Views:
1,894
อีกเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น คนทั้งโลกก็จะได้รู้กันว่าสหรัฐฯจะผิดสัญญาหนี้รัฐบาลหรือไม่ หากสหรัฐฯผิดชำระหนี้ ผลกระทบจะรุนแรงแค่ไหน? ใครจะซวยบ้าง? โพสนี้จะสรุปวิกฤตเพดานหนี้สหรัฐฯด้วยภาษาง่าย ๆ หวังว่าจะช่วยให้ผู้อ่านได้มุมมองที่หลากหลายและกว้างขึ้นในเวลาอันรวดเร็วครับ
เพดานหนี้คืออะไร?

ก่อนอื่น… ไม่ต้องห่วงหากคุณไม่คุ้นกับกลไกเพดงเพดานอะไรนี่…เพราะว่า”เพดานหนี้” เป็นกลไกที่ประหลาดครับ! นอกจากสหรัฐฯแล้ว ในกลุ่มประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยจะมีแค่เดนมาร์กอีกประเทศเดียวเท่านั้นที่มีการใช้งานเพดานหนี้
คิดง่าย ๆ ว่าเพดานหนี้คือวงเงินบัตรเครดิตของรัฐบาล
หากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินมากกว่าวงเงินที่เพดานกำหนดไว้ ก็ต้องขอสภาให้อนุมัติขยายวงเงิน จะได้เอาไปชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียงหน้ากันมาทุก ๆ เดือน ทุก ๆ ไตรมาส เช่น ผลตอบแทนพันธบัตร ค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม ฯลฯ
ในประเทศอเมริกา ความสามารถในการกู้ของรัฐบาล (borrowing) นั้นโดนแยกออกมาจากความสามารถในการใช้จ่าย (spending) ทำให้ต้องโวตอนุมัติงบประมาณและอนุมัติวงเงินในการกู้กันคนละรอบ (รอบอนุมัติงบประมาณนั้นไม่สำเร็จ จึงเกิดการปิดทำการของรัฐบาลสหรัฐฯขึ้นเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว)
เพดานหนี้สูงแค่ไหน?
สูงมาก………..
เพดานหนี้สำหรับปี 2013 เท่ากับ 16.669 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งในขณะนี้สหรัฐฯมีหนี้ืทางเทคนิคเลยเพดานแล้วด้วยซ้ำ สหรัฐฯนั้นเป็นประเทศที่เสพหนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว มีแค่ปี 1835 เท่านั้นที่เป็นปีที่ไม่มีหนี้เลย ตั้งแต่ปี 1917 เพดานหนี้โดนยกขึ้นถึง 78 ครั้งด้วยกัน ผลที่เห็นก็คือประเทศที่เคยตัวนั่นเอง (ยิ่งเคยตัวเข้าไปใหญ่หลังจากที่ได้สำแดงฤทธิ์ว่าเป็นประเทศที่แกร่งที่สุดในโลกต้นทุนในการกู้เงินก็ยิ่งต่ำเข้าไปใหญ่)
ทำไมเขาถึงฮือฮากันเหลือเกินช่วงนี้?
ขายหน้ามั๊ยนั่น…
วิกฤตเพดานหนี้นั้นเป็นข่าวด้วยหลายสาเหตุ ผมแยกเป็นสองสาเหตุหลักให้นะครับ
สาเหตุแรก คือ การที่กลไกนี้ได้กลายเป็นอาวุธทางการเมืองในสหรัฐฯไปแล้ว จริง ๆ แล้วตอนแรกกลไกนี้มีไว้เพื่อชะลอการใช้จ่ายของชาติเพื่อให้รัฐคิดดี ๆ ก่อนจะใช้จ่ายในแต่ละรายการ มันเคยเป็นแค่ “กลไกเพื่อความไม่ฟุ่มเพือย” แต่ว่าพักหลังนี้ กลไกเพดานหนี้กลับกลายเป็น “อาวุธ” ทางการเมืองสำหรับพรรค Republican ที่ไม่ได้คุมทำเนียบขาวแต่คุมสภา จึงเอากลไกนี้มากดดันโอบามาและผองเพื่อนพรรค Democrat ให้ยอมข้อแลกเปลี่ยนต่าง ๆ นานาไม่เช่นนั้นจะไม่ยอมอนุมัติยกเพดานหนี้ให้ (อารมณ์เดียวกับการเจรจานโยบายงบประมาณที่ไปไม่ถึงไหน จึงเกิดการปิดทำการขึ้น) แต่โอบามาก็ไม่ยอม เขามองว่านี่เป็นหน้าที่ของสภาที่ควรจะช่วยชาติให้ไม่ต้องผิดชำระหนี้ นี่ไม่ใช่เวลามาบอกว่า “เฮ้ย! อย่าฟุ่มเฟือย!” บิลที่จะต้องจ่ายมันเรียงกันมาแล้ว…แต่ไม่มีเงินเลย….
สาเหตุที่สอง คือหากเพดานหนี้นี้ไม่ถูกยก รัฐบาลจะไม่สามารถกู้เงินเม็ดใหม่ ๆ มาจ่ายหนี้เก่าที่จะครบกำหนดเร็ว ๆ นี้ได้พอ เพราะว่าระดับหนี้ตอนนี้ชนเพดานแล้ว หลายคนกังวลว่าการเบี้ยวหนี้อาจจะเกิดผลเสียมากมายตั้งแต่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯดิ่งเข้าสู่ recession อีกรอบ ไปจนถึงวิกฤตที่บานปลายขนาดที่ว่าฉุดทั้งโลกลงไปกับสหรัฐฯด้วย
ใครเป็นเจ้าหนี้บ้าง?
ดูรูปจาก NPR ด้านล่างแล้วจะเห็นภาพได้เร็วที่สุดครับ

ใครขายออกไปแล้วบ้าง?
เมื่อสองเดือนก่อน เราเห็นสัญญานที่ธนาคารกลางในหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) เริ่มลดระดับพันธบัตรสหรัฐฯที่ถืออยู่ในพอร์ต นั่นน่าจะมาจากการมองทิศทางนโยบาย Tapering มากกว่า แต่ล่าสุดนี้เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีสถาบันการเงินใหญ่ ๆ สามแห่งที่ได้เทขายพันธบัตรสหรัฐฯที่จะครบกำหนดในเร็ว ๆ นี้
นอกจากสามแห่งนี้แล้ว กองทุนรวมอื่น ๆ ก็ได้ทยอยขายออกไปเหมือนกัน และได้เสริมทัพสภาพคล่องรอรับมือสถานการณ์ลูกค้านักลงทุนแตกตื่นที่อาจจะอยู่ดี ๆ ถอนเงินลงทุนอาทิตย์นี้
ขณะนี้ดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตร 1 เดือนอยู่ที่ประมาณ 0.21% แม้ว่าจะตกลงมาจาก 0.35% เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ตาม ถือว่าสูงผิดปกติมาก ๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้นำประเทศญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย และซาอุดิอาราเบีย ก็ยังแสดงความเชื่อมั่นในพันธบัตรสหรัฐฯ และเชื่อว่าสหรัฐฯจะสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งพวกนี้ถือเป็นนักลงทุนระยะยาวมากกว่า พอจะเข้าใจได้นิดนึง…
****ใครสงสัยว่าจีนคิดยังไงถึงเอาเงินไปให้สหรัฐฯ ยืม อ่านโพสเก่า ๆ ของผมได้ที่นี่ครับ****
จะเกิดอะไรขึ้นหากเพิ่มเพดานหนี้ไม่ได้?
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสองพรรคตกลงกันไม่ได้ภายในวันที่ 17 นี้ แต่คร่าว ๆ แล้วมีแนวคิดของหลายฝ่ายล่อง ๆ ลอย ๆ อยู่ประมาณนี้ครับ
- สหรัฐฯจะต้องเบี้ยวค่าใช้จ่ายหลายรายการ – อันนี้มีความเป็นไปได้สูง Congressional Budget Office คำนวนออกมาแล้วว่าหากเพดานหนี้ไม่ถูกยกภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2013 จะเหลือเงินสดให้กระทรวงการคลังแค่ประมาณ 3 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯเท่านั้น หลังจากนั้นอาจจะมีทาง “ดิ้น” ได้นิดหน่อย แต่ก็จะต้องเริ่มเบี้ยวคืนหนี้หลังจาก วันที่ 22 ตุลาคมเป็นต้นไป (3หมื่นล้านถือว่าน้อยมาก เพราะแค่วันเดียวก็มีค่าใช่จ่ายประมาณ 6 หมื่นล้านแล้ว) รายจ่ายต่าง ๆ และวันที่ดูได้ที่นี่
- ดิ่งลงเหวด้วยดอกเบี้ยสูง – หากสหรัฐฯเบี้ยวหนี้ ไม่จ่ายดอก ตามทฤษฎีแล้วราคาพันธบัตรสหรัฐฯจะตกฮวบ โดยเฉพาะพวกที่จะครบกำหนด ดอกเบี้ยจะพุ่ง เพราะพันธบัตรเริ่มส่งอาการว่าเป็น “ขยะ” นักลงทุนจึงเรียกร้องดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อให้คุ้มกับความเสี่ยงที่รัฐบาลสหรัฐฯจะเบี้ยว เท่านั้นยังไม่พอดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นถือเป็น “ตัวเทียบ” สำหรับการกู้ยืมชนิดอื่น ๆ ในเศรษฐกิจ ตั้งแต่การกู้ยืมซื้อรถยนต์ ซื้อบ้าน ซื้อการศึกษา (student loans) ฯลฯ หากดอกอื่น ๆ เริ่มพุ่งตาม ก็จะไม่ค่อยเกิดการผลิตเท่าที่ควร เศรษฐกิจก็จะชงักและเริ่มดิ่งลงเหว เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มชะงักคู่ค้าก็จะเริ่มรู้สึกกันไปตาม ๆ กัน ไม่มีอะไรใหม่…
- ดิ่งลงเหวด้วยดอลล่าร์ที่หมดค่า – เงินสกุลดอลล่าร์จะเสียคุณค่าอย่างกระทันหัน เกิดความปั่นป่วนทั่วโลกเพราะว่าการค้าระหว่างประเทศนั้นประมาณ 80% ทำกันด้วยเงินดอลล่าร์ แต่อันนี้ผมว่าเวอร์เกินจริงที่จะเกิดภายในอาทิตย์นี้ หากมองในระยะยาวบวกกับนโยบาย QE อาจจะมีความน่าจะเป็นมากขึ้นนิดนึง…
- ดิ่งลงเหวด้วยวิกฤตการเงิน (อีกแล้ว) – อันนี้น่ากลัวมาก… ผู้อ่านคงจำการช็อตของระบบกองทุนรวมในสหรัฐฯได้เมื่อห้าปีก่อนได้ ปกติแล้วกองทุนรวมนั้นทำธุรกิจโดยแทบจะการันตีว่าเงินลูกค้าไม่เสียชัวร์ ๆ เพราะเอาไปลงในอะไรที่เซฟมาก ๆ รวมทั้งในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯด้วย แต่ในขณะนี้พันธบัตรที่ว่าเซฟ ก็เริ่มไม่เซฟซักเท่าไหร่แล้ว… เมื่อวันที่ 11 วันเดียวเท่านั้นทรัพย์สินในกองทุนรวมสหรัฐฯที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซะส่วนมากลดลง 7.4 พันล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 2.3% ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่เดือน น่าจะเกี่ยวเนื่องกับการที่ลูกค้าดึงเงินออกไป 9 พันล้าน หากเกิด panic ขึ้น กองทุนเหล่านี้อาจล่มได้ พันธบัตรรัฐบาลที่เคยใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (collateral) ที่เซฟสุด ๆ ในตลาดซื้อคืนตราสารหนี้ (Repo market) และในการทำธุรกรรมอื่น ๆ ทั่วไประหว่างสถาบันการเงิน ก็อาจจะกลายเป็นว่าใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ได้อีกต่อไปเพราะเป็นแค่กระดาษขยะไปโดยปริยาย ก็จะเกิดการเรียกเงินเข้ามาโปะช่องโหว่ที่ collateral ไม่สามารถค้ำประกันได้หมด เงินสดยิ่งหายากเวลามี Panic ก็จะเกิดการขายทรัพย์สินเพื่อเอาเงินมาโปะช่องพวกนี้ ยิ่งขาย ราคาหุ้นเหิ้นอะไรต่อมิอะไรยิ่งตกกันไปใหญ่… ฟังดูคุ้น ๆ นะครับ …. ผมเองไม่ทราบว่าไส้ในของกองทุนรวมหรือธุรกรรมแบบ Repo มันมี exposure กับกลไกพวกนี้แค่ไหน ได้แต่หวังว่าสหรัฐฯได้เรียนรู้อะไรบ้างในห้าปีที่ผ่านมานี้ และแบงก์ใหญ่ ๆ ไม่ได้มี exposure กับพันธบัตรรุ่นที่ใกล้ความเป็นขยะมากเท่าไรนัก
- เกิดปรากฎการณ์ “หาว” – คนทั้งโลกอาจจะนั่งมองดูนักการเมืองสหรัฐฯเล่นละครไปเรื่อย ๆ จนวันที่ 17 โดยไม่ทำอะไรเลย หรือแม้กระทั่งนั่งดูสหรัฐฯเบี้ยวหนี้แล้วหาวเอาซะเฉย ๆ เหมือนกับว่าไม่เกิดอะไรขึ้น คนก็ยังซื้อพันธบัตรสหรัฐฯเหมือนเดิม หุ้นก็ไม่ตก ดอลล่าร์ก็ไม่ตกฮวบ แม้ว่าปรากฎการณ์นี้มันจะขัดกับหลักเศรษฐศาสตร์และ common sense (หากใครผิดหนี้หรือไม่มีความรับผิดชอบ ก็ควรโดนลงโทษ ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยนวล) มันอาจจะมีทางเป็นไปได้เหมือนกัน การที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังไม่ตกเหวไปอย่างชัดเจนมันแปลว่าคนยังเชื่อว่าแม้ว่านักการเมืองในกรุงวอชิงตันดีซีจะไม่เอาไหน แต่คงไม่โง่ถึงขนาดทำให้ประเทศตัวเองเบี้ยวหนี้ หากท้ายสุดแล้วเพดานหนี้โดนยก หุ้นก็น่าจะขึ้นตอนนั้น เรื่องอะไรจะขายหุ้นทิ้งตอนนี้? แล้วถึงแม้จะเห็นรัฐบาลตัวเองเบี้ยวหนี้ แต่นักลงทุนทั่วโลกก็ยังต้องมานั่งขบคิดและช่างน้ำหนักอยู่ดีว่ายังเชื่อในสหรัฐฯ แค่ไหน? แล้วมันมีอะไรที่น่าเอาเงินไปลงมากกว่าไหม? (ซึ่งก็มีที่ให้เอาเงินจำนวนมากไปลงแบบเซฟ ๆ ไม่มากแล้วในโลกสมัยนี้) ซึ่งเราเห็นได้เลยว่าคนยังเชื่อถือมากสำหรับประเทศที่ติดหนี้แบบไม่มีทางจ่ายหมดในชาตินี้ บวกกับพิมพ์เงินเป็นว่าเล่นและยังมีรัฐบาลที่เอาแต่เล่นละครมาสองอาทิตย์แล้ว….
บทส่งท้าย
ที่ผ่านมาห้าปีหลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ สหรัฐฯพยายามจะแก้ปัญหาหนี้ด้วยหนี้….
ใคร ๆ ก็รู้ว่านี่คือวิถีนักเลง
คิด ๆ ดูแล้ววิธีนี้มันจะเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศอื่น ๆ ที่มีเจ้าหนี้ต่างชาติจำนวนมาก (ญี่ปุ่นมีเจ้าหนี้ต่างชาติค่อนข้างน้อย จึงสามารถเพิ่มหนี้ได้ง่ายกว่าชาติอื่น ทำให้สามารถรอดตัวไปได้นานกว่าปกติ) ประเทศอื่น ๆ ที่มีเจ้าหนี้ต่างชาติจำนวนมากจะประพฤติตัวอย่างนี้ไม่ได้ เพราะว่าสามเหตุผลหลัก ๆ ต่อไปนี้:
- ไม่ได้มีอำนาจพิมพ์เงินดอลล่าร์ที่ใช้ค้าขายกันทั่วโลกและในขณะเดียวกันก็มีทองคำจำนวนมาก
- ไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศเท่ากับสหรัฐฯ
- ไม่ได้มีอำนาจทางการทหารเท่าสหรัฐฯ
เราเริ่มรู้กันดีขึ้นแล้วว่าสามข้อด้านบนเรื่อมเสื่อม ๆ ลงในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
จำได้ไหมครับสมัยห้าปีที่แล้ว คนทั้งอเมริกาบ่นว่าแบงก์ที่ใหญ่เกินกว่าจะล้ม “Too Big to Fail” (TBTF) เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหามากมายเพราะว่าทรัพย์สิน toxic ของแบงก์พวกนี้ไปพัวพันกับทั้งระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนอกสหรัฐฯ ถึงขั้นปล่อยให้เจ๊งไม่ได้ ต้องให้ภาครัฐเข้าไปอุ้มเอาไว้ ก่อนที่จะสายเกินไป จึงเป็นภาระทางภาษีต่อคนอเมริกันทั้งประเทศที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่เลยใด ๆ ทั้งสิ้น
คราวนี้ลองมองโลกจาก 3 หมื่นฟุตดูนะครับ จะเห็นว่าคราวนี้รัฐบาลสหรัฐฯเองกลายเป็น Too Big to Fail ในระดับโลก เพราะว่าเศรษฐกิจเขาเชื่อมต่อเข้ากับทุกระบบการเงินทั่วโลกด้วยเงินดอลล่าร์และตราสารหนี้ของเขา และหากผิดชำระหนี้สหรัฐฯก็จะมาเป็นภาระให้กับคนทั่วโลก แต่คนทั่วโลกไม่มีทางเลือกเท่าไหร่นัก ไม่ต้องการความไม่แน่นอน เลยอาจจะยอมหยวน ๆ ให้ แต่หยวนตัวจริงไม่ยอมแน่ ในไม่ช้าเราจะเห็นท่าทีมังกรจีนออกมาวาดลวดลายเพิ่มขึ้นเพื่อลดพลังศรัทธาในเศรษฐกิจอเมริกาเพื่อสลับขั้วอำนาจแน่นอน
สหรัฐฯ
หนี้
อเมริกา
เพดานหนี้
เศรษฐกิจ
Recent Comments