menu Menu
เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift [ตอนที่ 2]
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in เศรษฐศาสตร์ภาษาคน on January 9, 2015 2 Comments 124 words
เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift [ตอนที่ 3] Previous เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift [ตอนที่ 1] Next

บทความซีรี่ส์พิเศษ “เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift” นี้จะใช้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายบวกกับข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อลองขบคิดดูว่าการเปลี่ยนแปลงในโลกของดนตรีครั้งใหม่นี้ดีที่สุดสำหรับใคร เจ้าของธุรกิจดนตรี ผู้บริโภค นักดนตรี หรือ สังคมโดยรวม  รวมไปถึงการค้นหาคำอธิบายความพิลึกและปริศนาที่ซ่อนอยู่ในเซ็กเตอร์นี้ เช่น ทำไมถึงยังจะมีศิลปินใหม่ๆ ไหลเข้าตลาดทั้งๆ ที่รายได้โดยรวมของเซ็กเตอร์ดนตรีมีแต่จะตกเอาๆ  หรือทำไมราคาของดนตรีกำลังดิ่งลงเป็นศูนย์ทั้งๆ ที่ดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในเกือบทุกย่างก้าวของชีวิตมนุษย์เราอย่างเสมอมา  น่าสงสัยเหมือนกันว่าของดีๆ ทำไมดูเหมือนจะไม่มีราคาอีกต่อไป

ตอนที่ 1 “ความเป็นจริงของดนตรี” ฉายภาพความเป็นจริงของดนตรีในยุคปัจจุบันว่าเทคโนโลยีและโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปมันทำให้ดนตรีแตกต่างออกไปจากสมัยก่อนๆ อย่างไร
ตอนที่ 2 “ตลาดและราคาของสินค้าที่เรียกว่า ‘ดนตรี'” วิเคราะห์ว่าทำไมราคาของดนตรีถึงเข้าใกล้ศูนย์ลงทุกที และทำไมดนตรีถึงเป็นสินค้าที่คล้ายสะพานข้ามแม่น้ำและกองกำลังทหาร
ตอนที่ 3 “คุณภาพและอนาคตของดนตรี”  โปรดติดตามได้ในเร็วๆ นี้

ตอนที่ 2: ตลาดและราคาของดนตรี

taylor

ทำไมนะทำไม ทำไมสิ่งที่เป็นเสาหลักของมนุษยชาติมาเป็นหมื่นเป็นพันปีถึงกำลังมีราคาที่เข้าใกล้ศูนย์ขึ้นเรื่อยๆ  ลองนึกถึงตอนนั่งรถคุณพ่อคุณแม่ตอนเด็กๆ  นึกถึงตอนมีความรัก  หรือนึกถึงตอนผิดหวังดู  ความทรงจำของเราเต็มไปด้วยบทเพลงประกอบ  มันน่าสงสัยที่ทำไมดนตรีถึงมีราคาถูกลงทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงๆ แล้วถ้าขาดดนตรีพวกเราก็คงอยู่กันไม่ได้

ไม่นานมานี้ Taylor Swift ศิลปินหญิงอัจฉริยะที่กำลังมาแรงพร้อมลัทธิแฟนคลับเป็นล้านๆ คนได้เขียนบทความเปิดใจลงใน The Wall Street Journal เพื่อบอกกับโลกว่า “ดนตรีไม่ควรฟรี”  เธอกล่าวว่า

Music is art, and art is important and rare. Important, rare things are valuable. Valuable things should be paid for. It’s my opinion that music should not be free, and my prediction is that individual artists and their labels will someday decide what an album’s price point is.

mona

ผู้เขียนเห็นด้วยว่าดนตรีมีความสำคัญ แต่ปัญหาของข้อความดังกล่าวอยู่ที่คำว่า “rare” หรือ “หายาก”  แน่นอนว่างานศิลปะที่สำคัญและหายากย่อมมีราคาที่สูงเป็นไปตามกฎธรรมชาติ  ยกตัวอย่างเช่นภาพเขียนของแวนโก๊ะหลายภาพมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ   ภาพวาดสีน้ำมัน Mona Lisa ที่เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ประเทศฝรั่งเศษนั้นมีการประเมินราคาว่าสูงกว่า 780 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

แต่ดนตรี…โดยเฉพาะดนตรีในยุคดิจิตัลที่ประชากรโลกจำนวนมากมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้านนั้นหาง่ายยิ่งกว่าการออกไปหาซื้อน้ำโค้กปากซอยเสียอีก  เพราะเหตุนี้จึงไม่มีโจรที่ไหนมาบุกบ้านคุณเพื่อขโมยแผ่น CD ที่เพื่อนคุณไรท์มาฝากตอนยังอยู่มัธยมอย่างที่โจรบุกไปขโมย Mona Lisa เมื่อปีค.ศ. 1991 นั่นเอง

เทคโนโลยีผีดิบ: ดนตรีไม่มีวันตาย

5099968740924

เคยมีคำพูดยกย่องศิลปะดนตรีไว้มากมาย เช่น “ดนตรีไม่มีวันตาย” “บทเพลงอมตะ” หรือ “ดนตรีไม่มีพรมแดน”  แต่ทุกวันนี้ไม่แน่ใจว่าแล้วว่าศิลปินยุคใหม่ยังมองคำพูดเหล่านี้ในทางบวกอยู่เหมือนเดิมหรือไม่

เทคโนโลยีสมัยใหม่มากมายไม่ว่าจะเป็น CD Mp3 DRM หรือ P2P (ดาวน์โหลด BitTorrent) ต่างก็ทำให้ดนตรีไม่มีวันตายและขยายพันธุ์ได้โดยแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของการผลิต (หน่วยคือจำนวนไฟล์ แผ่น หรือจำนวนครั้งที่เปิด streaming ใน Spotify) แถมยังทำให้มีการเปิดให้ใครก็ได้เข้ามาเป็น “ศิลปินก๊อปปี้” ของเพลงๆ นั้น (ส่วนมากจะผิดกฎหมายทั้งนั้น) เข้ามา copy paste  มาไรท์แผ่นฝากญาติหรือเอาไฟล์ไปปล่อยให้คนแปลกหน้าดาวน์โหลดได้ฟรี แม้ว่าผู้ผลิตหน้าใหม่เหล่านี้จะไม่ใช่นักดนตรีหรือนักประพันธ์เพลงผู้ที่เป็นคนแรกในการคิดไอเดียหรืออัดเพลงเป็นคนแรก  ยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่ทำให้เราอัดเพลงอัด MV ได้ด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้านนั้นพัฒนาขึ้นมาก บวกกับการที่มีช่องทางใหม่ๆ ในการโปรโมตผลงานตัวเองเช่น YouTube หรือ Soundcloud ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพลงใหม่ๆ ในสมัยนี้ต่ำลงมาก จึงเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการไหลเข้าของศิลปินรุ่นใหม่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา  ดนตรีสมัยใหม่จึงกลายเป็นอะไรที่ “ล้นตลาด” ไปโดยปริยาย

ที่สำคัญที่สุดคือดนตรีที่อัดไว้แล้วมันไม่มีวันตาย การฟังเพลงเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเพลงที่ไม่ได้แค่เอาไว้เปิดเพื่อบรรยากาศอย่างเดียว  ใครที่ชอบฟังและศึกษาเพลงเหมือนผู้เขียนคงจะเข้าใจว่าเราจะต้องคิดว่าจะฟังอะไรดีระหว่างการขับรถไปทำงาน หรือจะฟัง CD หรือ Playlistไหนดีคืนนี้วันนี้  ไม่สามารถฟังได้หมดทุกเพลงในโลกนี้   การตัดสินใจ “เลือกฟัง” จึงก่อให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างเพลงนับล้านๆ เพลงไม่ว่าผู้แต่งจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  เพลงของศิลปินหน้าใหม่ในอีกร้อยปีข้างหน้าก็ยังต้องมาแข่งกับเพลงของ the Beatles หรือ เพลงของ Whitney Houston ที่ถือว่าเป็น “รุ่นเดอะ” ของสมัยเราและสมัยพ่อแม่เรา

สรุปง่ายๆ คือศิลปินยุคใหม่ต้องแข่งกับศิลปินรุ่นเดียวกันและศิลปินก๊อปปี้ยังไม่พอ ยังจะต้องมาแข่งกับบทเพลงอมตะที่ผ่านการทดสอบของเวลามาแล้วว่าของเค้าดีจริงอีกด้วย  สภาวะแบบนี้เขาเรียกว่าฝันร้าย Zombie Apocalypse ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เกิดโรคผีดิบระบาดไปคุกคามความเป็นอยู่ของเหล่านักดนตรีทั่วโลกไม่มีผิด

สภาวะแบบนี้นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นภาวะที่ Marginal Cost หรือค่าใช้จ่ายในการผลิตและเผยแพร่บทเพลงเดิมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วยนั้นแทบจะเป็นศูนย์  บวกกับภาวะการแข่งขันสูงที่เรียกว่า “ตลาดแข่งขันสมบูรณ์” หรือ Perfect Competition ที่มี barrier to entry ที่ต่ำมาก ใครที่มีคอมพิวเตอร์หรือมือถือที่ต่อกับอินเตอร์เน็ตก็สามารถที่จะเข้ามาก๊อปปี้และแชร์ได้ ทำให้ยิ่งกดราคาตลาดร่วงลงไปใกล้ศูนย์   

ในปัจจุบันราคาของเพลงดิจิตอลนั้นคงจะเข้าใกล้ศูนย์แล้วจริงๆ ในโลกแห่ง Internet Radio  จำนวนเงินอันน้อยนิดต่อการเล่นเพลงหนึ่งเพลงที่เราจ่าย provider เช่น Spotify และ Pandora นั้นส่วนมากคงเป็นแค่ค่าไฟและค่าเทคโนโลยีที่บริษัทไฮเทคเหล่านี้สามารถนำบทเพลงมาให้เราได้ในชั่วอึดใจ  พูดง่ายๆ ก็คือส่วดใหญ่ของเม็ดเงินเรานั้นเอาไปซื้อความสะดวกสะบาย ส่วนที่เหลือจิ๋วๆ แค่ประมาณ 0.16 บาทต่อการเล่นหนึ่งเพลงนั้นเข้ากระเป๋าศิลปิน

สะพานและกองทัพ: ญาติห่างๆ ของดนตรี

header

แล้วราคาของดนตรีควรจะเป็นศูนย์อย่างที่กลไกตลาดและเทคโนโลยีมันพาไปจริงๆ หรือ

คำถามนี้ไม่ง่าย  แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้คงต้องคิดให้ดีๆ ก่อนว่า “ดนตรี” (ไม่รวมดนตรีสด) อย่างในยุคปัจจุบันที่บริษัท Internet Radio อย่าง Pandora กับ Spotify กำลังมาแรงนั้นยังเป็นเหมือนสินค้าทั่วไปอย่าง อาหาร ผลไม้ เก้าอี้ หรือไม่  ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จำแนกสินค้าบางจำพวกว่าเป็นสินค้าทั่วๆ ไปที่เมื่อเรามีรายได้มากขึ้น เราจะต้องการมันมากขึ้น  สินค้าที่ชื่อว่า “ดนตรี” นั้นก็น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้  คล้ายๆ กับอาหาร ผลไม้ และเก้าอี้

แต่เมื่อเราลองคิดให้ลึกขึ้น ดนตรีสมัยใหม่นั้นไม่คล้ายอาหาร ผลไม้ หรือเก้าอี้เลยสักนิดเดียว  เวลาเราฟังดนตรีจากอินเตอร์เน็ต เมื่อเล่นจบแล้วดนตรีมันไม่หมดไปจากโลกนี้เหมือนข้าวเย็นเมื่อวาน  คนอีกเป็นล้านคนสามารถเล่นเพลงเดียวกับที่เราฟังเมื่อครู่ได้พร้อมๆ กันโดยที่ดนตรี “ไม่หมด” และไม่ได้มาแย่งความบันเทิงไปจากเราแต่อย่างใด  อีกอย่างคือการปล่อยดนตรีทิ้งไว้ใน iPhone แล้วมันจะเน่าเหมือนผลไม้หรือเปล่า  ก็ไม่  ยิ่งไปกว่านั้นแม้เวลาผ่านไปห้าสิบปีเก้าอี้อาจจะไม่เหลือซากแล้วแต่เสียงดนตรีจากเมื่อห้าสิบปีหรือร้อยปีก่อนก็ยังใสแจ๋วเหมือนเดิมอยู่ได้ ดีไม่ดีจะชัดขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยซ้ำไป… คุณเคยเห็นเก้าอี้ที่ใหม่ขึ้นทุกๆ สิบปีไหมล่ะครับ

ความพิเรนของดนตรีในมิติเหล่านี้จึงทำให้การตั้งราคาที่เหมาะสมกับคุณค่าเป็นงานที่ลำบาก

เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังทำให้สินค้าที่ชื่อว่า “ดนตรี” ค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า “สินค้าสาธารณะ” (Public Good) ที่คล้ายกับสินค้าและการบริการอย่างเช่นการป้องกันประเทศ สะพานข้ามแม่น้ำ และอากาศ  สำหรับสินค้าสาธารณะเหล่านี้ การที่ผู้บริโภครายใหม่เข้ามาในตลาด (มีเด็กเกิดใหม่ในประเทศ) นั้นจะไม่ทำให้ความพึงพอใจของผู้บริโภครายเดิมลดลง (ไม่ได้ทำให้ประชาชนกลุ่มเดิมก่อนที่เด็กคนนี้เกิดได้รับการป้องกันที่น้อยลงหลังจากเด็กคนนี้เกิดขึ้นมา) แต่อย่างใดและเราไม่สามารถกีดกันผู้บริโภคใหม่ที่จะเข้ามาร่วมบริโภคสินค้าเหล่านี้ได้ง่ายๆ  สองคุณลักษณะนี้ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Non-Rival และ Non-Excludable

ดนตรีสมัยใหม่นั้นค่อนข้างเคลียร์ว่ามีคุณสมบัติ Non-Rival  การที่เพื่อนร่วมโลกเราอีกเป็นล้านคนตัดสินใจที่จะฟังเพลง Happy ของ Pharrell Williams จากไฟล์ MP3 หรือฟังจาก CD ในเวลาเดียวกับที่เราฟังมันไม่ทำให้ Pharrell ตัวเป็นๆ นั้นคอแห้งหรือความบันเทิงในการฟังเพลงนี้ที่บ้านเราลดลง  การที่คนอื่นๆ ฟังเพลงนี้ไปแล้ว 43 ล้านครั้งไม่ได้ทำให้ “ไอเดีย” ที่แฝงอยู่ในเนื้อร้องและทำนองของเพลงมันเปลี่ยนแปลงหรือหายไป

ว่าแต่ว่าดนตรีสมัยใหม่นั้นมีคุณสมบัติ Non-Excludable จริงๆ หรือไม่  ผู้เขียนคงต้องตอบแบบกว้างๆ ว่าดนตรีดิจิตัล 80% กีดกันไม่ได้  20% กีดกันได้  การแพร่กระจายของอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์แบบ 3G หรือ 4G ทำให้การกีดกันการบริโภคดนตรีนั้นทำแทบไม่ได้  เมื่อดนตรีดิจิตัลถูกอัดและเผยแพร่เมื่อนั้นผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีความอดทนและความรู้เกี่ยวกับการเสาะหาเพลงจะสามารถเข้าถึงดนตรีชิ้นนั้นได้  คล้ายกับอนุสาวรีย์หรือสะพานสวยๆ ที่ห้ามให้คนมองไม่ได้  หากจะทำการกีดกันให้ได้ ศิลปินหรือค่ายเพลงจะต้องใช้วิธีอื่น เช่น กฎหมาย Copyright ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสามารถทำได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้นเพราะว่าการจับคนทำแผ่นเถื่อนหรือจับคนแชร์นั้นทำไม่ง่ายมีค่าใช้จ่ายสูง  หรือไม่ก็พยายามเล่นสดให้มากๆ เพราะอย่างน้อยสามารถกีดกันได้ด้วยการเล่นในที่ๆ ต้องมีตั๋วเท่านั้นได้

ภาษีดนตรี…ฝันไปหรือเปล่า

guitar-case-485112_640

ในบทความที่ลงใน The Wall Street Journal Taylor Swift เธอหวังลมๆ แล้งๆ ว่าเหล่าศิลปินและค่ายเพลงจะสามารถกำหนดราคาให้กับอัลบั้มใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสมในอนาคต  ผู้เขียนคิดว่ามันคงเป็นไปได้ยากเพราะว่าเราได้เห็นกันแล้วว่าดนตรีดิจิตอลนั้นคล้ายสินค้าสาธารณะมากๆ ซึ่งส่วนมากก็มีปัญหาในการให้ภาคเอกชนตั้งราคากันเองทั้งนั้น

หนึ่งในวิธีแปะป้ายราคาให้กับสินค้าสาธารณะเหล่านี้คือการเก็บภาษี  พูดง่ายๆ ก็คือจะมีกองทัพคอยปกป้องราษฎร จะมีสะพานข้ามแม่น้ำก็ต่อเมื่อพวกเราจ่ายภาษี  ถือเป็นการกีดกันอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ก็ยังทำได้ไม่เต็มรูปแบบอยู่ดีเพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จ่ายภาษี และไม่มีใครที่ให้คุณค่ากับดนตรีเท่ากันหมดทั้งประเทศ การเก็บภาษีจึงเป็นช่องทางที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนักและไม่ควรนำมาใช้ถ้ายังมีช่องทางอื่นๆ ให้เลือกได้

แปลกดีที่สมัยนี้เทคโนโลยีทำให้อะไรก็เชื่อมโยงกันได้  รถเก๋งฮุนไดของผู้เขียนนั้นส่งรายงานสภาพรถมาให้อ่านทุกเดือน  ไข่ในตู้เย็นเดี๋ยวนี้สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเพื่อเตือนเราได้ว่าต้องซื้อเพิ่มเมื่อไหร่  แต่ทำไมเทคโนโลยียังเชื่อมกระเป๋าตังค์เราเข้ากับกระเป๋าศิลปินไม่ได้อย่างที่ราคาดนตรีไม่เป็นศูนย์  กลายเป็นว่าถ้าจะทำเงินได้จริงๆ จะต้องออกไปเล่นสดเท่านั้น

สำหรับคราวหน้าที่เป็นตอนสุดท้ายของซีรี่ส์นี้ เราจะไปลองดูกันว่าแนวโน้มของดนตรีจะเป็นอย่างไร  ศิลปินปรับตัวกันด้วยวิธีไหน และท้ายสุดแล้วความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ดีหรือไม่ดีต่อฝ่ายไหนบ้าง  โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

Mozart Taylor Swift ดนตรี เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ดนตรี


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

  1. ในแง่ของศิลปินทุกคนย่อมคิดว่าเพลงของตัวเองrareเพราะกว่าจะคิดแต่งออกมาได้จนไพเราะนั้นยากเย็นพอควร 🙂 แต่เนื่องจากมีคนแต่งเพลงมากมายในโลกและทุกคนต้องการดัง ตลาดจึงห่างไกลจากคำว่าrareมากๆ แต่ในขณะเดียวกันศิลปินก็สามารถควบคุมความ”rare”ของเพลงตัวเองได้โดยการเลือกที่จะไม่ปล่อยเพลงในoutletsที่ตัวเองไม่เห็นสมควร อย่างที่Taylor Swiftทำ แม้แต่บนyoutubeก็สามารถเลือกไม่ปล่อยได้ แต่ทางเลือกเหล่านี้มีเพียงศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้วเท่านั้นที่ทำได้ นอกนั้นก็ต้องใช้วิธีผสมผสานเพื่อหาจุดที่เหมาะสมกับกลุ่มแฟนเพลงของตัวเอง (เช่นออกเป็นแผ่นเสียงvinylซึ่งก็อปไม่ได้)

    นอกจากการขายโชว์แล้ว คนดังทั้งในโลกและประเทศไทยก็ยังสามารถขายendorsement ขายโฆษณา ขายอาหารและเครื่องดื่มได้อีกมากมาย ดังนั้นเพลงอาจถูกใช้สร้างbrand สร้างvalue โดยไม่จำเป็นต้องทำเงินด้วยตัวมันเองเลย แต่มุมนี้ก็มีผลทำให้คนกลุ่มนี้ทำแต่เพลงที่คาดว่าจะฮิตติดตลาดเท่านั้น คนทำเพลงแปลกๆไม่ตลาดก็อยู่ยาก ตกเป็นหน้าที่ของแฟนเพลงที่หากรักจะฟังก็ต้องจ่ายตังครับ 🙂

    1. Good point ทั้งนั้นเลยครับ ใช่แล้วครับยังคุมได้อยู่บ้างแต่ต้องบาลานซ์ให้เหมาะกับแฟนเพลงจริงๆ Taylor มีสาวกคลั่งมากมายถึงทำได้อย่างที่ว่าครับ

      ส่วนเรื่องเพลงกลายเป็นว่าเอาไปสร้าง brand นี่ผมก็เคยคิดเช่นเดียวกันครับ เดี๋ยวมาถกต่อตอนที่สามครับ

      ขอบคุณที่คอยติดตามครับ

keyboard_arrow_up