บางทีการแก้ปัญหาสังคมที่คาราคาซังมานานอาจจะมีความก้าวหน้าไปมากขึ้นหาก policy maker ถอยมาหนึ่งก้าวและเริ่มตั้งคำถามใหม่
เวลาคนเราพูดว่าจะ “ปฏิรูป” การศึกษา เรามักจะนึกถึงห้องเรียน ปากกาดินสอ ข้อสอบวัดมาตรฐาน หลักสูตรเข้มข้น อะไรประมาณนี้
แต่ผมมานึก ๆ ดูนะครับ คนเราส่วนมากใช้เวลาแค่ 6-7 ชั่วโมงต่อวันในห้องเรียนเท่านั้น แค่ห้าวันจากเจ็ดวันต่ออาทิตย์ และยังมีปิดภาคเรียนยาวเป็นเดือน ๆ
แล้วที่เหลืออีกเกินครึ่งของเวลาตอนเด็ก ๆ ตื่นล่ะ? ยิ่งไปกว่านั้น…แล้วอีกค่อน “ชีวิตผู้ใหญ่” ของคนเราล่ะ ?
การเรียนรู้ไม่ควรถูกจำกัดโดยเครื่องแบบนักเรียน เพศ ฐานะทางการเงิน วัย หรือการที่เรากำลังยืนอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “โรงเรียน”
ชาติไหนที่การเรียนรู้ในหมู่ประชากรจบสิ้นลงที่ตอนที่ได้รับประกาศนียบัตรหรือปริญญา ชาตินั้นจะลำบาก
เราเคยคิดที่จะปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบอื่นกันบ้างหรือไม่?
การเปลี่ยนคำถามแคบ ๆ เช่น “จะคิดหลักสูตรใหม่ยังไง?” “จะแจกไอแพดให้เด็กป.หนึ่งดีไหม?” มาเป็น “จะทำอย่างไรให้การเรียนรู้และความสามารถของคนไทยโดยรวมดีขึ้น?” อาจจะทำให้เราเห็นแนวทางใหม่ ๆ หลาย ๆ ทางที่สามารถมาร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ยาก ๆ อย่างเช่นการศึกษาก็เป็นได้
วันนี้ผมมาเสนอ 5 วิธีพัฒนาการศึกษานอกรั้วโรงเรียนแบบ Zoom ออกมามองประเทศเราจากระดับ 30,000 ฟุตครับ
กราฟด้านซ้าย (Public expenditure on Education in %GDP) บ่งบอกถึงเรื่องราวของความต้องการของประเทศเรา (สีเขียวเข้ม) ที่จะพัฒนาการศึกษาให้สู้ประเทศอื่น ๆ ได้ แต่ลองสังเกตุดูดี ๆ จะเห็นว่าปริมาณที่เราลงทุนไปในช่วงปีก่อน ๆ นั้นไม่ได้ขี้เหร่เลยเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำที่ผมคัดมาให้ดู แต่ทำไม performance ที่ได้กลับมามันถึงสู้เขาไม่ได้ ?
เรายังลงทุนไม่มากพอหรือว่าเราใช้เงินผิด ๆ กันแน่ ?
ระหว่างที่เราคิด เราจะต้องไม่ลืมว่าเงินที่เอาไปลงทุนกับการศึกษานั้นสามารถเอาไปใช้ลงทุนในด้านอื่น ๆ เช่นสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือการคมนาคมได้เหมือนกัน
ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนในสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการคมนาคม อาจจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของประชากรเราอย่างอ้อม ๆ ก็เป็นได้ (ยกตัวอย่าง… พอสารอาหารดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ถนนหนทางดีขึ้น เด็กอาจจะไปโรงเรียนได้ง่ายขึ้น สุขภาพดีขึ้น ป่วยน้อยลง เรียนได้ดีขึ้น).
เพราะฉะนั้นอย่างแรกที่เราควรจะคิดให้ออกก่อนเริ่มลงมือแก้ปัญหาว่าทำไมลงทุนแล้วไม่คืนทุนคือ สังคมเราจะมีอนุบาล โรงเรียนประถม มัธยม มหาวิทยาลัยทั้งหมดนี่ไปเพื่ออะไร ?
เพราะว่าที่จริงแล้ว การศึกษาที่มีคุณภาพและแฟร์ต่อทุกคนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าแรง และค่าเสียเวลาของชีวิตเด็ก ๆ
เราจึงต้องมีจุดมุ่งหมายให้แน่ชัดว่าทำทั้งหมดนี่ไปเพื่ออะไร ลงทุนทั้งหมดนี่ไปเพื่อให้ประเทศเราได้คะแนน PISA สูงกว่าเพื่อนบ้านพอ ? ให้เอาไว้อวดชาติอื่นว่าเด็กเราได้เหรียญโอลิมปิคเพียบ ? หรือว่าเพื่อสังคมที่ดีกว่า ?
ลองพิจารณาสองสังคมตัวอย่างนะครับ 1) หนึ่งคือประเทศอินเดีย 2) สองคือชุมชนท้องถิ่นในหุบเขาบางแห่งในประเทศอินเดียที่เป็นสังคมแบบพอเพียง ทำไร่ทำสวน ถือว่ายากจน (ตามมาตรฐานของ World Bank) แต่ก็อยู่ดีมีสุข พอมีพอกิน
ในกรณีของชุมชนหุบเขา การส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือในเมืองใหญ่อาจเปรียบเสมือนเป็นแค่การส่งเด็ก ๆ ไปเข้า “โรงงาน” ที่มีหน้าที่หลอมเด็กออกมาเป็น “น๊อต” ตัวหนึ่งในสังคมโมเดิร์น ผลิตออกมาเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยักษ์ของประเทศอินเดีย
สำหรับประเทศอินเดียโดยรวมแล้ว การมองโรงเรียนเป็นโรงงานผลิตแรงงานอาจจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าการผลิต “น๊อต” เหล่านี้นั้นสามารถทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพในการแข่งขันในเชิงการผลิตสินค้าและบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกสูงขึ้น
แต่ทว่า…สำหรับชุมชนชนบทแล้ว ความรู้และความสามารถใหม่ ๆ ที่ลูกหลานได้มา มันแทบไม่มีประโยชน์ในการใช้ชีวิตในหุบเขาเลยสักนิด ความรู้คอมพิวเตอร์ไม่ได้ช่วยให้เราทำไร่ หรือ ทำกับข้าวโดยไม่มีไฟฟ้าเป็นเลยสักนิดเดียว
จากตัวอย่างดังกล่าว เราจะเห็นได้ชัดว่าระบบการศึกษาสามารถหล่อหลอมคนออกมาเป็นอย่างไรก็ได้ แล้วแต่แม่พิมพ์ และผลผลิตที่ออกมานั้นจะมีผลดี (ในกรณีประเทศอินเดียโดยรวม) หรือไร้ประโยชน์และเสียเวลา (ในกรณีชุมชนชนบท) ก็แล้วแต่ว่าเราร่างแบบพิมพ์ออกมาอย่างไร
เพราะฉะนั้น จุดแรกที่เราควรจะช่วยกันคิดคือเราอยากให้ชาติเราเดินหน้าไปในทางไหน ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจโลกและสงครามการเมืองระหว่างประเทศในยุคสมัยใหม่แบบนี้
เราอยากจะผลิตเด็ก ๆ ออกมาให้เป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ที่เก่งที่สุดในเอเชียไหม ? หรืออยากเปลี่ยนแนวมาผลิตเด็ก ๆ ให้ออกมาเป็นนักคิด นักธุรกิจแนว entrepreneur ?
เมื่อเรามีเส้นชัยหลาย ๆ เส้นที่เราตั้งไว้อย่างชัดเจน เราก็จะสามารถมาวางแผนได้อย่างมีระบบขึ้นว่าการจะมุ่งหน้าไปทางนี้ควรจะต้องให้เด็ก ๆ มี skills ในด้านไหนเป็นพิเศษ ? จะต้องเริ่มตั้งแต่อนุบาลเลยไหม ? หลังจากนั้นเราก็จะมีหน้าที่ที่จะต้องคอยทำการทดลองและสังเกตดูว่าวิธีไหน นโยบายไหนสามารถ “ปั้น” เด็กออกมาให้ถูกเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ดีที่สุดและสิ้นเปลืองเงินของรัฐน้อยที่สุด
เมื่อปรับเข็มทิศใหม่แล้ว ก็ต้องลองคิดดูว่า “ผลิตภัณฑ์” ที่จะออกมาจากระบบการศึกษาจะต้องมีคุณสมบัติแบบใด จึงจะพาเราไปถึง “สังคมในฝัน” ที่เป็นจุดหมายของเราให้ได้
ผมเชื่อว่าสังคมในฝันของพวกเราคงไม่ใช่สังคมที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงลิบลิ่วแต่ประชาชนกลับมีความคดโกงในจิตใจ มีความแตกต่างทางฐานะสูง และไร้ซึ่งศีลธรรม มีการชิงทรัพย์ ข่มขืน เมาแล้วขับกันทุกวัน
จะให้แก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการเพิ่มกำลังตำรวจ เพิ่มเรือนจำ มันเป็นวิธีที่สิ้นเปลืองมาก แถมยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอีกด้วย
โชคยังดีที่การศึกษาไม่ได้มีผลต่อแค่ความสามารถของพลเรือนเท่านั้น การศึกษายังเป็นเครื่องมือสำคัญในการหล่อหลอมความคิด ความรับผิดชอบ ความรู้ถูกรู้ผิด และการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและมีคุณธรรมอีกด้วย
ในระบบการศึกษาที่ไม่เคยสอนให้เด็กคิดได้ว่าอะไรดีไม่ดีต่อร่างกาย เด็ก ๆ ก็จะไม่ทราบว่าต้องทานอาหารแบบไหน ควรจะสูบบุหรี่ไหม ? ควรจะออกกำลังกายแบบไหน ? ถี่แค่ไหนถึงจะไม่ป่วยง่าย ? หากเด็ก ๆ สามารถคิดเองเป็นในเรื่องของการบริโภคอาหารและกิจกรรมเพื่อสุขภาพ บ้านเมืองก็จะมีพลเมืองที่แข็งแรง ประเทศก็จะมีผลิตภาพสูงและไม่ต้องเป็นห่วงว่าเด็ก ๆ เหล่านี้โตขึ้นจะมาเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาลและผู้จ่ายภาษี
การเมืองการปกครองก็เหมือนกัน ระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นนั้นมีความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องมีความสามารถที่จะทำหน้าที่เป็น Democratic Citizen ได้ดีเยี่ยม สิ่งต่าง ๆ ที่หล่อหลอมการเป็น Democratic Citizen ได้ดีนั้นไม่ได้มาในกรรมพันธุ์ แต่เป็นการเรียนรู้ขึ้นมาตั้งแต่เล็กจนโต ไม่ว่าจะเป็นการกล้าแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่โดนสอยร่วง หรือการกล้าแสดงออกได้โดยไม่ไปเหยียบย่ำสิทธิของผู้อื่น การเปิดใจให้กว้างเพื่อรับความคิดเห็นของผู้อื่น และการยอมรับในกฎหมาย
อยากได้สังคมแบบไหนก็ต้องพยายามนึกดูว่าอยากให้ Product Line ของเรานั้นประกอบไปด้วยผลผลิตแบบไหนและมีคุณลักษณะใดบ้าง
หากไม่มีงานหรือโอกาสที่เหมาะสมมารองรับ “ผลผลิต” จากระบบการศึกษา…การลงทุนทั้งหมดก็จะถือว่าขาดทุนและสูญเปล่า
การสร้าง “งาน” หรือ “โอกาส” มารองรับ skills และ character ของเด็ก ๆ อย่างเหมาะสมจึงถือว่าเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมให้วงจรการศึกษานั้น “ครบวงจร” นั่นเอง
หนึ่งตัวอย่างของความสิ้นเปลืองคือการผลิตเด็กขึ้นมาเป็นแชมป์ด้านวิทยาศาสตร์ มีการหล่อหลอมค่านิยมให้เรียนวิทย์ถ้าเกรดดี แต่กลับไม่มีงานสำหรับนักวิทยาศาสตร์ให้เลือกมากนัก สุดท้ายเด็ก ๆ อัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์กลับหันไปเป็นแบงก์เกอร์หรือไปเปิดร้านกาแฟแทน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วถูกฝึกให้มาเป็นนักวิทยาศาสตร์และใจรักวิทยาศาสตร์ แต่กลับไม่ได้ใช้ความสามารถให้ตรงจุดเพื่อพัฒนาชาติในด้านนี้ ถามว่าใครขาดทุนที่สุด? คำตอบก็คือประเทศครับ
จริงอยู่…รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้า ไม่ใช่ว่าจะสร้างงานอะไรก็สร้างได้ตามใจฉัน แต่รัฐบาลนั้นเป็นหัวหอกที่ตั้งอยู่ในจุดที่สามารถ regulate หรือทำตัวเป็น เจ๊ดันในบาง sector เพื่อให้มีงานออกมารองรับเด็ก ๆ ที่ผลิตขึ้นมา
ผมทนไม่ได้เลยเวลาผมเห็นเพื่อน ๆ ผมเก่ง ๆ หลายคนบ่นว่าไม่ชอบงาน เบื่อ ไม่ตรงกับที่เคยตั้งใจจะเรียนมา กลายเป็นว่าจะเรียนเอกโน่นเอกนี่มาทำไมก็ไม่รู้ สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี… มันช่างน่าเสียดายเวลาและความใฝ่ฝันของคนเราเสียนี่กระไร
ถ้าเรายังเดินหน้าไปแบบไม่มีจุดหมาย ไม่มีแบบแผน ไม่มีผลผลิตที่แน่ชัดในใจ และไม่มีงานที่เหมาะสมกับความสามารถและความชอบของนักเรียน ช่วงชีวิตวัยเรียนของเด็ก ๆ ก็จะผ่านอย่างรวดเร็วแบบไม่มีประโยชน์
เมื่อนั้น โรงเรียนก็จะกลายเป็นเรือนจำดี ๆ ชั้นเลิศสำหรับเด็ก ๆ เท่านั่นเอง
ในสังคมสมัยนี้ จะให้ไปบังคับว่าคุณต้องเลี้ยงลูกอย่างนี้อย่านนั้น คงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าก่อนคนเราจะโตเป็นผู้ใหญ่ เราใช้เวลากับใครมากที่สุดเวลาไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ?
คงจะเคยได้ยินกันว่า…
“คุณครูควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักเรียน”
“พี่คนโตควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้อง ๆ “
แล้วพ่อกับแม่ล่ะ?
จากมุมมองของส่วนรวม บทบาทของพ่อกับแม่นั้นมีมากกว่าแค่การทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูแลลูก เนื่องจากว่าจริง ๆ แล้วเด็ก ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่กับพ่อแม่ ไม่ใช่กับครูบาอาจารย์
หลาย ๆ เรื่อง เช่น อะไรถูกอะไรผิด การออมเงิน ความเป็นผู้นำ ความขยัน ความใฝ่รู้ ความรู้รอบตัว และมารยาททางสังคมนั้นสอนกันลำบากในรั้วโรงเรียน หากเด็กที่เกิดในครอบครัวที่เพรียบพร้อมกว่า มีความใส่ใจในคุณภาพของลูกมากกว่า เด็กก็จะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้อย่างอ้อม ๆ ในวัยเด็ก สะสมไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ผ่านไปสิบปีเด็กพวกนี้จะนำไปไกลแล้วเมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่เอาใจใส่เท่าไหร่นัก
Life Skills เหล่านี้ แม้ให้คะแนนกันไม่ได้ แต่เรารู้กันว่ามันสำคัญต่ออนาคตของเด็กและคุณภาพของเค้าเมื่อเค้าโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แค่ไหน ยิ่งถ้าหากเราคิดว่าเด็ก ๆ จากครอบครัวที่เพรียบพร้อมกว่านั้นโตขึ้นแล้วได้เปรียบกว่าเพื่อน ๆ มาก…ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมันจะไม่ยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิมหรือ ?
แม้รัฐบาลจะไม่มีสิทธิ์ “บังคับ” พ่อแม่ทั่วประเทศให้กำชับให้ลูกเลิกอ่านการ์ตูน เลิกเที่ยวเตร่ เลิกเล่นเกมส์ แต่รัฐบาลสามารถสร้าง incentive บางอย่างเพื่อชักจูงพ่อแม่บางกลุ่มให้เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกได้ เช่นการให้เงินอุดหนุนของเล่นประเทืองปัญญาสำหรับครอบครัวที่ยากจน ทำโครงการเข้าไปช่วยสอนวิธีเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพในครอบครัวที่กำลังลำบาก หรือ ทำโปรแกรมช่วยจ่ายของว่างคุณภาพ (ไม่เอาพวกขนมอบกรอบหรือเวเฟอร์ไส้อากาศ) ให้กับพ่อแม่มือใหม่ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้จะเวิร์คหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลให้มาเป็น “ผู้ช่วยผู้ปกครอง” ของเราแค่ไหนนั่นเอง
ยังมีอีกหลายปัจจัยมากที่เข้ามามีบทบาทต่อการเรียนรู้และความสามารถของประชากร
บางปัจจัยก็มาทางสายลม…
ในขณะนี้งานวิจัยใหม่ ๆ หลายชิ้นพบว่ามลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM-2.5 และ Ozone นั้นทำให้ผลการเรียนของเด็ก ๆ ตกลง และทำให้เด็กขาดเรียนมากขึ้น โดยมลภาวะทางอากาศบางชนิดนั้นสามารถทำให้เด็ก ๆ บางกลุ่มเกิดอาการภูมิแพ้กำเริบขึ้นได้ ในกรณีที่แย่มาก ๆ นั้นมลภาวะทางอากาศสามารถทำให้การพัฒนาปอดของเด็ก ๆ ถึงกับชะงักได้เลยทีเดียว
เรื่องนี้ยังเป็นแค่หนึ่งในอีกหลายปัจจัยภายนอกที่สามารถเข้ามามีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และความสามารถของประชากรในประเทศเราผ่านสุขภาพของเด็ก ๆ ได้อย่างที่เราคาดไม่ถึง งานวิจัยในอนาคตจะสามารถชี้ให้เราเห็นได้อีกหลายลู่ทางการพัฒนาการศึกษาจากมุมมองใหม่ ๆ ครับ
ก่อนที่เราเริ่มปฏิรูปการศึกษาไทย
1. ให้ตระหนักให้ได้ก่อนว่าการพัฒนาการศึกษาเป็นโจทย์ที่ซับซ้อน การศึกษามีค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่วที่เราไม่ควรลงทุนเกินไปกว่าคุณค่าที่เราจะได้มันกลับมา
2. เราควรคุยกันเพื่อหาจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการศึกษา
3. ลองนึกถึง”ผู้สำเร็จการศึกษา” ที่เราต้องการ
4. คิดถึงงานที่เราต้องสร้าง
ที่สำคัญ…จะต้องไม่ลืมว่าการพัฒนาการศึกษาไม่ได้ทำได้แค่ในห้องเรียน แต่สามารถทำได้แม้กระทั่งในสายลมครับ
Recent Comments