เคยสงสัยไหมว่าใครเป็นใครในปี ค.ศ. 1 ? รู้ไหมว่าประเทศอิรักเคยมั่งคั่งกว่าหลายประเทศในยุโรป ? ยิ่งไปกว่านั้น ยังจำวันที่เมืองไทยกับเกาหลีไต้มีระดับความกินอยู่พอ ๆ กันได้ไหม?
โพสนี้นำข้อมูลที่น่าสนใจจาก The Maddison Project มานั่งวิเคราะห์เล่น ๆ อีกทีหนึ่ง โดยโปรเจคนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2010 เมื่อเพื่อนร่วมงานของศาสตราจารย์ Angus Maddison หลายต่อหลายคนได้มาช่วยกันศึกษาสืบค้นข้อมูลผลผลิตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่พระเยซูมีอายุครบ 1 ปี (ค.ศ. 1) จนถึงปัจจุบัน งานชิ้นนี้จะไม่มีทางทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว แต่นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ช่วยกันทำเพื่อสานต่องานวิจัยของศาสตราจารย์ Maddison หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 2010
ศาสตราจารย์ Maddison เชื่อว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ขึ้นมาเฉย ๆ มันต้องมีเบื้องหลัง ต้องมีปัจจัยทางประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่เสมอ จุดเด่นของศาสตราจารย์ Maddison ก็คือความมุ่งมั่นของท่านที่จะหาคำตอบ วัดความเป็นอยู่ในอดีต และอธิบายความเจริญรุ่งเรืองที่แตกต่างกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลกโดยใช้ข้อมูลจากทุกแหล่งที่หาได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานแปลก ๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์สมัยนี้จะไม่ไปยุ่ง เช่น ข้อมูลการจดบันทึกมรดกเฟอร์นิเจอร์ที่ตกทอดกันมาในครอบครัวอังกฤษ หรือแม้กระทั่งข้อมูลจากภาพเขียนราคาแพงในสมัยก่อน
น่าเศร้าที่ศาสตราจารย์ Maddison ไม่อยู่แล้ว เพราะว่าการคำนวน GDP per capita (รายได้ต่อหัว/ความเป็นอยู่ของประชากร) ในยุคโบราณที่ไม่ค่อยมีหลักฐานนั้นทำได้ยาก การเทียบค่า GDP ระหว่างแต่ละประเทศในสมัยนั้นก็ทำได้ลำบากเนื่องจากแต่ละประเทศมี consumption basket ที่ต่างกันเกินไป (ยกตัวอย่าง เช่น ชาวสเปนสมัยมั่งคั่งสุด ๆ จะบริโภคสิ่งที่ไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ชาวเวียดนามบริโภคเลยแม้แต่น้อย) แต่โชคดีที่ตอนนี้ข้อมูลในโปรเจ็คนี้ได้พัฒนาความแม่นยำขึ้นมากพอสมควรหลังจากการมีการช่วยเหลือกันจากนักเศรษฐศาสตร์หลายคนทั่วโลก ผมคัดเอาข้อสังเกตที่น่าสนใจมาให้ชมกันครับ
ในปี ค.ศ. 1 อิตาลีตอนเหนือมาเป็นอันดับหนึ่งท่ามกลางกลุ่มประเทศที่พอจะมีการจดบันทึกข้อมูลไว้ น่าจะเป็นผลพลอยได้จากความรุ่งเรืองในสมัยจักรวรรติโรมัน แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าคือระดับความเป็นอยู่ของประเทศเหล่านี้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วยังมากกว่าของประเทศไนเจอร์ ($519) ประเทศมาดากัสการ์ ($676) และสาธารณรัฐคองโก ($260) ในปี 2010 อีก…… แม้ว่าประเทศพวกนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากปีเดียวกัน แต่มันอดคิดไม่ได้ถึงความแตกต่างที่เหลือเชี่อในโลกเราแม้ว่าเวลาจะผ่านไปเป็นพัน ๆ ปีแล้วก็ตาม
แม้ว่าอียิปต์และอิรักจะเป็นสองประเทศที่กำลังมีปัญหาบ้านเมืองที่สุดในปัจจุบัน ประชากรของสองประเทศนี้เคยมีความเป็นอยู่ที่ดีมาก ๆ ในช่วงปี ค.ศ. 700 ซึ่งถือเป็นยุคทองของเศรษฐกิจในอาณาจักรอิสลาม ผมไม่เคยนึกว่าประเทศญี่ปุ่นที่เจริญสุด ๆ ในสายตาเรากลับมีความเป็นอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับสังคมอื่น ๆ ในอาณาจักรอิสลามในยุคนี้ เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว เราจะเข้าใจที่มาของความโกรธแค้นของผู้นำมุสลิมหัวรุนแรงในปัจจุบันมากขึ้น ความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของพวกเค้าบวกกับความขมขื่นที่โดนพวกตะวันตกกดขี่ข่มเหงเอาเปรียบในยุคหลังเป็นเชื้อก่อไฟชนิดเยี่ยมในสงครามระหว่างอัลกออิดะห์กับฝั่งตะวันตก (สำหรับคนที่อยากอ่านเพิ่มเติมเรื่องอัลกออิดะห์ ผมได้เขียนไว้แล้วในโพสนี้ครับ)
อีกเทรนด์ที่เห็นชัดจากข้อมูลนี้คือแนวทางความเจริญของประเทศในเอเชีย ห้าสิบหกสิบปีหลังจากปี 1950 เราจะเห็นชัดเลยว่า Tiger Economies มีจริงไหม แล้วใครเป็นเสือจริง ใครเป็นแค่เสือกระดาษ ? เศร้าแต่จริงคือไทยเราเป็นแค่เสือกระดาษที่มีความเป็นอยู่ในระดับไล่เลี่ยกับมาเลเซียมานานหลายปีแต่ก็ไม่สามารถขึ้นไปอยู่ดิวิชั่นหนึ่งข้างบนได้ มันน่าสงสัยว่าเพราะอะไร ? เราทำอะไรพลาดไป ? ดูกราฟด้านล่างต่อนะครับ
ที่น่าสนใจ (และเจ็บใจ) คือระดับความเป็นอยู่ของคนไทย กับ คนเกาหลีไต้ และ คนไต้หวัน ที่ไม่ได้ห่างกันมากเลยในปี 1950 อะไรทำให้เราเป็นเต่า ? อะไรทำให้ความเป็นอยู่ของสังคมไทยโตด้วยอัตราต่ำกว่าสองประเทศนั้นมาก อย่างกับว่าเราใช้เครื่องไม้เครื่องมือคนละรุ่นกับเขาเลย โดยส่วนตัวผมคิดว่าการเมืองที่ไม่นิ่ง ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ลงตัวกับความเป็นไทยและวัฒนะธรรมไทย และการทำนโยบายแบบคิดสั้น ๆ ไม่วางแผนกลยุทธ์ไว้ยาว ๆ ทำให้เราพลาดโอกาสไปในการแข่งวิ่งครั้งนี้
หากเราจะมองหาตัวอย่างประเทศที่ “ชวดเพราะการเมืองการปกครอง” ไม่ต้องมองไปไหนไกล ให้มองประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศนี้เป็นประเทศที่ตะวันตกขานกันว่าเป็น “ประชาธิปไตยแห่งแรกในเอเชีย” แต่ที่ไหนได้ประชาธิปไตยของเค้ากลับห่างไกลกับอุดมการณ์ของฝรั่งมาก ครอบครัวและนามสกุล คือพรรคการเมือง NGO ไม่มีน้ำหนัก ศาลไม่มีอิสระ ไม่มีอำนาจแท้จริง ประชาชนชินชากับการฉ้อโกงของนักการเมือง ประชาชนเลือกดารา เลือกคนนามสกุลดัง เลือกนักมวยมาบริหารประเทศ แทนที่จะเลือกคนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งหมดนี้คงฟังดูคุ้น ๆ นะครับ
ปัญหาการเมืองการปกครองนั้นซีเรียสและเปลี่ยนกันไม่ได้ชั่วข้ามคืน ฟิลิปปินส์เคยมีอดีตประธานาธิปดีชื่อ เฟอร์ดินาน มาร์กอส ผู้ที่เคยมีโอกาสสามารถทดลองนโยบายต่าง ๆ นานาเมื่อเขาได้ครอบครองประเทศฟิลิปปินส์กว่า 30 ปี (1965-86) แต่ท้ายสุดก็ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้จริง ๆ ความเป็นอยู่ของคนฟิลิปปินส์ในวันนี้เป็นผลจากปัญหาเรื้อรังนี้อย่างแน่นอน และผลก็ออกมาอย่างที่เห็นในกราฟด้านบนครับ
ขอจบโพสนี้ด้วยอะไรที่ฟังแล้วระรื่นหูหน่อยละกันครับ ข่าวดีคือช่องว่างความเป็นอยู่ระหว่างพวกประเทศมหาอำนาจในยุโรปกับเอเชียกำลังปิดลง ตอนนี้จะเป็นโอกาสทองสำหรับประเทศในเอเชียที่จะต้องช่วยกันปิดช่องนี้ลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผมว่าถ้าเราตัดรายละเอียดเล็ก ๆ ออกไปให้หมด ท้ายสุดแล้วจะเหลือบทเรียนจริง ๆ แค่สามข้อ
ไว้โปรเจ็คนี้อัพเดธครั้งต่อไปเมื่อไหร่ ผมจะนำข้อมูลและข้อสังเกตมาเสนออีกครั้งครับ
ติดตามอยู่นะคะ
อ่านบทความมาหลายเรื่องแล้ว ชอบมากค่ะ
ชอบที่อธิบายง่ายๆ น่าสนใจ แล้วก็กระตุ้นความคิดดีค่ะ
ทำต่อไปเรื่อยๆ นะคะ จะตามอ่านเรื่อยๆ ค่ะ 🙂
ขอบคุณที่มาอ่านนะครับ! มีอะไรแนะนำติชม comment มาได้เลยครับ