ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาคำว่า “ฟินเทค” กลายเป็นคำพูดที่ติดหูที่สุดในแวดวงการเงินทั่วโลก จากเดิมที่คนเราคุ้นเคยกับการเดินทางไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร ตอนนี้การทำธุรกรรมที่ปลายนิ้วโดยไม่ต้องเจอใครเลยจากทุกที่บนโลก (และบางทีไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ) กำลังจะกลายเป็น new normal สำหรับผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อย
แม้ว่าธนาคารใหญ่ๆ หลายเจ้าจะเริ่มไหวตัวกันแล้วบ้างแล้ว เช่น เริ่ม digitize ข้อมูลและระบบเดิมมากขึ้นหรือเริ่มทำ mobile banking ก็ยังถือว่าเป็นการปรับตัวที่เชื่องช้ามากเมื่อเทียบกับไอเดียและความคิดที่กำลังถูกปรุงแต่งโดยทีมสตาร์ตอัพฟินเทคใหม่ๆ
จึงเกิดคำถามขึ้นว่าธนาคารยุคเก่าที่เราคุ้นเคยกันจะอยู่รอดอย่างไรท่ามกลางคลื่นลูกใหม่ที่กำลังรุกรานถิ่นเก่าการเงินนี้
บริการและการอำนวยความสะดวกที่สตารตอัพฟินเทคกำลังสร้างอยู่ในขณะนี้ เมื่อสำเร็จแล้วส่วนใหญ่มักเหนือกว่าสิ่งที่ธนาคารยุคเก่าทำได้ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนในการทำธุรกรรม (ทั้งสำหรับธนาคารเองและสำหรับลูกค้า) การเสริมคุณภาพบริการแนะนำการลงทุนแบบ robo advisor ไปจนถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นการรองรับเงินฝากเป็น cryptocurrency หรืออำนวยความสะดวกให้ลงทุนใน cryptofunds อย่างที่ธนาคารดิจิทัลดาวรุ่งอย่าง Bankera (www.bankera.com) พยายามจะทำ ดูจากเทรนด์ AI กับเทรนด์ voice command ที่ไปไกลมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ มีโอกาสสูงที่จะเกิดบริการแนะนำทางการเงินหรือ personal finance assistant แบบเดียวกับที่ Alexa ช่วยลูกค้า Amazon ซื้อของ
ผู้เขียนมองว่าในอนาคตธนาคารยุคเก่าไม่มีทางเลือกอื่นมากนักนอกจากค่อยๆ ปรับตัวให้กลายเป็นธนาคาร hybrid ที่มีทั้งบริการยุคเก่าและมีบริการยุคใหม่ ควรรับทั้งเงินสกุลปกติและสกุลดิจิทัลเมื่อมีกฎหมายรองรับ เนื่องจากบริการใหม่ๆ ในยุคฟินเทคและเงินดิจิทัลมีจุดเด่นที่สามารถรุกรานจุดยืนของธนาคารยุคเก่าได้แทบทุกจุด มันขึ้นอยู่กับแค่เวลาและการเปิดรับของภาครัฐ
จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าธนาคารไหนจะปรับทิศทางอย่างไรและด้วยความเร็วแค่ไหน เพราะทุกวันนี้ระบบหลักในธนาคารจำนวนมากก็ยังคงมีรากลึกมาจากเทคโนโลยียุคก่อนอินเตอร์เน็ต (pre-internet technology) การปรับตัวครั้งนี้จึงยังเป็นไปได้อย่างค่อนข้างล่าช้า
สองสิ่งที่ธนาคารยุคเก่ามีเหนือกว่าแบบเห็นๆ คือฐานลูกค้าที่กว้างและความเชื่อมั่นในแบรนด์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาหลายสิบปี
บางสตาร์ตอัพฟินเทคสามารถระดมทุนมหาศาลได้อย่างว่องไวก็จริง แต่สิ่งที่ท้าทายกว่ามากคือการสร้างฐานลูกค้า mainstream ที่แผ่กระจายไปทั่วประเทศอย่างที่ธนาคารยุคเก่าเคยทำสำเร็จ
หลายไอเดียที่ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ แม้ฟังดูเหมือนว่าจะสามารถเข้า disrupt อุตสาหกรรมการเงินได้ ต้องยอมรับว่ามันยังอยู่ในช่วงพิสูจน์ตัวเอง คนส่วนมากนอกวงการยังไม่รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ Paypal ที่ทุกวันนี้เป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางก็ยังต้องใช้เวลานานเกินสิบปีกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เงินดิจิทัลที่สร้างความฮือฮากันมากทุกวันนี้เองก็มีการคาดไว้ว่ามีผู้ใช้งานจริงๆ ไม่ถึง 4 ล้านรายทั่วโลก (http://www.cam.ac.uk/research/news/study-highlights-growing-significance-of-cryptocurrencies)
หากดูจากประสบการณ์ของ Paypal จะทราบได้ว่าเทคโนโลยีดี โมเดลธุรกิจดี ไม่พอในการผงาดในโลกการเงิน ต้องมีการสร้างแบรนด์ที่ผู้ใช้งานเชื่อมั่นด้วย กลับกันธนาคารยุคเก่ามีทั้ง reach (ถึงแม้จะเป็น reach ที่โลเทคกว่า) และมีทั้งแบรนด์
และการมีฐานลูกค้าที่ใหญ่กว่าแปลว่ายังมีโอกาสใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้มากกว่าด้วย เนื่องจากสามารถเก็บข้อมูลได้ปริมาณและหลายมิติกว่ามาก
เราเริ่มเห็นการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ใน 3 ด้านใหญ่ๆแล้ว ก็คือ ในด้านของการตลาด ในด้านของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และในด้านของการบริหารความเสี่ยง
ในด้านการตลาดนั้นข้อมูลที่ปกติธนาคารมีอยู่แล้วจะช่วยให้ธนาคารตอบโจทย์และมัดใจกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ดีขึ้น เปิดโอกาสรุกตลาดใหม่มากขึ้น ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานนั้นก็เริ่มมีการใช้ HR Analytics มาปรับปรุงความกระชับและความสามารถของแรงงานในธนาคาร หรือใช้ข้อมูลภายในดูว่าผลิตภัณฑ์ไหนก่อให้เกิดกำไรมากที่สุด แต่ที่ดูเหมือนจะใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ผู้เขียนคิดว่าคือการใช้ข้อมูลขนาดยักษ์เพื่อบริหารความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงในเชิงของสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคาร และความเสี่ยงที่มาจากการทุจริตหรือการหลอกลวงที่อาจคุกคามความปลอดภัยและความมั่นใจในแบรนด์ของลูกค้า
สุดท้ายนี้ผู้เขียนคิดว่าจริงอยู่ว่าธนาคารยุคเก่าจะยังปรับตัวเข้ากับยุคฟินเทคได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากการปรับตัวมีความเสี่ยงและมันปรับตัวกันไม่ได้ง่ายๆ แต่ต้องไม่ลืมว่าเขาออกตัวก่อนมานานมาก ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้จึงเป็นช่วงสำคัญที่น่าคอยจับตาดูว่าธนาคารไหนจะสามารถใช้ประโยชน์จากการออกตัวก่อนนี้ได้มากที่สุดครับ
Big Data Bitcoin ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ธนาคาร ฟินเทค เศรษฐศาสตร์
Recent Comments