งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ที่พบว่ามลภาวะอากาศในประเทศจีนทำให้คนเสียชีวิตวันละถึง 4 พันคน… ท่านผู้อ่านเคยสังสัยหรือไม่ว่าทำไมประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นถึงได้มีมลภาวะที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับสูงเหลือเกิน ยกตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ. 2553 นั้นปริมาณเฉลี่ยของฝุ่นละอองที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM-2.5) ที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศปากีสถานนั้นอยู่ที่ 101 ug/m3 หรือ 101 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับเฉลี่ยในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาถึงเกือบเก้าเท่า
ซึ่งระดับปริมาณ PM-2.5 เฉลี่ยต่อปีที่แค่สูงกว่า 35 ug/m3 นั้นก็ถือว่าอยู่ในขั้นที่น่าวิตกและเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับสุขภาพและชีวิตของพลเมืองแล้ว เนื่องจากงานวิจัยทางระบาดวิทยาจำนวนมากพบว่านอกจาก PM-2.5 จะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจแล้วยังเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากความผิดปกติในระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย (cardiovascular disease) จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมอัตราตายจากโรคที่ก่อให้เกิดขึ้นโดยมลภาวะอากาศในประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศที่มีรายได้ปานกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบทะเลแปซิฟิคตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงได้สูงกว่าในประเทศที่มีรายได้สูงอย่างผิดปกติ ในปี พ.ศ. 2553 ประเทศกลุ่มนี้แบกรับภาระโรคภัยและการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จากมลภาวะอากาศกว่า 88% ของภาระโรคทั่วโลกที่โดยรวมแล้วมีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลภาวะอากาศถึงปีละ 3.7 ล้านคน
แต่ที่น่าสงสัยกว่านั้นคือทำไมดูเหมือนว่าบางประเทศเหล่านี้จะไม่มีท่าทีที่จะปรับหางเสืออย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ทราบกันอยู่ว่าประเทศกำลังพัฒนามีปัญหาด้านมลภาวะและมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมากซึ่งในที่สุดก็จะเข้ามาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ และที่น่าสงสัยไปกว่านั้นก็คือ งานวิจัยบางชิ้นพบว่าประชากรในประเทศเหล่านี้เองก็ไม่ได้มีความยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อแลกกับคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอีกด้วย…
เมื่อลองนำจำนวนเงินอันเล็กน้อยที่ประชากรเหล่านี้ยินดีที่จะแลกกับคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นไปคำนวนร่วมกับเงินเดือนและอัตราตายที่จะลดลงเมื่อสิ่งแวดล้อมดีขึ้น งานวิจัยที่ประเทศเคนยาพบว่าชีวิตของคนหนึ่งคนในประเทศเคนยาโดยเฉลี่ยแล้วมีมูลค่าเชิงสถิติเพียงแค่ไม่เกิน 3 หมื่นบาทเท่านั้น ต่ำกว่ามูลค่าชีวิตเชิงสถิติของคนชาวอเมริกันประมาณ 1 หมื่นเท่า
ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าตัวเลขมูลค่าชีวิตของชาวเคนยานั้นผิดจากความจริงแค่ไหน แต่มันควรทำให้เราประชากรในประเทศกำลังพัฒนาครุ่นคิดและถกเถียงกันว่า 1. ทำไมการพัฒนาเศรษฐกิจถึงต้องมากับมลภาวะปริมาณมากอย่างที่พบเห็นกัน ถ้าสุขภาพของแรงงานมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำไมไม่พยายามควบคุมมลภาวะ 2. จริงหรือไม่ที่หลายคนไม่ยินดีจ่ายเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า หากจริง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และจะทำอย่างไรต่อไปหากแนวคิดของคนส่วนมากยังเป็นเช่นนี้ 3. ทำไมบางประเทศมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เคร่งคัดมากแต่กลับไม่มีผลใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม
ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายคำถามที่ตามมา แต่ภายในกรอบของบทความนี้ ผู้เขียนจะขอเสนอแนวคิดและสมมุติฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นที่ 2 เท่านั้น ซึ่งก็คือ “ทำไมคนเราอาจไม่ต้องการเจียดเงินออกมาเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า”
“คุณจะยอมจ่ายเงินจำนวนเท่าไรเพื่อให้คุณภาพอากาศแถวบ้านคุณดีขึ้น”
นี่เป็นคำถามง่ายๆ ที่แม้กระทั่งคนที่รักอากาศบริสุทธิ์ยังต้องใช้เวลาในการหาคำตอบที่ถูกต้อง
การที่ประชากรบางกลุ่มจากประเทศที่แบกภาระโรคจากมลภาวะสูงไม่ค่อยยินดีจ่ายเงินเพื่อพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้นถือเป็นปริศนาอันดับต้นๆ ในโลกของเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ในอดีตนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มจากโลกตะวันตกมองว่าประชากรเหล่านี้ประพฤติตนแบบไร้เหตุผล (irrational) หรือไม่ก็มองการใกล้แบบผิดปกติเนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เห็นว่ามันคุ้มค่ากว่าเห็นๆ หากประชากรเหล่านี้ยอมเจียดเงินออกมาจำนวนหนึ่งเพื่อทำให้ตนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพและรับรายได้ในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น อีกทั้งสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นยังสามารถทำให้การทำเกษตรกรรมมีผลผลิตดีและยั่งยืนขึ้นในบางกรณีอีกด้วย
แต่ทว่าหลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนารุ่นใหม่ๆ ได้เข้าไปคลุกคลีกับประชากรเหล่านั้นและศึกษาการใช้ชีวิตของพวกเขา พบว่าประชากรในประเทศยากไร้และประเทศกำลังพัฒนานั้นไม่ได้ไร้เหตุผลเสมอไป ในหลายกรณีนั้นการตัดสินใจของพวกเขาถือเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้วหากคำนึงถึงทรัพยากรและทางเลือกที่เขามี
ลองจินตนาการหมู่บ้านจำลองเล็กๆ ที่ไม่มีส่วนกลาง ไม่มีรัฐบาล ทุกบ้านประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะอากาศสูงระบายออกจากหลังคา และมีแค่บ้านสิบหลังตั้งอยู่ติดๆ กัน วันดีคืนดีก็มีเจ้าของบ้านหัวใสท่านหนึ่งประกาศเชื้อเชิญให้เพื่อนบ้านที่ชื่นชอบอากาศบริสุทธิ์ลงทุนเพื่อสร้าง “โดมฟอกอากาศมหัศจรรย์” ที่เป็นโดมขนาดใหญ่ มาพร้อมกับพืชพรรณและเครื่องฟอกอากาศขนาดยักษ์ที่สามารถทำให้คุณภาพอากาศทั้งหมู่บ้านนี้ดีขึ้นสองเท่าตัว (เกร็ดความรู้: ป่า urban forest ในเมืองชิคาโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถช่วยดูดซึมมลภาวะอากาศออกไปได้ปีละถึง 888 ตันเลยทีเดียว)
เขาหันมาถามคุณว่าคุณสนใจจะลงเงินจำนวนเท่าไร
หากลองนึกดูดีๆ การที่คุณจะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลให้ได้ว่าจะยอมจ่ายเงินจำนวนเท่าไรในสถานการณ์จำลองอันเรียบง่ายนี้นั้นคุณก็ยังจะต้องนึกถึงอะไรมากมาย
ปัจจัยที่หนึ่งคือต้องคิดให้ได้ว่าอะไรคือประโยชน์ต่อตัวคุณเองที่จะมาจากคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ในจุดนี้หากคุณเองไม่มีความรู้หรือไม่มีผู้รอบรู้ในหมู่บ้านที่จะคอยให้ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับภัยอันตรายของมลภาวะอากาศ คุณจะไม่คิดว่าคุณภาพอากาศที่ดีนั้นเป็นสินค้าสำคัญต่อชีวิตคุณ คุณอาจจะยอมจ่ายเงินจำนวนเล็กน้อยเพียงเพราะว่าพืชพรรณในโดมมีความสวยงาม ดูแล้วสบายตา แต่จำนวนเงินนี้จะน้อยเกินไปเพราะคุณมองข้ามผลลัพธ์บวกต่อสุขภาพของคุณ
ปัจจัยที่สองคือต้องคำนวนคุณค่าของคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคุณค่าของสินค้าอื่น แม้ว่าคุณจะทราบดีถึงภัยอันตรายที่มากับมลภาวะอากาศ คุณอาจได้รับประโยชน์และความพึงพอใจจากการนำเงินจำนวนนั้นไปซื้อสินค้าอื่นๆ มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่คุณทำงานหนักมาทั้งวัน ทั้งๆ ที่คุณก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ควรดื่มเบียร์เพราะเบียร์จะทำให้น้ำหนักของคุณเพิ่มและอาจนำปัญหาอื่นๆ มาให้กับชีวิตคุณ คุณก็ยังเลือกที่จะซื้อเบียร์ขวดนั้นแทนที่จะเอาเงินจำนวนนั้นไปลงทุนกับโดมฟอกอากาศเพื่อให้สุขภาพคุณดีขึ้น
ปัจจัยที่สามคือคุณอาจได้มันมาฟรีๆ แม้ว่าคุณจะเห็นว่าคุณภาพอากาศเป็นสินค้าที่จำเป็นกว่าเบียร์หรือสินค้าอื่นๆ คุณอาจเลือกที่จะไม่ลงขันเพราะคิดว่าหากเพื่อนบ้านคุณหลายท่านรักอากาศบริสุทธิ์มากๆ พวกเขาอาจยินดีลงเงินจำนวนมากจนโดมฟอกอากาศจะถูกสร้างขึ้นมาโดยที่คุณไม่ต้องออกเงินเลยสักนิด ในกรณีนี้มันมีโอกาสที่ยังไงคุณก็จะได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ขึ้นไม่ว่าคุณจะลงเงินหรือไม่ก็ตามเพราะว่าบ้านพวกคุณตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันนั่นเอง เพื่อนบ้านคุณห้ามคุณหายใจไม่ได้ เมื่อคิดเช่นนี้ได้คุณจึงอาจกลับไปที่ปัจจัยที่สองและออกไปซื้อเบียร์มาดื่มแทน
ปัจจัยที่สี่คือโอกาสล้มเหลวและอุปสรรคในการเพิ่มคุณภาพอากาศ มันอาจเป็นไปได้ที่โดมฟอกอากาศที่ใฝ่ฝันนี้จะไม่มีประสิทธิภาพพอ หรือแม้ว่ามันมีประสิทธิภาพพอ การบริหารจัดการ การบำรุงรักษาใน “หมู่บ้านกำลังพัฒนา” แห่งนี้อาจไม่ได้มาตรฐาน อาจจะทำให้เงินของคุณเสียเปล่าก็เป็นได้
ปัจจัยที่ห้าคือต้องคิดว่าคุณลงทุนเพื่อตัวเองคนเดียวดีกว่าไหม คุณเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพของอากาศ แต่คุณอาจคิดว่าทำไมคุณจะต้องจ่ายเงินเพื่อสุขภาพของคนแปลกหน้า มิหนำซ้ำคงไม่มีใครที่ไหนยอมเสียสละลงเงินหรอกเพราะอาจได้เครื่องนี้มาฟรีๆ อย่างที่คิดไว้ในปัจจัยที่สาม หรือไม่คุณอาจคิดว่าหมู่บ้านคุณไร้ประสิทธิภาพในการบริหารปกครอง ไม่น่าจะสามารถเนรมิตโดมฟอกอากาศนี้ขึ้นมาได้จริงๆ คุณจึงออกไปซื้อเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กที่กรองฝุ่นได้มาติดตั้งไว้ที่บ้านคุณเองจำนวนห้าเครื่องและรถยนต์คันใหม่อีกหนึ่งคัน เวลาจะออกไปข้างนอกก็ขับรถเอาแทนที่จะต้องเดินสูดควันพิษ
ปัจจัยที่หกคือแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตและความมั่นคงของชีวิตคุณ การลงทุนกับโดมฟอกอากาศเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นหรือแม้กระทั่งการลงทุนในเครื่องปรับอากาศและรถยนต์เพื่อปกป้องชีวิตคุณเองในปัจจัยที่ห้าเองก็ตามจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อคุณคิดว่าชีวิตในอนาคตและโอกาสที่คุณจะได้บริโภคในวันรุ่งขึ้นนั้นมันจะมาถึงจริงๆ (นั่นก็คือคุณจะไม่เสียชีวิตด้วยเหตุอื่นๆ หรือจะไม่เสี่ยงตกงานหรือสูญเสียทรัพย์สินในวันรุ่งขึ้น) หากคุณดำเนินชีวิตแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง เป็นคนที่ปล่อยวางในทุกสิ่ง เป็นคนที่ไม่มีทางเลือกมากนักเพราะไม่มีประกันสังคม ไม่มีประกันสุขภาพ หรือคุณมีความคิดว่ามันมีโอกาสสูงที่หมู่บ้านคุณจะโดนสึนามิทำลายได้ทุกๆ เช้า คุณจะไม่เห็นค่าของคุณภาพอากาศที่ดีเท่ากับเพื่อนบ้านคุณที่เชื่อว่าชีวิตตนไม่มีความเสี่ยงอื่นๆ มากมายนัก ปัจจัยนี้คงมีความจริงอยู่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบแอฟริกาใต้สะฮาราที่ประชากรมีอายุคาดเฉลี่ยต่ำกว่า 55 ปี เมื่อโอกาสมีชีวิตอยู่ในวันข้างหน้ามันน้อยมากด้วยความเสี่ยงประเภทอื่นๆ คนเหล่านี้อาจคิดไม่ผิดที่จะไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้
ทั้งหกปัจจัยดังกล่าวนั้นสามารถทำให้ประชากรในชุมชนที่มีขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้านจำลองยินดีจ่ายเงินจำนวนที่น้อยมากๆ เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป
ตัวอย่างในชีวิตจริงนั้นไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล ขอเพียงท่านผู้อ่านเดินออกไปหน้าปากซอยในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศไทย ลองสังเกตดูว่าผู้คนใช้ทรัพย์สินส่วนตัวไปกับอะไร สังเกตดูจำนวนจานดาวเทียมทีวีและเครื่องปรับอากาศตามบ้าน มองดูห้องแถวที่กำแพงดำขึ้นทุกปีเนื่องจากมลภาวะอากาศ ลองมองตามผู้คนว่าพวกเขาเดินทางด้วยอะไร ขี่มอเตอร์ไซค์หรือขับรถ กำลังไปที่ไหน มองปราดเดียวก็อาจทราบได้จากการจราจรที่ติดขัดเป็นเพราะว่าคนจำนวนมากกำลังออกันเข้าไปในห้างดัง ในห้างนั้นลองสังเกตดูว่าผู้คนกำลังใช้เงินเพื่อแลกกับอะไร มองไปที่หัวมุมถนนข้างๆ ที่ทำงานคุณอาจมีแม่ค้าไก่ย่างเจ้าประจำกำลังเผาถ่านย่างไก่อยู่ริมถนน เขาก่อควันพิษไปสูดควันพิษไป แต่ก็ทำอย่างนี้มาเป็นปีๆ แล้ว ลองนึกดูว่าพวกเขามีทางเลือกอื่นหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่มาห้ามหรือไม่ ลองถามเพื่อนบ้านว่าที่บ้านใช้เครื่องกรองน้ำแบบไหน ดื่มน้ำประปาเพราะรัฐบาลกรองน้ำได้ดี ดื่มน้ำขวดตลอดหรือทำรีเวอร์สออสโมซิส ลองนับจำนวนรถยนต์ที่วิ่งผ่านเทียบกับจำนวนรถประจำทางที่วิ่งอยู่ (ถ้าเมืองคุณมีรถประจำทาง…) ลองนับจำนวนต้นไม้ใหญ่ในเมืองที่คุณเดินผ่าน ลองพูดคุยเพื่อสังเกตชีวิตคน ความชอบ ความเชื่อ ทัศนคติต่อรัฐบาล แนวคิดเกี่ยวกับชีวิต ศาสนาและสุขภาพของเขา
คุณจะเห็นปัจจัยทั้งหกนี้แฝงตัวอยู่ในสังคมเราอย่างไม่ยากเย็นเท่าไรนัก
ที่จริงแล้ว แม้ว่าระดับมลภาวะอากาศในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2557 ที่มีฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐาน 23 จังหวัดจากทั้งหมด 29 จังหวัดที่มีสถานีวัดจะถือว่ายังไม่ได้ร้ายแรงมากเท่าในบางเมืองในประเทศอินเดียหรือประเทศปากีสถาน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าอยู่ในระดับที่ควรพอใจ เหตุคือเราไม่ได้มีเครื่องวัดมลภาวะอากาศจำนวนมากที่จะครอบคลุมพื้นที่แออัดและวัดได้ถี่ได้เท่ากับในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งก็ไม่ใช่ทุกสถานีที่จะสามารถวัดปริมาณของฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ อย่าง PM-2.5 ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณจำเป็นต้องใช้ชีวิตบนถนนเป็นเวลานาน คุณจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมาก มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าคนขับตุ๊กตุ๊กในกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยแล้วรับปริมาณ PM-2.5 เข้าไปโดยเฉลี่ยเดือนหนึ่งมากถึง 198ug/m3 ในเดือนมกราคมของปี พ.ศ. 2552 ซึ่งการเผาไหม้ ไม่ว่าจะมาจากโรงงานรอบๆ กรุงเทพฯ จะมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์เกือบเก้าล้านคันในกรุงเทพฯ ที่จดทะเบียนไว้กับกรมขนส่งทางบก หรือจะมาจากร้านปิ้งย่างริมทางนั้นล้วนแต่จะทำให้สุขภาพคนกรุงเทพฯ แย่ลง (อ่านบทความเกี่ยวกับภัยอันตรายจากนโยบายรถคันแรกได้ที่นี่)
ต้องไม่ลืมว่าผลกระทบจากมลภาวะอากาศนั้นเป็นแค่เสี้ยวเดียวของผลกระทบต่อมนุษย์ที่มาจากการปล่อยให้ “เส้นผมบังภูเขา” ระหว่างที่ตนก้มหน้าก้มตาพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ยอมเงยหน้าขึ้นมาดูสิ่งแวดล้อมที่เป็นทรัพยากรสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ยังมีอีกหลายมิติมากที่ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมักถูกมองข้าม เช่น การสูญเสียของป่าไม้ ซึ่งทุกวันนี้ป่าไม้ปฐมภูมิ (primary forest) ในประเทศไทยนั้นถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว แหล่งน้ำสะอาดที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานก็เหลือเพียง 5 แม่น้ำจากทั้งหมด 59 แม่น้ำทั้งประเทศ
หากความเป็นจริงคือคนส่วนมากได้ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลแล้วว่าได้รับประโยชน์จากการบริโภคสินค้าอื่นมากกว่า เช่น การเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือหรือไปซื้อทีวี เราคงทำอะไรในระยะสั้นได้ลำบากเพราะเขาเองก็ไม่ได้ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าจริงๆ การจะไปเปลี่ยนแนวคิดและวิธีบริโภคของคนเหล่านี้ก็คงจะต้องทำด้วยการบังคับหรือเชื้อเชิญด้วยเหตุที่ว่าการบริโภคของพวกเขาเป็นภาระกับส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นภาระทางโรคภัยไข้เจ็บของตนเอง ต่อผู้อื่น หรือภาระทางผลิตผลเนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่แย่ทำให้แรงงานของชาติโดยรวมมีประสิทธิภาพน้อยลง ซึ่งการจะเปลี่ยนนิสัยของผู้บริโภคนั้นอาจใช้เวลานานและเป็นการรุกรานสิทธิของผู้บริโภค
แต่ที่จะน่าเสียดายที่สุดคือในกรณีที่ประชากรส่วนใหญ่จริงๆ แล้วก็ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดีแต่ด้วยปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือกลับทำให้พวกเขาไม่สามารถมีสิ่งแวดล้อมที่ดีได้และกลายเป็นว่าต้องลงทุนกับปัจจัยที่ 5 (เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ หน้ากากกันพิษ และรถยนต์) เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองไปในตัว
ในจุดนี้ผู้เขียนเองคิดว่าน่าจะตรงกับความเป็นจริงในเมืองไทยไม่น้อยเลยทีเดียว ลองดูว่าคนกรุงชอบไปที่ไหน ชอบอยู่อย่างไร ชอบเดินทางอย่างไร จะทราบได้ง่ายว่าคนจำนวนมากต้องการอากาศที่ไม่ร้อนเกินไป ไม่มีฝุ่นเข้าตา และไม่มีมลภาวะอากาศที่หนาขนาดที่รูจมูกคุณรู้สึกได้เหมือนเวลายืนบนถนน จริงอยู่ว่าคนส่วนมากไม่ได้ซื้อรถยนต์เพียงเพราะว่าไม่ชอบฝุ่น แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณอาจจะเลือกขับรถไปที่ๆ จริงๆ แล้วเดินไปได้หากฝุ่นไม่มากขนาดที่เป็นอยู่นี้
ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่สุดในกรุงเทพฯ เห็นจะเป็นการที่ “สิ่งแวดล้อมคุณภาพ” กลับกลายเป็นสินค้าที่แลกเปลี่ยนซื้อขายโดยภาคเอกชน ไม่ใช่ภาครัฐ แทนที่ภาครัฐจะสามารถควบคุมระดับมลภาวะอากาศได้เหมือนในหลายๆ ประเทศที่เจริญแล้ว กลับกลายเป็นว่าสังคมกรุงเทพฯ นั้นต้องพึ่งพิงห้างสรรพสินค้า รถยนต์ปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นผลผลิตจากภาคเอกชน ที่ทำการผลิต “อากาศเทียม/สิ่งแวดล้อมเทียม” ให้
ยิ่งมีเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก ยิ่งมีรถยนต์จำนวนมากในที่จำกัด อากาศก็ยิ่งร้อน ยิ่งมีการเผาผลานเพื่อผลิตไฟฟ้า ยิ่งฟุ้งไปด้วยมลภาวะ ยิ่งนิยมเข้าห้างจนแทบจะมีห้างใหม่ผุดเกิดขึ้นทุกๆ สถานีรถไฟฟ้า การจราจรยิ่งติดขัด ขยะยิ่งเพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ยิ่งต้องแบกรับกรรมมากขึ้นเท่านั้น เพราะสถานการณ์มันเป็นเช่นนี้ อากาศอย่างนี้ ฝุ่นควันอย่างนี้ คนกรุงพอเริ่มมีทรัพย์สินก็ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องเริ่มลงทุนกับการปกป้องสุขภาพและดูแลความสะดวกของตนเองอย่างที่ได้กล่าวไว้ในปัจจัยที่ 5 ใครมีก็ดีไป ใครไม่มีก็ทนไป กลายเป็นสังคมตัวใครตัวมันไปโดยปริยาย นับเป็นวงจรอุบาทวงใหญ่อีกวงหนึ่งในสังคมไทยสมัยใหม่
เราต้องการสังคมในฝันที่มีแต่ห้างสรรพสินค้าทุกๆ สองสามซอยที่ทุกคนใส่หมวกกันฝุ่นกันแสงแดดราวกับอยู่บนดาวดวงอื่น หรือเราต้องสังคมที่ผสมผสานความเจริญทางวัตถุเข้ากับธรรมชาติได้อย่างพอดี ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะก้าวข้ามอุปสรรค์ที่มาจากปัจจัยทั้ง 6 ปัจจัยข้างต้นนี้ร่วมกันได้อย่างไร
จนถึงทุกวันนี้ปริศนาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนานั้นก็ยังคงเป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครแก้ไขได้เพราะมันมีความละเอียดอ่อนและกลไกทางสังคมแฝงอยู่จำนวนมาก แต่ว่าจุดเริ่มต้นในการแก้ปริศนานี้นั้นไม่ได้อยู่ไกลเลย มันเริ่มจากตัวเราเองก่อนว่าเรามองว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญกับเราแค่ไหน จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราและเพื่อนร่วมสังคมว่าจะเริ่มแก้ปัญหานี้จากจุดไหนใน 6 ปัจจัยดังกล่าวและจะแก้ด้วยวิธีใด
pm 2.5 ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ มลภาวะ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์
Recent Comments