menu Menu
เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift [ตอนที่ 3]
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in เศรษฐศาสตร์ภาษาคน on January 15, 2015 2 Comments 124 words
สวิตเซอร์แลนด์: ประเทศรักสงบในสงครามค่าเงิน Previous เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift [ตอนที่ 2] Next

บทความซีรี่ส์พิเศษ “เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift” นี้จะใช้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายบวกกับข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อลองขบคิดดูว่าการเปลี่ยนแปลงในโลกของดนตรีครั้งใหม่นี้ดีที่สุดสำหรับใคร เจ้าของธุรกิจดนตรี ผู้บริโภค นักดนตรี หรือ สังคมโดยรวม  รวมไปถึงการค้นหาคำอธิบายความพิลึกและปริศนาที่ซ่อนอยู่ในเซ็กเตอร์นี้ เช่น ทำไมถึงยังจะมีศิลปินใหม่ๆ ไหลเข้าตลาดทั้งๆ ที่รายได้โดยรวมของเซ็กเตอร์ดนตรีมีแต่จะตกเอาๆ  หรือทำไมราคาของดนตรีกำลังดิ่งลงเป็นศูนย์ทั้งๆ ที่ดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในเกือบทุกย่างก้าวของชีวิตมนุษย์เราอย่างเสมอมา  น่าสงสัยเหมือนกันว่าของดีๆ ทำไมดูเหมือนจะไม่มีราคาอีกต่อไป

ตอนที่ 1 “ความเป็นจริงของดนตรี” ฉายภาพความเป็นจริงของดนตรีในยุคปัจจุบันว่าเทคโนโลยีและโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปมันทำให้ดนตรีแตกต่างออกไปจากสมัยก่อนๆ อย่างไร
ตอนที่ 2 “ตลาดและราคาของสินค้าที่เรียกว่า ‘ดนตรี'” วิเคราะห์ว่าทำไมราคาของดนตรีถึงเข้าใกล้ศูนย์ลงทุกที และทำไมดนตรีถึงเป็นสินค้าที่คล้ายสะพานข้ามแม่น้ำและกองกำลังทหาร
ตอนที่ 3 “คุณภาพและอนาคตของดนตรี” วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จากมุมมองของแฟนเพลง ศิลปิน และสังคม รวมถึงแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ของวงการดนตรี

เมื่อสองตอนที่แล้วเราได้เห็นภาพของความเป็นจริงของดนตรีในยุคดิจิตอลว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมาทำให้ราคาของดนตรี (ไม่นับดนตรีสด) ตกฮวบลงไปใกล้เลขศูนย์เต็มที

ในตอนอวสานของซีรีส์นี้เราจะมาลองวิเคราะห์ดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในครั้งนี้นั้นทำให้ฝ่ายไหนได้ประโยชน์ฝ่ายไหนเสียประโยชน์ ปล่อยให้มันเป็นไปแบบนี้ดีต่อหรือไม่  รวมไปถึงการสำรวจดูว่าศิลปินที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลกดนตรีดิจิตอลเขาหาวิธีเอาตัวรอดกันอย่างไร

สวรรค์ของนักฟังเพลง…นรกของศิลปิน?

econmusic31

นักเศรษฐศาสตร์มักคิดว่าการที่มีสินค้าและบริการให้เลือกจำนวนยิ่งมากยิ่งทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น  เหตุผลหลักคือสินค้าที่หลากหลายกว่าจะสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับความชอบและรสนิยมที่หลากหลายและซับซ้อนของคนเราได้ดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นการที่มีเพลงจำนวนมากทั้งเก่าทั้งใหม่แข่งกันเพื่อเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา (ถึง iPhone คุณจะจุได้ 16gb แต่วันหนึ่งมีแค่ 24 ชั่วโมง คุณจะฟังได้สักกี่เพลงเชียว) นั้นยิ่งอาจทำให้ราคาของเพลงต่ำลงอีกด้วย (อย่างที่ได้อธิบายไว้ในตอนที่ 2) ซึ่งหากคิดตามหลักการแบบนี้แล้ว ผู้บริโภคดนตรีในยุคนี้ถือว่าได้ประโยชน์มากกว่ารุ่นพ่อแม่เรามาก  เมื่อราคาเพลงต่ำลงและมีเพลงให้เลือกมากมายแบบไม่รู้จบ ถึงทั้งชีวิตนี้จะชอบฟังแค่เพลงเดียว เพลงนึงก็ยังมี cover อีกไม่รู้กี่เวอร์ชั่นให้เลือกได้ ผู้บริโภคดนตรีสมัยนี้จึงมีโอกาสและช่องทางที่จะมีความสุขกับดนตรีได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน  อีกทั้งยังต้องไม่ลืมว่าราคาเพลงที่ถูกลงนี้ทำให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือเอาไปใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าหรือบริการอื่นๆ เพื่อเพิ่มความพอใจในชีวิตอย่างที่เมื่อก่อนทำไม่ได้อีกด้วย

จริงอยู่ความคิดแนวเศรษฐศาสตร์แบบนี้อาจจะไม่เวิร์คสำหรับทุกคน  งานวิจัยจากด้านจิตวิทยาเริ่มพบว่าการมีสินค้าหรือมีทางเลือกมากๆ นั้นมันไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์เสมอไป เหตุผลนึงคือการมีอะไรให้เลือกมากเกินไปทำให้เกิด choice overload หรือ information overload ที่มีค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่าเสียเวลา (มีให้เลือกเยอะเหลือเกิน)  หรือค่าใช้จ่ายทางจิตใจเช่นความกังวลว่าไม่รู้จะเลือกอะไรดี หรือความเซ็งเวลาเลือกสินค้ามาผิด  แต่ในความคิดของผู้เขียน ค่าใช้จ่ายสามแบบนี้ไม่น่าจะมีขนาดใหญ่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราใช้บริการบริษัทไฮเทคประเภท Internet Radio  ในกรณีของ Spotify นั้นเราไม่ต้องกลัวว่าเราจะเสียใจที่เลือกเพลงผิด เลือกผิดปั๊ปก็เลือกเพลงใหม่ จบ…เพราะยังไงๆ ก็จ่ายเงินเหมารายเดือนไปแล้ว (หรือไม่ก็มีฟรี account กระเป๋าตังค์ไม่สะเทือนสักนิด)  ส่วนเรื่องความเครียดเวลาตัดสินใจไม่ได้กับค่าเสียเวลานั้นก็น่าจะเป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เล็กลงไปเรื่อยๆ ในอนาคต  บริษัท Internet Radio อย่าง Pandora หรือ Songza นั้นระดมกำลังทุ่มเททรัพยากรอย่างหนักเพื่อคิดค้นระบบสมองกลที่สามารถแนะนำเพลงให้กับลูกค้าได้แม่นยำที่สุดโดยใช้ข้อมูลผู้ใช้ขนาดยักษ์เพื่อตัดสินใจเลือกเพลงให้คุณทันที  ถ้าอีกหน่อยระบบเขาดีจริงคุณจะชอบเพลงที่เขาเลือกให้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเลือก  ถ้าเราเป็นคนที่ชอบเลือกเพลงเอง เราก็ยังใช้งาน Spotify ได้ต่อไปโดยที่ไม่ต้องไปสนบริษัทอื่น  ถ้าเราไม่อยากเสียเวลาเลือกเองเราก็ยังมีทางเลือกที่ฟรีและสะดวก   ในความคิดของผู้เขียนผู้บริโภคได้ประโยชน์เห็นๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

สำหรับฝั่งศิลปินนั้นตอบได้ยากกว่า ผู้เขียนคิดว่าผลลัพธ์กำกวมในกรณีนี้ ข้อสังเกตแรกคือเซ็กเตอร์ดนตรีเป็นเซ็กเตอร์แบบ superstar (ไม่น่าแปลกใจใช่ไหมครับ)  นั่นก็คือมีศิลปินอยู่ไม่กี่คนหรือไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่สามารถทำรายได้อันมหาศาลหรือสามารถมีแฟนคลับเป็นล้านๆ คนได้  (สำหรับชาวไทยลองนึกถึงพี่เบิร์ดหรือวง bodyslam ที่ฉีกตัวออกจากศิลปินอื่นๆ ได้ขาดลอยเป็นต้น)  จากตัวอย่างที่ผู้เขียนหยิบยกมาใช้ในตอนที่หนึ่งของซีรีส์นี้ Taylor Swift ได้เงินรายเดือนกว่า 5 แสนดอลล่าร์ (16 ล้านบาท) จาก Spotify แต่นักดนตรีที่ดังน้อยกว่า Taylor อีกหลายคนได้เงินจาก Spotify แค่นิดเดียวไม่พอกินพอใช้  นักเชลโล่เดี่ยวฝีมือไม่เบา Zoe Keating ได้เงินแค่ 547.71 ดอลล่าร์ ทั้งปีจากการเปิดเพลงของเธอกว่าแสนครั้งใน Spotify  เห็นแบบนี้แล้วการที่ศิลปินรุ่นใหม่จะหวังว่าสามารถทำมาหากินให้ได้โดยการพึ่งการขายเพลงหรือร่วมมือกับ Spotify อย่างเดียวคงจะยาก

ข้อสังเกตที่สองก็คือไม่ใช่ศิลปินทุกคนที่เข้าวงการดนตรีเพื่อเงินเท่านั้น ยังมีศิลปินอีกจำนวนมากที่เลือกทางเดินสายนี้เพราะรักดนตรีและไม่ได้คิดว่าเงินตราหรือชื่อเสียงเป็นเหตุผลหลักในการเลือกอาชีพนี้  หากมองมุมนี้แล้วเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปมีแต่จะทำให้ศิลปินประเภทที่สองนี้และศิลปิน part-time (กึ่งงานอดิเรกกึ่งอาชีพ) ได้ประโยชน์มากขึ้น  ในนามของผู้บริโภค ศิลปินเหล่านี้ก็จะได้รับอิทธิพลจากดนตรีของศิลปินคนอื่นๆ แบบไม่มีลิมิตและยังสามารถแบ่งปันดนตรีและความรักในดนตรีของตนได้อย่างไร้พรมแดน  อีกทั้งช่องทางโปรโมตผลงานใหม่ๆ เช่น YouTube และ SoundCloud ยังเป็นการเปิดประตูให้ศิลปินเหล่านี้ได้รับโอกาสในงานด้านดนตรีอย่างที่สมัยก่อนอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

มองมุมกว้าง

2791307544_3c4a0643b6_z

หลังจากที่เราได้ลองวิเคราะห์จากมุมมองผู้บริโภคดนตรีและผู้ผลิตดนตรีไปแล้วเมื่อครู่  คำถามที่ยากกว่าคือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ (เพลงดิจิตอลราคาถูกและหาง่าย) ดีต่อสังคมโดยรวมหรือไม่  ก่อนอื่นลองสมมุติดูว่าภาวะแบบนี้จะก่อให้เกิดศิลปินสามประเภทต่อไปนี้ขึ้น

  1. ศิลปินประเภท 1 – ศิลปินที่หวังกำไรและชื่อเสียงจะเลิกทำเพลงและออกไปทำอย่างอื่นในตลาดแรงงานเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราและชื่อเสียงที่ดนตรีเอามาให้ตนไม่ได้
  2. ศิลปินประเภท 2 – ศิลปินที่หวังกำไรและชื่อเสียงส่วนหนึ่งจะยังหลงเหลืออยู่และหวังว่าวันหนึ่งจะแย่งชิงตำแหน่ง superstar ได้ พวกเขาจะเกิดแรงจูงใจให้พัฒนาดนตรีให้ถูกใจผู้บริโภคที่สุด  ซักพักอาจเปลี่ยนไปเป็นประเภท 1 หรือ 3 ได้
  3. ศิลปินประเภท 3 – ศิลปินที่เล่นดนตรีเพราะรักดนตรีไม่ได้หวังแย่งชิงตำแหน่งอะไร อาจจะเป็นศิลปินหน้าใหม่หรือรุ่นเก๋าก็ได้ หรือเป็นศิลปิน part-time  ซึ่งอยู่ไปซักพักอาจเปลี่ยนไปเป็นประเภท 2 ได้

การแบ่งตลาดแรงงานดนตรีแบบนี้น่าจะทำให้การทดลองทางความคิดของเรากระจ่างขึ้น  ผู้เขียนขอเสนอ 5 “ความเป็นไปได้” ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สามารถส่งผลดีต่อสังคม ทั้งนี้ไม่ได้มีงานวิจัยอะไรรองรับ เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวครับ

  1. ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจโดยรวม 1: อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนที่ 2  ค่าใช้จ่ายในการผลิตดนตรีดิจิตอลหน่วยถัดไป (เช่น การเปิดเพลงเดิมใน Spotify หรือการคลิก copy paste) มันเกือบจะเป็นศูนย์  ในแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์นั้นการชาร์จราคาเกินค่าใช้จ่ายนี้มากๆ ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายนี้เกือบศูนย์ถือว่าเป็นอะไรที่ไม่มีประสิทธิภาพต่อสังคมโดยรวม
  2. ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจโดยรวม 2: มีโอกาสที่ศิลปินประเภท 1 ที่เลิกเล่นดนตรีสามารถออกไปทำประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจโดยรวมได้มากกว่า  นักดนตรีหลายคนอาจมีพรสวรรค์หรือความสามารถด้านอื่นที่ไม่สามารถงัดออกมาใช้ได้เมื่อยามตนเป็นนักดนตรี
  3. ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจโดยรวม 3: เงินที่เหลือจากการซื้อดนตรีที่ถูกลงๆ สามารถเอาไปลงทุนหรือใช้สอยในเซ็กเตอร์อื่นของเศรษฐกิจที่อาจจะมีผลิตภาพที่สูงกว่าได้อีก
  4. การคัดเลือกโดยธรรมชาติ: ใครที่เข้า YouTube บ่อยๆ จะเข้าใจว่าโลกนี้ยังมีคนอีกมากมายที่มีความสามารถทางดนตรีและอาจทำดนตรีได้โดยไม่หวังเงินหรือชื่อเสียงเพียงเพราะว่าดนตรีเป็นอะไรที่มนุษย์เราแสวงหาเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว  ระบบของตลาดดนตรีใหม่นี้ก็อาจเป็นการส่องไฟให้เราเห็นเหล่านักดนตรีที่เล่นดนตรีเพราะรักดนตรีจริงๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็เป็นไปได้
  5. ดนตรีเป็นยาดีและยาฟรีได้: ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าบทเพลงบางบทเพลงหรืองานศิลปะบางชิ้นสามารถเปลี่ยนชีวิตคนเราให้ดีขึ้นได้จริงๆ  ยกตัวอย่างเช่นเพลงอันทรงพลัง Miss Sarajevo ของวง U2 กับ Luciano Pavarotti  หรือเพลง Imagine ของ John Lennon  ถ้าเพลงเหล่านี้สามารถช่วยทำให้คนเราเลิกเข่นฆ่ากันได้บ้างและถ้าค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในการเปิดหรือผลิตมันเป็นศูนย์ ทำไมไม่เอาไปเปิดให้หมดทั้งโลก???

ไม่มีเงินล่อ = ไม่มีดนตรี “ดี” จริงหรือ???

carrot

แน่นอนว่าข้อ 4 และ ข้อ 5 จากด้านบนทำให้เราต้องคิดหนักว่าถ้าหากรายได้จากการขายดนตรีดิจิตอลมันต่ำขนาดนั้นยังจะมีใครที่สามารถผลิตดนตรี “ดีๆ” อีกหรือไม่  argument นี้คล้ายๆ กับการให้สิทธิบัตรกับยารักษาโรคชนิดใหม่ หากไม่มีสิทธิบัตรมาเป็นตัวล่อจะยังมีใครยอมลงทุนเป็นสิบๆ ปีเพื่อหาตัวยาใหม่มาช่วยมนุษย์โลกจริงๆ แล้วโดนบริษัทยาอื่นก๊อปไปผลิตหรือ

ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่มีเพลงฮิตที่มีเนื้อหา มีเนื้อเพลง หรือมี MV ที่ featuring “บั้นท้าย” มากเสียจนน่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรี  ยกตัวอย่างเช่น

  1. All about that Bass โดย Meghan Trainor
  2. MV ของเพลง Anaconda โดย Nicki Minaj
  3. Booty โดย Jennifer Lopez
  4. Bang Bang โดย Ariana Grande กับ Jessie J และ Nicki Minaj
  5. Shake it off โดย Taylor Swift

ลิสต์นี้น่าจะยาวไปได้มากกว่านี้อีกแต่แค่นี้ผู้อ่านคงจะเห็นภาพแล้วว่านี่คือตัวอย่างที่ว่า content ของดนตรีสามารถเปลี่ยนไปตามกาลเวลาได้อย่างไม่น่าเชื่อ  คำถามสำคัญที่เราเคยขบคิดกันในตอนที่ 1 ก็คือโครงสร้างเซ็กเตอร์แบบนี้จะคัดเอาศิลปินประเภทไหนออกมาเปิดในวิทยุ และจะเปลี่ยน content ของดนตรีไปในทิศทางใด  

คำตอบน่าจะเป็น “ทิศทางไหนก็ได้ที่ตลาด mass ต้องการ”

ผู้เขียนมองว่าในอนาคตเราจะได้เห็นการแบ่งแยกของตลาดดนตรีอย่างชัดเจนขึ้นไปอีก ตลาดดนตรีหลัก (ที่เต็มไปด้วยบั้นท้ายตอนนี้) จะยิ่งเป็นตลาด mass มากขึ้นไปอีกตามกำลังของเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียและความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ต  ศิลปินประเภท 2 ในตลาดนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ขยันหรือจะไม่ลงทุนในการทำเพลง เขาก็จะยังลงทุนแต่จะลงทุนเพื่อแลกกับเงินหรือ attention ของผู้บริโภคในตลาด mass เสียส่วนมาก  การทำอัลบั้มจากการสะสมประสบการณ์ชีวิตหรือจาก inspiration ส่วนตัวล้วนๆ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการในตลาดคงเป็นไปได้ยากในตลาดหลักนี้  เพราะฉะนั้นยุทธการที่ดีที่สุดสำหรับศิลปินประเภท 2 จึงเป็นการผลิตดนตรีที่เข้าหูผู้ฟังส่วนมาก (อะไรฮิตก็ทำ อะไรเป็นกระแสก็ทำ) ให้เร็วที่สุดและเข้าหาช่อง distribution ที่ใหญ่ที่สุดให้ได้  หากคนเป็นร้อยล้านได้ยิน ยังไงๆ ก็น่าจะมีคนเป็นหลักล้านที่จะชอบและซื้อเพลงเราหรือมาคอนเสิร์ตของเราในอนาคต  เหมือนหว่านแหใหญ่ๆ ถึงจะรั่วบ้างก็ไม่เป็นไร ยังได้ปลาจำนวนมหาศาลอยู่ดี

การปรับตัวและอนาคตของดนตรี

cameleon

ทุกวันนี้เราได้เห็นไอเดียและเทคนิคใหม่ๆ มากมายในการเอาตัวรอดของศิลปินในยุคดนตรีดิจิตอล  ยกตัวอย่างเช่น:

  1. เพลงที่ราคาถูกมากหรือฟรีนั้นทำหน้าที่เป็นเหมือนแค่การโฆษณาหรือการสร้างแบรนด์เพื่อให้คนเราไปดูสด (ซึ่งเป็นสินค้าที่กีดกันได้ด้วยตั๋วคอนเสิร์ต) หรือให้เราซื้อสินค้าต่างๆ ที่ศิลปินผู้นั้นสนับสนุน
  2. การแสดงสดเป็นมากกว่าแค่การไปฟังเพลง เช่น ทัวร์ The Truth about Love Tour ของ Pink ที่เธอร้องแบบเพอร์เฟ็คอย่างเดียวไม่พอยังโชว์การบินผาดโผนในอากาศกับการเล่นกายกรรมได้อีกด้วย เหมือนได้ไปดูสองโชว์ในหนึ่งโชว์  ทัวร์นี้ถือเป็นการฉีกตัวเองออกมาเด่นคนเดียวจากตลาดคอนเสิร์ตทั้งหมดในโลก
  3. ใช้วิธีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับดนตรีเพื่อแยกตัวเองออกจากคู่แข่ง เช่น การที่ Taylor Swift ลงทุนห่อของขวัญและปลอมตัวเอาของขวัญวันคริสต์มาสไปส่งถึงบ้านแฟนเพลงด้วยตัวเอง  หรือส่งเช็คไปที่บ้านแฟนเพื่อช่วยจ่ายหนี้ค่าเล่าเรียน ถามจริงๆ ว่ามีศิลปินกี่คนที่ทำแบบนี้  ใครที่ไหนจะเกลียดคนอย่าง Taylor ลง  และล่าสุด MV เพลงใหม่ของ Maroon 5 ที่เพิ่งออกวันนี้เป็นคลิปการเซอร์ไพรส์ผู้คนด้วยการไปเล่นในงานแต่งงานแบบไม่ได้นัดหมาย
  4. ขายประสบการณ์ที่มีค่ามากกว่าเพลงดิจิตัลทั่วไป เช่น ขายแผ่น vinyl ที่เอาปลอกมาแจมเป็น Dj เองได้ (เจ๋งมาก) หรือทำอัลบั้มด้วยอุปกรณ์และเครื่องมืออัดเสียงแบบอนาล็อกย้อนยุคเท่านั้นโดยวง Foo Fighters

สำหรับแฟนเพลงสไตล์ยุคก่อนๆ แฟนเพลงอินดี้ หรือแฟนเพลงแนวที่ไม่เคยได้ไปแตะท๊อปเท็น อย่าเพิ่งเศร้าเพราะผู้เขียนคิดว่าดนตรีแบบที่คุณรัก (หรือกำลังจะหลงไหลในอนาคต) จะยังไม่สูญพันธุ์  อาจจะหายากขึ้นท่ามกลางกระแส mass แต่ไม่น่าจะหายไปไหน  ที่ดูเหมือนว่าโลกดนตรีของพวกคุณกำลังหดหู่อยู่น่าจะเป็นแค่เพราะความล้มเหลวของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ยังไม่สามารถทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างแฟนเพลงกับศิลปินได้อย่างสมบูรณ์แบบ

มันน่าโมโหที่ในขณะที่อะไรๆ ก็เชื่อมต่อกันได้หมดแล้วในโลกยุคดิจิตอล ทำไมกระเป๋าแฟนเพลงกับกระเป๋าศิลปินยังดูเหมือนห่างกันมากและมีด่านเก็บค่าต๋งมากมายก่อนที่เงินจะไหลเข้าถึงมือศิลปินจริงๆ  แค่นั้นยังไม่พอ ทำไมดูเหมือนว่าดนตรีกำลังปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้วยการ “วิวัฒนาการย้อนหลัง”  ศิลปินเริ่มกลับเข้าสู่การแสดงสดมากขึ้น  ตลกสิ้นดีที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมากจากยุค Mozart สู่ Taylor Swift แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าพฤติกรรมและการปรับตัวของศิลปินหลายกลุ่มกำลังเป็นแบบจาก Taylor Swift สู่ Mozart  ซะงั้น (ขนาด Mozart เองยังไม่ลงทุนเอาของขวัญหรือเอาเช็คไปส่งให้แฟนเพลงถึงบ้านเลยคุณ…)

ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นแค่เรื่องของเวลาและการแข่งขันแย่งชิง market power เท่านั้น  ถ้ามีบริษัทอย่าง Spotify อีกเป็นสิบบริษัทที่แข่งกันเพื่อแย่งตัวศิลปิน  ศิลปินก็จะมีอำนาจต่อรองมากกว่านี้ Taylor Swift เองก็คงไม่ตัดสินใจเอาเพลงตัวเองออกจาก Spotify

ที่น่าสนใจที่สุดคือในขณะนี้มีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่สามารถระดมทุนด้วย Kickstarter ได้เองเป็นเงินหลายล้านบาทเพื่อเอาเงินมาโพรดิวซ์อัลบัมใหม่ (ตัวอย่าง 1 2 และ 3) หรือใช้ Kickstarter หาทุนเตรียมออกคอนเสิร์ตของวงออร์เคสตราโดยไม่ต้องง้อค่ายเพลงหรือง้อรัฐบาลสักนิดแถมยังได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ  แฟนเพลงก็ได้ประโยชน์เพราะว่ามันโปร่งใสกว่าการให้เงินกับ Spotify หรือการซื้อ CD เสียอีก  เพราะมันทำให้เรารู้ว่าที่จริงแล้วศิลปินที่คุณรักได้เงินของคุณจริงๆ เท่าไหร่  ยิ่งไปกว่านั้นแฟนเพลงเองยังอาจจะได้อะไรที่ไม่มีทางได้ในสมัยก่อน เช่น สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการทำเพลงในอัลบัลใหม่ ให้เขาแต่งเพลงเกี่ยวกับชีวิตเรา หรือได้ร่วมทานข้าวเย็นกับวงดรตรีที่คุณสนับสนุนอีกด้วย  อีกทั้งเดี๋ยวนี้ยังมีเทคโนโลยีไฟแนนซ์ใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกในการโอนเงินระหว่างผู้คนได้ด้วย App ในมือถือหรือ email  ในไม่ช้าคุณจะสามารถให้เงินศิลปินที่คุณคิดว่าสมควรได้เงินจากคุณได้ด้วยมือถือคุณ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนคิดว่าอนาคตของดนตรีนั้นจะผ่านพ้นพายุฝนครั้งนี้ไปได้และมั่นใจว่าในที่สุดแล้วเราจะเข้าไปสู่โลกที่ราคาเพลงที่เกือบเป็นศูนย์หมด มีเพลงมีศิลปินให้เลือกเพื่อความบันเทิงได้ไม่รู้จบ สังคมจะเริ่มมีวัฒนธรรมการไปดูดนตรีสดมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือเราจะได้เห็นช่องทางการตอบแทนศิลปินในรูปแบบที่ทั้งสนุกทั้งโปร่งใสให้กับศิลปินที่ทุกคนชื่นชอบแน่นอนไม่ว่าเพลงที่เราชอบจะเกี่ยวกับบั้นท้ายหรือจะเกี่ยวกับอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นครับ

ดนตรี ศิลปิน เพลง เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ดนตรี


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

  1. ชอบผลงานในการเขียน Blog นี้มากๆครับเป็นประโยชน์ มีโอกาสอยากเชิญมาบรรยาย ที่สาขาดนตรีและธุรกิจบันเทิง ม.ศิลปากร คณะดุริยางคศาสตร์ นะครับ

    1. ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะครับ ยินดีไปบรรยายนะครับ ผมชอบดนตรีมากอยากทำประโยชน์ให้ในมุมที่ผมทำได้ แต่ว่าตอนนี้ผมอยู่สหรัฐฯ มีโอกาสกลับไปปีละหนสองหนเองครับ ไว้กลับไปรอบหน้าผมจะติดต่อไปครับ

keyboard_arrow_up