menu Menu
ภาษีคนโสดยันภาษีคนหล่อ: ขบคิดเรื่อง fertility rate ตกต่ำ (ตอนที่ 3)
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Global Economy on September 26, 2013 0 Comments 150 words
เรียนวิทย์กับเชฟทำเนียบขาว Previous เรียนวิทย์กับเชฟร้านอาหารอันดับ 1 ของโลก Next

โพสนี้เป็นโพสที่ 3 ในซีรี่ส์ “ขบคิดเรื่อง fertility rate ตกต่ำ”  ในตอนที่ 1 ผมได้เขียนไปแล้วว่าทำไมทั้งโลกกำลังกังวลว่าคนเรากำลังมีลูกน้อยลงทั้ง ๆ ที่เราก็บ่นอยู่เสมอว่าทำไมโลกเราคนเยอะจัง! ส่วนในตอนที่ 2 ผมเขียนถึงความซับซ้อนของสาเหตุที่คนเรามีลูกน้อยลง รวมถึงการมองการตัดสินใจมีลูกผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์  หากท่านผู้อ่านท่านใดยังไม่ได้อ่านทั้งสองตอน อ่านตอนนี้ก่อนแล้วค่อยวนไปอ่านตอนเก่า ๆ ก็ได้ไม่ว่ากันครับ 🙂

ในคราวนี้เรามาลองสำรวจกันว่าชาติอื่นเขาทำนโยบายอะไรไปบ้างและได้ผลอย่างไร  อย่าลืมอ่านตอนท้ายของโพสนี้ผมเลือกนโยบายแปลก ๆ ที่หลายชาติเคยทำเอามาให้ชาวไทยลองอ่านเอาฮา (และอาจจะทำให้แนวคิดภาษีคนโสดดูดีขึ้นหน่อยนึง!)

สำรวจนโยบายที่ “ปกติ ๆ” ก่อน

  1. จากประเทศพัฒนาแล้ว – จากการทำวิจัย 16 ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในช่วง 20 ปี พบว่าอัตราเกิดจะสูงในประเทศที่ a) รัฐบาลให้เงินตอบแทนกับผู้มีบุตรในระดับสูง b) ให้เงินเดือนตอบแทนกับพนักงานหญิงขณะลาคลอดและลาเลี้ยงบุตรในระดับสูง c) อัตราจ้างงานในประชากรเพศหญิงสูง d) มีจำนวนผู้หญิงที่ทำงาน part-time สูง  ในงานวิจัยเดียวกัน อัตราเกิดจะต่ำหาก a) อัตราการว่างงานสูง b) รายได้เพศหญิงสูงกว่าเพศชายมากอย่างมีนัยสำคัญ c) ช่วงเวลาลาคลอดนาน (เป็นเพราะว่าคุณแม่กลับมาหางานยากได้ยากหรือฝีมือตกเพราะว่าห่างงานไปนาน)
  2. ลดค่าเสียโอกาสของเหล่าแม่ ๆ ซะ – หากเพิ่มจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็กมากขึ้น จะมีอัตราเกิดที่สูงขึ้น
  3. ออสเตรเลีย – ประเทศนี้ทำหลายนโยบายมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือคู่ที่มีบุตร มีการลดหย่อนภาษีได้หากใช้บริการเลี้ยงลูก มี “Baby Bonus”  ที่จ่ายให้เลยเต็ม ๆ หลังมีลูกหรือรับเลี้ยงเป็นลูก
  4. 9 ประเทศที่พัฒนาแล้ว – งานวิจัยนี้พบว่านโยบายเพิ่มระยะเวลาลาคลอดไม่ช่วยให้ fertility rate เพิ่มได้มากเท่ากับเงินตอบแทนเมื่อมีบุตร พบว่ายิ่งต่อเวลาลาคลอดนาน ยิ่งทำให้แม่ ๆ กลับเข้ามาทำงานได้ยากขึ้น
  5. ฝรั่งเศสเป็น success story – กุญแจสู่ความสำเร็จของประเทศนี้คือการให้ flexibility ในชีวิตผู้หญิง ไม่ใช่การลงโทษหรือบังคับด้วยเงิน รายงานเมื่อปี 2006 กล่าวว่า ฝรั่งเศสมี fertilty rate สูงสุดเป็นอันดับสองของยุโรปเพราะว่าทำนโยบายเช่น a) ให้ลาคลอดได้สามปี โดยมีเงินจ่ายให้ และการันตีว่ากลับมามีงานได้ (อันนี้ฟังดูเวอร์เกินจริง…ขอไปสืบสวนเพิ่ม..) b) อนุบาลฟรีเริ่มที่อายุสามขวบ c) ช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่าย daycare d) ให้ค่าเลี้ยงบุตรรายเดือน  ฯลฯ  (มิน่า  หนี้เพียบ…)
  6. ให้โอกาสและสร้างค่านิยมว่าผู้หญิงสามารถเก่งทั้งการเป็นแม่และการทำงานได้พร้อม ๆ กัน – สมัยก่อนสังคมส่วนมากเป็นโมเดลที่ผู้ชายหากิน ผู้หญิงทำงานบ้านและเลี้ยงลูก งานวิจัยนี้พบว่าประเทศเยอรมันมี fertility rate ต่ำกว่าฟรั่งเศสเพราะว่าเยอรมันยังมีค่านิยมว่าผู้ชายหาเงินผู้หญิงอยู่บ้าน ทำให้ผู้หญิงเยอรมันจำเป็นต้องเลือกระหว่างงานกับการทำหน้าที่แม่ ทั้ง ๆ ที่ในฟรั่งเศสผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงสามารถหา balance ระหว่างสองสิ่งนี้ได้
  7. นโยบายล้มเหลวในเยอรมัน – เยอรมันทำนโยบายหลายชนิดมาก เช่น การจ่ายเงินโอนให้ครอบครัวที่มีบุตรทุก ๆ เดือน  เงินช่วยเหลือผู้ที่มีบุตรแรกเกิด  เงินช่วยเหลือพ่อคนใหม่ และการขยายกิจการการบริการรับเลี้ยงเด็ก  แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการมีบุตรมากชึ้น  น่าสนใจมากเพราะว่านโยบายพวกนี้บางทีไปตีกับนโยบายเก็บภาษีเงินได้โหด ๆ ที่มีอยู่แล้ว กลายเป็นว่าเยอรมันมีผู้หญิงที่เลิกทำงาน full time เพิ่มมากขึ้นเพื่อรับเงินแต่ไม่ต้องจ่ายภาษี full time หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ดูเหมือนว่าประชากรชาวเยอรมันจะลดลงจาก 82 ล้านคนเหลือแค่ 70 ล้านคนในปี 2050  ครับ
  8. การให้เงินโอนอย่างมีเงื่อนไข – งานวิจัยนี้พบว่า Conditional Cash Transfers มีผลต่อกระทบให้เพิ่มภาวะเจริญพันธุ์ได้จริงในแคนาดา (ให้ถึง 8,000 CAD ต่อครอบครัวที่มีบุตร)
  9. ทีวีและละครน้ำเน่า – อันนี้ไม่ใช่นโยบาย แต่เป็นผลวิจัยที่ประหลาดที่พบว่าการมีทีวีดูมีความเกี่ยวโยงกับการที่เรามีลูกน้อยลง  ผมว่ามันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง effect นี้แน่นอน เช่นรายการที่ฉายอาจจะเน้นความแข็งแกร่งหรือความเป็นตัวของตัวเองของตัวเอกหญิงมากขึ้น?  งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในบราซิลก็พบผลคล้าย ๆ กันคือยิ่งละครน้ำเน่าได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ ยิ่งพบภาวะเจริญพันธุ์ต่ำลง!
  10. ยังมีการวิจัยอีกมากมายที่นี่

นโยบายแหวกแนว

ถ้าด้านบนมันไม่เวิร์ค เห็นทีจะต้องลองของแปลกครับ… มาดูกันว่ามีนโยบายอะไรแปลก ๆ บ้าง

ญี่ปุ่น: ภาษีคนหล่อ?

ภาษีคนหล่อ

จริง ๆ ไอเดียนักวิชาการไทยท่านนี้อาจจะยังดีกว่าไอเดียการเก็บ “ภาษีคนหล่อ” ที่มาจากนักวิชาการญี่ปุ่นชื่อ Takuro Morinaga ในความคิดผม ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นอกจากคนในประเทศจะเป็นห่วงสถานการณ์ fertility rate ตกต่ำแล้ว คนทั้งโลกยังเป็นห่วงว่า “อนาคตสีเทา” ของประเทศญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร  ดูเผิน ๆ ตามกฎธรรมชาติ ถ้าความหล่อของประชากร distributed normally ก็น่าจะมีคนหล่อจริง ๆ ไม่มาก จึงไม่น่าจะมีการต่อต้านนโยบายได้เหมือนในกรณีภาษีคนโสด

คุณ Takuro Morinaga คิดว่าปัญหาของ fertility rate ตกต่ำในญี่ปุ่นมาจากเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันทางการเงินและความสามารถในการหาคู่ เขาคิดว่าการที่เอาเงินจากคนหล่อมาแจกคนไม่หล่อจะทำให้คนที่ไม่หล่อเท่าดูดีขึ้นในสายตาผู้หญิงญี่ปุ่น (หน้าตาคงเท่าเดิมแต่โดยรวมแล้วถือเป็นคู่ผสมพันธ์ที่ดีขึ้นเพราะมีปัจจัยทางการเงินมากขึ้น) และจะทำให้คนที่ไม่หล่อหาคู่ได้ง่ายขึ้น เพิ่มเรทการแต่งงาน และเพิ่ม fertility rate ในที่สุดนั่นเอง

จริง ๆ Takuro Morinaga เขาก็มีที่มาที่ไป เพราะว่า ในปี 2010 50% ของผู้ชายญี่ปุ่นที่อายุเกิน 30-35 ยังเป็นโสดอยู่  นั่นคือปัญหาสังคม แต่วิธีแก้สิสำคัญ  หากลองมาคิดดูว่าในทางปฏิบัติแล้วภาษีคนหล่ออาจจะทำให้ญี่ปุ่นไม่น่าไปเที่ยวอีกต่อไป…

  1. อะไรคือความหล่อ – Takuro Morinaga คิดไว้แล้วว่าวิธีแบ่งคนหล่อกับคนไม่หล่อต้องใช้การสุ่มตัวอย่างผู้หญิงมาลงคะแนน แต่ภาษีนี้เก็บเยอะมาก เขาต้องการเพิ่มภาษีรายได้เป็นสองเท่า สำหรับคนหล่อ เพราะฉะนั้นกลุ่มผู้หญิงที่เลือกมา “แบบสุ่ม” จะมีอำนาจมาก อาจก่อให้เกิดคอรัปชั่นได้กันเลยทีเดียว
  2. แล้วเวลาแก่ตัวลง? – อันนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาในการเก็บภาษีแต่ละปี คงเหมือนสอบใบขับขี่กระมัง มาวัดความหล่อทุก ๆ ห้าปี! หากเรากลายเป็นรุ่นปู่ กลุ่มผู้หญิงที่มาวัดก็คงต้องเป็นรุ่นย่า แต่มันมีปัญหาตรงที่ “ความหล่อ” ในใจผู้หญิงมันอาจจะเป็นผู้ชายวัย 20-30 ไปตลอดไม่ว่าป้าจะอายุเท่าไหร่แล้วก็ตาม จุดนี้บวกกับการที่คนญี่ปุ่นอายุยืน ก็เท่ากับว่าภาษีนี้เก็บกับคน ๆ นึงได้แค่ไม่กี่ปี
  3. ดูถูกผู้หญิงไปหรือไม่? – Takuro Morinaga ได้ไปศึกษา survey มาแล้วว่าผู้ชายที่รวยมักแต่งงาน นักเรียนในห้องเขาก็เลือกแฟนรวยมากกว่าแฟนหล่อ แต่การทำนโยบายนี้เท่ากับว่าเป็นการดูถูกรสนิยมผู้หญิงนะครับ ในใจ Takuro Morinaga เขาคิดว่าความรักมีอยู่สามปัจจัยหลักคือ หน้าตา ฐานะ และเสน่ห์ แต่จริง ๆ แล้วผมว่ามันซับซ้อนมากกว่านั้นมากนะ….
  4. จะไม่มีดาราชายจากญี่ปุ่นอีกต่อไป – ใครอยู่ในแฟนคลับดารานักร้องญี่ปุ่นคงเซ็งเพราะว่าผู้ชายญี่ปุ่นทุกคนคงจะทำให้ตัวเองดูหล่อน้อยลงและทำตัวให้ไม่มีเสน่ห์เพื่อที่จะได้หนีภาษี (รูปผู้ชายสองคนด้านบนเป็นนักแสดงคนเดียวกันครับ)

จากการคิดลึกลงอีกขั้นทำให้เราเห็นว่าที่มาของภาวะ fertility rate ตกต่ำในสังคมนั้นซับซ้อนและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำวิจัยมาให้รู้กันแน่ชัดว่าสาเหตุคืออะไรก่อนจะทำนโยบายอะไรใหญ่โต เราต้องคิดว่ามันเป็นเพราะว่าคนไม่แต่งงาน? คนไม่อยากมีลูกเพราะเงินไม่พอ? หรือเป็นค่านิยมใหม่?

ในกรณี “ภาษีคนหล่อ” ถึงแม้ว่าเราจะรู้แล้วว่าสาเหตุเป็นเพราะว่าผู้ชายส่วนมากในญี่ปุ่นหาคู่ไม่ได้ แต่เราต้องมาพิสูจน์อีกว่ามันเป็นเพราะว่าผู้ชายหล่อคว้าใจผู้หญิงไปหมด? หรือเป็นเพราะว่าผู้ชายไม่หล่อเนิร์ด ๆ ที่รู้จักผู้หญิง 2D มากกว่าผู้หญิง 3D ในโลกจริงมันไม่เอาไหนเอง? เพื่ออนาคตของชาติ ใครสมควรจะโดนลงโทษ? นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องคิดให้ตก

ญี่ปุ่น (อีกรอบ): เอาหุ่นยนต์ไปทดลองเลี้ยงก่อน!

Kunimura พยายามสร้างหุ่นยนต์เด็ก “Yotaro” เพื่อให้โอกาสหนุ่มสาวที่ยังไม่เคยสัมผัสการเลี้ยงเด็กทารกมาก่อน หวังว่า Yotaro จะไปทำให้คนเหล่านี้อยากมีลูกมากขึ้นครับ   ดูท่าทางหุ่นยนต์นี้ซับซ้อนพอสมควร อาจจะทำให้อารมณ์เสียมากกว่านะครับ… ผมไม่เข้าใจครับ….สร้างทั้งทีทำไมไม่สร้างหุ่นยนต์เด็กอายุโตกว่านี้หน่อย จะได้น่ารักแต่เลี้ยงง่ายกว่า ไม่ต้องมาเช็ดน้ำมูกอยู่เรื่อย ๆ…สงสัยเป็นเพราะยังทำ speech function ไม่ได้ เลยจำเป็นต้องอยู่ในวัยทารก

ประเทศนี้มีอะไรแปลก ๆ เพียบ…. วีซ่าไม่ต้องใช้แล้วก็อย่าลืมไปเยี่ยมแดนอาทิตย์อุทัยบ่อย ๆ นะครับ เผื่อจะได้ innovation spillover มาให้เราสร้างสรรค์อะไรแปลก ๆ ได้บ้าง

เกาหลีใต้: บังคับปิดไฟสร้างบรรยากาศ

เกาหลีใต้ก็มีปัญหา fertility rate ตกต่ำ ถึงขั้นต้องปิดไฟออฟฟิสกระทรวงสาธารณสุขเดือนละครั้งให้ราชการกลับไปผลิตลูก….โดยจะปิดไฟทุก ๆ วันพุธที่สามของเดือนเวลาทุ่มครึ่ง (ข้าราชการไม่ค่อยมีลูกเท่าพลเมืองปกติในเกาหลีใต้ครับ)

สิงคโปร์:ใช้เมนทอสกับเพลงแร็ปสนับสนุนการผลิตลูก

สิงคโปร์มี fertility rate ที่ต่ำมาก ประมาณ 0.78 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน  ในอดีต สิงค์โปร์เคยทำอย่างที่ฝรั่งเศสทำมาแล้ว และเคยทำนโยบายประหลาด ๆ อย่างเช่นการห้ามสร้างห้องขนาดเล็กที่เหมาะกับคนโสด (หรือเรียกว่าห้อง “shoebox” ที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 500 ตารางฟุต) ในบางพื้นที่   ปัญหานี้น่ากังวลมมากเพราะว่าหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จะไม่เหลือประชากรสิงคโปร์ที่แท้จริงในอีกไม่กี่สิบปี  ขนาด ลี กวนยู ยังยอมแพ้ บอกว่า “I cannot solve the problem, and I have given up” ในหนังสือ One Man’s View of the World

เมื่อปีที่แล้วสิงคโปร์พาร์ตเนอร์กับเมนทอสออกวิดีโอกู้ชาติเนื่องในโอกาสวันชาติด้านบนครับ  ดูเอาเองก็แล้วกันครับว่าเขาต้องการแรงจูงใจแค่ไหน! สมแล้วที่เป็นประเทศที่ innovative อันดับต้น ๆ ของโลก

ไต้หวัน: ใช้คำขวัญเพิ่มอัตราการมีลูก

ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าคำขวัญมันมีผลอย่างไรต่อการกระทำของคนเรา…ถ้าตอนเด็ก ๆ ผมเข้าใจนะ ที่เรา “โดนบังคับ” ให้ท่องคำขวัญไว้จะได้เอาไว้เตือนใจ ให้ขยันและเป็นเด็กดี  แต่สำหรับผู้ใหญ่ ไม่มีใครเขาท่องกันครับ… กระนั้น ไต้หวันเขาได้ลองทำโพลประกวดคำขวัญเพื่อเพิ่ม fertility rate โดยให้รางวัลที่หนึ่งถึง 1 ล้านไต้หวันดอลล่าห์  (ไม่มีผลต่อ fertility rate)   คำขวัญที่ชนะคือ

“Children are our most precious treasures (孩子~是我們最好的傳家寶)”

นอกจากนี้ ธนาคารกลางไต้หวันก็เคยจัดทริป! ชักชวนพนักงานโสดในภาคเอกชนไปเที่ยวด้วย…

รัสเซีย: “รถ” แรกแจกแถม

รัสเซียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ตกอยู่ในสภาวะ fertility rate ตกต่ำ และขึ้นชื่อว่าทำทุกวิถีทางให้ประชากรของประเทศเขามีลูกกันมากขึ้น  โดยในโครงการ “Give Birth to a Patriot” หากให้กำเนิดในวันที่ 12 มิถุนายน จะมีโอกาสชิงรางวัล!  แจกทั้งรถ แจกทั้งตู้เย็น เครื่องซักผ้า กล้องถ่ายวิดีโอ ฯลฯ

โรมาเนีย: ภาษีคนไร้ลูกและนโยบายโหด ๆ

หากจะศึกษาเรื่องภาวะ fertility rate ตกต่ำ โรมาเนียเป็นอีกประเทศที่ไม่ควรพลาด เพราะว่าเป็นประเทศที่ผ่านอะไรมามาก ประสบการณ์โชกโชนเหลือเกิน

โรมาเนีย

 

ห้ามทำแท้ง – ในปี 1966 รัฐบาลโรมาเนียออกกฎหมายห้างทำแท้งนอกจากจำเป็นจริง ๆ กฎหมายนี้สำคัญมากเพราะว่าแต่ก่อนโรมาเนียเป็นประเทศที่ค่อนข้าง liberal จึงมีสถิติทำแท้งสูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ในยุโรป  ทางเลือกในการคุมกำเนิดในสมัยนั้นก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ผ่านไปสองปี จำนวนการทำแท้งตกลงจาก 1 ล้านกว่าเคสเหลือแค่ห้าหมื่นกว่า  โรมาเนียเขาเอาจริงมาก ๆ ถึงกับเอาตำรวจไปเฝ้าในโรงพยาบาลเพื่อห้ามทำแท้งเลยทีเดียว

ห้ามหย่าหากไม่จำเป็นจริง ๆ – ผลคือจาก 37,000 ราย เหลือแค่ 28 รายเท่านั้น

ภาษีคนไร้ลูก – ภาษีนี้เริ่มเก็บเมื่อต้นปี 1967 โดยไม่สนใจว่าจะโสดไม่โสด เก็บกับทุกคนที่อายุเกิน 25 แล้วยังไม่มีบุตร ยกเว้นว่ามีลูกไม่ได้จริง ๆ ลูกเสียชีวิต หรือแต่งงานใหม่กับคนที่มีลูกแล้ว   อัตราภาษีคือ 10% หรือ 20% ของรายได้ (แล้วแต่ว่ารายได้มากแค่ไหน)

นอกจากนโยบายโหด ๆ เหล่านี้แล้ว โรมาเนียก็ทำนโยบายแบบน่ารัก ๆ ให้เงินตอบแทนควบคู่กันไปด้วย  อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า fertility rate จะโดดขึ้นระหว่างปี 1966 กับ 1968 อย่างที่เห็นด้านบน แต่โรมาเนียก็ไม่สามารถเพิ่มอัตรานี้ขึ้นได้มากติดต่อกันหลายปีหลังจากนั้น

ความโหดที่แท้จริงเริ่มขึ้นในปี 1984 (แหม…ช่างพอดีกับหนังสือดังเรื่อง Nineteen Eighty-Four จริง ๆ ) รัฐบาลโรมาเนียชักเริ่มไม่ไหว อยากเห็นผลไวขึ้น จึงทำนโยบายต่อไปนี้ครับ

  1. ลดอายุขั้นต่ำในการแต่งงานสำหรับผู้หญิงเหลือแค่ 15 ปี
  2. ปรับเพิ่มอัตราภาษีคนไร้ลูก
  3. ส่งกองตรวจภายในไปที่ทำงานเพื่อดูแลความคืบหน้าว่าผู้หญิงท้องแล้วหรือยัง จะได้บังคับใช้กฎหมายห้ามทำแท้งได้เร็วไว นอกจากนี้หน่วยนี้ยังมีหน้าที่ไปสืบสวนว่าทำไมบางคู่ถึงยังไม่มีลูกและแนะนำให้ไปรักษาเพื่อเพิ่มโอกาสการ “ปั๊มติด” อีกด้วย
  4. ปิดช่องโหว่ไม่ให้ทำแท้ง  โดยผู้หญิงที่เหลือที่สามารถทำแท้งได้คือต้องมีอายุมากกว่า 45 ปี หรือมีลูกแล้วห้าคน (และยังเลี้ยงอยู่ทั้งหมด) ขึ้นไป….โอ้แม่เจ้า…
Screen Shot 2013-09-26 at 9.03.50 PM
ที่มา: ธนาคารโลก

อย่างที่เห็นด้านบนทำไปทั้งหมดนี่ก็ได้ผลอยู่ไม่กี่ปีสุดท้าย fertility rate ก็ดิ่งลงเหว….

สรุปสั้น ๆ

ที่เราเห็นนโยบายบางนโยบายทำแล้วได้ผลดีในบางประเทศแต่ดันไม่ได้ผลในบางประเทศมันบ่งบอกว่าการแก้ปัญหานี้ทำได้ยากมากและจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายหลาย ๆ ชิ้นเข้าสู้ เพราะอย่างที่ผมเขียนไว้ในตอนที่ 2 การมีลูกมันเป็นการตัดสินใจที่ละเอียดอ่อนและมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง

ผมเป็นคนไม่ชอบที่ที่แออัดนะครับและไม่ชอบมลภาวะ  แต่ในขณะเดียวกัน…ถ้า fertility rate มันตกลงต่ำกว่า 2 มากลงเรื่อย ๆ ก็จะไม่มีชนชาติเราเหลือพอในระยะยาว…เราก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

อีกไม่นาน ผมคิดว่าประเทศไทยก็จะต้องหันมาคิดดูดี ๆ ว่าเราควรจะทำอะไรกับภาวะ fertility rate ตกต่ำอย่างจริงจังแน่นอน

เราควรจะทำนโยบายแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับสังคมและเศรษฐกิจเรา นั่นคือคำถามที่ผมจะฝากใว้ให้ผู้อ่านเก็บไปคิดครับ  สุดท้ายนี้หวังว่าผู้อ่านจะได้ข้อมูลและข้อคิดหลากมุมจากทั้งสามตอนในซีรี่ส์ “ขบคิดเรื่องภาวะ fertility rate ตกต่ำ” นะครับ  ช่วยกันคิดดี ๆ เราจะได้ไม่ต้องเห็นนโยบายน่าขำน่าอายอย่างที่เห็นด้านบนออกมาทำให้ลูกหลานเราขายหน้าชาติอื่น (ถ้ายังมีรุ่นหลานเหลือพอนะ…)

fertility rate ญี่ปุ่น นโยบาย ประเทศไทย ภาวะเจริญพันธ์ ภาษีคนโสด เศรษฐกิจ


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up