[ความยาว: 7 นาที] ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าหลายประเทศได้ร่วมเข้าแคมป์ประชาธิปไตยกันมากขึ้น แต่ทำไมเราถึงรู้สึกว่าระบอบนี้ในหลาย ๆ ที่ถึงทำงานได้ไม่ดีเลิศเท่ากับที่นักปรัชญาและนักคิดทั้งหลายเขาพยายามผลักดันและพร่ำสอนกันมา ? ทำไมเวลามองย้อนกลับไปแล้วเจอแต่ความไม่สงบ ความไม่ต่อเนื่อง และความไม่เท่าเทียมกันในหลาย ๆ สังคมประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นในประเทศน้องใหม่ในแคมป์หรือ “รุ่นเดอะ” จากฝั่งตะวันตกก็ตาม เวลาผ่านไปตั้งนานหลังจากที่คนเราคิดค้นคำว่า “ประชาธิปไตย” ขึ้น แต่ทำไมดูเหมือนว่าพวกเรากำลังก้าวไปสู่สังคมตัวอย่างของระบอบนี้ได้ช้าราวกับหอยทาก ? ต้องอีกกี่ร้อยปีเชียวหรือเราถึงจะไปถึงฝั่ง ?
ในบทความอันทรงพลังของ CLR James ที่ตีพิมพ์ด้วยหัวข้อ “Every Cook Can Govern: A Study of Democracy in Ancient Greece Its Meaning for Today” CLR James เตือนใจเหล่านักประชาธิปไตยและนักคิดสมัยใหม่ให้อย่าลืม “ยุคทอง” ของระบอบประชาธิปไตยที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยยุคกรีกโบราณ
เมื่อราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์ที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้นมีความแตกต่างกับสิ่งที่เราเห็นในสังคมปัจจุบันอย่างโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในเรื่องของคำว่า “แฟร์”
แทนที่จะใช้วิธีเลือกตั้งส.ส…ชาวเอเธนส์ใช้วิธี “สุ่ม” เป็นวิธีหลักในการเลือกผู้นำ พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นสังคมที่เลือกคนขึ้นมาบริหารสังคมจากการสุ่มลอตเตอรี่นั่นเอง นั่นก็แปลว่าใครก็ได้ที่เป็น Citizen ในกรุงเอเธนส์สามารถถูกสุ่มเลือกให้มาอยู่ในตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลได้ นอกจากนั้นชาวเอเธนส์ยังกำหนด “วาระ” ใว้อย่างแน่นอนและห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยขึ้นมาปกครองถูกเลือกขึ้นมาได้อีก ประชาชนคนอื่น ๆ ที่ “ยังไม่ถูกหวย” จะได้มีโอกาสถูกสุ่มขึ้นมาทำงานหล่อหลอมสังคมในแบบที่ตนต้องการ เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปีประชากรจำนวนมากก็จะมีโอกาสได้ร่วมสร้างสังคมที่ตัวเองต้องการ นั่นคือความแฟร์ที่แท้จริงในสายตาชาวเอเธนส์
ชาวเอเธนส์คล้ายนักประชาธิปไตยสมัยใหม่ตรงที่ว่ามีความเคารพในกฎหมาย…แต่ต่างกันลิบลับในเรื่องของความเคารพต่อคำว่า “ความเท่าเทียมกัน”
สังคมล๊อตเตอรรี่ที่เขามีกันเกิดขึ้นได้เพราะว่าชาวเอเธนส์คิดว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” กับคำว่า “ความเท่าเทียมกัน” คือคำเดียวกัน ใช้แทนกันได้ในสมัยนั้น
บทความของ CLR James ทำให้เกิดคำถามน่าคิดขึ้นหลายคำถาม
สังคมกรีกโบราณผู้ให้กำเนิดแก่ระบอบประชาธิปไตยถือว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” กับคำว่า “ความเท่าเทียมกัน” คือคำเดียวกัน
แต่ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่หลายที่กลับดูเหมือนว่าผู้คนกำลังตกอยู่ในภาวะสับสนในตัวเองและไม่มีความเห็นตรงกันในความหมายของสองคำนี้ถึงขั้นที่ว่าเอาสองคำนี้มาเปรียบเทียบกันไม่ได้ด้วยซ้ำ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นหลายประเทศที่ปกครองโดยระบอบนี้ที่ก็ยังคงเห็นผู้นำหน้าเดิม ๆ นามสกุลเดิม ๆ ขึ้นมาวนเวียนบนสังเวียนการเมือง บางคนอยู่เป็นผู้นำได้หลายปี บางคนหมดวาระแล้วก็ยังสามารถชักใยต่อได้อีกหลายสิบปี บางคนอำนาจล้นฟ้าเปลี่ยนกฎหมายให้ตัวเองเป็นต่อได้โดยที่ประชากรก็ยังเชื่อมั่นในความเป็นประชาธิปไตยของชาติตน
หากให้สรุปคร่าว ๆ ว่ามีแนวคิดกี่แนวหลัก ๆ ว่าอะไรคือประชาธิปไตนในสมัยใหม่ คงจะมีอยู่ สามแนวคิดหลัก ๆ ที่พบเห็นได้:
ถามว่าการเอา “ความเท่าเทียมกัน” โยนลงไปปนกับสามนิยามนี้จะทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “ความเท่าเทียมกัน” ชัดแค่ไหน?
คำตอบคือ “ขุ่นสิ้นดี” เพราะว่าไม่ว่าจะนิยามไหนก็ยังจะมีกลุ่มประชากรที่ถูกเอาเปรียบตลอดเวลาหากมีการเลือกตั้งแบบที่เรา ๆ คุ้นเคยกัน
การเลือกตั้งนั้นทำให้แฟร์จริง ๆ ยาก…
แม้ว่าคุณจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้สิ่งที่คุณต้องการ 100% หรือประชากรบางคนอาจจะถูกหลอกโดยส.ส.ที่ไม่หวังดี ประชากรบางกลุ่มอาจจะได้จำนวนส.ส.ที่จริง ๆ แล้วไม่พอ ฯลฯ
ขนาดในประเทศอเมริกาที่เป็นหัวหอกชักจูงให้ประเทศทั้งหลายแห่กันไปเข้าแคมป์ Democracy การระดมเงินระหว่างเลือกตั้งและการเล่นสกปรกในการกล่าวหาผู้สมัครคนอื่นผ่านทางโฆษณาทีวีนั้นไม่ต่างจากการซื้อเสียงหรือการหลอกลวงแบบอ้อม ๆ
Imperfect information ในโลกสมัยนี้ทำให้ความแฟร์จากการเลือกตั้งเป็นความแฟร์แบบถูกจำกัด เป็นความแฟร์แบบปลอม ๆ นั่นเอง
ทว่าทั้งหมดนี่ต่างกับสิ่งประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์โดยสิ้นเชิง….ซึ่ง “มี” และ “ขาด” มากกว่าแนวคิดทั้งสามด้านบน
ประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์ไม่สนว่าคนที่ถูกสุ่มขึ้นมาจะมีประวัติการทำงานอย่างไร จะเป็นชาวประมง จะเป็นพ่อค้า จะเป็นหมอ ประชากรทุกคนมีสิทธิเท่ากัน
มันน่าตลกสิ้นดีที่ประวัติการทำงานที่สำคัญที่สุดใน resume สมัยนั้นก็คือ “ผมเป็น citizen ที่ไม่เคยขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลยครับ”
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์นั้นให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมกันมากกว่าประชาธิปไตยสมัยใหม่มาก (ตราบใดที่สังคมมีจำนวนประชากรมากพอที่ error จากการสุ่มแล้วไม่ random จริงนั้นน้อยมาก ๆ )
จุดที่หลายคนไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์ก็คือความไม่เข้าท่าที่ว่าใคร ๆ ก็สามารถ “นั่งเก้าอี้” ได้
คนรุ่นใหม่หลายคน (และคนรุ่นเก่าอย่างนักปราชญ์ชื่อดัง Socrates) เห็นว่าการให้คนที่ไม่มีความสามารถเหมาะสมมาทำหน้าที่บริหารการเมืองนั้นเป็นอะไรที่ไม่ฉลาดที่สุด
สังคมมีคนเป็นล้าน…ทำไมไม่เอาคนที่เก่งที่สุดในแต่ละด้านไปนั่งเก้าอี้เหล่านั้น ?
เราเห็นคอนเซ็ปต์นี้ในหลายแง่มุมของโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในวงการการเมืองหรือแม้กระทั่งในรายการทีวีก็ตาม ใครเคยดูรายการทีวีแข่งขันร้องเพลง เต้น หรือทำอาหารจะทราบว่ามันเป็นอะไรที่ปกติมากที่รายการเหล่านี้จะเลือกเอา “ผู้เชี่ยวชาญ” ขึ้นมาเพื่อตัดสินผลการแข่งขัน หรือไม่ก็เลือกมาเพื่อพยายาม “ชักจูงความคิด” ของผู้ชมให้ sms ไปโหวตเลือกผู้ที่สมควรชนะ
ชาวเอเธนส์คิดคนละอย่าง… เขาคิดว่าเราไม่ควรเอาผู้เชี่ยวชาญมาตัดสินผลที่สังคมเองก็ตัดสินได้ CLR James ยกตัวอย่างเรื่องการประกวดบทละครในนครเอเธนส์ที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญซักคน ประชาชนช่วยกันตัดสินใจกันเองว่าชอบบทละครไหน แม้จะไม่มี “คนเก่งการละคร” มานั่งเก้าอี้ตัวใหญ่เป็นกรรมการพูดใส่ไมค์ให้คะแนนเหมือนสมัยนี้แต่ละครกรีกที่ชนะเลิศในสมัยนั้นกลับถือว่าเป็นอะไรที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงส่งว่าเป็นแม่แบบบทละครที่สุดยอดมาก ๆ แม้เวลาจะผ่านไปเป็นพัน ๆ ปีแล้วก็ตาม
CLR James มักเถียงว่าชาวเอเธนส์ไม่ได้โง่เขลาถึงขนาดที่ว่ายอมสุ่มเอาพ่อค้าแม่ค้าไปเป็นนายพลหรือสุ่มเอาเด็กผอมแห้งไปเป็นทหาร มันมีข้อยกเว้นเหมือนกันในระบอบประชาธิปไตยของพวกเขาเพราะว่าการมีกำลังทหารไว้รักษาดินแดนและสู้รบกับข้าศึกนั้นมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสังคมสมัยโบราณ
หากมองมุมนี้ การที่เราเห็นนักการเมืองที่เคยเป็นนักชิม นักมวย หรือดาราตลก โผล่ขึ้นมาในสังเวียนการเมืองเป็นครั้งคราวก็อาจจะถือว่าเป็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตยก็เป็นได้ ไม่ได้เป็นอะไรที่แย่อย่างที่หลายฝ่ายคิดว่าเป็นความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยเสมอไป
หากเราสมมุติว่าประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์คือยุคทองจริง ๆ การที่มนุษย์เราเคลื่อนตัวออกห่างจากมันขึ้นเรื่อย ๆ คงเป็นเพราะความกลัวตายและสันดานมนุษย์ที่ยังดิบเหมือนสัตว์ป่าอยู่จนทุกวันนี้
จุดอ่อนของประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์ที่ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเลือก “คนเก่ง” ขึ้นมาคุมด้านการทหารก็เพราะว่าแท้จริงแล้วใจคนนั้นเถื่อน เมื่อทรัพยากรจำกัด มันก็มี “ความจำเป็น” ที่จะต้องรุกรานสังคมอื่นเพื่อยึดดินแดนและทรัพยากรเอาไว้ก่อนที่อีกข้างจะแข็งขึ้นมาในอนาคต
จุดอ่อนนี้ก็ยังคงมีอยู่ในยุคปัจจุบัน เพียงแต่มีอานุภาพมากกว่าหลายเท่า
ในสังคงสมัยใหม่สงครามอาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของการทหารอีกต่อไป หากแต่เป็นสงครามในไม่รู้กี่สนามรบ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การค้า การฑูต ระหว่างสังคมของตนกับสังคมอื่น ๆ ทั่วโลก
เมื่อมี “สงครามไร้เลือด” ในหลายมิติ…สังคมที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยจึงมีความคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสรรหา “คนเก่ง” ขึ้นมาทำหน้าที่ มิเช่นนั้นจะโดนประเทศอื่นเขาเอาเปรียบ สุดท้ายจะอดตายและโดยกลืนกินดินแดนและทรัพยากรที่มีในที่สุด
ถ้าหากสังคมเราไม่อยากหายไปจากโลก ไม่อยากเสียเปรียบชาติอื่น…สังคมที่ต้องการที่จะอยู่รอดก็ควรเฟ้นหาผู้นำทีมที่เก่งที่สุด ไม่ใช่ให้สิทธิทุกคนเท่าเทียมกันแบบสุด ๆ ในการบริหารสังคมเหมือนชาวเอเธอนส์ ถ้าคิดมุมนี้ก็ไม่ต่างจากการคัดทีมบอลไปแข่งบอลโลก เรื่องอะไรที่ชาติเราจะคัดเอานักมวยหรือนักเล่นหมากรุกไปแข่งบอลโลกทั้ง ๆ ที่ก็มีนักบอลเก่ง ๆ เพียบ ?
ลองนึกดูเล่น ๆ ว่าถ้าโลกนี้ไม่มีกิเลส คนเราไม่โลภมาก ไม่มีการเข่นฆ่ากัน ไม่มีการเอาเปรียบกัน คงไม่มีใครที่ไม่แฮปปี้ในประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์
logic ประชาธิปไตยสมัยนี้จึงเพี้ยนจากนิยามของชาวเอเธนส์…logic flow กลายเป็นว่า “อยากอยู่รอด => สรรหาคนเก่งมานำประเทศ => ความเท่าเทียมกันเป็นเรื่องรอง”
ที่น่าคิดยิ่งกว่าคือคนส่วนมากต้องการความเท่าเทียมกันจริง ๆ หรือเปล่า ?
ทำไมคนที่ขยันมาทั้งชีวิตถึงจะอยากแบ่งปันให้กับคนที่ไม่ขยัน คนที่มือไม่พายเอาเท้าราน้ำและเป็น “ภาระ” ของสังคม ?
ที่เราเห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมแบบสุด ๆ ในหลาย ๆ สังคมสมัยใหม่นั้นอาจจะเป็นหลักฐานที่ว่ามนุษย์เราจริง ๆ แล้วเป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัวและไม่ได้ต้องการความเท่าเทียมกันเท่าไรนักก็เป็นได้…
ไปไปมามาบทความเกี่ยวกับประชาธิปไตยชิ้นนี้กลับมาจบลงที่ความเป็นมนุษย์…
มนุษย์เหมือนถูกต้องสาปและถูกให้พรในเวลาเดียวกัน
ถูกต้องสาปให้เกิดมาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งบนโลกที่มีทรัพยากรจำกัด แต่ยังดีที่ฟ้าประทานสมองดี ๆ มาให้แต่แรกเกิด เพราะว่านอกจากสมองดีแล้ว…เวลาจะเอาตัวรอด เวลามีความรัก เวลาหิวโซ เวลาสื่อสารกับเพื่อน เวลาอาฆาตนั้นไม่ต่างจากสัตว์อื่น ๆ เท่าไหร่นัก
บางคนอาจคิดว่าศาสนาเป็นทางออก…ศาสนาอาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยล้างบาปล้างสันดานดิบให้กับคนเราได้ แต่สังคมที่คนส่วนมากมีจิตใจดีงามจะสามารถอยู่รอดในโลกที่คนอื่น ๆ เขาคอยแต่จะแย่งชิงคอยแต่จะเอาเปรียบได้จริง ๆ หรือ ?
ทางออกที่ดีที่สุดคงจะเป็นการใช้สมองที่ฟ้าประทานมาให้ดีที่สุด
ทางออกไปสู่สังคมในฝัน คงเป็นการใช้สมองของคนหลายเชื้อชาติต่างเพศต่างวัยต่างความเชื่อเพื่อพยายามหาวิธีอยู่ร่วมกันบนโลกได้อย่างพอเพียง ใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด พยายามให้ระบบนิเวศมันช่วยเรา คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อพยายาม “แก้คำสาป” ที่ทำให้เราเกิดขึ้นมาในโลกที่มีทรัพยากรจำกัดเหลือเกินนี้ให้จงได้
บทความนี้ไม่ได้พยายามเชิดชูว่าประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์เป็นสังคมที่ดีที่สุด เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ perfect…ยังเป็นสังคมที่มีทาสและผู้หญิงโดนกดขี่ (เพราะว่าเขาไม่ถือว่าคนเหล่านี้เป็น citizen)
หวังว่าโลกเราจะยังมีคนที่จิตใจบริสุทธิ์หลงเหลืออยู่มากพอที่จะช่วยกันคิดค้นลู่ทางการไปสู่สังคมในฝันให้ได้ ไม่ว่าจะผ่านทางศาสนา การศึกษา วิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย ประชาธิปไทย หรือทางไหน ๆ ก็ตาม
สำหรับประชาธิปไตยสมัยใหม่ อาจจะต้องมาในแนวนี้ก็ได้นะครับ
ให้สมาชิกทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน แต่มอบเสียงให้คนอื่นโหวตแทนได้ เลือกได้ว่าจะให้โหวตแทนทุกเรื่อง เฉพาะประเด็น หรือเฉพาะร่างนโยบายร่างใดร่างหนึ่ง ทุกคนที่ได้รับมอบเสียงโหวตจะส่งต่อเสียงไปให้คนอื่นเป็นตัวแทนอีกทอดก็ได้ แต่เจ้าของเสียงสามารถดึงเสียงของตัวเองกลับมาได้ทุกเมื่อ ทำให้ตัวแทนทุกคนต้องรอบคอบ ไม่มีทางที่ใครจะลุแก่อำนาจจนกลายเป็นเผด็จการได้
http://thaipublica.org/2014/12/pirate-party-germany/
ส่วนตัวเองมองว่า
ในสมัยก่อน ความเสมอภาคอาจสำคัญ แต่สมัยนี้ ทุกอย่างซับซ้อนมาก แต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการเลือกผู้แทน ไม่ว่าจะเป็น ทางด้านกายภาพ(สส เขต) ทางด้านกลุ่มพรรค(party list) หรือจากการสุ่ม(สรร)หา ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน คงยังไม่เพียง แต่หากเราสามารถเลือกได้ว่า นโยบายในแต่ละด้าน เราเห็นด้วยกับแนวความคิดของใคร เราไว้วางใจให้ใครเป็นผู้ออกเสียงแทนเรา เช่นนี้ มองว่าน่าจะสอดคล้องกับสภาพสังคมอันซับซ้อนในปัจจุบันมากกว่าครับ
ดีกว่าการเลือกคนที่หน้าตาดีที่สุด ในหมู่คนขี้เหร่ อย่างที่เป็นอยู่ในการเลือกตั้งแบบปัจจุบัน