ปัจจัยสำคัญที่เป็นเสี้ยนหนามของการพัฒนานโยบายพลังงานในหลายประเทศ คือความไม่เข้าใจข้อมูลและความลึกลับซับซ้อนของกลไกในตลาดพลังงาน
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราควร “ช่างมัน” เพราะว่านโยบายพลังงานกระทบทุกคนในสังคม ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่รุ่นเราก็รุ่นลูกหลานเรา
ผมหวังว่าบทความซีรี่ส์ “ทำไมต้องตื่นตัวเรื่องพลังงาน” ที่จะเสนอข้อคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พลังงานแบบสั้นๆ จะทำให้หลายคนหันมาสนใจและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานอย่างมีทิศทางและมีข้อมูลกันมากขึ้นครับ
ในตอนที่ 1 เราสำรวจจุดยืนของพลังงานไทยและผลดีผลเสียของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ไปแล้ว
สำหรับตอนที่ 2 นี้เราจะไปดูกันว่า “Energy Mix” (สัดส่วนการใช้พลังงาน) ของประเทศไทยเป็นอย่างไร และเมื่อเทียบกับแนวโน้มความต้องการทางพลังงานแล้วอนาคตของพลังงานไทยควรจะมีหน้าตาแบบไหนกันครับ
Energy Mix เป็นคอนเซ็ปต์สำคัญในการวิเคราะห์ว่าการใช้พลังงานในแต่ละประเทศท้ายสุดแล้วแบ่งว่ามีต้นตออย่างไร
จากกราฟ จะเห็นได้ว่า ล่าสุดประเทศไทยยังคงพึ่งพาพลังงานสิ้นเปลือง (Nonrenewable energy) แทบจะทั้งหมดทั้งสิ้น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหินนำเข้ารวมกันแล้วเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของการใช้งานทั้งหมด โดยที่พลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) อื่นๆ บวกกับไฟฟ้านำเข้า รวมกันแล้วเป็นแค่ 2% ของการใช้พลังงานในประเทศไทย
คำถามหนึ่งที่หลายคนสงสัยคือตัวเลข 2% นี่มันมากหรือน้อย สำหรับประเทศอย่างเรา?
หากลองไปสำรวจดูทั่วโลก (ตารางด้านบน) ก็จะพบว่าแต่ละประเทศนั้นก็จะมี Energy Mix ที่แตกต่างกันออกไปตามทรัพยากรที่มีอยู่แต่เดิมหรือตามนโยบายที่รัฐบาลพยายามผลักดัน
แม้ว่าประเทศฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ มีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนถึง 10% แต่ถึงแม้จะพอๆ กัน ฝรั่งเศสดำเนินนโยบายพลังงานนิวเคลียร์มากว่า 50 ปี แล้ว เขาจึงพึ่งพาพลังงานจากถ่าน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันน้อยกว่าชาติอื่นมาก กลับกันประเทศจีนพึ่งพาถ่านหินอย่างเดียวก็เกือบ 70% ของ Energy Mix และถึงกว่า 80% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
ด้วยความหลากหลายของทุนทรัพยากรที่มีแต่เดิม ความต้องการของมวลชน และระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี เส้นทางการปรับ Energy Mix ของแต่ละประเทศจึงไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องทำตามแม่แบบที่ “ดีที่สุด”เหมือนกันหมดเสมอไป
จริงอยู่ที่เราควรตื่นตัวกับการที่ประเทศสวีเดนประกาศว่าเขาจะทำให้พลังงานหมุนเวียนเป็น 100% ของ Energy Mix ให้ได้ภายในปี 2040 แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะต้องทำให้สำเร็จภายในเวลาเดียวกัน
ต้องไม่ลืมว่าสวีเดนมีประชากรที่จะใช้พลังงานเขาน้อยกว่าประชากรในพื้นที่กทม.และปริมณฑลอีกนะครับ และประเทศจีนที่มักถูกตราหน้าว่าไม่สนใจพลังงานหมุนเวียน สามารถผลิตพลังงานจากน้ำได้มากกว่าสวีเดนถึงราว 10 เท่า มันแค่ยังไม่พอใช้สำหรับจีนเท่านั้นเอง
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการวางแผนปรับเปลี่ยนสัดส่วน Energy Mix คือระดับและแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานในแต่ละประเทศ
จากกราฟด้านบน จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงาน (สีเขียว) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่การผลิต (สีน้ำเงิน) ค่อยๆ ลดลง และต้องพึ่งพาการนำเข้า (สีแดง) ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้พลังงาน
อีกหนึ่งข้อเท็จจริงก็คือ ความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้นนี้มาจากการที่คนไทยหนึ่งคนใช้พลังงานมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเรื่อยๆ ด้วย ไม่ใช่แค่เป็นเพราะเรามีประชากรมากขึ้นหรืออย่างไร
ซึ่งได้เคยมีการคาดคะเนไว้โดย APERC ว่าความต้องการพลังงานขั้นสุดท้ายมีโอกาสขยายตัวถึง 2 เท่าในปี 2577 จากระดับเมื่อปี 2553 เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวในประเทศไทยยังมีโอกาสโตได้อีกมาก
จากมุมมองเศรษฐศาสตร์แล้ว การเสาะหาเส้นทางที่ดีที่สุดในการปรับ Energy Mix จะต้องคำนึงถึง “ความสมดุล” ระหว่างเป้าหมายสำคัญจากวันนี้เป็นต้นไป
ซึ่งอย่างน้อยๆ มี 3 เป้าหมายคือ 1) ความมั่นคงทางพลังงาน 2) ราคาที่เข้าถึงได้ และ 3) สิ่งแวดล้อมกับสุขภาพของประชาชน
ผู้เขียนมองว่ายังไงประเทศไทยก็หนีไม่พ้นการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนใน Energy Mix ด้วย 3 เหตุผลหลักๆ
เหตุผลแรก คือ สุดท้ายแล้ว ประเทศที่มองการณ์ไกลจะไม่ยอมให้ภัยต่อธรรมชาติและภัยต่อสุขภาพที่เป็นผลข้างเคียงของการพึ่งพิง “พลังงานยุคเก่า” เข้ามารั้งความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศ จริงอยู่ที่ราคาและ capacity เป็นจุดขายของพลังงานยุคเก่าที่สามารถให้ความมั่นคงทางพลังงานและราคาที่เป็นธรรมกับเราได้ในในระยะสั้น แต่ในอนาคต การแข่งขันทางเศรษฐกิจจะวัดกันที่คุณภาพของทุนมนุษย์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จะแข่งกันด้วยสมองและความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งกว่าเดิม หากสุขภาพจิตและกายของแรงงานเราไม่ดี เด็กๆ รุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางมลพิษที่ทำให้การเจริญเติบโตและการเรียนรู้ไม่เต็ม 100 หรือสิ่งแวดล้อมเราแย่ถึงขึ้นเราสูญเสียแรงงานคุณภาพไปจนเกิดภาวะ brain drain เราจะเสียเปรียบชาติอื่นเขา
เหตุผลที่สอง คือ การมาของความไม่สงบทางการเมืองในสังคมที่ผู้คนเริ่มไม่ทน ผู้เขียนมองว่านอกจาก scenario ที่ผู้บริโภคจะไม่ทนกับภาวะที่พลังงานสิ้นเปลืองเริ่มมีราคาแพงขึ้นเพราะมีเหลือน้อยลงแล้ว ยิ่งคนเรามีฐานะขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งมีความอดกลั้นกับอะไรที่เคยทนได้น้อยลงด้วย ตัวอย่างชั้นเยี่ยมคือกรณีที่พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนที่ต้องกลับลำมาลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพิ่มความชอบธรรมทางการเมืองและเพื่อที่จะลดโอกาสที่ความมั่นคงในประเทศจะถูกสั่นคลอนเนื่องจากประชาชนเขาทนอยู่กับมลพิษไม่ไหว
เหตุผลที่สาม (สำคัญที่สุด) คือ เทคโนโลยีมักไม่ก้าวหน้าแบบเป็นเส้นตรง เทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ตอนนี้ยังดูเหมือนว่าไม่มี capacity พอที่จะขับเคลื่อนประเทศใหญ่ๆ ได้ หรือยังดูมีต้นทุนสูง มีโอกาสก้าวกระโดดขึ้นมาเปลี่ยนแนวทางการใช้พลังงานในวันข้างหน้าได้อย่างที่เราคิดไม่ถึง การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่เคยดูเหมือนเป็นของเล่นในการ์ตูนโดราเอม่อน ตอนนี้นอกจากจะมีต้นทุนลดลงกว่า 80% จากปี 2551 แล้วยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเริ่มมีการคิดค้นวิธีสร้างแบตเตอรี่ขึ้นมาเพื่อเก็บพลังงานเหล่านี้มาใช้ตอนกลางคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ อีกด้วย โดยทางธนาคารดอยช์แบงก์คาดว่าท้ายปีนี้ราคาไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจากแสงอาทิตย์จะเท่ากับหรือต่ำกว่าราคาไฟฟ้าจากสายส่งแบบเดิมๆ ในกว่า 80% ของตลาดทั่วโลก
ดังนั้นไม่ว่าจะมองมุมไหน วันหนึ่งประเทศไทยก็จะต้องค่อยๆ เปลี่ยน Energy Mix ไปสู่การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
โจทย์ที่ท้าทายกว่าคือ “อัตรา” และ “ความเร็ว” ที่ประเทศไทยจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน
คำตอบนี้จะขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ (ราคาของพลังงานหมุนเวียนเทียบกับพลังงานสิ้นเปลือง) ปัจจัยทางการเมือง (ความต้องการของมวลชนและพฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์พลังงานโลกเก่าที่อาจทำการชะลอนโยบายพลังงานสะอาด) และปัจจัยทางวิทยาศาสตร์ (อัตราความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี) ดังนั้นการตัดสินใจปรับเปลี่ยน Energy Mix ในระดับประเทศจึงไม่ใช่สามารถตัดสินใจจากมุมมองเดียวได้ และควรเป็นการตัดสินใจของพวกเราทุกคนครับ
energy mix ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ น้ำมัน พลังงาน พลังงานหมุนเวียน เศรษฐศาสตร์
Recent Comments