ในปีที่ผ่านมานี้ ผมดีใจที่ได้รับโอกาสไปทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยให้กับนักเศรษฐศาสตร์สองท่านที่ Harvard Kennedy School of Government และได้เห็นการใช้เศรษฐศาสต์แก้ปัญหาสังคมด้วยวิธีใหม่ ๆ ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในคนละแขนง ท่านนึงเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา ส่วนอีกท่านเชี่ยวชาญด้านนโยบายพลังงาน สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่วนผมมีหน้าที่ช่วยเขียนโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติและเขียนบทความ หนึ่งปีนี้สั้นนิดเดียวแต่ได้เห็นและเรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับวงการ policymaking และวงการเศรษฐศาสตร์แขนงใหม่ ผมสรุปบทเรียนย่อ ๆ มาแชร์ให้เพื่อน ๆ อ่านครับ
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นกับตาที่ Harvard Kennedy School คือคนที่ผมได้พบปะพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักเรียน นักธุรกิจ หรือนักการเมือง ต่างเห็นความสำคัญของงานวิจัยต่อการพัฒนานโยบายรัฐและโครงการการพัฒนาองกรค์ทั้งในภาคเอกชนและภาค non profit อย่างมาก แทบจะทุกมิติของนโยบายรัฐถูกนำมาชำแหละและวิจัยอย่างลึกซึ้งที่นี่เพื่อหาข้อเท็จจริงว่านโยบายแต่ละนโยบายมีประโยชน์และโทษแค่ไหนต่อสังคม
แม้ว่าโรงเรียนนี้จะขึ้นชื่อว่าเน้นการผลิต policymaker กับนักการเมือง ขณะนี้กำลังมีเทรนด์ที่จ้างนักเศรษฐศาสตร์เข้ามาเป็นอาจารย์ที่นี่มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในหลายประเทศต้องการนักเรียนที่สามารถเข้าใจหลักฐานที่มาจากการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายรู้ถึงผลกระทบที่แม่นยำว่า หากทำนโยบายนี้แล้ว ฝ่ายไหนได้อะไร ฝ่ายไหนเสียอะไร พวกเขาจะได้มาถกเถียงกันได้อย่างมีเหตุผลและสามารถตัดสินใจได้ว่านโยบายนี้มีประโยชน์คุ้มค่าใช้จ่ายหรือไม่
จะได้ล้มเลิกนโยบายที่ไม่เวิร์คเท่าที่คิดไว้หรือพัฒนานโยบายที่พิสูจน์แล้วว่าเวิร์คต่อไป เมื่อรู้ว่าอะไรเวิร์คอะไรไม่เวิร์คอย่างแน่ชัด บริษัท องกรค์ เมือง สังคม และประเทศก็จะสามารถปรับตัวและเจริญไปได้อย่างมีทิศทาง ดังนั้น การเจาะวิเคราะห์ข้อมูลอันมหาศาลและทำการทดลอง (คล้ายการทำการทดลองหาประสิทธิภาพของยา) เพื่อหาหลักฐานจึงกลายเป็นอีกจุดที่นักเศรษฐศาสตร์ “สายพันธุ์ใหม่” สามารถเข้ามามีบทบาทอันสำคัญต่อการพัฒนาสังคมได้นั่นเอง
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ ในปีที่ผ่านมานี้ผมได้มีโอกาสช่วยทำโปรเจ็ควิจัย “นโยบาย snow days” ที่รัฐแมสซาชูเซตส์จ้างหนึ่งในอาจารย์ของผมเพื่อหาผลกระทบของการสั่งปิดโรงเรียนในวันที่หิมะตกหนักทั้ง ๆ ที่ snow days จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละไม่ถึง 3 ครั้ง แต่ผมประทับใจถึงความใส่ใจของภาครัฐที่ยอมจ่ายเงินจำนวนไม่น้อยให้อาจารย์และผมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการทำนโยบาย snow days ของตนมันไม่ทำร้ายอนาคตของเด็ก ๆ (สรุปผลคือการปิดโรงเรียนเพราะว่าหิมะตกหนักไม่มีผลต่อคะแนนสอบเด็กเพราะว่าการปิดโรงเรียนแบบนี้ทำให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวย จะบ้านไกลไม่ไกล หยุดเรียนหมดและมาเรียนคาบพิเศษตอนท้ายพร้อมกันไม่ขาดหาย ดีกว่าการไม่ปิด ซึ่งทำให้นักเรียนที่บ้านอยู่ไกลหรือนักเรียนที่พ่อแม่ไม่มีรถลุยหิมะได้ขาดเรียน ครูก็จะมีปัญหากับการสอนเด็กที่ตามไม่ทัน รวนกันไปทั้งเทอมนั่นเอง)
ถามว่า ถ้าไม่ทำวิจัยเรื่องนี้จะรู้ไหมว่าการทำการปิดโรงเรียนเวลาหิมะตกหนักมันดีหรือไม่ดี? ไม่มีทางรู้อย่างแน่ชัดแน่นอนครับ ถ้ามีการทำวิจัยเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ใครจะไปรู้ อีกหน่อยอาจจะสามารถหาจุด optimal ว่าจะปิดโรงเรียน ณ อุณหภูมิเท่าไหร่ก็เป็นได้
ผมไม่เคยคิดว่าการวิจัยในสาขาเศรษฐศาสตร์มันจะสามารถมุ่งไปในทิศทางที่ใช้ข้อมูลอย่างหนักขนาดที่ว่าเราใช้คอมพิวเตอร์ Desktop แรง ๆ เครื่องเดียวเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอันมหาศาลไม่ได้อีกต่อไป กลายเป็นว่าต้องใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์มากมายเพื่อช่วยประมวลผลให้เร็ว สมัยก่อนผมคุ้นเคยแค่กับเศรษฐศาสตร์ที่เน้นใช้ข้อมูลไฟแนนซ์ ข้อมูลทางการเงิน และดัชนีเศรษฐกิจหลัก ๆ ปีนี้ผมได้เห็นวิธีใหม่ ๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์งัดมาใช้คู่กับเทคนิคทางสถิติเพื่อตอบปัญหาสังคมในหลาย ๆ ด้านที่สมัยก่อนอาจทำไม่ได้
ตัวอย่างคือโปรเจ็คที่อาจารย์ของผมต้องการดูว่าการเตือนภัยเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ (ว่าระดับมลภาวะมันสูงหรือต่ำ) ทางหนังสือพิมพ์หรือทางทีวี มีผลต่อการลดการตายก่อนวัยอันควรหรือไม่ (เด็กและคนชราทีมีโรคประจำตัวเช่นหอบหืดอาจล้มป่วยหนักได้ในวันที่สูดมลภาวะบางชนิดเข้าไปมากเกินไป)
ผมเคยเขียนไปแล้วเรื่องภัยของมลภาวะอากาศในกรุงเทพ ขณะนี้เรารู้แน่ชัดแล้วว่ามลภาวะอากาศแม้ว่าจะมีระดับต่ำลงกว่าสมัยก่อน แต่ก็ยังมีภัยต่อสุขภาพในระยะยาวและมีผลเสียต่อผลิตภาพของแรงงาน ก้าวต่อไปคือเรากำลังสงสัยว่าโครงการที่มีค่าใช้จ่ายบำรุงไม่มากเช่นการพยากรณ์หรือเตือนภัยมลภาวะอากาศนั้น อาจจะทำให้ประชากรหลีกเลี่ยงวันที่อากาศแย่ ๆ ได้ทันเวลาและช่วยชีวิตผู้คนได้มากเสียยิ่งกว่าโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมบางโครงการที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ๆ
ในโปรเจ็คนี้ผมต้องสู้ฟัดกับอภิมหาข้อมูลรายชั่วโมงของมลพิษทุกชนิดจากทุกสถานีวัดมลภาวะในอเมริกาที่บันทึกไว้ตั้งแต่ก่อนผมเกิดจนถึงปัจจุบัน รวมถึงข้อมูลการตายรายวันแบ่งเป็นสาเหตุการตายทุกสาเหตุจากโรงพยาบาลของทุกเทศมณฑลในอเมริกา มันทำให้ผมตระหนักถึงคุณค่าอันมหาศาลที่ฝังลึกอยู่ในข้อมูลพวกนี้ รอคอยให้นักเศรษฐศาสตร์และนักสถิติรุ่นใหม่ร่วมกันค้นหา cause and effect เพื่อนำผลวิจัยที่ได้มาให้ประชาชนและนักการเมืองเอามาพูดคุยกันเพื่อปรับปรุงนโยบายเพื่อพัฒนาสังคมและคุณกาพชีวิตที่ดีกว่า
ในยุคสมัยนี้ แค่เขียนสูตร Excel หรือโปรแกรมใน Stata เก่งคงไม่พอแล้ว การที่มีข้อมูลมหาศาลทำให้เราต้องใช้เครื่องมือดูดข้อมูลมาชำแหละ ย่อส่วนและวิเคราะห์ให้ถูกต้อง จึงจำเป็นที่นักเศรษฐศาสตร์ควรจะมีความรู้ในภาษาคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ให้มากขึ้นไปอีก ในโปรเจ็คพยากรณ์มลภาวะอากาศนั้น มีส่วนนึงในบทความที่พวกเราพยายามจะดูว่าการกูเกิลหาข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะอากาศในแต่ละวันมีผลลดการตายก่อนเวลาอันควรหรือไม่ ผมต้องเรียนรู้การใช้ Python เพื่อดูดข้อมูลแบบอัตโนมัติจาก Google Trends แบบแยกเป็นทุก ๆ เมืองในอเมริกา แถมต้องทำให้เนียนโดยไม่ให้ Google จับได้ว่าเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งหากจะทำด้วยมือคนคงใช้เวลาเป็นชาติ (ผลที่เจอคือ search intensity เกี่ยวกับมลภาวะอากาศช่วยลดการตายก่อนเวลาอันควรด้วยโรคทางเดินหายใจได้จริง ๆ แม้ว่าผลกระทบจะไม่ใหญ่มากนัก)
อย่างไรก็ตาม การพึ่งพา Big Data กับฝีมือการเขียนโปรแกรมอย่างเดียวนั้นไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสังคม ข้อมูลอันมหาศาลเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร (หรืออาจจะเป็นภาระอีกต่างหาก) หากเราไม่สามารถคิด Big Question ให้ได้เสียก่อนว่าสังคมต้องการจะตอบคำถามอะไรมากที่สุด
เมื่อคิดคำถามสำคัญ (Big Question) ได้แล้วก็ยังต้องคิดกลยุทธ์ในการหา cause and effect (Big Strategy) เพื่อที่จะตอบ Big Question ให้ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราต้องการ cause and effect แบบในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ correlations
ผมคิดว่าประเทศไทยจะต้องปรับปรุงและขยายฐานข้อมูลในหลาย ๆ ด้าน เพิ่มคุณภาพและความถี่ในการเก็บข้อมูล และทำการเผยแพร่ข้อมูลในแบบที่โปร่งใส และเผยแพร่ในรูปแบบที่นักวิจัย นักธุรกิจ หรือนักเรียนนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างรวดเร็ว
ปัญหาที่ผมเจอในเคสเมืองไทยส่วนใหญ่คือ (ยกเว้นแบงก์ชาติที่เก็บข้อมูลและนำเสนอได้ดี)
ผมว่าหลังจากที่เราปฏิรูปการเมืองแล้ว (ไม่แน่ใจว่าอีกกี่ปี) เราควรหันมาปฏิรูปการเก็บและเผยแพร่ข้อมูลอย่างรวดเร็วที่สุด ผมมั่นใจเลยว่ามันจะส่งผลกำไรให้เราทั้งทันทีและในระยะยาว อีกทั้งผมยังคิดว่ามันเป็นสิทธิ์ของประชาชนอย่างเรา ๆ ที่ควรจะมีโอกาสได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับสภาพสังคมหรือการทำงานของรัฐบาล เพราะว่าเราเลือกเขาขึ้นมา ก็ต้องมีทางที่จะให้เราตัดสินใจได้ว่าเขาทำงานดีหรือไม่ดี นโยบายมันขี้คุยหรือนโยบายมันดีเลิศ โรงพยาบาลไหนดีไม่ดี โรงเรียนไหนดีไม่ดี จะได้เห็นกันจะ ๆ ไม่ใช่ต้องมาพึ่งการบอกเล่าสืบต่อกันมาหรือไปพึ่งการจัด ranking เถื่อน ๆ ที่ไม่มีที่มาที่ไปแน่นอน (ยกตัวอย่างสุดโต่งนะครับ ที่อเมริกาผมเห็นในจอผมได้แม้กระทั่งว่ากังหันลมผลิตไฟฟ้าแท่งนี้ในย่าน x ในรัฐ y มันผลิตไฟได้เดือนละเท่าไหร่)
ระหว่างทำงานที่นี่ผมอึดอัดทุกวันเพราะว่าเห็นชัดเลยว่าประเทศบ้านเกิดผมนั้นล้าหลังแค่ไหนในด้านนี้ ผมจำได้เลยว่าตอนเริ่มทำงาน โปรเจ็คแรกคือการสำรวจว่าการที่ประเทศอเมริกาให้เงินสนับสนุนกับคณะวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และคณะวิศวกรรมในช่วงสงครามเย็นมันทำให้หนุ่มสาวเลือกเอกวิศวะหรือฟิสิกส์กันมากขึ้นหรือไม่ (สมัยโน้นเขาต้องแข่งกับรัสเซียด้านวิทย์) ไม่น่าเชือว่าประเทศนี้มันเก็บข้อมูลการศึกษารายคนตั้งแต่สมัยนั้น รู้แม้กระทั่งว่าโรงเรียนในรัฐนิวยอร์คได้เงินต่อหัวในการบำรุงโต๊ะเรียนในห้อง lab มากกว่าในรัฐแคลิฟอร์เนียเท่าไหร่เป็นเงินดอลล่าห์ในสมัยนั้น! พระเจ้าช่วย!
ถ้าไม่เก็บข้อมูลดี ๆ ทำวิจัยให้ดี ๆ และเผยแพร่ให้มันดี ๆ ให้มันทั่วถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า ประเทศมันจะพัฒนายากนะครับ
ไม่มีข้อมูล ก็ไม่มีความโปร่งใสใด ๆ ทั้งสิ้น
ไม่มีข้อมูล ก็เกิดคอรัปชั่นง่ายขึ้น
ไม่มีข้อมูล ก็ไม่มี accountability ไม่มีหลักฐานใด ๆ ทั้งสิ้น
แล้วอย่างนี้ ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศตัวเอง? นอกจากดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์หรืออ่านข้อความทาง Line จากเพื่อนที่ “น่าเชื่อถือ”
นอกจากนี้ มันง่ายมากที่คนเราจะเถียงกันด้วยอารมณ์เวลาที่เราเถียงกันโดยไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ
สำหรับประเทศเราที่ออกอาการไม่สงบสุขและศักยภาพเสื่อมโทรมมาหลายปีที่ผ่านมานี้ บางทีการเริ่มเก็บและเผยแพร่ข้อมูลดี ๆ อาจช่วยให้พวกเราเข้าใจปัญหาสังคมมากขึ้น
ประเทศเรามีประชากรเกินหกสิบล้านคน มีทรัพยากรที่มีค่ามากมาย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีดินแดนขนาดไม่น้อย และมีความแตกต่างทางฐานะทางสังคมและหลักความคิดมาก มันไม่ง่าย (หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย) ที่เราจะรู้จักสังคมของเราเองได้อย่างครบถ้วนและถูกต้องหากเราไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่น่าเชื่อถือพอมาเป็นเครื่องมือช่วย ไม่น่าประหลาดใจเลยที่เรายังเดินหน้าไปด้วยเท้าเดียวกันไม่ได้ แม้ว่าเราจะเคยทะเลาะกันรุนแรง เสียเลือดเสียเนื้อกันมาหลายต่อหลายปี
ผมเชื่อว่าการเผยแพร่ข้อมูลและหลักฐานที่มีคุณภาพนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการทำให้สังคมมนุษย์ (ไม่ว่าจะเป็นในครัวเรือน บริษัท เมือง หรือประเทศ) เจริญก้าวหน้า
ผมไม่ทราบว่าอีกนานแค่ไหน สังคมเราจะเห็นคุณค่าของข้อมูล หรือเมื่อไหร่เราจะมี access ต่อหลักฐานและข้อมูลที่มีคุณภาพเกี่ยวกับสังคมเราในทุก ๆ ด้าน
ระหว่างรอ ผมเองจะทำหน้าที่เผยแพร่งานวิจัยดี ๆ ที่ใช้ข้อมูลดี ๆ เพื่อตอบปัญหาสังคมในมุมมองใหม่ ๆ ไปก่อนในบล็อกนี้ครับ 🙂
ปัญหาหลักของหลายๆเรื่องคือความไม่ตรงไปตรงมานั่นแหละ Policy Maker ก็เป็นส่วนหนึ่งของสมการ แต่ถ้าภาคเอกชนที่มีกำไรจากกิจการซึ่งก็ได้มาจากสังคมอีกทอด จะรวมกันทำโครงการดีๆเพื่อตอบแทนสังคมก็อาจจะเป็นอีกคำตอบหนึ่ง แค่โครงการดูแลต้นไม้หน้าสี่แยกปทุมวัน ยังทำได้คุณภาพแย่มาก ทั้งๆที่ห้างแถวนั้นกำไรมหาศาล สุดท้ายทุกคนที่ออกตัวอาสาก็เพียงแค่อยากปักป้ายห้างตนเองเท่านั้น จะทำอย่างไรให้นักธุรกิจเหล่านี้สำนึกได้?
ครูดีใจที่ได้อ่านบทความดีดีแบบนี้ เรียนจบกลับมาแล้วมาแล้วมาพัฒนาชาติไทยของเรานะคะ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะครับ!
เป็นบทความที่ดีอีกหนึ่งบทความ ขอบคุณที่แชร์ให้ฟังนะคะ
ขอบคุณสำหรับทความดีๆแบบนี้ ขอบคุณที่ยังห่วงบ้านเกิดเมืองนอน
คนไทย ต้องใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ประเทศชาติจะพัฒนา ขอบคุณที่เขียนบทความดี ๆ ให้อ่านค่ะ
Hi Kid,
Glad to see your website and these articles! Keep on doing this interesting stuff! Also hope your Ph.D journey is a very rewarding one. I have been working at ASEAN+3 Macroeconomic Office in Singapore for almost two years. Basically working on economic surveillance for regional economies.
Let me know if you have a chance to come to Singapore.
Best,
PTerm
Thank you for coming to my site! Just passed the micro prelim so pressure is off! I’ll definitely let you know when I go to Singapore krub P’Term.
ชอบมากเลยค่ะพี่ เก่งจังเลย 🙂
ขอบคุณมากที่แวะเข้ามาครับ