พักหลังนี้มีคนคิดชื่อแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ขึ้นมามากมายหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น Abenomics (วิทยายุทธอัดฉีดเงินเข้าเส้นเลือดซามูไร) Bernankenomics (วิทยายุทธพิมพ์เงินจากอากาศในฝั่งอเมริกา), Draghinomics (วิทยายุทธบาซูก้ายักษ์ในยุโรป), Freakonomics (podcast และหนังสือชื่อดัง), Pharmacoeconomics (เศรษฐศาสตร์ของยารักษาโรค), Shophousenomics (ie. เศรษฐศาสตร์ในห้องแถว) และ Thaksinomics (ทักษิโณมิกส์ในบ้านเรา)
น่าแปลกใจที่ยังไม่ค่อยมีคนเขียนเรื่อง “Buddhanomics” หรือแปลเป็นไทยคือ “เศรษฐศาสตร์ในมุมมองของพระพุทธเจ้า” มองเผินๆ “เศรษฐศาสตร์” กับ “พุทธศาสนา” ดูเป็นสองคำที่มีความแตกต่างกันจนไม่น่าจะเอามาเขียนข้างกันได้ แต่ที่จริงแล้วทั้งสองมีหลักแนวคิดที่ต่อเติมกันได้ดีอย่างที่เราคาดไม่ถึง
บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงความเหมือนในความแตกต่างระหว่าง “เศรษฐศาสตร์” กับ “พุทธศาสนา”
สิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างสองแนวคิดนี้คือการนำเสนอ “หลักปฏิบัติ” และ “หลักความคิด” ที่สามารถทำให้คนเรามีชีวิตที่ “ดี” ขึ้นท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา
แนวคิดที่ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวกับการสร้างความมั่งคั่งของประเทศและการสร้างกำไรอย่างฟู่ฟ่าอย่างเดียวนั้นถือว่าเป็นการตีความที่ผิด เพราะว่ารากฐานที่แท้จริงที่อยู่ในเกือบทุกอณูของวิชานี้คือ การมองว่าในโลกเรามีมนุษย์ที่ “rational” (นิยามจริงซับซ้อนกว่านี้มากแต่เอาง่ายๆ คือรู้เหตุรู้ผล) ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องตัดสินใจ “เลือก” ทางเลือกต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตให้ดีที่สุดเพื่อที่จะ maximize utility ของเขา (คำว่า utility หรือ “อรรถประโยชน์” นั้นถูกตีความแบบกว้างๆ abstractๆ ไม่ได้แปลว่าความสุขเสมอไป) นอกจากนั้นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้เน้นว่ายิ่งผลิตมากๆ บริโภคมาก ๆ จะดีที่สุดเสมอไปอีกด้วย ดังนั้นที่จริงแล้วแก่นแท้ของวิชานี้จะอยู่ที่การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกต่างๆ ในชีวิตและต้องเลือกเส้นทางเหล่านั้นด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดต่างหาก
ในขณะเดียวกัน แก่นแท้ของพุทธศาสนานั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับแค่การสอนให้คนเราอดอยาก (น่าประหลาดที่มีคนตะวันตกจำนวนไม่น้อยที่คิดเช่นนี้) ให้เราใช้ชีวิตอย่างติดดินสุด ๆ หรือให้คนเราประหยัดอย่างเกินไปเหมือนกัน พุทธศาสนาที่ผมเข้าใจไม่ได้สั่งสอนให้คนบริโภคให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (และพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ทดลองอดอยากให้พวกเราเห็นแล้วด้วยว่ามันไม่เวิร์ค!)
ที่จริงแล้วคำสอนหลักๆ ของพุทธศาสนากลับจะเป็นการสอนให้คนเราใช้ชีวิตอย่างไรให้ไม่ทุกข์ต่างหาก หากมองจากมุมมองเศรษฐศาสตร์คำสอนเหล่านี้เป็นการชี้ให้เห็นวิธีการ
บริโภคชีวิตอย่างไรให้ถึงจุดที่พอและไม่ทุกข์ พูดง่าย ๆ ก็คือ…ด้วยสิ่งที่เรามีในชีวิตและสถานการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา เราจะเลือกเส้นทางไหนถึงจะลดความทุกข์ได้มากที่สุดนั่นเอง
พระพุทธเจ้าท่านสมควรได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์เป็นคนแรก (เสียดายอัลเฟรด โนเบล ยังไม่เกิด) เพราะว่าท่านน่าจะเป็นผู้ที่ค้นพบ Law of Marginal Diminishing Utility และวิธีหาหลักการบริโภคที่ optimal ที่สุดให้กับมนุษย์ได้เป็นคนแรก
ในวิชาเศรษฐศาสตร์ หลักเกณฑ์ยอดนิยมในการหาปริมาณในการผลิตและการบริโภคที่ดีที่สุดนั้นมักจะมาจากการเทียบสองสิ่งที่เรียกว่า:
ในกรณีที่ทั้งชีวิตเรามีสิ่งให้บริโภคแค่สิ่งเดียว…เมื่อ MB = MC แปลว่าเราได้ผลิต/บริโภคของบางอย่างมามากพอถึงจุดที่ optimal ที่สุดแล้ว (ถ้าไม่เชื่อผม ลองนึกดูนะครับว่าถ้าเราผลิต/บริโภคถึงจุดที่ MB>MC มันก็แปลว่าเรายังสามารถผลิต/บริโภคเพิ่มได้อีกโดยที่ MB ยังมากกว่า MC…ทำไมไม่ผลิตหรือบริโภคอีกหน่อยให้คุ้มที่สุด?….ในอีกสถานการณ์กลับกัน หากเรากำลังผลิต/บริโภคถึงจุดที่ MB<MC มันก็แปลว่าเราควรที่จะลดปริมาณการผลิต/บริโภคสิ่งๆ นี้เพราะว่าผลดีที่ได้จากการผลิต/บริโภค (MB) ของหน่วยที่แล้วมันไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย (MC) ของมัน)
ยกตัวอย่างในชีวิตจริงบ้าง…ในชีวิตประจำวันนั้นเรามี “เส้นทาง” ให้เราบริโภคกิจกรรมและสิ่งของเป็นล้าน ๆ เส้นทางในทุกวินาทีของชีวิตไม่ว่าจะเป็น การตัดสินใจกินข้าว หายใจ ดื่มน้ำเปล่า ดื่มน้ำผลไม้ อาบน้ำ ออกกำลัง กินโค้ก เลี้ยงลูก ไปทำงาน นั่งพัก ไปเที่ยว ฯลฯ ด้วยทรัพยากรที่จำกัด (เวลา..เงิน แรงกาย แรงใจ)
รูปแบบการใช้ชีวิตที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือรูปแบบที่สัดส่วนของ MB กับ MC ของแต่ละสิ่งของหรือกิจกรรมมันเท่ากันหมด (จะทำแบบนี้ได้ก็แปลว่าคุณต้องสามารถแปลประโยชน์และโทษให้เป็นเงินตราเพื่อนำมาเทียบกันให้หมดได้)
รูปด้านบนสื่อให้เห็นจุดที่เรียกว่า “โอ้ว้าว…เราได้มาถึงจุดบริโภคที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว” จุดนี้อาจจะเป็นจุดหมายที่เรียกว่า “การนิพพาน” ในสาขาเศรษฐศาสตร์ก็เป็นได้…เพราะว่ามันยากเหลือเกินที่มนุษย์เราจะสามารถเปลี่ยนทุกความรู้สึกให้มาเป็นสกุลเงินเดียวกันและวิเคราะห์คำนวนได้อย่างแม่นยำในทุก ๆ ห้วงเวลาว่าเรากำลังบริโภคเส้นทางต่างๆ ในชีวิตได้อย่างดีที่สุดแล้ว
แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวังนะครับชาวพุทธทั้งหลาย…
เพราะนี่คือจุดที่คำสอนหลัก ๆ ในพุทธศาสนาสามารถเข้ามาช่วยให้มนุษย์เรามีพฤติกรรมในการบริโภค/ผลิตที่ดีขึ้นได้!!
“มัชฌิมาปฏิปทา” หรือที่เรารู้จักกันว่า “ทางสายกลาง” นั้นสามารถช่วยให้มนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ๆ พอที่จะเข้าใกล้จุด optimal ด้านบนได้อยู่บ้าง
จริง ๆ แล้ว “มัชฌิมาปฏิปทา” มีหลายความหมาย แต่หนึ่งในความหมายคือ เราควรจะรู้จักประมาณ ไม่ควรมีพฤติกรรมสุดโต่ง เอาแต่พอดี ซึ่งความหมายนี้มีความสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ MB กับ MC ด้านบนอย่างดีเยี่ยม
ลองนึกดูว่าสมมุติเราอยู่ดี ๆ เกิดสำนึกขึ้นได้ว่าเราทำงานหนักมากเลยในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา…ทำงานหนักมากเสียจนอีกหนึ่งชั่วโมงของการทำงานต่อไปจะทำให้สัดส่วน MB/MC ของการทำงานเริ่มไม่คุ้มแล้วเมื่อเทียบกับสัดส่วน MB/MC จากการพักผ่อน…
นั่นก็คือ ที่ผ่านมาชีวิตเราสุดโต่งเกินไป ทำงานมากเสียจนเลยจุดที่ “คุ้ม” ไปแล้วนั่นเอง
ในทางกลับกัน สมการข้างบนอาจจะกลับข้างก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเศรษฐกิจดี งานดี รายได้ดี การที่สัดส่วน MB/MC จากการทำงานมันจะเพิ่มขึ้นมามากกว่าสัดส่วน MB/MC จากการพักผ่อนก็เป็นไปได้ในชีวิตจริง อีกทั้งยังมีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเวลาเศรษฐกิจดีขึ้นสุขภาพคนแย่ลง ออกกำลังน้อยลงก็มี
แล้วจะทำอย่างไรดีเมื่อสัดส่วน MB/MC ไม่เท่ากันระหว่างสองกิจกรรมในสมการด้านบน ทั้งหลักเศรษฐศาสตร์และมัชฌิมาปฏิปทาเห็นตรงกันและบอกให้คนเราบริโภคการทำงานให้น้อยลงและหันไปบริโภคการพักผ่อนมากขึ้น ทำเช่นนั้นสักพักแล้วสัดส่วน MB/MC ของทั้งสองกิจกรรมก็จะกลับมาเท่ากันได้
***สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมคนเราบริโภคเยอะ ๆ ไปเรื่อย ๆ หรือทำไมการมีเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงไม่ดีที่สุด คำตอบอยู่ที่กฎของเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Law of Diminishing Marginal Utility ที่บอกว่าการผลิตหรือการ enjoy กิจกรรมหรือวัตถุนั้นจะให้อรรถประโยชน์กับเราได้ด้วยอัตราที่น้อยลงเรื่อย ๆ คล้าย ๆ กับการที่เราไปกินบุฟเฟ่ต์ เราได้ความสุขจากการกินจานถัด ๆ ไปน้อยกว่าการกินจานแรก ๆ มาก และเราจะหยุดกินเมื่อเรารู้สึกแล้วว่ากินคำต่อไปแล้วเริ่มทุกข์มากกว่าสุข อีกหนึ่งตัวอย่างคือเวลาเราดื่มน้ำอัดลมเวลากระหาย อึกแรกรู้สึกชื่นมื่นมากกว่าอึกท้ายขวดมาก***
การที่เราจะสามารถกำหนดรูปแบบของการบริโภคในชีวิตประจำวันให้มัน optimal ที่สุดอย่างด้านบนนั้นมีความจำเป็นที่เราจะต้องทราบลักษณะของ utility function ของเรา (ว่าเราได้ utility มาเพราะเหตุใด ต้องบริโภคอะไรเท่าไหร่ ในอัตราใด) และต้องรู้ด้วยว่ามีทางเลือกใดบ้างที่เปิดกว้างให้เราเลือกได้ในทุก ๆ ห้วงเวลา ไม่เช่นนั้นเราจะคำนวนไม่ได้เลยว่าสัดส่วนการบริโภคกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถทำได้ในขณะนี้มันดีที่สุดแล้วหรือยัง
หลายคนคงคิดออกได้ง่าย ๆ ว่าชีวิตที่ดีน่าจะมีองค์ประกอบหลัก ๆ เช่น สุขภาพที่ดี อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม ครอบครัว เป็นต้น แต่การที่เราจะเข้าใจ utility function ของเราได้อย่างครบถ้วนที่สุดนั้นน่าจะเป็นอะไรที่ยากมาก ๆ แถม utility function นั้นอาจเปลี่ยนไปได้ทุก ๆ วินาที ทุก ๆ ครั้งที่เราอารมณ์บ่จอย ทุก ๆ ครั้งที่เราป่วยก็เป็นได้
ผมมองว่าพระพุทธเจ้าท่านก็เข้าใจว่าการที่คนธรรมดาจะสามารถ “ตรัสรู้” utility function ได้ด้วยตัวเองมันลำบากและอาจจะเหลือล้นเกินปัญญาและข้อจำกัดของมนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ๆ มิหนำซ้ำ การ maximize utility อาจไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของชีวิตด้วยซ้ำไป
ผมมองว่าการที่พระพุทธเจ้าท่านพยายามให้พวกเราละกิเลสตัณหาที่ทำให้เกิดการกระวนกระวายใจและทุกข์นั้นเป็นการ simplify โจทย์ชีวิตอันยุ่งเหยิงโจทย์นี้
ท่านคิดว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามรู้ถึงลักษณะของ utility function ก็ได้ แต่การให้มนุษย์ละกิเลสและเข้าใจคอนเซ็ปต์สำคัญ ๆ เช่น อนัตตา (ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน) การปล่อยวาง ฯลฯ นั้นน่าจะทำให้มนุษย์เราก้าวไปข้างหน้าได้ดีกว่าพยายามกระเสือกกระสน maximize utility ของตัวเองในรูปแบบที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะคิด
หากเราเชื่อในเรื่องของการกลับชาติมาเกิด จะมีอีกกี่ utility function ที่เราจะต้องพยายามเข้าใจในทุก ๆ ชาติ ? และจะมีอีกกี่ทางเลือกชีวิตให้เลือก ? ขนาดเกิดเป็นมนุษย์มีสมองดีๆ ยังเข้าใจชีวิตลำบาก หากเกิดเป็นแค่แมลงตัวหนึ่งจะเข้าใจ utility function แบบแมลง ๆ และพยายาม maximize มันได้หรือ ?
นั่นก็อาจจะแปลว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้โจทย์ชีวิตอันยุ่งเหยิง “ง่าย” ขึ้นจม (ถึงแม้ว่าการละกิเลสตัณหาอาจจะฟังดูยากแต่ผมว่ามันยากเท่ากับการนั่งตรัสรู้ utility function ของตัวเองแน่ ๆ)
หรือมองในอีกแง่มุม คำสอนของพระพุทธเจ้าอาจจะเป็นการบอกใบ้ให้กับนักเศรษฐศาสตร์และคนรุ่นหลังว่าจงอย่าเสียเวลาพยายาม maximize utility ของตนเองเลย เพราะนอกจากจะเป็นไปไม่ได้แล้วยังอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการอีกด้วย คนเรายังไงก็หนีเกิดแก่เจ็บตายไม่ได้ หนีกฎแห่งกรรมไม่ได้ (อันนี้เป็น axiom นึงในพุทธศาสนา) เราไม่มีทางรู้ได้อยู่ดีว่าถึงแม้ว่าเราสามารถ maximize utility ของเราได้แล้วจริง ๆ รูปแบบการบริโภคที่ optimal ของเรามันจะไปกระทบคนอื่นและจะมามีผลต่อการชดใช้กรรมของเราแค่ไหน ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัว….
ยิ่งไปกว่านั้น….ตามหลักพุทธแล้วที่จริงแล้วไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่เป็นของเรา ตัวเรานั้นไม่ใช่ของเรา utility function ของเราจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่ของ ๆ เรา จะมาพยายาม maximize กันทำไม สู้ทำตามลู่ทางที่ท่านวางไว้ไม่ดีกว่าหรือ ?
ในขณะที่แนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์เสนอวิธีตอบโจทย์ชีวิตที่ยากเหนือมนุษย์ แนวคิดแบบพุทธศาสนาช่วยเสนอคำตอบที่สวยงาม เรียบง่าย และน่าจะอยู่ในเอื้อมมือของเราได้มากกว่า
นี่สินะที่สิ่งที่สมควรเรียกว่าเศรษฐศาสตร์ขั้นเทพ
ชอบอ่านมากกกก อ่านแล้ว ตกใจคะ ว่าตัวเราเอง รู้ น้อยมากๆ ขอบคุณที่ดปิดสมอง ให้คิดคะ
ยินดีครับ 🙂 อยากติชม ชอบแนวไหนยังไง comment มาได้เสมอครับ
ชอบบทความนี้มากๆเลยค่ะ^^
ขอบคุณมากๆสำหรับทุกบทความดีๆนะคะ
เป็นกำลังใจให้ค่ะ 🙂
article น่าสนใจมากครับ อธิบายและยกตัวอย่างไดด้เข้าใจง่ายและน่าอ่าน แล้วผมก็เห็นด้วยกับความคิดที่ overlap กันระหว่างศาสนากับ หลักการณ์ด้านเศรฐศาสตร์ แต่ผมเห็นว่า function ของ marginal utlity theory มันออกจะ limited ไปหน่อยในการอธิบายพฤติกรรมของคน เพราะ utility theory เป็นเพียงการอธิบายการแสวงหาความสุแบบระยะสั้นจากการใช้ product เพียงเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถมาใช้อธิบายการใช้ความสุขที่ได้รับในระยะยาวได้ ผมเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าพุธทสานาอาจจะมาแก้ให้คนไม่คิดมากและอยู่อย่างมีความสุขในระยะยาวซึ่งก็จะทำให้ total utlity มากขึ้นอยู่ดี เพราะฉนั้นการที่ผู้เขียนกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้อง maximise utility ของตนเอง based จากความคิดทางพุทธศาสนาจึงอาจจะเป็นสิ่งที่ผิด ผมมองว่าพุธทศาสนาสอนวิธีที่ maximise utility ได้ดีกว่าด้วยซ้ำทำยังไงให้ ได้ marginal utlity ได้มากขึ้น ผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไรครับ
น่าสนใจมากๆเลยครับ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ 😀
อ่านบทความแล้วได้ทั้งความรู้และแนวคิดผนวกความเป็นวิทยาศาสตร์ และความจริงในโลก ขอบคุณที่เขียนบทความดี ดี ให้อ่านค่ะ
ตามหลักพุทธแล้ว utility function เปลี่ยนทุกขณะจิตเลยด้วยนะ ไม่ต้องรอชาติหน้า เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
ดังนั้น maximize ไปทำไม ให้ปวดหัว 5555
ชอบย่อหน้าท้ายๆ จังเลย
อ้อ ฝากลิ้งค์นี้ด้วยค่ะ อ่านแล้วเห็นมุมมองของพระพุทธเจ้ากับระบบเศรษฐกิจนะ
http://www.dhammawiki.com/index.php?title=Mixed_economy