menu Menu
จังหวะใหม่ของจีนกับการปรับหางเสือเศรษฐกิจ
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Global Economy on February 23, 2017 0 Comments 61 words
3 มิติการลงทุนเมื่อมนุษย์อายุยืนขึ้น Previous Sunk Cost: ตัดใจหรือติดกับเมื่อติดดอย Next

ตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 เป็นต้นมา เราได้เห็นการ “ปรับหางเสือ” ของเศรษฐกิจจีนจากการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออกไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสริมสร้างความสมดุลย์ (rebalancing) เพื่อเสถียรภาพและคุณภาพของการขยายตัวในระยะยาว

ในสายตานักลงทุนทั่วโลกมันคือการชะลอตัวลงของฟันเฟืองชิ้นโตที่เคยขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด

แต่ในสายตาของผู้นำจีน เขามองว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิม แม้จะนำมาซึ่งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วระดับปาฏิหาริย์ยาวถึง 3 ทศวรรษ  ได้เข้าสู่จุดอิ่มตัวและสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นเสี้ยนหนามในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ยั่งยืน  ในการปรับหางเสือครั้งนี้ จีนจึงตั้งใจที่จะปั้นโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่จะมีการพึ่งพาการผลิตเพื่อบริโภคภายใน  พัฒนาภาคบริการ และยกระดับผลิตภาพของแรงงานและเงินทุนในหลากเซ็กเตอร์ให้มากขึ้น

บทความนี้จะขอสรุปอย่างสั้นๆ ว่า 1) ทำไมความสำเร็จของการปรับหางเสือของจีนจะมีความสำคัญมากขึ้น และ 2) จีนปรับหางเสือไปถึงไหนแล้ว

ไฟสปอร์ตไลท์กำลังจะกลับมาที่จีน

ผู้เขียนคิดว่าหลังจากที่ฝุ่นจากเหตุการณ์ Brexit และการเลือกตั้งสหรัฐฯ สงบลง ความคาดหวังในความสำเร็จ  ทิศทาง และความราบรื่นของการปรับหางเสือของจีนจะมีมากขึ้น ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

ประการแรก สหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ได้ส่งสัญญานอันไม่เป็นมิตรต่อจีนออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้ว การขึ้นภาษีนำเข้าและนโยบายกีดกันทางการค้าในรูปแบบอื่นๆ ต่อจีน จะเป็นการสร้างอุปสรรคอย่างไม่จำเป็นให้กับเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัวลงในขณะที่จีนปรับหางเสือ  ซึ่งถึงแม้จีนเองจะสามารถโต้กลับได้ด้วยการโยกย้ายการบริโภคสินค้าบางชนิดจากสหรัฐฯ ได้ เช่น เครื่องบินหรือถั่วเหลือง จีนเองก็ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ที่ everybody loses แบบนี้เช่นกัน

ประการที่สอง  การแสดงทีท่าของสหรัฐฯ ว่าจะไม่ทำตัวเป็นตัวตั้งตัวตีเพื่อส่งเสริมความแน่นแฟ้นทางเศรษฐกิจแบบ multilateral บนเวทีโลกเท่าในอดีตอีกต่อไป ถือเป็นการเปิดช่องว่างที่จีนสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้   และผู้นำจีน สี จิ้นผิง ก็ได้เริ่มเดินหมากนี้แล้วอย่างชัดเจน  ล่าสุดในสุนทรพจน์ ณ ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน  สี จิ้นผิง เสนอให้มีการส่งเสริมการร่วมมือและความเชื่อมต่อของเศรษฐกิจเพื่อชัยชนะร่วมกัน  นอกจากนี้ สี จิ้นผิงยังเป็นผู้นำจีนคนแรกในประวัติศาสตร์ที่จะได้เข้าร่วมประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในปีนี้ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือแบบ multilateral อีกด้วย   ทั้งหมดนี้เป็นสัญญานว่าจีนพร้อมที่จะทำหน้าที่ “อุดช่องโหว่” แทนสหรัฐฯ ในทุกโอกาสเท่าที่ตนทำได้

jatusri_s2m_article9_figure1

ประการที่สาม  จีนเริ่มมี footprint และ milestone ทางเศรษฐกิจและการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้  ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคือการพลิกจากสถานะที่ตนเคยเป็น “ผู้รับ” ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มาเป็น “ผู้ลงทุน” อันดับที่ 3 ของโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้ (กราฟด้านบน) ทั้งๆ ที่เมื่อสิบปีที่แล้วเป็นประเทศที่ออกไปลงทุน (สีน้ำเงิน) ไม่ถึง 2% ของ FDI ทั้งหมดในโลก  สถานะ “ผู้ซื้อโลก” ใหม่ของจีนบวกกับความสำเร็จในการก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และการที่เงินหยวนได้รับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้า SDRs ของ IMF  สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการปรับเปลี่ยนจากยุทธศาสตร์เชิงรับ “reform and opening up” สมัย เติ้ง เสี่ยวผิง มาเป็น ยุทธศาสตร์เชิงรุก “going global” และ “one belt, one road” ที่จะทำการเชื่อมจีนเข้ากับเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ผ่าน “เส้นทางสายไหมเศรษฐกิจ”

จีนปรับหางเสือไปถึงไหนแล้ว

เมื่อดูจาก “หน้าบ้าน” แล้ว จีนมีผลงานที่น่าภูมิใจในการพยายามผงาดขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นบนเวทีโลก  เศรษฐกิจเล็กใหญ่ทั่วโลกจะต้องเริ่มเรียนรู้ความสัมพันธ์แบบใหม่กับจีนซึ่งจะเริ่มมีบทบาทเป็นผู้ริเริ่มมากกว่าเป็นผู้รับ  แต่ทิศทางของจีนบนเวทีโลกท้ายสุดแล้วจะถูกกำหนดด้วยสภาพเศรษฐกิจ “หลังบ้าน” ขณะถูกปรับหางเสือ  ดังนั้นสิ่งที่ควรจับตามองต่อไปในอนาคตคือความราบรื่น คุณภาพและความเร็วในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนเอง

มองแบบกว้างที่สุดล่าสุด Moody’s ได้ทำการอัพเกรดการคาดคะเนการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2016 และ 2017 ขึ้นมาเป็น 6.6% และ 6.3% ตามลำดับ  แนวโน้มที่ดีขึ้นนั้นหลายฝ่ายมองว่ามาจากนโยบายอัดฉีดจากภาครัฐ (ที่มา: http://www.cnbc.com/2016/08/17/moodys-upgrades-chinas-economic-growth-outlook-after-stimulus.html)

หากมองลงไปให้ลึกขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ความสำเร็จของการปรับหางเสือจะต้องดูที่การขยายตัวและสัดส่วน GDP ของภาคบริการ ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่ามีความคืบหน้า เนื่องจากภาคบริการขยายตัวได้ถึง 8.3% ในปี 2015 แซงหน้าภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้างซึ่งโตแค่ 6%   (ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2016-01-28/china-trumpets-its-service-economy)  ผู้เขียนมองว่ามันเป็นสัญญานตอบสนองอุปสงค์และการบริโภคภายในประเทศที่ไม่เลวท่ามกลางสภาวะซบเซาของอุปสงค์ภายนอก อย่างไรก็ตามภาคบริการจีนซึ่งขณะนี้ครองสัดส่วนราว 50% ของ GDP ยังถือว่าห่างไกลเป้าหมายนักเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นสหรัฐฯ ที่ภาคบริการครองสัดส่วนกว่า 80% ของ GDP

อีกจุดเริ่มต้นที่ดี (แต่วัดได้ยากจากข้อมูล) คือเราได้เห็นธุรกิจเลือดใหม่มาแรงที่มีนวัตกรรมมากขึ้นตั้งแต่ด้าน IT และ ฟินเทค ไปจนถึงด้าน Biotechnology ผุดเกิดมากขึ้นในจีน  ซึ่งถือเป็นการแก้ไขจุดอ่อนของโครงสร้างเศรษฐกิจเดิมที่ผลิตภาพของการผลิตอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากขาดนวัตกรรม (แนะนำผู้ที่สนใจนวัตกรรมจีนให้ไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amazon.com/Chinas-Next-Strategic-Advantage-Innovation/dp/0262034581)

มองลึกลงไปอีกขั้นคือการดูว่าจีนกำลังก้าวสู่ยุค urbanization (ความเป็นเมือง) ได้รวดเร็วและราบรื่นแค่ไหน  การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคบริการเป็นหลักนั้นต้องการความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและแรงงานคุณภาพจากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้าน อสังหาริมทรัพย์ การประกันภัย การศึกษา สุขภาพ หรือการเงินล้วนต้องการการเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิด ไม่สามารถแยกออกไปผลิตเป็นหย่อมๆ เหมือนสมัยก่อนได้  จีนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเป็นเมืองมากขึ้น   แต่ทุกวันนี้ urbanization rate ของจีนอยู่ที่ 56%  ซึ่งถือว่ายังต่ำเมื่อเทียบกับความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนในด้านอื่นๆ ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา  คงต้องรอดูต่อไปว่าจีนจะสามารถค่อยๆ คลายระบบทะเบียนบ้าน (หู้โข่ว) ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเป็นเมืองได้ดีแค่ไหน

กล่าวโดยสรุปก็คือการปรับหางเสือของจีนนั้นเริ่มมาได้อย่างถูกทิศทางแล้ว แม้จะช้าก็ช้าเพราะว่ามันขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ใช้เวลานาน เช่นการพัฒนาทุนมนุษย์  การสลัดรัฐวิสาหกิจซอมบี้ และการเปลี่ยนจากสังคมชนบทมาเป็นสังคมเมือง  จริง ๆ แล้วการปรับหางเสือก็มีความท้าทายพออยู่แล้ว จีนยังต้องมาปรับหางเสือในขณะที่กำลังเกิดความท้าทายใหม่ๆ จากนอกประเทศมากมายที่กึ่งๆ จะบังคับให้จีนออกมาเล่นบทบาทใหม่  อดลุ้นไม่ได้จริงๆ ว่าหมากต่อไปของ สี จิ้นผิง กับ หลี่ เค่อเฉียง จะเป็นอย่างไรครับ

 

การเมือง จีน ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ สหรัฐฯ เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up