menu Menu
4 เหตุผลที่ทำไมถึงควรเล่นเกมกับแฟน
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Life+ on August 23, 2013 16 Comments 35 words
QE กับการวัดปริมาณเงินร้อนในเศรษฐกิจจีน Previous Big Data เพื่อการศึกษา Next

ผมเคยได้ยินมาบ่อยว่าวีดีโอเกมมักก่อให้เกิดปัญหาในชีวิตคู่

“แฟนเราติดเกมจนไม่สนใจเรา” “แฟนติดเกมจนเสียการเรียน เสียการงาน”

นี่คือเรื่องราวที่แสนจะคุ้นหู…

“แฟนคืออะไร??”

(อันนี้ก็คุ้น…)

ในมุมกลับกัน “การไปดูหนัง” ถือเป็นกิจกรรมที่คนเราคิดว่าดีกว่าสำหรับชีวิตคู่   ค่านิยมนี้ฝังลึกลงในจิตใจเรามากถึงขั้นที่ว่าบางทีเราอาจจะรู้สึกผิดหากไม่ได้พาแฟนไปดูหนังนาน ๆ

แต่ทว่าเราเคยนึกบ้างไหมว่าเวลาที่ใช้ไปกับการดูหนัง มันคุ้มค่าหรือเปล่า?  ในสองชั่วโมงที่นั่งดูหนังอยู่นั้น คุณคุยกันได้ซักกี่คำ ได้มีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรบ้างไหม (นอกจากแย่งป๊อปคอร์นในความมืด…)

เอาง่าย ๆ… คุณลองนึกถึงแฟนคุณตอนที่ไปดูหนังด้วยกันเมื่อเดือนที่แล้วสิครับ นึกอะไรออกบ้างไหม ? คุณรู้จักแฟนคุณดีขึ้นไหม ?  คราวนี้คุณลองนึกถึงตอนที่พวกคุณเถียงหรือทะเลาะกันดู เวลาแค่ไม่กี่นาที (หวังว่า…)  คุณกลับจำอะไรได้มากกว่าไม่รู้กี่เท่า  คุณได้เรียนรู้ว่าแฟนคุณเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อะไรทำให้พวกคุณโมโห

งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า 76% ของคู่รักที่เล่นเกมด้วยกัน กลับรู้สึกว่าเกมทำให้ชีวิตคู่ดีขึ้น รู้สึกพอใจกับชีวิตคู่มากขึ้น

ผมคิดว่าปัญหาจริง ๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่ตัวเกม และไม่ได้อยู่ที่ “ความเป็นเกมเมอร์” หรือ “การติดเกม” ด้วย  แต่อยู่ที่ “การเลือกใช้เวลา” ของคู่รักต่างหาก ผมยังสนับสนุนให้คู่รักไปดูหนังดี ๆ ด้วยกัน แต่ถ้าไม่มีหนังดี ๆ ในโรง  ผมว่าอย่าฝืน  

ผมเสนอว่าให้ลองมองวิดีโอเกมในอีกมุมและลองเล่นวิดีโอเกมด้วยกันดู  เพราะนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สนุกแล้ว ยังมีประโยชน์มากมายสำหรับอนาคตชีวิตคู่ โดยเฉพาะสำหรับคู่ที่ยังไม่ได้แต่งงานกันครับ

1. มีประโยชน์และประหยัดกว่าอีกหลายกิจกรรม

หากคุณหรือแฟนคุณมีเครื่องเล่นเกมแล้ว การเล่นเกมด้วยกันมีค่าใช้จ่าย (variable cost) ที่ไม่แพงเลย  แผ่นวีดีโอเกม PS3 ใหม่ ๆ ราคาอย่างมากก็ $60  (~1,800 บาท) แต่เล่นได้เป็นสิบ ๆ (หรือเป็นร้อย) ชั่วโมง  แถมเวลาเล่นเสร็จแล้ว สามารถนำไปขายต่อได้  ถ้าสมมุติว่าเราซื้อเกมที่ออกมาได้ซักพักแล้วมาที่ราคาประมาณ 1,200 บาท  เราเล่นไป 30 ชั่วโมง และนำไปขายต่อได้ประมาณ 500 บาท  ค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ แค่ 700 บาท หรือ 23.33 บาท ต่อชั่วโมงเองนะครับ  ถ้าหารกันระหว่างเรากับแฟนเราอีก ก็เหลือแค่ 11.67 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากจะราคาไม่แพงแล้ว  การเล่นเกมแบบ “ช่วยเหลือกัน” (cooperative gameplay) ยังถือเป็นการใช้เวลาที่มีคุณภาพด้วยกันอีกด้วย เพราะว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องร่วมมือกันเพื่อที่จะไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน  โดยส่วนมากแล้วเกมที่มี cooperative mode จะปรับระดับความยากเพิ่มขึ้นเพื่อให้ไม่สามารถเล่นผ่านได้ด้วยตัวคนเดียวง่าย ๆ เพราะฉะนั้นการเล่นด้วยกันจึงเป็นการจำลองสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันให้ดี ไม่ใช่การเล่นแบบตัวใครตัวมัน  คล้ายในชีวิตคู่จริง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องไปด้วยกัน จะต้องสื่อสารกันให้ดี และคอยช่วยเหลือกันเวลาอีกฝ่ายกำลังมีปัญหา เพื่อที่จะไปสู่จุดมุ่งหมายพร้อม ๆ กันให้ได้

2. ทดสอบว่าเราทำงานกันเป็นทีมได้ดีแค่ไหน

ในความคิดของผม การใช้ชีวิตร่วมกันคือการร่วมมือกันในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน  เราไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคต ชีวิตคู่ของเราจะต้องผ่านพ้นอุปสรรค์อะไร และจะต้องพบกับสถานการณ์แบบใดบ้าง  การเล่นเกมแบบ cooperative ด้วยกันนั้นอาจจะมีส่วนช่วยให้เราผ่านพ้นอุปสรรค์ชีวิตคู่ในอนาคตได้ง่ายขึ้นเนื่องจากเราได้ฝึกฝนการทำงานกันเป็นทีมในสถานการณ์จำลองต่าง ๆ  แต่ละเกมก็แต่ละสถานการณ์ บางทีคุณอาจจะเป็นผู้นำในเกมแบบนึง แต่คุณก็อาจจะต้องเป็นผู้ตามในเกมอีกแบบนึงก็เป็นได้

ข้างบนคือรูปจากเกมใน PS3 ที่ชื่อว่า PixelJunk Monsters  เกมนี้มีจุดหมายง่าย ๆ คือการช่วยกันสร้างป้อมปืนเพื่อสกัดไม่ให้ศัตรูเข้ามาทำร้ายลูก ๆ ที่อยู่ในบ้าน (มุมขวาบนของรูป) จะชนะก็ต่อเมื่อศัตรูมาบุกครบ 20 รอบแล้วลูก ๆ เรายังมีชีวิตรอดอยู่ ฟังดูเหมือนง่าย แต่ทรัพยากรในการสร้างป้อมนั้นจำกัดมาก ทำให้การใช้เงินซื้อป้อมแต่ละครั้งจำเป็นที่จะต้องคิดให้ดีว่าจะวางไว้จุดไหนของแผนที่

จะทำอย่างไรให้คู่เราเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเรา?

จะให้ใครเป็นคนสร้าง?

ใครจะเป็นคนตัดสินใจ?

ก่อนจะซื้อป้อมต้องถามอีกฝ่ายก่อนไหม?

ถ้าเราทำพลาดเราควรบอกอีกฝ่ายไหม? หรือทำเนียน ๆ ไป?

ทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้น ๆ ไหมครับ? ประเด็นสำคัญเหล่านี้มันคล้ายคำถามในใจเวลาเราทำอะไรร่วมกันกับคู่ของเราในชีวิตจริงมาก เช่น การซื้อของเข้ามาประดับบ้าน การลงทุนซื้อที่ดิน และการคัดเลือกหนังสือมาให้ลูกอ่าน การเลือกโรงเรียนให้ลูก เป็นต้น

เหมือนกับในเกมนี้  ในชีวิตจริงเรามีจุดหมายร่วมกัน (สร้างบ้านในฝัน อยากให้ลูกออกมาเก่ง ๆ มีอนาคตดี) แต่เรามีทรัพยากรจำกัด (เงิน เวลา แรงกาย) จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรอันจำกัดของทั้งสองคนสามารถพาเราไปสู่ฝันได้?

3. ทดสอบว่าเราใจเย็นและใจกว้างแค่ไหน

การทำงานกันเป็นทีม ไม่ว่าจะในที่ทำงานหรือในชีวิตคู่ ย่อมมีคนนึงเก่งกว่าในด้านหนึ่งเสมอ  ปัญหาจะเริ่มเกิดขึ้นเวลาเราเริ่ม “ใจร้อน” และเริ่มมองคนคนนั้นเป็น “ตัวถ่วง” ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเขาอาจจะมีประโยชน์กับทีมมากในหน้าที่อื่น

16915621416_e98fbb49a0_b

รูปด้านบนมาจากเกมที่ชื่อว่า Resident Evil 5 ซึ่งเป็นเกมเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดในโลกที่เชื้อไวรัสทำให้ซอมบี้ครองโลก  เนื่องจากเกมนี้จำลองสถานการณ์ที่เคร่งเครียดและเอาเป็นเอาตายมาก ๆ เกมนี้เหมือนจริงมากตรงที่มันไม่ง่าย  กระสุนมีจำนวนจำกัด ยาสมานแผลมีจำกัด  และที่เครียดที่สุดคือ gameover ทันทีเมื่อเราหรือคู่หูเราเสียชีวิต  มันจึงกลายเป็นบททดสอบที่ไม่เลวเลยว่า พวกเรายังใจเย็นได้แค่ไหนเวลาเริ่มพบเจอกับ “ภาวะมองหาตัวถ่วง” และพวกเราใจกว้างแค่ไหนที่จะตั้งใจมาตัดสินใจร่วมกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อพลิกภาวะเหลื่อมล้ำทางความสามารถนี้ให้กลับมาเป็นโอกาสในการชนะ

 

ผมเล่นเกมพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก แน่นอน ผมย่อมชินกับการเคลื่อนไหว เล็ง ยิง และเอาตัวรอดได้ดีกว่าคู่ของผมที่เพิ่งหัดเล่นได้ไม่กี่อาทิตย์  แรก ๆ มันยากมากที่จะเล่นด้วยกันให้สนุก เพราะว่าผมไม่สนุกเวลาเล่นแพ้เพราะความผิดพลาดของคนอื่น คู่ผมก็ไม่สนุกเวลารู้สึกว่าตัวเองทำให้ทีมล่ม แต่ด้วยความใจเย็นและความต้องการที่จะชนะด้วยกัน เราวางแผนว่าใครเก่งอะไรไม่เก่งอะไรและเล่นตามแผนนั้น  ผมเก่งบู๊แต่ชอบใจร้อนเกินไป ไม่มองอะไรรอบ ๆ ให้ดี ๆ  ส่วนคู่ของผมเก่งการสังเกตและใช้สภาวะรอบตัวให้มีประโยชน์  แทนที่จะดันทุรังให้คู่ผมเล่นบทบาทเดียวกับผม ผมให้เขาเล่นแบบสนับสนุน คอยมองหาและเก็บกระสุนกับเสบียงที่แสนจะหายากตามทางที่บางทีผมรีบร้อนไม่ได้มอง คอยมองว่ามีอันตรายรอบ ๆ แค่ไหนผมจะได้ไม่ตาย  ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เราสามารถเอาชนะเกมนี้ได้ทั้งใน story mode และ mercenary mode ภายในไม่กี่วัน (ภูมิใจมาก)

แม้จะเป็นสถานการณ์จำลอง แต่เกมสมัยนี้สมจริงทั้งภาพ เสียง และการปลุกอารมณ์ในตัวผู้เล่น การฝึกทำงานเป็นทีมในภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำในความสามารถในชีวิตจริงก็หาได้ไม่ยาก  การทำอาหารร่วมกันเป็นกิจกรรมที่ผมนึกได้อันดับแรก ๆ คราวนี้บทบาทกลับกัน ผมทำอาหารไม่ค่อยเก่ง แถมไม่ค่อยจะมีความเร็วและความประณีตในการสับผักสักเท่าไหร่นัก

ใครจะไปรู้ ถ้าไม่ได้ฝ่าฟันเหล่าซอมบี้กินคนมาด้วยกัน อาจจะทะเลาะกันจนไม่ได้กินข้าวไปหลายมื้อแล้วก็เป็นได้ !

4. ทดสอบไหวพริบแฟนไปในตัว

 

โดยส่วนตัวผมคิดว่า “ไหวพริบ” เป็นสิ่งจำเป็นที่ผมไฝ่หาในคู่ของผม  ไม่ต้องมี IQ 180 แต่ควรคิดอ่านเขียนดีมีตรรกะดีเลิศและหัวไวเรียนรู้เร็ว  นอกจากจะทำให้เขาเป็นเพื่อนคุยที่ดีที่สุดแล้วยังทำให้เราเองมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองอีกด้วย  เหมือนอย่างที่เขาบอกกันว่า “คนเราจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปคล้ายกับคนที่เราใช้เวลามากที่สุด”  อีกทั้งยังเป็นเหมือน “ประกันชีวิต” ในอีกรูปแบบหนึ่งที่เรามั่นใจได้ว่าเราพึ่งพาเขาได้ในยามยาก

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากแฟนเราเล่นเกมที่ใช้สมองไม่เก่ง เช่นหมากรุก ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีไหวพริบนะครับ! เพราะบางทีคนเราเล่นหมากรุกเก่งกว่าคนปกติได้เพราะเรารู้สูตรหรือเราฝึกฝนมามากกว่า  แต่ผมมั่นใจว่าเกมที่ใช้มันสมองมาก ๆ มันยังต้องบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับทักษะบางอย่างของคน ๆ นั้นแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มาตรฐานอะไรมาวัดฝีมือและไหวพริบคู่ของเรา

สรุป

โดยคร่าว ๆ การเล่นเกม cooperative กับแฟนมีประโยชน์ดังนี้:

    1. เป็นการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ และราคาไม่แพง – เมื่อเทียบกับการดูหนังหรือดินเนอร์มื้อหรู
    2. เป็นการสร้างสถานการณ์จำลองที่ทำให้ทั้งคู่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
    3. ฝึก communication skills – การคุยกันรู้เรื่องจะทำให้ทะเลาะกันยากขึ้น
    4. ทดสอบการทำงานร่วมกันเป็นทีมในหลาย ๆ สถานการณ์ – เป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ชีวิตคู่ที่แท้จริง
    5. ทดสอบว่าเรารับมือกับความล้มเหลวหรือสถานการณ์ตึงเครียดอย่างไร – เวลาเกมยาก หรือ gameover จะทำอย่างไร โทษกันเองไหม? หรือว่าพยายามใหม่
    6. รู้จักใจเย็นและฝึกให้เราหาจุดเด่นของคู่เรา ไม่ใช่ซ้ำเติมแต่จุดด้อย – เป็นการทำให้คู่ของเราสามารถทำอะไรได้ดีขึ้นร่วมกัน
    7. ทดสอบไหวพริบคู่ของเรา – เพื่อทั้ง compatability และความปลอดภัยของเราเอง

ท้ายสุดนี้ ผมหวังว่าคนที่ต่อต้านวิดีโอเกมและไม่ชอบให้แฟนเล่นเกมจะเปิดใจกว้างขึ้น และพยายามชวนให้แฟนเลิกเล่นกับคอมอย่างเดียวแล้วหันมาเล่นกับคุณแทนเพื่อใช้เวลา quality time กับคุณ

ส่วนสำหรับเกมเมอร์ที่แฟนชอบบ่นว่าทำไมเล่นแต่เกมนะครับ  คุณลองออกไปซื้อเกม cooperative มา แล้วลองชวนแฟนคุณเล่นกับคุณดูครับ คุณจะมีความสุขกับชีวิตคุณเอง (เพราะยังได้เล่นเกม) และมีความสุขกับชีวิตคู่ของคุณมากขึ้นแน่นอนครับ

ชีวิตคู่ บันเทิง วิดีโอเกม


Previous Next

Leave a Reply to ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Cancel reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

  1. สุดยอดคับ ผมว่าเปรียบเทียบได้ดีเลย 🙂
    Big Like

  2. ผมว่ามันยากตรงหาผู้หญิงดีๆที่เล่นเกม

  3. สุดยอดครับ!! ความใจกว้างนี่เป็นสิ่งสำคัญจริงๆ
    เผลอๆฝ่ายหญิงเขาจะเก่งกว่าพวกเราๆอีกนะครับเนี่ย 555

  4. เคยสงสัยนะว่าทำไมแฟนเล่นแต่เกม ลองๆถามมันก็ไม่ค่อยบอกอะไร จนสุดท้ายขอให้แฟนสอนเล่น (ก็อยากรู้อ่ะ) ก็พบว่าถึงเราจะไม่เก่งอะไร แต่เราก็ยังได้รู้ว่าเขาเล่นอะไรยังไง แถมเรายังได้ไอเดียดีๆจากพวกเอฟเฟกต่างๆมาเขียนนิยายอะไรงี้ด้วย นอกจากจะได้ใช้เวลาร่วมกันกับแฟนแล้วยังทำให้เราได้ทำงานอดิเรกของเราได้เร็วขึ้นด้วย

  5. วิเคราะห์ประเด็นนี้ได้ อย่างเข้าอกเข้าใจเลย ทีเดียว
    ส่วนตัว เป็นผู้หญิงที่ติดเกมส์ พยายามชวนแฟน เล่นบ่อยๆ
    ล่าสุดเล่นวินนิ่งด้วยกัน ช่วยๆ กันก็สนุกดี เห็นด้วยว่าเป็นกิจกรรม ที่ดี ช่วยเรื่องความสัมพันธ์ได้เยอะ

  6. เยี่ยมเลยครับ ผมจะชวนแฟนเล่นด้วยเอนทรีนี้ครับ 555 อ่านแล้วอยากเล่นเกม

  7. คู่ผมก็พอเข้าใจผมบ้าง บางทีผมเล่นนานเกินก็จะว่าและตักเตือน แต่ถ้าเขาว่าง เขาก็จะมาเล่นเป็นเพื่อน เพราะเห็นว่าผมเหงา

    ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยสนุกหรอกครับ ตอนนั้นเล่นแนว survival ครับ แฟนผมเล่นไม่คล่องก็ตายบ่อย ผมก็เริ่มมีอารมเสีย แต่ตอนหลัง เราก็เปลี่ยนแนวมาเน้นพวกตระกูลมุโซ เขาก็สนุกดีกับมัน

    ผมว่าการเล่นเกมกับคนรักมันทำให้เราเรียนรู้ตัวตนของแต่ละคนได้ดีเลยครับ

  8. เราซิ แฟนชวนเล่นแรกๆแอนตี้มาก หลังๆ แฟนต้องทำกับข้าวเองเพราะเราครองคอมพ์ 555

  9. ผมได้อ่านแล้วสนใจมากครับ มีงานวิจัยชิ้นนี้ฉบับเต็มให้ได้ศึกษาเพิ่มเติมไหมครับ

  10. อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย วิเคราะห์ได้ตรงมากจริงๆค่ะ

    ส่วนตัวมีแฟนติดเกมส์ แรกๆก็ไม่ยุ่งอะไร เล่นไปเถอะ แต่ยิ่งนานยิ่งรู้สึกว่ามากเกินไปไหม เลยลองวิธีเล่นเกมส์ที่เราคิดว่าน่าจะเล่นไปด้วยได้ เท่านั้นแหละ ติดไปด้วยเลย 555555

    แต่ช่วงเวลาที่เค้าสอนเราเล่น หรือชนะผ่านด่านไปด้วยกัน เป็นโมเม้นที่เราเข้าถึงกันได้ดีกว่าตอนไปดูหนัง หรือนั่งมองเค้าเล่นเกมส์เฉยๆ ได้เยอะมากเลยแหละ ^^

  11. ขอบคุณครับสำหรับมุมมองดี ผมเองก็คิดไม่ตกกับปัญหานี้เหมือนกัน ถึงตอนนี้ผมจะยังไม่มีแฟนก็ตาม แต่ก็เคยคิดเรื่องนี้หลายครั้ง

  12. ถึงจะยังหาแฟนเป็นตัวเป็นตนไม่ได้แต่อยากให้คนรอบตัวเข้าใจและเปิดใจกับเกมมากขึ้นครับเพราะผมถูกเลี้ยงดูมากับเกมเพล1+เกมคอมแต่ยังจำความได้

    1. อ่านแล้วดีมาก ซี่งเป็นวิธีคิด อีกมุมมองหนึ่งสามารถใช้ได้กับชีวิตจริง

keyboard_arrow_up