การศึกษากับสาธารณสุขนั้นเป็นสองเซ็กเตอร์ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการบริหารประเทศ การพัฒนาการเรียนรู้ ทักษะและสุขภาพของประชาชนนั้นนอกจากจะเป็นการทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้วยังสามารถส่งผลดีทางอ้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย แน่นอนว่าหลายประเทศก็เห็นถึงโอกาสในการลงทุนในสองเซ็กเตอร์นี้เพื่อผลตอบแทนในอนาคต ตลาดการศึกษาและสุขภาพในหลายประเทศจึงมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯอเมริกานั้นมีค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพและสาธารณสุขสูงถึง 17.7% ของ GDP ในปี 2011 (แค่เซ็กเตอร์เดียวใหญ่กว่า GDP ไทยทั้งประเทศประมาณ 7.6 เท่า!) แต่ที่น่าสนใจกว่าคือทำไมวิธีบริหารสองเซ็กเตอร์นี้ในแต่ละประเทศนั้นถึงแตกต่างกันเหลือเกิน และทำไมผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างกันมาก บทความนี้ไม่ได้จะนำเสนอสูตรลับในการพัฒนาสองเซ็กเตอร์นี้แต่จะชี้ให้เห็นถึงปัญหา 4 ปัญหาที่ทำให้การพัฒนาสองเซ็กเตอร์สำคัญนี้เป็นงานที่ยากมากๆ
ปัญหาทั้งหลายในสองเซ็กเตอร์นี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการวัดคุณภาพโรงพยาบาลและโรงเรียน ปัญหาราคารักษาโรคและค่าเล่าเรียนแพง หรือปัญหาครู/พยาบาล/หมอขาดแคลน นั้นล้วนมีที่มาจากความไม่แน่นอนทั้งสิ้น
ทั้งการศึกษาและสาธารณสุขนั้นเต็มไปด้วยความกำกวมและความไม่แน่นอนในเกือบจะทุกๆ วินาทีที่สองระบบนี้เคลื่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น เวลาพ่อแม่ตัดสินใจจะส่งลูกไปเรียนอนุบาล พวกเขาจะต้องคิดว่าอนุบาลนี้คุ้มเงินและเวลาอยู่กับลูกที่จะต้องเสียไปแค่ไหน (หลายคนอาจจะขำเพราะว่าสมัยนี้การไม่ไปโรงเรียนตั้งแต่เด็กนั้นมีความเสี่ยงสูง แต่ในสังคมเกษตรกรรมในสมัยก่อนนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องคิดหนักว่าจะยอมจ่ายเงินมหาศาลเพื่อให้ลูกออกจากฟาร์มไร่ไปขังอยู่ในตึกเรียนเป็นปีๆ และจะต้องจ้างแรงงานนอกตระกูลมาทำไร่แทนนั้นมันคุ้มจริงๆ หรือเปล่า) สมมุติว่าตัดสินใจได้แล้วว่าจะส่งลูกไปโรงเรียน พ่อแม่เหล่านี้ก็ยังจะต้องมานั่งคิดดูว่าโรงเรียนไหนดี โรงเรียนไหนคุ้มเงิน โรงเรียนไหนแพงแต่ไม่ดี ลูกคนโน้นคนนี้เขาจบออกมาแล้วเป็นยังไง ranking เขาบอกว่าอะไร เมื่อเลือกโรงเรียนในฝันได้แล้วก็ต้องมาคิดดูอีกว่าลูกเราจะเข้าได้ไหม จะต้องส่งลูกไปกวดวิชาอีกไหม (ย้อนกลับไปคิดอีกว่าโรงเรียนกวดวิชาที่ไหนดี) หรือจะคุ้มเสียเงินและศักดิ์ศรีไปจ้างบริษัทช่วยสร้างโพรไฟล์เขียน essay ให้ไหม และสมมุติว่าเข้าได้แล้วก็ตามถึงกระนั้นก็ยังไม่ชัวร์อยู่ดีว่าแม้ลูกจะเข้าไปเรียนในโรงเรียนดีๆ ได้แล้วลูกเราจะจบออกมาเก่งจริงๆ เหมือนลูกคนอื่นๆ หรือจะกลายไปเป็นเด็กรั้งท้ายในโรงเรียนท็อป เพราะบางทีโรงเรียนมีชื่อเสียงและ ranking ดีเพราะว่า “เลือกเด็ก” มาแล้ว ยังไง้ยังไงพวกเขาจบออกไปก็จะเก่งได้ในระดับนึงแม้การเรียนการสอนในโรงเรียนที่ “ดี” นั้นจะไม่ได้แตกต่างไปจากโรงเรียนข้างๆ มากมายนัก หากเราเลือกโรงเรียนที่ไม่เหมาะกับลูก แม้โรงเรียนจะมีชื่อเสียงดี อาจจะทำให้ลูกไม่มีความสุข เครียด และไม่สามารถไปถึงระดับความสำเร็จที่จริงๆ แล้วมีความสามารถพอได้
ในเรื่องของสุขภาพก็คล้ายกัน คนทั่วไปไม่มีทางรู้ได้ 100% โดยไม่ไปหาหมอว่าขณะนี้ร่างกายตัวเองกำลังป่วยด้วยโรคอะไรบ้างและจะมีหนทางอะไรเพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้น เราอาจจะเดาได้บางครั้งว่าเป็นโรคหวัดธรรมดาเพราะว่าเคยเป็นมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตามมันก็ยังมีโอกาสที่ว่าอาการที่แสดงออกมาคล้ายหวัดนั้นมันเป็นอาการของโรคที่ร้ายแรงกว่าก็เป็นได้ หรือแย่ยิ่งกว่าคือไม่มีอาการอะไรให้เอะใจเลยจนกระทั่งวันนึงล้มป่วยลง แม้จะตัดสินใจได้แล้วว่าจะต้องไปหาหมอก็ยังคงมีความไม่แน่นอนอีกที่หมออาจจะวินิจฉัยไม่พบหรือผิดโรค (โอกาสอาจจะต่ำถ้าไปหาหมอเก่ง) หรือแม้จะวินิจฉัยถูกโรคแล้วก็ยังมีโอกาสที่กระบวนการรักษาอาจจะไม่สำเร็จได้ในกรณีที่โรคร้ายแรงหรือรักษา/ผ่าตัดยากมาก และแม้จะรักษาได้สำเร็จก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะมีชีวิตรอดหลังผ่าตัดเป็นเวลาเท่ากับที่เขาบอกกันหรือไม่
ยังดีที่สมัยนี้เหล่าสถานศึกษาและโรงพยาบาลต่างก็เห็นว่าความไม่แน่นอนนั้นเป็นปัญหาเอามากๆ ต่างก็ได้คิดค้นวิธีวัดผลต่างๆ นานานอกเหนือจากการเล่าแบบปากต่อปากเพื่อที่จะมัดใจลูกค้า ซึ่งก็คือพ่อแม่นักเรียนและผู้ป่วย/หรือกลุ่มบริษัทประกันสุขภาพ วิธีเหล่านี้ในการศึกษาทุกคนก็คงคุ้นเคยกัน เช่น ranking คะแนนสอบโดยเฉลี่ย จบแล้วไปต่อไหนบ้าง จบแล้วมีรายได้ประมาณเท่าไหร่ มีนักเรียนกี่คนต่อครู ครูจบปริญญาอะไรบ้าง ส่วนในโลกของสาธารณสุขก็คล้ายกัน วิธีต่างๆ ก็มีเช่น อัตรารอดชีวิต อัตรารับผู้ป่วยภายในซ้ำ อัตราความสำเร็จในการผ่าตัด พยาบาลดูแลคนไข้ทีกี่คน ประวัติการศึกษาและการฝึกฝนของแพทย์ เป็นต้น
สรุปโดยย่อก็คือการซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการในสองเซ็กเตอร์นี้มันไม่เหมือนการซื้อไอโฟน 6 มาแล้วมั่นใจว่าได้ไอโฟน 6 ที่เป็นมือถือตัวเป็นๆ แน่นอน ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลมากขึ้นแล้ว มาตราวัดเหล่านี้ก็ยังไม่สมบูรณ์พอ และหากจะให้สมบูรณ์แบบพอก็คงละเอียดมากจนคนปกติไม่มีเวลาคิดคำนวนว่าจะไปหาหมอที่ไหนดีจริง หรือจะไปเรียนที่ไหนดีจริง ความไม่แน่นอนนี้ก็จะเป็นต้นตอต่อปัญหาอีกมากมายในสองเซ็กเตอร์นี้ ยกตัวอย่างเช่นปัญหาใหญ่ๆ ต่อไปนี้
อย่างที่ได้กล่าวไว้ สังคมสมัยใหม่ของเราไม่ต้องการให้ใครก็ได้ที่จะมามีสิทธิ์สามารถสั่งยา ฉีดยา ผ่าตัดให้กับใครก็ได้ เพราะว่าการที่เราปล่อยให้เกิด free market ขึ้นอาจจะทำให้เราไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้หากมีหมอจอมปลอมที่รักษาคนไข้ไม่หายจริงหรือหลอกคนไข้ หากเป็นเช่นนั้นสุขภาพของประชากรโดยรวมก็จะแย่ลง ถึงต้องมีการสอบการคัดเลือกคนระดับหัวกะทิเพื่อไปเป็นหมอนั่นเอง
ในภาคการศึกษาก็คล้ายกัน หากรัฐบาลปล่อยให้ใครก็ได้สามารถประกอบอาชีพครู ไม่สนใจความสามารถที่แท้จริง แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่อนาคตของชาติเรียนและเอาแบบอย่างมันดีที่สุดแล้วสำหรับเด็กๆ เพราะเหตุนี้จึงต้องมีการสอบบรรจุเป็นครูนั่นเอง ซึ่งในบางประเทศเช่นฟินแลนด์นั้นความยากของการสอบเป็นครูนั้นพอๆ กับการเป็นหมอเลยทีเดียว
การที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการตั้งกฎเกณฑ์ทั้งหลายนี้เพื่อ “ความปลอดภัยและอนาคตที่ดีกว่า” จึงทำให้ในตลาดการศึกษาและสุขภาพมี “ผู้ผลิต” จำนวนน้อยลง และบวกกับการที่ปกติก็มี barrier to entry สูงอยู่แล้วในการตั้งโรงพยาบาล บริษัทยาหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ จึงทำให้ระดับการแข่งขันอาจจะน้อยลงกว่าในระดับที่สมควรนั่นเอง
ผู้อ่านอาจจะถามกลับมาว่า “มีการแข่งขันน้อยลงแล้วยังไง ก็ยังดีกว่ามีหมอและครูที่ไร้คุณภาพเกลื่อนเมืองไม่ใช่หรือ”
ผู้เขียนคงต้องตอบว่า “ไม่แน่ เพราะมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเหล่าผู้ผลิตจำนวนน้อยๆ นั้นประพฤติตัวอย่างไรกับลูกค้า”
ต้องดูในโลกจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแข่งขันน้อยในสองตลาดนี้มันแย่แค่ไหน ไม่ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ common sense เราก็บอกเราได้ว่าถ้ามีผู้ผลิตยักษ์ใหญ่แค่ไม่กี่รายหรือรายเดียวในตลาดจะเกิดอะไรขึ้นต่อความเป็นอยู่ของผู้บริโภค
หากผู้ผลิตรายใหญ่ใจบุญไม่หวังกำไร ลูกค้าอาจจะได้ผลประโยชน์มากกว่ากรณีที่มีผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่มีประสิทธิภาพไม่มีเทคโนโลยีดีเท่าในการให้บริการ แต่หากลองสมมุติดูว่าในเมืองเรามีโรงพยาบาลแค่โรงเดียวและเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่การแสวงหากำไรเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง มันไม่มีอะไรมาค้ำเหนี่ยวให้โรงพยาบาลยักษ์ใหญ่นี้ผลิตบริการทางสุขภาพจำนวนมากพอที่สังคมต้องการและด้วยราคาที่ถูกพอ เรื่องอะไรจะต้องเหนื่อยรักษาคนเพิ่ม สู้ผลิตพอประมาณแต่ชาร์จราคาให้มันสูงขึ้นไม่ดีกว่าหรือ คู่แข่งก็ไม่ค่อยมีอยู่ ผลลัพธ์ก็คือโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่อาจจะประพฤติตัวในรูปแบบแสวงกำไรเข้าตัวเองจนทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ได้รับบริการและผู้ที่ได้รับก็ต้องจ่ายเงินในประมาณที่มากกว่าปกติอีกด้วย ตัวอย่างนี้สามารถพลิกแพลงมาใช้กับธุรกิจอื่นๆ ในสองเซ็กเตอร์นี้ได้อย่างง่ายดาย เช่น โรงเรียน บ้านพักคนชรา และบริษัทยาขนาดใหญ่ ฯลฯ
Market power ที่มากับการจำกัดจำนวนผู้ผลิตนั้นก็เป็นต้นตอของอีกหนึ่งปัญหาในสองเซ็กเตอร์นี้ นั่นก็คือภาวะขาดแคลนแรงงาน
หากเราย้อนกลับไปในตัวอย่างเมื่อครู่ ในเมื่อเมืองเรามีโรงพยาบาลแค่แห่งเดียว เรื่องอะไรที่โรงพยาบาลแห่งนี้จะต้องจ้างพยาบาลด้วยเงินเดือนสูงๆ ทำไมไม่กดเงินเดือนเอา (คล้ายๆ ว่าทำไมบริษัท Walmart ถึงสามารถกดราคารายย่อยได้ก่อนนำผลิตภัณฑ์รายย่อยมาวางบนชั้นวางตัวเอง) ในทางกลับกันหากเรามีโรงพยาบาลหลายโรง อำนาจต่อรองเงินเดือนของโรงพยาบาลก็จะน้อยลงไปเป็นลำดับ แต่พอกดเงินเดือนปุ๊ปก็เลยเกิด “ภาวะขาดแคลนพยาบาล” ขึ้นมาเพราะว่าจะมี “ผู้ที่สามารถประกอบอาชีพเป็นพยาบาล” บางส่วนในตลาดคิดว่าเงินเดือนต่ำไปสำหรับค่าเวลาของตน อาจจะหันไปประกอบอาชีพอื่นหรือยังไงก็แล้วแต่ราย โรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ก็เลยมักจะบ่นว่าแรงงานไม่พอทั้งๆ ที่ตัวเองทำตัวเอง สร้างภาวะนี้ขึ้นมาเอง ขณะนี้ยังไม่ค่อยมีใครศึกษาว่าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในภาคการศึกษาด้วยหรือไม่ เพราะมันอาจเป็นต้นตอของเงินเดือนครูที่ต่ำเกินไปในหลายๆ ประเทศกำลังพัฒนา ครูที่สังคมอุตส่าห์ผลิตมาแทบตายจึงเลยไหลออกไปทำอย่างอื่นหมด จุดนี้น่าคิดครับ
เรื่อง market power นี้เป็นเรื่องที่ได้รับการถกเถียงอย่างมากในประเทศสหรัฐฯอเมริกาเนื่องจากว่าราคาการรักษาโรค ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ราคายา ราคาเลี้ยงดูคนชรา ราคาอะไรก็แล้วแต่ในสองเซ็กเตอร์นี้พุ่งกระฉูดมาหลายปีแต่คุณภาพบริการไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่นยารักษาโรคบางประเภทที่ไม่ค่อยมีคู่แข่งเช่น Captopril หรือ Doxycycline hyclate นั้นราคาขึ้นไปในหลักพันเปอร์เซ็นต์แล้ว
“ถ้ามีเตียง 10 เตียง แต่มีคนไข้ 20 คน จะเลือกคนไข้รายไหนดี?”
ในหลายๆ ประเทศ ธุรกิจในสองเซ็กเตอร์นี้มักพบเจอกับ “ภาวะลูกค้าล้นมือ” เป็นประจำ เช่นมีคนป่วยมากมาย แต่มีเตียงคนไข้ไม่พอ มีหมอและพยาบาลไม่พอ ในการศึกษาก็คล้ายกัน มีเด็กอายุในกลุ่มนักเรียนมากมาย แต่มีครูไม่พอ มีที่ให้ไม่พอ จึงเกิดการ “ต้องเลือกลูกค้า” ขึ้น
ตัวอย่างชัดๆ คือในกรณีของบ้านพักคนชราหรือในศูนย์ long-term care สำหรับผู้ป่วยเรื้อรังในสหรัฐฯ ที่เวลาลูกค้าล้นมือปุ๊ปธุรกิจเหล่านี้มักจะเลือกลูกค้าที่ควักจ่ายเงินเองและไม่ได้มีประกันรัฐบาลจ่ายให้ เนื่องจากว่าส่วนมากลูกค้าที่จ่ายเงินเองนั้นให้รายได้กับธุรกิจพวกนี้ได้มากกว่าลูกค้าที่มีประกันสุขภาพของรัฐบาล อีกกรณีคือเวลาศูนย์ long-term care ต้องเลือกผู้ป่วย งานวิจัยหลายงานพบว่าธุรกิจเหล่านี้มักเลือกผู้ป่วยที่ก่อให้เกิดกำไรมากที่สุด ผู้ป่วยที่รักษายากและมีต้นทุนสูงก็จะไม่สามารถเข้ารักษาได้ มันน่าเศร้ามากแต่หากธุรกิจเหล่านี้มีสิทธิ์เลือกลูกค้าเขาก็ทำได้ ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ประเด็นนี้ก็เป็นอีกข้อสงสัยในภาคการศีกษาว่า “การเลือกเด็ก” มันดีและแฟร์แค่ไหนต่อสังคม หากโรงเรียนเลือกเอาแต่เด็กที่สอบได้ดีหรือพ่อแม่ที่มีฐานะดี มันยากมากที่จะแยกแยะว่าเวลาเด็กเหล่านี้จบออกไปแล้วมีอนาคตดีมันเป็นเพราะคุณภาพของโรงเรียนหรือคุณภาพของเด็กและฐานะทางบ้าน ในทางกลับกันมีโรงเรียนบางโรงเรียนที่ไม่เกี่ยงเลยแม้แต่น้อยว่าเด็กบางคนจะป่วยเป็นโรคหรือมีความต้องการพิเศษ โรงเรียนเหล่านี้ก็จะลงทุนหาผู้เชี่ยวชาญการสอนให้กับนักเรียนเหล่านี้ ปัญหาคือในโลกจริงมีโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนรัฐบาลอย่างประเภทที่สองนี้น้อยเหลือเกิน
ปัญหาสุดท้ายคือปัญหาที่บางสังคมตกลงกันไม่ได้ว่าควรจะคิดว่าสินค้าและบริการทางด้านการศึกษาและสุขภาพนั้นเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนหรือเป็นแค่สิ่งที่ค้าขายกันได้ตามท้องตลาด
นั่นก็คือจะให้ฟรีไปเลยหรือว่าใครมีเงินมากที่สุดและอยากได้มากที่สุดก็ได้ไป
บางประเทศเช่น ประเทศอังกฤษและประเทศแคนาดา เขาไม่คิดว่ามันเป็นปัญหาด้วยซ้ำ เขาคิดว่ามันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรจะมีประกันสุขภาพเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีฐานะยังไง แต่ก็ยังมีหลายประเทศ เช่นประเทศอเมริกาที่คิดว่ามันเป็นการสิ้นเปลืองมากที่จะให้บริการทางสุขภาพแบบเท่ากันทุกคน หลายคนกังวลว่าจะมีคนบางประเภทที่ใช้บริการสุขภาพเกินความจำเป็น น่าจะเอาเงินเหล่านี้ไปลงทุนในเซ็กเตอร์อื่นมากกว่า จึงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วน่าตลกสิ้นดีที่ประเทศสหรัฐฯ อเมริกา ตอนนี้ไม่มีทั้งความแฟร์และไม่มีทั้งความมีประสิทธิภาพในการให้บริการทางสาธารณสุข… ยังไงก็ขออย่าให้ไทยเราตามรอยสหรัฐฯในด้านนี้ก็แล้วกันครับ
น่าเศร้าแต่ความแฟร์ในฝันที่เราหลายคนแสวงหามันยากเหลือเกินที่จะทำได้ ขนาดนโยบายการศึกษาที่ให้โอกาสการศึกษากับเด็กทุกคนยังไม่แฟร์เลยสักนิดเดียว คุณภาพของโรงเรียนต่างกันมากในแต่ละแห่ง ในสหรัฐฯ อเมริกานี่เหมือนแฟร์แต่ที่จริงเป็นเพียงหน้ากาก ค่าเล่าเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่นั่น “ฟรี” จริง แต่ราคาบ้านในแต่ละเขตนั้นต่างกันลิบลับ (ในสหรัฐฯ นั้น ถ้าเด็กๆ จะไปโรงเรียนรัฐบาล จะต้องไปตามเขตที่บ้านตัวเองตั้งอยู่และไม่สามารถไปโรงเรียนรัฐบาลข้ามเขตได้) แน่นอนราคาบ้านในเขตที่มีโรงเรียนระดับเทพตั้งอยู่ก็จะสูงกว่าราคาบ้านในเขตที่มีโรงเรียนระดับต่ำกว่า เด็กๆ ที่ได้ไปโรงเรียนดีๆ ก็คือเด็กๆ ที่พ่อแม่มีเงินพอจะซื้อบ้านในย่านแพงได้ แล้วอย่างนี้หรือคือความแฟร์ที่เราต้องการ
ผู้อ่านคงจะสังเกตได้ว่าหลายปัญหาที่อยู่ในบทความนี้ทั้งหมดมันมีต้นตอมาจาก “ความไม่แน่นอน” และ “ความสำคัญ” ที่ฝังลึกอยู่ในสองเซ็กเตอร์นี้ ผู้เขียนคิดว่าหากเราแก้ปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่งเราจะสามารถแก้ปัญหาอีกหลายปัญหาที่ตามมา ผู้เขียนมีความหวังในด้านนี้เพราะว่าเรากำลังแก้ปัญหาความไม่แน่นอนนี้ได้อย่างช้าๆ แบบเป็นไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี ศาสตร์การแพทย์ และงานวิจัย อีกทั้งเมื่อผู้บริโภคมีข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและการศึกษามากขึ้น ไม่ว่ามันจะมาจากเทคโนโลยีวัดดัชนีสุขภาพที่ข้อมือเราหรือจะมาจากความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้น (ทั้งความรู้เกี่ยวกับวิธีดูแลสุขภาพและวิธีคิดว่าควรไปหาหมอหรือส่งลูกไปเรียนที่ไหน) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วความจำเป็นที่จะต้องให้รัฐบาลแทรกแซงในสองตลาดนี้โดยการจำกัดจำนวนผู้ผลิตหรือคัดคุณภาพผู้ผลิตให้ก็ควรที่จะน้อยลงมาอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ท้ายสุดนี้ผู้เขียนหวังว่าเมื่อสังคมเรามาถึงจุดที่ควรลด market power ได้แล้ว การแก้ไขปัญหานี้จะไม่ถูกขัดแข้งขัดขาด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือด้วยอิทธิพลของผู้ผลิตรายใหญ่ที่ชินกับการที่ไม่ต้องแข่งขันเพื่อเอาชนะใจผู้บริโภคมานาน
Recent Comments