มันน่าทึ่งมากหากเราลองกรอเวลากลับไปที่ศตวรรตที่ 17 เราจะพบว่าการที่คนเราจะได้ฟังดนตรีชั้นเยี่ยมแนวตะวันตกนั้นจะต้องเดินทางไปฟังในโรงอุปรากรหรูหราด้วยตัวเอง แต่งตัวดีมีสกุล แถมส่วนมากเขาจะไม่บรรเลงเพลงเก่าด้วย ตัวโน๊ตต่างๆ ที่ลอยเข้าหูเราไปนั้นก็ไปแล้วไปลับ ย้อนกลับไปฟังตัวโน๊ตตัวเดิมเสียงเดิมอารมณ์เดิมอีกไม่ได้ หากลองเร่งเวลาจากสมัยนั้นเข้าสู่ปี ค.ศ. 1995 เราจะพบว่าโลกของดนตรีนั้นเปลี่ยนไปมาก ผู้คนเริ่มฟังดนตรีแบบพกพาไปที่ไหนก็ได้ เทคโนโลยีเทปและซีดีทำให้นักดนตรีสามารถทำให้บทเพลงของตัวเองถูกฟังโดยคนเป็นล้านๆ คนได้โดยไม่ต้องออกแรงบรรเลงเองเป็นล้านๆ ครั้ง คุณจะฟังกี่ครั้งคุณภาพของเพลงก็ไม่ตก นักดนตรีพกพาของคุณไม่มีคำว่าเหนื่อยล้า และสุดท้ายเมื่อเราย้อนกลับมาสู่โลกแห่งปัจจุบันที่กำลังเต็มไปด้วยเทรนด์ใหม่ๆ เช่น Internet Radio เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า “ความเป็นดนตรี” นั้นเปลี่ยนแปลงจากสมัยศตวรรตที่ 17 จนแทบจะไม่มีเค้า สมัยนี้เราอยากจะหาเพลงเก่าแค่ไหนก็หามาฟังก็ทำได้ด้วยความสะดวกที่ปลายนิ้ว ไม่รู้ชื่อเพลง รู้แต่ทำนองแค่สองท่อนก็ยังฮัมใส่มือถือเพื่อให้มือถือหาชื่อเพลงให้เราไปดาวน์โหลดได้ ยิ่งไปกว่านั้นบางทีสมองกลคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ไกลจากบ้านเราเป็นหลายหมื่นกิโลเมตรนั้นยังรู้มากกว่าและเร็วเสียยิ่งกว่าตัวเราเองอีกว่าเรากำลังจะอยากฟังเพลงแนวไหน
จุดต่างที่สำคัญที่สุดคือการเสพดนตรีในปัจจุบันนั้นบางทีไม่ต้องจ่ายเงินเลยซักแดง…
บทความซีรี่ส์พิเศษ “เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift” นี้จะใช้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายบวกกับข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อลองขบคิดดูว่าการเปลี่ยนแปลงในโลกของดนตรีครั้งใหม่นี้ดีที่สุดสำหรับใคร เจ้าของธุรกิจดนตรี ผู้บริโภค นักดนตรี หรือ สังคมโดยรวม รวมไปถึงการค้นหาคำอธิบายความพิลึกและปริศนาที่ซ่อนอยู่ในเซ็กเตอร์นี้ เช่น ทำไมถึงยังจะมีศิลปินใหม่ๆ ไหลเข้าตลาดทั้งๆ ที่รายได้โดยรวมของเซ็กเตอร์ดนตรีมีแต่จะตกเอาๆ หรือทำไมราคาของดนตรีกำลังดิ่งลงเป็นศูนย์ทั้งๆ ที่ดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในเกือบทุกย่างก้าวของชีวิตมนุษย์เราอย่างเสมอมา น่าสงสัยเหมือนกันว่าของดีๆ ทำไมดูเหมือนจะไม่มีราคาอีกต่อไป
“Because I’m happy, clap along if you feel like a room without a roof…”
คงไม่มีใครที่รอดพ้นปีที่แล้วมาได้โดยที่ไม่เคยได้ยินท่อนฮุคสุดฮิตด้านบนจากเพลง “Happy” ของ Pharrell Williams เพลงนี้ฮิตไปทั่วโลก บันไดเลื่อนหลายแห่งในเซ็นทรัลเวิล์ดเปิดเพลงนี้ repeat ทุกวันไม่มีหยุด ถือเป็นยุคทองของ Pharrell
แต่คุณทราบหรือไม่ว่า Pharrell ได้รายได้จากการเปิดเพลงนี้กว่า 43 ล้านครั้งใน Pandora (เว็บไซต์ Internet Radio) แค่ 2,700 ดอลล่าร์สหรัฐฯ เฉลี่ยแล้วเปิด 1 ล้านครั้งได้แค่ 60 ดอลล่าร์ (ประมาณสองพันบาท) แน่นอนว่านี่ไม่ใช่แค่ช่องทางเดียวที่ Pharrell ได้เงินจากเพลงนี้ แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าทำไมการฟังเพลงฮิตระดับนี้ 1 ล้านครั้งมันทำรายได้ให้กับอัจฉริยะนักแต่งเพลงฮิตอย่าง Pharrell แค่ประมาณค่าเติมน้ำมันรถเต็มถังสองสามรอบ
ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นในโลกของธุรกิจดนตรี จากเดิมที่บริษัท Apple ดูเหมือนว่าจะสามารถสร้างตลาด Digital format ที่ขายเพลงเป็นไฟล์ๆ (แบบถูกกฎหมาย) ได้อย่างมั่นคง ขณะนี้กลับมีเทรนด์ใหม่ในธุรกิจดนตรีที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเข้ามาแทนที่ Mp3 นั่นก็คือ Internet Streaming ผ่านเว็บไซต์หรือผ่าน App ชื่อดังเช่น Pandora และ Spotify
Pandora คือเว็บไซต์ Internet Radio ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะนี้มีผู้ใช้กว่า 76 ล้านคน Pandora ไม่อนุญาติให้ผู้ใช้เลือกเพลงได้แต่เขามีจุดเด่นคือจะพยายามใช้สมองกลและฐานข้อมูลขนาดยักษ์เพื่อคำนวนว่าผู้ใช้งานจะชอบฟังเพลงอื่นเพลงไหน ส่วน Spotify นั้นเป็นน้องใหม่ที่มาแรงมาก คุณเลือกเพลงได้เกือบทุกเพลงบนโลกนี้ที่มีค่ายสังกัดที่ใหญ่พอสมควร ขณะนี้มีผู้ใช้งานที่จ่ายค่าสมาชิกเงินรายเดือนกว่า 28 ล้านคน และอีกมากมายที่เปิด account แบบฟรี
เราอาจจะรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันนี้ทำให้วงการดนตรีมีรายได้โดยรวมแย่ลงเพราะว่าซีดีจะขายไม่ออก ยอดขายเพลง digital format ของ Apple ที่ราคาเพลงละไม่ถึงสามสิบบาทก็ตกลงไปกว่า 14% เมื่อปีก่อน แต่ผู้เขียนคิดว่าภาพที่แท้จริงยังไม่หดหู่ขนาดที่เราคิด ดนตรียังเป็นเซ็กเตอร์ที่ยังสำคัญ เพียงแต่ตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนมือของเม็ดเงินจากศิลปินและค่ายเพลงสู่บริษัทไฮเทคยุคใหม่มากกว่า
ในปีค.ศ 2013 Spotify มีรายได้กว่า 1 พันล้านดอลล่าร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าปีค.ศ. 2012 กว่า 50% ตัวเลขนี้ฟ้องว่า Spotify คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ (ด้วยราคาเพลงละเฉียดศูนย์บาท) ยิ่งไปกว่านั้นตอนนี้กำลังมีข่าวลือว่า Spotify จะได้เข้าตลาดหุ้นในอเมริกาในอีกไม่ช้าด้วยแม้ว่าบัญชียังอยู่ในสีแดง เมื่อเริ่มมีแววว่าเงินกำลังไหลเข้าสู่ธุรกิจประเภทนี้ก็จะมีแนวโน้มว่าผู้บริหารค่ายเพลงจะสามารถเข้าไปเอาส่วนแบ่งเพิ่มจากจุดนี้เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปจากการขายเพลงตัวเป็นๆ แบบสมัยก่อน สุดท้ายดูเหมือนคนที่จะได้ประโยชน์น้อยกว่าเขาเพื่อนคงจะเป็นผู้เล่นตัวเล็กหรือศิลปินที่ยังไม่ดังนั่นเอง
ดูเผินๆ เหมือนทุกคนจะเริ่ม Happy กันถ้วนหน้า (อาจจะยกเว้น Pharrell) กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ว่าแต่ว่าศิลปินล่ะ พวกเขาได้ประโยชน์แค่ไหน ในขณะที่ศิลปินยอดนิยมอย่าง Taylor Swift ได้เงินรายเดือนกว่า 5 แสนดอลล่าร์ (16 ล้านบาท) จาก Spotify นักเชลโล่เดี่ยวทันสมัยฝีมือดี Zoe Keating ได้เงินแค่ 547.71 ดอลล่าร์ ทั้งปีจากการเปิดเพลงของเธอกว่าแสนครั้งใน Spotify 547.71 ดอลล่าร์นี่มีค่าประมาณค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์ห้องนอนเดี่ยวในเมืองใหญ่แค่ไม่ถึงสองอาทิตย์…
มันทำให้เราฉุกคิดว่าอะไรทำให้ Taylor Swift กับ Zoe Keating ได้รับผลตอบแทนทางเงินตราและความโด่งดังที่ต่างกันแทบฟ้ากับดิน ถ้าพูดถึงฝีมือใน “การประกอบดนตรี” ใครที่ร้องเพลงเป็นหรือฟัง vocal มากๆ จะทราบดีว่าทักษะในการร้องเพลงไม่ใช่จุดแข็งของ Taylor เมื่อเทียบกับศิลปินรุ่นเดอะ แต่จุดที่ Taylor ฉายเด่นอยู่ข้างบนเหล่าศิลปินทุกวันนี้อยู่ที่ความสามารถในการประพันธ์เพลงให้มีเนื้อหาตรึงใจ เข้าใจง่าย และมีทำนองที่ติดหูสุดๆ (ยังไม่รวมทักษะอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับดนตรีและลักษณะนิสัยของเธอ)
ในขณะเดียวกัน Zoe ถือว่าเป็นนักเชลโล่เดี่ยวที่ฝีมือไม่เบาเลยทีเดียว แถมยังแต่งเพลงได้ลึกลับซับซ้อนน่าหลงไหล สามารถเล่นเอง loop เองคนเดียวได้ แต่สิ่งที่ Taylor มีแต่ Zoe ขาดเห็นจะเป็นทักษะอื่นๆ ที่ปกติแล้วไม่ได้เอาไว้เล่นดนตรี เช่น การสร้างลัทธิแฟนคลับที่เหนี่ยวแน่น การพรีเซ็นต์ตัวเองให้เป็นที่รักของแฟนคลับและการทำมาร์เก็ตติ้งอย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะผ่านการแต่งเนื้อร้องให้ถูกใจแฟนเพลงวัยทีน การปลอมตัวเป็นคนส่งของขวัญวันคริสต์มาสให้กับแฟนเพลง การแจกซีดีเมื่อสั่งพิซซ่า หรือการทำตัวให้เป็นที่น่าดึงดูดในที่สาธารณะและในโลกของโซเชียลมีเดีย
ดูเหมือนว่าวี่แววความเป็นอยู่ของนักดนตรีมืออาชีพส่วนใหญ่จะดูหดหู่ลงเรื่อยๆ มีที่บนท้องฟ้าให้พยายามไปให้ถึงอยู่แค่ไม่กี่ที่ แต่ทำไมเรากลับมีความรู้สึกว่าสมัยนี้เริ่มมีศิลปินใหม่ๆ เข้ามาในวงการมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มันดูขัดๆ กันชอบกล ยิ่งไปกว่านั้น ทำไม Taylor ถึงยอมเอาเพลงตัวเองออกจาก Spotify ทั้งๆ ที่ทำเงินได้มากถึงขนาดนั้นต่อเดือน เราจะกลับมาลองตอบคำถามเหล่านี้ในตอนต่อๆ ไปของซีรีส์พิเศษนี้ครับ
หากเรามองว่า “เงิน” และ “ความโด่งดัง” เป็นมาตราวัดความสำเร็จของศิลปินในยุคปัจจุบัน นั่นก็แปลว่าเทรนด์และกลไกของตลาดดนตรีสมัยใหม่กำลังให้รางวัลกับศิลปินที่มีทักษะแบบ Taylor และลงโทษศิลปินที่มีทักษะแบบที่ Zoe มี
จะเป็นศิลปินที่มั่งคั่งและโด่งดังได้ในสมัยนี้ต้องหมั่นฝึกฝนทักษะอีก 108 อย่างแบบที่ Taylor ทำอย่างนั้นหรือ
เหล่าสถานศึกษาด้านดนตรีที่ปกติผลิตนักดนตรีออกมาปีละมากมายก็เห็นจุดเปลี่ยนนี้ ต่างก็ต้องปรับตัวปรับหลักสูตรเพื่อให้นักดนตรีรุ่นใหม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะเช่นนี้โดยการเริ่มสอนมาร์เก็ตติ้ง PR โซเชียลมีเดีย และ entrepreneurship ในหลักสูตรใหม่ โพลในอเมริกาบอกว่า 3 ใน 4 ของนักดนตรีประกอบอาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับดนตรีไปพร้อมๆ กัน ยิ่งไปกว่านั้น 66% ของนักดนตรีบอกว่ามีรายได้จากดนตรีแค่ไม่ถึง 20% ของรายได้ทั้งหมด คนเรามีแค่ 24 ชั่วโมงต่อวัน นักดนตรีแท้ๆ คงไม่มีคนไหนบอกว่าไม่ต้องซ้อม ถ้าศิลปินยุคใหม่ต้องเรียนทักษะใหม่ๆ ทั้งหมดนี้บวกกับการออกงาน PR ออกงานถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ไปเยี่ยมบ้านแฟนคลับ เป็นแบบนี้แล้วมันอดคิดไม่ได้ว่าจะยังเหลือเวลาแค่ไหนในการพัฒนาศิลปะดนตรีของตนหรือซ้อมเพื่อให้ฝีมือไม่ตก
ค่าเสียโอกาส (opportunity cost) เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถเอาไปใช้ได้กับทุกอย่างในโลก ในโลกแห่งดนตรีก็เหมือนกัน บางคนอาจจะคิดว่านักดนตรีส่วนมากไม่ได้เล่นดนตรีเพื่อเงินหรือชื่อเสียงแต่ค่าเสียโอกาสมันเป็นกฎธรรมชาติ ยังไงคนเราก็ยังต้องกินต้องอยู่ในโลกสมัยใหม่ ไม่สามารถเข้าป่าล่าสัตว์อยู่ไปวันๆ ได้แบบสมัยก่อน หากรายได้จากการเป็นนักดนตรีอย่าง Zoe Keating มันน้อยเสียขนาดนั้น เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ แล้วอาจจะทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่จริงๆ สามารถเป็นอัจฉริยะด้านดนตรีแต่ยังไม่รู้ตัวหันไปประกอบอาชีพอื่นที่มั่นคงกว่าก็เป็นได้ ไอเดียนี้คล้ายๆ กับความน่าสงสัยว่าทำไมถึงมีนักวิ่งแข่งระดับโลกที่มาจากประเทศเคนย่าหรือจาไมก้าจำนวนมากเหลือเกินเมื่อเทียบกับนักวิ่งจากตะวันตก เหตุผลหนึ่งก็คือเมื่อตอนนักวิ่งเหล่านี้ยังเด็กพวกเขามีค่าเสียโอกาสที่ต่ำ ไม่ได้มีทางเลือกให้ไปเป็นหมอหรือไปเป็นนักกฎหมายเหมือนชาวตะวันตก เราจึงไม่ค่อยเห็นนักวิ่งระดับโลกที่มาจากโลกตะวันตกมากเท่าไรนัก
หากมองมุมนี้เราจะเห็นเป็นภาพลางๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คงไม่ได้มีผลต่อกับแค่รายได้ของศิลปินเท่านั้น แต่อาจมีผลในการเปลี่ยน content ของดนตรีได้โดยผ่านการคัดเลือกเอาศิลปินที่มีทักษะหรือมีจุดมุ่งหมายที่ต่างจากเดิม การเปลี่ยน content หรือเปลี่ยนวิถีของดนตรีครั้งนี้ดีหรือไม่ดีเป็นคำถามที่ตอบได้ยากเพราะมันค่อนข้างที่จะแล้วแต่คนแล้วแต่รสนิยม เราจะย้อนกลับมาที่คำถามนี้เพื่อลองวิเคราะห์ดูว่าโลกเราอยากได้ศิลปินอย่าง Taylor หรือ Zoe มากกว่ากันอีกทีในตอนสุดท้ายของซีรีส์พิเศษนี้
กล่าวโดยสรุปแล้วในยุคสมัยที่มี Pandora กับ Spotify ดนตรีกลับกลายดูเหมือนเป็นสิ่งของที่ไม่มีราคา เงินจำนวนเล็กน้อย (สำหรับ Spotify premium นั้นค่าสมัครรายเดือนไม่เกินราคาซีดีสองแผ่นแต่ฟังได้ไม่อั้น) ที่เราจ่ายให้กับสองบริษัทนี้ (ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านโฆษณา) ก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับ “ความสะดวกสะบาย” เพราะว่าจริงๆ แล้วศิลปินส่วนมากไม่ได้ทำเงินได้มากอย่าง Taylor Swift เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วสังคมเราจะเหลือนักดนตรีอย่าง Zoe สักกี่คนที่จะยอมสละความมั่นคงทางการเงินเพื่อดนตรีและการขายเพลงในราคาประมาณ 0.16 บาทต่อการฟังหนึ่งที
ในตอนถัดๆ ไป เราจะมาดูกันว่าทำไมราคาของการฟังเพลงถึงได้ต่ำขนาดนี้ เป็นราคาที่แฟร์จริงๆ หรือไม่ ทำไมถึงยังจะมีศิลปินหน้าใหม่ไหลเข้าตลาดดนตรีอยู่ไม่ขาดสายทั้งๆ ที่ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นอาชีพที่ลำบากในโลกสมัยนี้ และเหล่าศิลปินจะปรับตัวอย่างไรเพื่อความอยู่รอดในโลกดนตรีดิจิตอล โปรดติดตามตอนต่อๆ ไปครับ
Mozart Pandora Spotify Taylor Swift ดนตรี เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ดนตรี
เขียนได้ดีครับ ชอบที่มองไกลไปถึงคุณภาพcontentในอนาคตเมื่องานดนตรีไม่ดึงดูดให้คนอยากมาทำ แต่สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือรายได้หลักของคนทำเพลงยุคนี้คือรายได้จากการแสดงสด Zoeอาจได้เงินจากstreamingน้อยแต่publicityที่เธอได้อาจทำให้เธอมีงานแสดงมากขึ้น(หรือเปล่า?) รออ่านตอนต่อไปครับ
ผมคิดว่ากลไกการให้รางวัลของตลาดนี่น่าสนใจมากครับ และคิดว่าสถานการณ์แบบนี้ก็เกิดกับภาคส่วนอื่นๆเหมือนกัน เช่น บางครั้งนักเก็งกำไรได้ค่าตอบแทนมากกว่านักลงทุนระยะยาว หรือนักเขียนดีๆที่ต้องอ่านหนังสือครั้งละมากๆ กว่าจะเขียนบทความได้ซักเรื่อง แต่กลับได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก ทั้งที่มีดีกับสังคมโดยรวม บางทีก้อน่าคิดต่อว่าตลาดกำลังส่ง signal ที่ผิดอยู่รึป่าว หรือเราเข้าใจตลาดผิดเอง 555