menu Menu
ทำไม "บิทคอยน์" ถึงรุ่งในเศรษฐกิจที่กำลังพัง?
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Driven-by-data on June 5, 2017 0 Comments 27 words
สำรวจ Weekend Effect ในตลาดหุ้นไทยด้วยข้อมูลรายวัน Previous รู้จักกับนโยบายแจกเงิน: Universal Basic Income Next

เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เงินดิจิตอลสกุล “บิทคอยน์” ฟังดูเหมือนแค่ของเล่นที่พวกคลั่งคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่จะซื้อเก็บไว้

เหตุผลหลักๆ คือหลายคนไม่เข้าใจว่าเงินที่จับต้องไม่ได้มันจะเป็น “เงิน” ได้อย่างไร  ใครจะไปรับ และมันจะล่มหรือไม่ เพราะ บิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่ไม่มีรัฐบาลหรือธนาคารกลางคอยดูแล  จะไปอยู่รอดบนโลกที่ขนาดสกุลเงินปกติบางสกุลยังแทบจะเอาตัวไม่รอดได้อย่างไร

ในช่วงแรกๆ นั้นโปรแกรมเมอร์ชาวอเมริกันคนหนึ่งได้ “ประเดิม” การใช้บิทคอยน์เพื่อซื้อของบนโลกจริงโดยการจ่ายเพื่อนบนเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งไป 1 หมื่น BTC เพื่อแลกกับพิซซ่าสองถาด  ทุกวันนี้ บิทคอยน์ก้อนที่เอาไปแลกกับพิซซ่าแสนอร่อยสองถาดนั้นมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านดอลลาร์แล้ว (เข้าไปอ่านความฮาในกระทู้จริงได้ที่นี่)

วันนี้ราคาของบิทคอยน์ได้พุ่งขึ้นจากความไร้ค่าถึงราว 2500 ดอลลาร์ ต่อ 1 BTC  ร้านค้าและธุรกิจใหญ่ๆ เริ่มรับบิทคอยน์กันอย่างเป็นทางการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Microsoft  เว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม Expedia ร้าน Bic Camera ที่พวกเราชอบไปเที่ยวในญี่ปุ่น แม้กระทั่งร้านอาหารบางร้าน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวไทยลิ้มเหล่าโหงว

แม้ว่าทุกวันนี้บิทคอยน์ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับชีวิตคนธรรมดา และคนส่วนมากยังไม่เห็นคุณค่าของมันในฐานะของ “เงิน” ที่มั่นคง  บทความนี้จะพาผู้อ่านไปดูกรณีพิเศษที่บิทคอยน์กลับเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับหลายคนในประเทศเวเนซุเอลา

**สำหรับผู้อ่านที่ต้องการข้อมูลปูพื้น บิทคอยน์แบบคร่าวๆ เชิญกดดูได้ที่นี่ครับ**

มองบิทคอยน์ในฐานะของเงิน

หากย้อนดูในประวัติศาสตร์ เงินที่ปกติไร้ค่า (แผ่นกระดาษ เปลือกหอย ฯลฯ) จะเป็นเงินได้ก็เพราะว่าคนเราเชื่อมั่นในคุณค่าของมัน

“คุณค่า” ในที่นี้นักเศรษฐศาสตร์มองมันผ่าน 2 มิติหลักๆ หนึ่งคือมันคงคุณค่าได้ดีแค่ไหน (store of value) และ สองคือเราใช้มันจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกแค่ไหน (transaction)

ณ ตอนนี้สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเศรษฐกิจที่มีระบบการเงินที่มั่นคงบิทคอยน์ที่เป็นเงินดิจิตอลอันดับหนึ่ง (มี market share ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดเงินดิจิตอลทั้งหมด) ยังแพ้เงินสกุลหลักๆ ในทั้งสองมิติ

coindesk-bpi-chart (2)

ในมิติแรก (store of value)  แม้ว่าโดยโครงสร้างของบิทคอยน์จะทำให้มันมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ตามจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต (จะมีบิทคอยน์อยู่ในระบบแค่ 21 ล้าน BTC เท่านั้น ไม่มีการเพิ่ม) คนส่วนใหญ่ยังคิดว่ามันมีความเสี่ยงมากเกินไป  ความเสี่ยงที่ว่านี้มีร้อยแปด ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการถูก hack กระเป๋าเงินดิจิตอล หรือ ความเสี่ยงจากการเดินหมากของรัฐบาลในแต่ละประเทศ  อีกทั้งราคา (ค่าเงินเทียบกับสกุลอื่น) ของบิทคอยน์ก็ยังมีความผันผวนมาก ต้นปีที่ผ่านมามันเคยอ่อนค่าลงได้ถึง 30% ภายในแค่อาทิตย์เดียว  ดูกราฟราคาบิทคอยน์ด้านบนแล้ว ถ้าไม่บอกว่าเป็นบิทคอยน์อาจหลงคิดว่าเป็นค่าเงินที่ผ่านวิกฤตค่าเงินมาก็เป็นได้

ในมิติที่สอง (transaction) แม้ว่าการใช้เงินดิจิตอลจะมีข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีกว่าวิธีชำระเงินปกติหลายข้อ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าการรูดบัตรเครดิตหรือการตัดพ่อค้าคนกลาง (ธนาคารหรือธุรกิจแลกเงิน) ความเป็นจริงคือทุกวันนี้ร้านค้าส่วนมากทั่วโลกก็ยังไม่รับบิทคอยน์และประชากรส่วนใหญ่ก็ยังไม่ตื่นตัวพอที่จะพร้อมใช้มัน

Everything is Relative

Tear_gas_used_against_protest_in_Altamira,_Caracas;_and_distressed_students_in_front_of_police_line

แต่ก็ใช่ว่าเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์จะต้องเป็นรองเงินสกุลที่รัฐดูแลในทุกกรณีไป

หากเราไปถามผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจกำลังมีปัญหารุนแรง  สถาบันการเงินไม่แข็งแรง หรือ ประชาชนยังไม่ค่อยมีบัญชีธนาคาร  สกุลเงินดิจิตอลอย่างบิทคอยน์กลับเป็นทางเลือกที่ไม่เลวจริงๆ

เพื่อนที่มาจากประเทศเวเนซุเอลาคนหนึ่งบอกกับผมอย่างหมดหวังว่าประเทศเขากำลังพังพินาศ  บ้านเมือง (และคน) กำลังลุกเป็นไฟ อาหารหมดซุปเปอร์ ออกไปข้างนอกหลังพระอาทิตย์ตกไม่ได้ เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับน่าเป็นห่วงมาก ในตลาดมืดแถบชายแดนอัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้คือราวๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 6,000  โบลิวาร์เวเนซุเอลาแล้ว เทียบกับแค่ 1 ต่อ 400 เมื่อสองปีก่อนหน้านี้

ที่น่าสนใจคือตั้งแต่วิกฤตที่เวเนซุเอลาปะทุขึ้น  จำนวนผู้ใช้บิทคอยน์จากเวเนซุเอลาเพิ่มขึ้นจากไม่กี่ร้อยเป็นเกือบแสน

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าพวกเขาสูญเสียความเชื่อมั่นในเงินสกุลของตัวเอง  เขาต้องการเอาทรัพย์สินออกจากสกุลเงินที่ไร้ค่าขึ้นทุกวี่ทุกวัน  การแลกเก็บเป็นเงินสดในสกุลดอลลาร์ซ่อนไว้ที่บ้านก็ไม่ปลอดภัยนักในเวเนซุเอลา (ตั้งแต่ก่อนวิกฤตนี้แล้ว)  และถึงแม้บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟก็ยังมีความจำเป็นต้องซื้อของใช้ประจำวันที่เกลี้ยงตลาด  การเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบนี้วิธีหนึ่งคือการเอาเงินโบลิวาร์ไปแลกเป็นบิทคอยน์(ผ่านมือถือหรือไม่ก็ตัวต่อตัว) และเอาบิทคอยน์ไปซื้อบัตรของขวัญ Amazon.com จากเว็บไซต์ Third-party จากนั้นสั่งของใช้นำเข้ามาจากสหรัฐฯ  ส่วนอีกวิธีที่ไม่หลายต่อเท่าคือโอน Bitcoin ฝากเพื่อนหรือญาติในประเทศเพื่อนบ้านให้เขาส่งของใช้มาให้  ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่ไม่ต้องง้อรัฐหรือระบบการเงินที่กำลังสั่นคลอน

ในกรณีแบบนี้ Bitcoin ชนะเงินสกุลหลักขาดในทั้งสองมิติ  มันคงคุณค่าได้ดีกว่าแผ่นกระดาษที่เอาไปชั่งกิโลขายยังได้อะไรมากกว่า  ปลอดภัยกว่าการเก็บทรัพย์สินในรูปแบบอื่น และอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่ขาดตลาด (และมีของแถมคือเวเนซุเอลาอุดหนุนค่าไฟ บิทคอยน์จึงมีความน่าดึงดูดในสายตาของนักขุดด้วย ทั้งๆ ที่เสี่ยงถูกจับ)  สะท้อนให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนบางกลุ่มจะเริ่มเชื่อมั่นและหันไปใช้เงินสกุลใหม่ที่ตนเองเพิ่งทำความรู้จักไปหมาดๆ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน

จึงเป็นเรื่องน่าคิดอย่างยิ่งว่าในอนาคตเมื่อฐานผู้ใช้เงินดิจิทัลอย่าง บิทคอยน์ มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเกิดสกุลดิจิทัลใหม่ๆ ที่ไร้จุดบอดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ได้เรียนรู้จากการล้มหายตายจากของสกุลที่ดีไซน์มาได้ไม่ค่อยดี  เราจะได้เห็นวันที่เงินดิจิทัลสามารถ “ตีตื้น” สกุลเงินปกติในเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีปัญหาเหมือนเวเนซุเอลาหรือไม่

Bitcoin ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ บิทคอยน์ เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up