไปอ่านดูครับ) เหมือนกับว่าผู้หญิงลงทุนไปกับการศึกษามากขึ้นจึงอยากใช้ประโยชน์จากมันให้มากที่สุดก่อนจะมีลูก จึงทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจในการมีลูกนั่นเอง

fertil3
ที่มา: ธนาคารโลก

 

โอกาสที่มากขึ้นในที่ทำงานทำให้เกิดการชะลอของการตัดสินใจมีลูกในกลุ่มผู้หญิงทำงาน ซึ่งผู้หญิงกลุ่มนี้มักชะลอการมีลูกจนกว่าตัวเองพอจะตั้งตัวได้ ทำให้ช่วงเวลาที่สามารถมีลูกได้นั้นลดลงเนื่องด้วยความเสี่ยงของสุขภาพเด็กที่จะตามมาจากการมีลูกหลังอายุ 35 ปี (Bongaarts, 2002 Kravdal, 2001 Lesthaeghe and Moors, 2000)

ผู้ชายก็เสียโอกาส

ต้นทุนเสียโอกาสนี้อยู่ในผู้ชายเช่นกัน ยกตัวอย่างครอบครัวที่ทั้งชายและหญิงแชร์รายได้กัน หากผู้หญิงต้องเลิกทำงานไปเป็นปี ภาระทางการเงินจะหนักมากสำหรับผู้ชาย เงินจากฝ่ายหญิงที่เอามาใช้ชีวิตร่วมกันในสมัยก่อนก็จะหมดลงหากบริษัทฝ่ายหญิงไม่ช่วยจ่ายเงินสำหรับการลาคลอดให้พอ

ทั้งสองเพศไม่ว่างพอ

อีกผลกระทบนึงก็คือการที่ยิ่งมีค่านิยมการทำงานหาเงินสูง คนเรายิ่งมีเวลาว่างเสาะหาคู่น้อยลง  “ตลาด” ที่เราจะได้เจอ soul mate ของเราก็จะมีขนาดเล็กลง ตลาดที่เราเวียนว่ายหาคู่ได้ง่ายที่สุดก็คงจะเป็นตลาดที่มีคนคล้าย ๆ เรา เป็นคนในสังคมทำงานที่มีชีวิตยุ่ง ๆ ซึ่งก็คงเป็นคนที่จะชะลอการมีบุตรเพื่อแลกกับเวลาในการหาเงิน

แต่ช่วงเวลานาทีทองมีจำกัด

ปัญหาที่ตามมาอีกทีคือการชะลอของการมีลูกคนแรกนั้นอาจจะทำให้โอกาสการมีลูกคนต่อ ๆ ไปยิ่งน้อยลงไปอีกเพราะผู้หญิงจริง ๆ แล้วเขาไม่แนะนำให้มีลูกหากอายุมากเกินไป

4. liquidity ของ “ลูก” 

นอกจากผู้ผลิตและผู้บริโภคมักจะเป็นกลุ่มคนเดียวกันแล้ว (พ่อแม่) “ลูก” ยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างคือ การที่ลูกไม่ใช่ “liquid asset” และขายไม่ได้ง่าย ๆ เมื่อไม่พอใจกับอัตราผลตอบแทนหรือเมื่อเราอยู่ในยามยาก (แต่ก็ไม่จริงเสมอไปในกรณีเมืองจีนสมัยก่อน)  ในยุคปัจจุบันเรารับไม่ได้หากมีการค้ามนุษย์ครับ  แต่ในยุคหน้า อีกร้อยปี ไม่แน่อาจจะมีมุมมองและค่านิยมใหม่ที่ทำให้ลูกกลายเป็น liquid asset ก็เป็นได้หากทำการตัดต่อพันธุกรรมได้ตามสั่ง

5. ปัจจัยอื่น ๆ ที่จะมีผลต่อ Supply

ยังมีอีกหลายปัจจัยมากที่จะกระทบด้านการผลิต ยกตัวอย่างเช่น:

  • อายุที่มี “ครั้งแรก”
  • ความถี่และการละเว้นของการมีเพศสัมพันธ์
  • การทำหมัน
  • ความสามารถในการให้กำเนิด
  • ราคาของการคุมกำเนิด
  • โอกาส “รอด” ของเด็ก

เอาแค่นี้ก่อนละกันครับ ใครสนใจเพิ่ม ผมแนะนำให้ไปหางานเขียนของ Kingsley Davis กับ Judith Blake  Gary Becker และ Richard Easterlin ครับ

สรุป: To มี or not to มี ?

จากที่ได้สาธยายมาเป็นหน้า ๆ เราคงจะเห็นแล้วว่าการตัดสินใจมีลูกมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและวกวน แต่เราอาจจะหาคำตอบสำหรับ “To มี or not to มี?” ได้โดยการกลับไปอ่านต้นตอของคำถามนี้ในบทรำพันในบทละครแฮมเล็ตที่เขียนขึ้นโดย วิลเลียม เชกสเปียร์ ครับ

HAMLET

To be, or not to be? That is the question—
Whether ’tis nobler in the mind to suffer
The slings and arrows of outrageous fortune,
Or to take arms against a sea of troubles,
And, by opposing, end them? To die, to sleep—
No more—and by a sleep to say we end
The heartache and the thousand natural shocks
That flesh is heir to—’tis a consummation
Devoutly to be wished! To die, to sleep.
To sleep, perchance to dream—ay, there’s the rub,
For in that sleep of death what dreams may come
When we have shuffled off this mortal coil,
Must give us pause. There’s the respect
That makes calamity of so long life….

บทรำพันที่โด่งดังชิ้นนี้ถามว่าเราควรจะอยู่หรือเราจะไป?

อะไรดีกว่ากันระหว่าง a. การเผชิญกับความทุกข์และปัญหาร้อยแปด หรือ b.การตายเพื่อให้ทุกอย่างจบสิ้น?

ดูเผิน ๆ เหมือนว่าความตายจะช่วยให้เราดับทุกข์ได้ แต่เราไม่มีทางรู้ว่าปัญหาเหล่านั้นจะตามเรามาในอีกพิภพนึงหลังความตายหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราฉุกคิดว่าเราควรใช้ชีวิตต่อไปมากกว่าการเข้าไปสู่สิ่งหรือพิภพที่เราไม่มีทางรู้ได้

การตัดสินใจว่าจะมีลูกหรือไม่มีลูก ก็คล้ายกันในระดับนึง  แม้จะดูเหมือนว่า cost มันมากกว่า benefit ในหลาย ๆ มุมที่ผมเขียนไปด้านบน แต่เอาเข้าจริง ๆ เราจะตัดใจไม่มีลูกหรือตัดใจมีแค่คนเดียว โดยที่เราไม่รู้ถึง unknown benefits จากการเห็นหน้าลูกหลาย ๆ คนของเรา ที่อาจจะมาหลอกหลอนเราตอนแก่หากเราไม่มีลูกได้จริง ๆ หรือ ? หากเราตัดสินใจมีแค่คนเดียวหรือไม่มีเลย ในโลกคู่ขนานที่เรามีลูกสามคนอาจจะดีกว่ามากจนเรารู้สึกเสียโอกาสเสียยิ่งกว่าตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่คิดแต่เรื่องค่าเสียโอกาสในหน้าที่การงานอีกด้วย

มนุษย์เราให้ความสำคัญกับ “unknowns” ต่างกัน และมีระดับ risk aversion ที่ต่างกัน

จะตอบคำถามนี้ได้ก็คงต้องค้นลึก ๆ ลงไปในตัวเองครับ

สำหรับคราวหน้า เราจะมาดูกันว่ารัฐบาลทั่วโลกเคยทำอะไรไปบ้างเพื่อเพิ่ม fertility rate  ลองมาดูกันว่านโยบาย (ทั้งเอาจริงและเอาฮา) มันละเอียดอ่อนพอที่จะกระทบกระทั่งสมการอันซับซ้อนที่คุณอ่านไปวันนี้หรือไม่ครับ


 

dependency ratio fertility rate ภาษีคนโสด ลูก เศรษฐศาสตร์


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up