Views:
2,417
นับว่า “ภาษีคนโสด” เป็นหัวข้อที่ viral สุด ๆ ในช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง (นิด้าโพลพบว่า 90% ไม่ต้องการนโยบายนี้! ) แนวคิดภาษีคนโสดตอนนี้ยังเป็นแค่แนวคิดของคุณเทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ เท่านั้น แต่หาก fertility rate ตกลงไปเรื่อย ๆ ไม่แน่…เราอาจจะได้เห็นโครงการที่รัฐบาลผลักดันออกมาเองในอนาคต
ผมถือว่านี่เป็นโอกาสดีก็แล้วกันที่จะเขียนซีรี่ส์เกี่ยวกับปัญหาภาวะ fertility rate (อัตราการเจริญพันธ์) ตกต่ำในสามตอน ว่าทำไมมันถึงเป็นปัญหา (ตอนที่ 1) ทำไมคนสมัยใหม่ไม่ค่อยมีบุตร (ตอนที่ 2) และจะนำเอานโยบายที่รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกทำ (ตอนที่ 3) มาให้ผู้อ่าน settakid.com ลองเอาไปขบคิดดูครับ ว่าสังคมแบบไทย ๆ เศรษฐกิจแบบไทย ๆ ควรจะทำนโยบายเพื่อเพิ่ม fertility rate หรือไม่ หากทำ เราควรจะทำแบบไหน?
ตอนที่ 1: ทำไมถึงต้องผลักดันให้คนมีบุตรมากขึ้น?

โลกใบนี้มีคนเกิน 7 พันล้านคนแล้ว…มลภาวะสูง ทรัพยากรก็ไม่ค่อยจะพอ รถก็ติด ทำไมถึงจะอยากให้มีคนเพิ่มขึ้นอีก? สู้มีถนนสะอาด ๆ รถวิ่งฉิว ไม่ดีกว่าหรือ?
หากลองคิดในมุมที่เห็นแก่ตัวสุด ๆ นะครับ… ก็อาจจะใช่ อีกไม่กี่สิบปีเราก็ไปจากโลกนี้แล้ว…เรื่องอะไรที่เราจะยอมเสียสละรายได้หรือโอกาสเราในวันนี้? สำหรับคนที่คิดมุมนี้ ยิ่งไม่มีลูก ก็ยิ่งไม่ค่อยแคร์
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ส่วนรวม ผลกระทบทางลบของภาวะ fertility rate ตกต่ำอาจจะเกิดขึ้นก่อนเราตายในชาตินี้ก็เป็นได้
เพราะว่าสังคมมนุษย์ในโลกสมัยนี้มันเชื่อมกันเป็นระบบ การพยุงสังคมชราสีเทา การควบคุมการอพยพของประชากร การป้องกันประเทศ การสร้างผลิตผลของประเทศ ทุกอย่างนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับจำนวนและคุณภาพของประชากรทั้งสิ้น
ที่มา: ธนาคารโลก
ภาวะ fertility rate ตกต่ำถือเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกเขากังวลมานานแล้วและไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในประเทศไทย จากกราฟด้านบน จะเห็นได้ว่า fertility rate หรือ จำนวนบุตรเฉลี่ยที่ผู้หญิง “ผลิต” ในแต่ละประเทศ ตั้งแต่ปี 1960 ถึงปัจจุบันน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะนี้ fertility rate ในหลายประเทศถึงขั้นต่ำกว่าหรือกำลังดิ่งลงใกล้ “replacement ratio” หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า “ระดับการผลิตเด็กมาให้แค่พอทดแทนพ่อแม่สองคนที่จะเสียชีวิตไปในที่สุด” ซึ่งเท่ากับระดับที่ประมาณ 2.1 – 2.3 (ไม่เท่ากับ 2 เป๊ะ ๆ เพราะว่าเด็กอาจจะเสียชีวิตก่อนได้สืบพันธ์หรือสืบพันธ์ไม่ได้) จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นมีปัญหานี้มานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว และประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะนี้อย่างเห็นได้ชัด ลดลงจากประมาณ 6 เป็น 2
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมคิดว่า fertility rate ควรจะมีความ “พอดี” ให้เหมาะสมกับระบบสวัสดิการและระบบเศรษฐกิจของประเทศแต่ละประเทศ มองจากกราฟด้านบนก็พอจะเห็นว่ามีบางประเทศที่ตีโจทย์แตกว่าทำไม fertility rate ลงลงในประเทศของตนและสามารถทำนโยบายกู้ fertility rate ขึ้นมาได้เหมือนกันในระยะหลัง แต่ก็ไม่ได้แก้กันได้ง่าย ๆ ในตอนที่ 3 ของซีรี่ส์นี้ผมจะมานำเสนอว่าเขาทำอะไรกันบ้าง แต่ตอนนี้เรามาดูกันก่อนว่าข้อเสียและผลที่ตามมานั้นมันมีอะไรบ้าง ผมสรุปให้คร่าว ๆ ด้านล่างครับ
ข้อเสียของภาวะ fertility rate ตกต่ำ
ที่มา: ธนาคารโลก
- จะเหลือใครช่วยเราตอนแก่เฒ่า? – หลายประเทศบนโลกพึ่งพาระบบประกันสังคม สวัสดิการ เมื่อคนรุ่นหลังมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ จะเก็บเงินจากที่ไหนมาพยุงระบบ? (อันนี้ก็แล้วแต่ว่าระบบประกันสังคมในแต่ละประเทศทำงานอย่างไรนะครับ) กราฟด้านบนแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนคนชรา (อายุ 65+) ที่ถือว่าเป็นกลุ่มประชากรที่จำเป็นต้องพึ่งพิงผลิตผลจากประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 20-64) เราจะสังเกตได้ว่าญี่ปุ่นมีอัตราส่วนที่สูงมากถึงเกือบ 40% นั่นแปลว่าคนชราที่ต้องพึ่งพาส่วนรวมมีมากถึง 40 คนต่อแรงงาน 100 คนในประเทศญี่ปุ่น จากเทรนด์ชัด ๆ ในประเทศที่ผมคัดมา จะเห็นว่าโดยรวมแล้วอัตราส่วนนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ และในอีกสิบถึงสามสิบปีจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกเมื่อ baby boomers เข้าสู่วัยชรา จริงอยู่ที่จำนวนเด็ก ๆ ที่พึ่งพาระบบจะลดลง แต่ว่าภาระทางการคลังของรัฐบาลส่วนใหญ่ในโลกที่พัฒนาแล้วคือการพยุงคนชราเพราะฉะนั้นการที่เราคิดว่าเรามีเด็กใหม่น้อยลงจะมาช่วยทดแทนภาระที่มากขึ้นในการเลี้ยงพยุงสังคมคนชราได้ ถึงแม้ว่าอัตราส่วนนี้ก็มีข้อจำกัดคือไม่สนว่าคนชราพึ่งตัวเองได้แค่ไหนแต่อย่างน้อยมันเป็นสัญญานให้เราเริ่มคิดรับมือภาวะสีเทาในอนาคตอันใกล้ครับ
- คนแก่จะต้องทำงานเลยวัยเกษียณ – จากข้อแรก ทางเลือกที่ปรับง่าย ๆ โดยรัฐบาลคือเพิ่มอายุเกษียณ หลายคนอาจจะคิดว่า ดี…ตอนเราแก่ ๆ เราจะได้มีอะไรทำ แถมเรามั่นใจว่าเราเลี้ยงตัวเองได้ด้วยเงินที่หามาได้ตอนหนุ่ม ๆ แต่ต้องลองคิดดูให้ดีนะครับว่า ตอน 60 65 70 แล้ว ยังอยากทำงานเลี้ยงชีพจริง ๆ หรืออยากพักผ่อนทำอะไรที่ชอบมากกว่า? แถมเงินที่หามาได้ที่จริงแล้วมันก็คือกระดาษดี ๆ นี่เอง ในเศรษฐกิจโลกที่มีการผลิตเงินอย่างตามใจชอบโดยบางประเทศตอนนี้ อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้
- จำนวนคนแก่ที่มากขึ้นจะเป็นภาระต่อสังคมโดยรวม – นอกจากประกันสังคมแล้ว ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสำหรับสาธารณสุขก็อาจจะขยายจนไปกินส่วนของค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของประเทศเช่นการศึกษา การทหาร ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า “คนแก่” จะมีสุขภาพดีแค่ไหน? จะเป็นแรงงานที่สร้างผลิตผลต่อประเทศได้แค่ไหน? น่าเศร้าแต่มีงานวิจัยพบว่าคนแก่อายุราว 50-65 ปีมักมีปัญหาในความฟิตที่จำเป็นต่อการทำกิจกรรมประจำวันเช่นการเดินโดยไม่ต้องหยุดพัก แม้ว่าคนเราจะอายุยืนขึ้นแต่ก็หนีความชราไม่ได้อยู่ดี อันนี้เป็นสัจธรรมชีวิตที่มนุษย์เราคงต้องยอมรับ
- บางชาติเขาขยันมีลูกกว่า – ใครที่อ่านบล็อกนี้มานานคงจะทราบดีว่าผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เราจะทำอย่างไรที่จะปกป้องประเทศเราหรือลูกหลานเราในขณะที่มีอีกหลายประเทศที่กำลังจะเกิดปรากฏการณ์บูมของ “Youth Bulges” ที่จะทำให้เกิดจำนวนประชากร “วัยรุ่น” จำนวนมหาศาลที่พุ่งขึ้นในบางประเทศที่มีปัญหากับตะวันตกเช่น อิหร่าน ขณะนี้ยุโรปกำลังกังวลว่าจะรับมือผู้อพยพชาวมุสลิมอย่างไร คิดง่าย ๆ คือให้ย้อนไปตอนเรียนวิทย์ม.ต้น นึกถึงเรื่องการออสโมสิสผ่านเยื่อบาง ๆ ซึ่งในที่นี้ก็คือเขตแดนประเทศ ยกตัวอย่างเช่นแถบไซบีเรียที่แทบจะไม่มีคน แต่ถัดไปอีกนิดเดียวเจอประเทศจีนที่คนแทบจะล้น เป็นต้น ประเทศอื่น ๆ ก็ควรระวังว่าการไหลเข้าของผู้อพยพในอนาคตจะทำให้สังคมเกิดการแตกแยกหรือไม่อีกด้วย โดยเฉพาะหากวันหนึ่งคนกลุ่มที่อพยพมามีอิทธิพลมากพอจะเปลี่ยนนโยบายรัฐได้ วันนั้นก็อาจจะมีปัญหาขัดแย้งภายในประเทศได้อย่างรุนแรง
- คนน้อยวันนี้ คนยิ่งน้อยในวันหน้า – นี่คือวัฏจักรที่หลายประเทศไม่ต้องการ หากเรามีอัตราเกิดน้อยในวันนี้ ก็แปลว่ามีแม่น้อยลง ในอนาคตเราก็มีประชากรรุ่นหลังได้น้อยลงไปอีก เท่ากับว่าทวีปัญหาทุกข้อข้างบนเข้าไปอีก
- ใครจะมาจ่ายหนี้บรรพบุรุษ – ขณะนี้เป็นที่รู้กันว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังมีปัญหาหนี้ท่วมหัว หากประชากรลดลงเรื่อย ๆ จะเอาเงินภาษีที่ไหนไปช่วยจ่ายหนี้ที่คนรุ่นนี้ก่อไว้ ? แม้ว่าถ้าคนเกิดน้อยลงจะทำให้มีรายจ่ายสำหรับคนรุ่นใหม่น้อยลง แต่อย่าลืมว่าคนรุ่นพวกเราอายุยืนขึ้น เจ็บง่ายขึ้น ย่อมเป็นภาระทางการคลังอยู่ดี หากหนี้รัฐบาลถือโดยชาวต่างชาติ เขาคงขายทิ้งถ้าไม่เห็นแววว่าเราจะกู้ fertility rate กลับมาได้ ยิ่งทำให้ดอกเบี้ยพุ่งกระฉูดกว่าเดิม ยังดีญี่ปุ่นไม่ได้ให้ต่างชาติถือพันธบัตรมากนัก น่าจะยังรอดไปได้อีกนาน
หากถามผมว่าคนไทยมีลูกพอไหม? ผมคงตอบว่าไม่
แต่หากถามว่าควรเก็บภาษีคนโสดไหม? ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้
สำคัญที่สุดก่อนที่เราจะคิดนโยบายบางอย่างออกมาแก้ เราลองมาสำรวจดูกันก่อนว่าสาเหตุของภาวะ fertility rate ตกต่ำมันมาจากอะไรได้บ้าง อ่านต่อตอนที่สองได้ในเร็ว ๆ นี้ครับ
fertility rate
ญี่ปุ่น
ภาษีคนโสด
เศรษฐกิจ
ไทย
สมัยก่อน มีลูกกันเป็นโหล ไม่มียาคุม
บางคนได้เรียนบ้าง ไม่ได้เรียนบ้าง
ปัจจัยคือเงิน ที่จะส่ง