“คนดี” หรือกฎหมายดีที่ทำให้บ้านเมืองดี? สิ่งไหนที่สามารถเบนเข็มสังคมจากความเห็นแก่ตัวไปสู่จุดหมายของส่วนรวมได้? คำถามสั้นๆ นี้ผ่านการขบคิดโดยนักปราชญ์และนักปกครองจำนวนนับไม่ถ้วนมาแล้วหลายพันปี แนวคิดหนึ่งมองว่ารัฐมีหน้าที่ต้องหล่อหลอมและเสริมสร้างพลเมืองให้เป็น “คนดี” ที่มีสำนึกต่อส่วนรวมไม่ว่าจะผ่านทางระบบการศึกษาหรือศาสนา หวังว่าจะสามารถปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่า “ความพอใจส่วนรวม” (social preference) ไว้ในจิตใจของประชาชนให้เติบโตไปเป็นคนที่โหยหาและปรารถนาให้ส่วนรวมดีขึ้น ไม่ใช่แค่สนองความพอใจส่วนตน (individual preference) พูดง่ายๆ ก็คือแนวคิดนี้มองว่ารัฐควรพยายามทำให้ประชาชน “อยาก” ทำสิ่งดีๆ ต่อเพื่อนร่วมสังคมเพื่อสนองความพอใจส่วนรวมของตนเอง ไม่ต่างกับเวลาประชาชนมีความต้องการอื่นๆ เช่น ความอยากบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ความบันเทิงเพื่อสนองความพอใจส่วนตน แต่อีกแนวคิดกลับมองว่าจิตใต้สำนึกคนเรานั้น “เน่า” และ ”เอาแต่ได้” กันทั้งนั้น อย่าหวังว่าจะเปลี่ยนสันดานนี้ได้ รัฐจึงควรทุ่มกำลังไปกับการสร้างสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่ไม่ได้เอาไว้สร้างคนแบบในแนวคิดแรก แต่เอาไว้สร้างแรงจูงใจและบทลงโทษเพื่อตีกรอบบังคับได้อย่างสมบูรณ์จนพลเมืองที่เห็นแก่ตัวสามารถเล่นละครตบตาเราได้ราวกับว่าตัวเองเป็น “คนดี” หลายพันปีผ่านไปดูเหมือนว่าแนวคิดที่สองจะได้รับชัยชนะไปอย่างล้นหลาม (ต้องขอบคุณแนวคิดของ the Invisible Hand ของ อดัม สมิธ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสังคมที่เราเรียกกันว่า “สังคมพัฒนาแล้ว” ทุกวันนี้สังคมสมัยใหม่มักให้น้ำหนักกับแนวคิดที่สองมากในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่การสร้างบทลงโทษเพื่อป้องกันอาชญากรรมไปจนถึงการร่างกฎหมายค่าปรับเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศ จนเหมือนกับว่าทุกวันนี้ “คนดี” เป็นอะไรที่ล้าสมัยและกำลังถูกลืมไปอย่างช้าๆ บทความนี้จะนำเสนอมุมต่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างคนให้เป็น “คนดี” และแนวทางการพัฒนาบ้านเมืองโดยใช้แนวคิดอันแตกต่างทั้งสองแนวนี้ควบคู่ไปด้วยกัน
Previous page Next page
Recent Comments