การลงโทษหรือการให้รางวัลครูตามความสามารถในหน้าที่การงานเป็นเรื่องที่ได้รับการถกเถียงเป็นอย่างมาก ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าครูมีหน้าที่สอนให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ หากทำหน้าที่ได้ดีก็ควรได้รับผลตอบแทนเพิ่ม หากล้มเหลวในหน้าที่การงานก็สมควรโดนลงโทษหรือเชิญให้ออก เป็น performance based เหมือนในหลายบริษัทในภาคเอกชน แต่ก็มีอีกฝ่ายที่คัดค้านการดีไซน์ระบบวัดประเมินผลครูและการใช้สิ่งจูงใจ (incentive) ฝ่ายนี้มักเถียงว่าการวัดความสามารถในการทำหน้าที่ครูนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะมันละเอียดอ่อนเกินไป และการใช้สิ่งจูงใจในโรงเรียนอาจก่อให้เกิดปัญหาระหว่างครูกันเองและความไม่แน่นอนของอาชีพครู
โพสนี้ผมจะสรุปผลวิจัยโดย Thomas Dee กับ James Wyckoff เกี่ยวกับผลกระทบของโครงการ IMPACT ซึ่งทำการให้รางวัลและลงโทษครูในโรงเรียนย่านวอชิงตันดีซีจากผลประเมินความสามารถครูในปี 2009-2011
ในปี 2009 Chancellor ในย่านดีซี มิเชล รีห์ ได้เริ่มดำเนินนโยบายการศึกษาชื่อ IMPACT โดยเป็นระบบที่ให้เรตติ้งกับครูตามคะแนน IMPACT SCORE ซึ่งคำนวนมาจากการประเมินความสามารถครูจากหลาย ๆ มิติเช่น ความก้าวหน้าของผลคะแนนสอบของนักเรียนที่ครูคนนี้สอน ไปจนถึงเทคนิคการสอนในห้องเรียน และการทำงานอื่น ๆ ในโรงเรียน หลังจากนั้น ถ้าครูคนไหนได้เรตติ้ง Highly Effective ก็จะได้โบนัสเงินเดือนอัตโนมัติ แถมมีโอกาสที่จะได้การเลื่อนขั้นเงินเดือนถาวรหากได้เรตติ้ง Highly Effective อีกทีในปีถัดไป ในทางกลับกันครูที่ได้เรตติ้ง Minimally Effective จะได้รับการเตือนว่าหากได้รับเรตติ้ง Minimally Effective อีกทีจะโดนเชิญออกทันทีในปีหน้า ส่วนครูที่ได้ Ineffective นั้นโดนเชิญให้ออกโดยอัตโนมัติ
สิ่งที่ทำให้โครงการนี้แตกต่างออกจากโครงการ Teacher Incentiveอื่น ๆ คือการที่โครงการนี้มีขนาดใหญ่ครอบคลุมโรงเรียนกว่า 6พันโรงเรียน มีรางวัลและบทลงโทษที่ชัดเจนและค่อนข้างรุนแรงสำหรับทั้งครูที่ทำได้ดีและครูที่ทำได้ไม่ดี และมีการใช้มาตราวัดความสามารถครูจากหลายแง่มุมมากกว่าโครงการอื่น
Thomas Dee กับ James Wyckoff ใช้เทคนิคทางเศรษฐมิติที่ชื่อว่า Regression Discontinuity Design ในการหาผลกระทบของโครงการ IMPACT ในภาษาคนปกติวิธีนี้ฉวยโอกาสจากการที่การได้เรตติ้งต่าง ๆ กันมันต้องมาจากการคะแนน IMPACT SCORE ที่อยู่ในแต่ละ range ดังภาพด้านบน วิธีนี้คิดว่าครูที่มีคะแนน IMPACT SCORE ใกล้กันแต่กลับได้เรตติ้งต่างกัน (249 กับ 251 หรือ 349 กับ 351) น่าจะเอามาเป็น control group กับ experimental group เพื่อเทียบกันหาผลกระทบของเรตติ้งที่ได้ต่อคะแนน IMPACT SCORE ในปีถัดไป และการตัดสินใจทำงานต่อในปีถัดไป
แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะหรูเลิศในการที่สามารถพิสูจน์ว่าโครงการ IMPACT สามารถทำให้ครูที่ทำได้ไม่ค่อยดีออกไปจากโรงเรียนและทำให้ครูที่เก่ง ๆ ทำได้ดีขึ้นไปอีก งานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดอีกมากที่เราไม่ควรด่วนสรุปว่า IMPACT คือโครงการที่เราควรเอาแบบอย่าง
ผมว่าโครงการแบบนี้น่าติดตามว่ามีผลท้ายสุดอย่างไรในหลาย ๆ แห่งทั่วโลก และผมเห็นด้วยกับโครงการ IMPACT ที่พยายามวัดความสามารถครูในหลายมิติ ไม่ได้วัดแค่คะแนนเด็กหรือสไตล์การสอนเท่านั้น ผมเข้าใจว่าการวัดความาสามารถครูมันวัดลำบาก แต่ผมว่าเราก็ยังต้องมีการวัดอย่างเอาจริงเอาจังเพราะว่าอนาคตของชาตินั้นเดิมพันกับการผลิตเด็กรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพครับ
การทำโครงการขนาดใหญ่แบบนี้คงจะเป็นที่อื้อฉาวอย่างแน่นอนในประเทศเราที่มีวัฒนธรรมถือว่าครูบาอาจารย์มีพระคุณต่อเรา จะไปไล่เขาออกได้ง่าย ๆ ได้อย่างไร เขาเป็นครูเรา แต่ในทางกลับกันหากเราเอาใจเราไปใส่ใจผู้บริโภคการศึกษา (เด็ก และ พ่อแม่) มันก็ไม่แฟร์กับเราและลูกหลานเราที่ต้องไปเสียเงินเสียเวลาค่อนชีวิตเพื่อเรียนกับครูที่ไม่เอาไหน (แถมต้องไปจ่ายเงินเรียนพิเศษเพิ่มอีก…)
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดในการดีไซน์โครงการให้โปร่งใสเพื่อความยุติธรรมกับทั้งผู้บริโภคและเหล่าครูบาอาจารย์ และที่สำคัญโครงการแบบนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อเราอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ขาดแคลนครู
ผู้อ่านคิดว่าอย่างไรครับ? ควรจะให้รางวัลหรือมีบทลงโทษไหม ถ้ามี ควรจะทำอย่างไร comment มาได้ครับ
ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับการให้รางวัลและมีบทลงโทษ เพื่อให้ครูพยายามพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องนะคะ แต่ปัญหาคงอยู่ที่เกณฑ์การวัดมากกว่า เพราะคำว่า ครูที่ดี ค่อนข้าง Subjective หากกำหนดเกณฑ์ได้ไม่ดีก็อาจจะมีผู้เสียผลประโยชน์ที่ไม่ยอมรับได้ค่ะ