menu Menu
วิกฤตรัสเซีย: เมื่อหมีขาวถูกรังแก
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Global Economy on December 17, 2014 22 Comments 51 words
สิ่งที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับรายการ "Sesame Street" Previous "4 ปัญหาร่วม" ในการพัฒนาการศึกษากับสาธารณสุข Next

ขณะนี้หมีขาวรัสเซียกำลังโดนซ้อม ทั้งราคาน้ำมันดิ่งเหว ทั้งค่าเงินป่นปี้ แถมยังโดนเตะซ้ำเข้าที่ชายโครงวันนี้ด้วยการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โอบามาประกาศว่าจะกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและปลดโซ่ตรวนทางการค้ากับประเทศคิวบาที่เคยทำให้สงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย “ร้อน” และเกือบทำให้เกิดการแลกหมัดนิวเคลียร์ขึ้นมาทันทีในปี 1962  มิหนำซ้ำยังจะมีการซ้ำเข้าที่เบ้าตาหมีขาวอีกทีเมื่อโอบามาลงนามการคว่ำบาตรปิดโลงรัสเซียรอบต่อไปในอาทิตย์นี้ (และมีข่าวฮือฮาบอกว่าลงนามไปแล้วด้วย)

ตอนนี้ทั้งโลกกำลังจับตามองชะตากรรมของเศรษฐกิจรัสเซียที่ค่าเงินรูเบิลร่วงลงมากว่า 50% จากช่วงกลางเดือนมิถุนายนปีนี้ (และหล่นลงมากว่า 20% ภายในวันเดียวเมื่อสองวันก่อน)  แม้ว่าธนาคารกลางรัสเซียจะได้พยายามสกัดการร่วงของรูเบิลไปแล้วด้วยการขึ้นดอกเบี้ยจาก 10.5% เป็น 17% ก็ตาม

เมื่อค่าเงินอ่อนปวกเปียกอย่างฉับพลันและรุนแรงอย่างไม่มีอะไรห้ามได้เช่นนี้ เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดภาวะ “panic” ขึ้นกับทุกฝ่ายไม่ใช่แค่กับนักลงทุนเท่านั้น  ซึ่งล่าสุดชาวรัสเซียเองก็ได้เริ่มรู้สึกสัมผัสกับ “ภาวะรูเบิลไร้ค่า” นี้แล้วเมื่อราคาสินค้าทั่วไปเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างกระทันหัน ร้านค้าเริ่มปรับราคาขึ้นรายวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจต่างชาติยักษ์ใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เช่น แมคโดนัลด์ได้เริ่มปรับราคาขึ้น ในขณะที่บริษัท Apple ก็ได้ยกเลิกการขายสินค้าออนไลน์ให้กับผู้บริโภคในรัสเซียไปเรียบร้อยแล้ว

ต้องยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้ส่อแววแย่ค่อนข้างไวและสร้างความหวาดกลัวให้กับมีหลายฝ่ายจนถึงขั้นเริ่มมีคนหยิบยกประเด็นวิกฤตรัสเซียคราวที่แล้วเมื่อปี 1998 ขึ้นมาเปรียบเทียบกับวิกฤตคราวนี้ว่าอาจจะได้เห็นอะไรแย่ๆ ได้ในเร็วๆ นี้  บทความนี้จะสรุปสั้นๆ ในสี่หัวข้อ:

1. วิกฤตนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยอะไร 2. อะไรคือจุดเสี่ยงของเศรษฐกิจรัสเซีย 3. บทบาทของศึกแย่งชิงเวทีโลกที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตนี้ 4. ทางออกของปูติน

ที่มาของวิกฤตรูเบิล 2.0

bloomberg1

ภาวะราคาน้ำมันโลกตกต่ำและการคว่ําบาตร (sanction) โดยสหรัฐฯและพรรคพวกเป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตในค่าเงินรูเบิล ส่วนผลกระทบต่อค่าเงินรูเบิลนั้นรูปด้านบนนี่ชัดมากจนแทบไม่ต้องบรรยาย

เศรษฐกิจรัสเซียนั้นเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเดิมพันกับการค้าน้ำมัน  เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เศรษฐกิจของประเทศที่ครึ่งหนึ่งของ budget รัฐบาลมาจากรายได้จากการขายน้ำมันจะโดนกระทบอย่างหนักเมื่อราคา Brent Crude ร่วงไปปิดตลาดที่ราคาต่ำกว่า 60 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเมื่อวันก่อน ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2009  (สำหรับผู้อ่านที่สงสัยว่าทำไมราคาน้ำมันตกฮวบ มันมีหลายเหตุผล ลองหาอ่านได้ที่นี่ครับ)

crude

ผู้เขียนคิดว่าการปรับตัวลงของราคาน้ำมันครั้งนี้มันไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติขนาดนั้น หากแต่เป็นผลพวงมากจากการตั้งใจกดราคาลงโดย OPEC ที่ควบคุม supply ของน้ำมันโลกกว่า 40% รวมถึงเจตนาที่จะผลิตน้ำมันไปเรื่อยๆ โดยหลายฝ่ายและมาจากการเลือกจังหวะโต้กลับของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ผลิตน้ำมันได้เองในปริมาณที่มากที่สุดภายในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา (รูปด้านบน) แถมยังบวกกับ Shale Gas Boom ในสหรัฐฯที่ล่าสุดนี้หลายคนเก็งไว้ว่าน่าจะเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจสหรัฐฯเองในอนาคต

import

ด้วยเหตุนี้สหรัฐฯเองจึงสามารถลด dependency ด้านพลังงานลงได้มากกว่าเดิมและมากกว่าเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่เช่นประเทศจีนดังรูปด้านบน

ยิ่งไปกว่านั้นหมีขาวรัสเซียยังโดนซัดเข้าอีกหมัดจากการคว่ำบาตรโดยกลุ่มประเทศตะวันตกที่นำทีมโดยสหรัฐฯ เพื่อเป็นการสั่งสอนปูตินไม่ให้ก้าวร้าวเข้าไปอีกในการรุกรานยูเครนเมื่อต้นปีนี้  ซึ่งการคว่ำบาตรรอบหลังนี้มีผลทำให้บริษัทรัสเซียสามารถกู้เงินจากตลาดการเงินในต่างประเทศได้ลำบากแถมยังทำให้เกิด capital flight ที่เขาคำนวนมาแล้วว่ามีปริมาณกว่า $130 billion ที่ไหลหนีออกจากประเทศรัสเซียท่ามกลางความตึงเครียดของสถานการณ์ในยูเครน

quartz1

 

ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงเป็นต้นตอของปัญหาที่รัสเซียกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้  กราฟด้านบนจาก qz.com แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัจจัยเหล่านี้ว่ามันแก้ลำบากแค่ไหน เส้นสีน้ำเงินคืออัตราดอกเบี่ยธนาคารกลางที่แม้จะปรับสูงขึ้นเพื่อสกัดการขายรูเบิลทิ้งไปสูงถึง 17% (หวังให้คนซื้อ ruble ขาย usd เพื่อกินดอกเบี้ยที่สูงกว่าในรัสเซีย) แต่ก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้ตลาดหันมาเห็นว่ารูเบิลนั้น undervalued อยู่ได้  เรียกได้ว่าเป็น “epic fail” ของธนาคารกลางรัสเซียได้เลยทีเดียวเพราะว่าการขึ้นดอกเบี้ยสูงขนาดนี้เวลาเศรษฐกิจกำลังฝ่อนั้นอาจเป็นการบีบคอตัวเอง

หมีขาวจะล้มหรือไม่?

หนี้รัฐบาลต่อ GDP เป็นอะไรที่คนชอบดูกันแต่ไม่ค่อยมีประโยชน์ในการดูนักสำหรับบางประเทศในบางเวลา  ของรัสเซียในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่หนี้ล้นฟ้าเช่น สหรัฐฯและญี่ปุ่น  จากที่ผู้เขียนเคยวิเคราะห์ภาวะหนี้ซูโม่ว่ายังไงก็ไม่เจ๊งในเร็วๆ นี้เมื่อสองปีที่แล้ว (ที่นี่) คิดว่าประเทศจะเน่าไม่เน่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ระดับหนี้ต่อ GDP อย่างเดียว  ที่สำคัญกว่าคือโครงสร้างเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน รวมไปถึงโครงสร้างและลักษณะของหนี้ หนี้ญี่ปุ่นมากมายก็จริงแต่ไม่ค่อยเป็นหนี้กับต่างชาติแถมพิมพ์เงินกงเต๊กได้คล้ายๆ กับสหรัฐฯ จึงเป็นเหตุที่ทำไมซูโม่ยังไม่ล้มนั่นเอง

ที่เห็นว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ได้ในกรณีนี้คือปัญหาความมั่นคงทางการเงินของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานและธนาคารในรัสเซียที่เป็นประเภทสะเทินน้ำสะเทินบก กึ่งเอกชนกึ่งรัฐบาลที่อาจจะล้มและเป็นเหตุที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปแบกรับกรรมในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น บริษัทพลังงาน Rosneft นั้นกำลังประสบปัญหามากมายจากภาวะราคาน้ำมันดิ่งลงเหวและการคว่ำบาตรที่ทำให้บริษัทเหล่านี้กู้เงินระยะยาวจากต่างประเทศไม่ได้ดั่งใจถึงขั้นต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล  นอกจากนั้นบริษัทเหล่านี้ยังมีหนี้ในสกุลดอลล่าร์ (red flag เลยอันนี้) ที่จะต้องจ่ายภายในปี 2015 จำนวนกว่า $115 billion  บริษัท Rosneft นั้นเป็นแค่หนึ่งในอีกหลายบริษัทยักษ์ที่รัฐบาลรัสเซียมีส่วนถือหุ้นอยู่  หากบริษัทเหล่านี้ล้มจริงๆ มีการคำนวนแล้วว่ารัฐบาลรัสเซียอาจต้องเข้าไปอุ้ม bail out หนี้สกุลดอลล่าร์ที่รวมแล้วมีค่ากว่า $614 billion  ตัวเลขนี้ทำให้เงินสำรองที่ดูเหมือนจะสูง ($373 billion) ดูจิ๋วไปเลย..   แค่ในปีนี้รัสเซียก็ใช้เงินสำรองไปแล้วกว่า $87 billion เพื่อ defend สกุลเงินตัวเองอย่างน่าเศร้า

gold

“ทองคำ” ในกราฟด้านบนอาจจะเคยเป็นอาวุธลับที่รัสเซียคอยเก็บสะสมและขุดเอาไว้ใช้เองในยามยาก แต่ขณะนี้ทองก็ท่าไม่ดีเช่นกัน  อาจจะเป็นไปได้ที่นักเก็งกำไรต่างชาตินั้นเห็นว่ารัสเซียอาจจะควักไม้นี้มาใช้ในเร็วๆ นี้จึงแห่กันชิงขายทองกันก่อนก็เป็นได้

ถ้าจะมีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นก็คงเป็นรัสเซียที่จะเจ็บหนัก ไม่ใช่อย่างช่วงปี 1997-1998 ที่อะไรเจ๊งในไทยสามารถเด้งข้ามทวีปไปทำให้ประเทศอื่นเจ๊งกันได้อย่างฉับพลัน  จริงอยู่ที่โลกสมัยใหม่มีความเชื่อมโยงทางการเงินมากกว่าแต่ก่อน แต่สมัยนี้โลกเรามี exposure กับรัสเซียน้อยลง Janet Yellen ออกมาพูดวันนี้ว่าผลข้างเคียงจากวิกฤตในรัสเซียนั้นไม่น่าเป็นห่วงเพราะสหรัฐฯ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวโยงกับทรัพย์สินรัสเซียมากนัก  ถ้าจะให้เลือกประเทศที่เสี่ยงที่สุดคงจะเป็นประเทศที่เดิมพันกับราคาของสินค้าอย่างเดียวมากๆ แบบรัสเซีย

ศึกแย่งชิงอำนาจบทเวทีโลก

putinobama

ผู้เขียนคิดว่าเบื้องหลังของความเคลื่อนไหวในตลาดนั้นแท้จริงคือการแย่งชิงอำนาจบนเวทีโลกระหว่างประเทศมหาอำนาจ  จะสังเกตได้ว่าพักหลังนี้รัสเซียค่อนข้างก้าวร้าวบนเวทีโลก หักหน้าโอบามาไม่เป็นชิ้นเป็นอันเมื่อคราวที่รัสเซียยกทัพเข้าไครเมียเมื่อต้นปี เหมือนเป็นการประกาศว่า “ข้าทำอะไรก็ได้”  ซึ่งเป็นการเย้อหยันอำนาจของสหรัฐฯ ผู้ที่มักจะทำหน้าที่เป็น “ตำรวจโลก”  นอกจากนั้นการคว่ำบาตรรัสเซียในรอบแรกๆ ที่สหรัฐฯนำทีมนั้นผู้อ่านคงยังจำกันได้ว่าผู้คนส่วนมากคิดว่ามันเป็นการคว่ำบาตรที่ค่อนข้างไร้พิษสง  ไม่มีเขี้ยวเล็บพอที่จะฟัดกับหมีขาวปูติน

แต่เมื่อราคาน้ำมันตกฮวบ เทรนด์พลังงานดูดีขึ้นมากในสหรัฐฯ และการคว่ำบาตรรอบหลังดูเหมือนจะได้ผลมากกว่าเดิม สหรัฐฯ จึงเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะสามารถเปิดเกมรุกสั่งสอนหมีขาวได้ในเวลาที่หมีขาวอ่อนแอที่สุด   ตอนนี้ค่าเงินรูเบิลตก บริษัทยักษ์มีหนี้ดอลล่าร์จำนวนมาก เงินสำรองที่ดูเหมือนมากอาจจะไม่มากพอ ทองที่อุตส่าห์เก็บมาก็มูลค่าร่วง   จะให้เอาทองที่สะสมมาไป sell low ให้คนอื่นเขาซื้อก็เสียหน้ายังไงอยู่  หนี้ดอลล่าร์ที่เก็บมามากมายนี่ก็อาจเป็นแผนแยบยลที่สหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยสมัยก่อนให้ต่ำน่ากู้  สุดท้ายค่าเงินรูเบิลโดนรังแก  หมีขาวจะเสียค่าโง่ลุงแซมก็คราวนี้

ทางออกของปูติน

personoftheyear

ณ เวลานี้ที่รัสเซียกำลังโดนรุมเล่นงานอยู่ ปูตินมีทางเลือกไม่มาก

หนึ่งคือหวังลมๆ แล้งๆ ว่าราคาน้ำมันจะขึ้น หรือหวังว่าเพื่อนสหรัฐฯ จะโดนลูกหลงไปด้วยเมื่อตัวเองตาย (ไม่น่าจะดี)

สองคือหวังพึ่งจีน โดยหวังว่าจีนจะไม่ปล่อยให้รัสเซียล่ม เพราะถ้าล่มแล้วจีนอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์โดนรุมกัดอย่างที่รัสเซียโดนอยู่เช่นกันในอนาคตเมื่อจีนถูกสหรัฐฯ เอาเปรียบ

แต่ผู้เขียนคิดว่าจีนน่าจะทำเฉย จีนเองจะยืนอยู่ข้างๆ หมีขาวแต่คงไม่ทำอะไรมากนัก  จีนก็คือจีน มีประวัติศาสตร์ที่สับสนและกึ่งหวานกึ่งขมกับประเทศรัสเซีย มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลกับสหรัฐฯ และยังเป็นประเทศที่มีความต้องการด้านพลังงานสูงมากที่สุดประเทศหนึ่ง แน่นอนจีนจะได้ผลประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ต่ำลง  แถมหลังๆ ความสัมพันธ์กันสหรัฐฯก็ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อหลังจับมือกันเรื่อง climate change  เพราะฉะนั้นการต่อกรกับสหรัฐฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในเวลานี้จึงไม่ใช่เป้าหมายของจีน

รัสเซียคงจะได้เห็นจีนยืนเฉยๆ เหมือนที่ตัวเองเคยยืนเฉยๆ ปล่อยทหารจีนตายไปเป็นแสนๆ เมื่อสมัยสงครามเกาหลีก็คราวนี้

ทางออกที่สามของรัสเซียคือการยอมในเรื่องยูเครน  ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการวางตัวของปูตินว่าจะยังมาไม้แข็งเหมือนอยู่เหมือนเดิมหรือไม่  เมื่อเห็นเศรษฐกิจตัวเองย่ำแย่ขนาดนี้แล้วจะยังปากแข็งบอกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่มีปัญหาอยู่หรือเปล่า จะยังผลิตน้ำมันอย่างไม่ยั้งอย่างที่เอ่ยไว้อยู่หรือไม่ และจะยังยืนยังว่าจะไม่ทำ capital control แน่นอนอย่างที่เคยพูดไว้หรือไม่

เวลานี้จึงถือได้ว่าเป็น “defining moment” ของปูตินหลังจากที่ได้ปกครองรัสเซียมากว่า 15 ปีว่าจะเลือกเป็นผู้นำแบบไหนที่ลูกหลานชาวรัสเซียจะจดจำเอาไว้

ผู้เขียนคิดว่าทางออกน่าจะอยู่ที่การยอมในเรื่องยูเครนนิดนึงเพื่อคลายความตึงเครียดของสถานการณ์ลง และไม่ควรทิ้งทางเลือกในการทำ capital control (ที่อาจจะเวิร์กหรือไม่เวิร์กก็ยังไม่ทราบ) เพราะว่าเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รูเบิลที่ไร้ค่า ความเสี่ยงจาก hyperinflation ราคาน้ำมันที่ดิ่งเหว และหนี้สกุลดอลล่าร์ที่มีจำนวนมหาศาลนั้นไม่ใช่สิ่งที่ปูตินควรเอาไปเสี่ยงในเกมส์อำนาจส่วนตัว  ขณะนี้โอกาสที่ประเทศอื่นๆ จะช่วยกันล้มสหรัฐฯ ได้นั้นยังทำได้ลำบากมาก อำนาจทหารของสหรัฐฯ และการเงินก็ยังเป็นที่หนึ่ง แนวโน้มพลังงานสหรัฐฯ ตอนนี้ดูดีขึ้นมาก น้ำมันโลกส่วนมากก็ยังค้าขายกันด้วยเงินดอลล่าร์ที่สหรัฐฯ พิมพ์เองได้

ในขณะที่โอบามากำลังจะลงนามเริ่มการคว่ำบาตรอีกรอบอาทิตย์นี้เพื่อส่งรัสเซียลงเหวให้ลึกลงไปอีก หากปูตินเลือกทางออกในสถานการณ์ยูเครนได้ดีพอสมควรอาจจะยังได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวรัสเซียว่าไม่ถึงขั้นเป็นผู้นำขี้แพ้และยังอาจจะสามารถชะลอภาวะเงินรั่วไหลได้ชั่วขณะ  แต่หากปูตินจะยังคงความก้าวร้าวและตัดสินใจจะใส่เกียร์เต็มร้อยสู้ตายกับสหรัฐฯ ด้วยการเพิ่มกำลังทหาร เศรษฐกิจโลกคงผันผวนอย่างหนัก

คำถามสำคัญคือ ผู้ชายอย่างปูตินจะยอมก้มหัวให้กับสหรัฐฯและพรรคพวกได้จริงๆ หรือ

ปูติน รูเบิล วิกฤต วิกฤตรัสเซีย สหรัฐฯ เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

  1. ผมชอบคำว่า defining moment มากครับ เหมาะสมกับสถานการณ์นี้ที่สุดแล้ว

  2. ไม่อยากสนใจเท่าไหร่ แต่พออ่านไปไม่สนใจไม่ได้แล้ว ขอบคุณครับ

  3. คุณๆมีคำผิดในบทความหนะ น่าจะเป็น “พรรคพวก” นะครับ ตอนนี้เป็น “พักพวก” อยู่อ่ะครับ

    ปล. แก้ไขเสร็จ ลบcommentผมเลยนะ

  4. ปกติผมอ่านหนังสือไม่เกินสี่บรรทัดก็เบื่อ แต่อ่านการวิเคราะนี้แล้ว น่าสนใจครับ

  5. …เขียนได้เยี่ยมเลยครับ ตามอ่านกันยาวๆ ขอบคุณครับ…

  6. อ่านแล้วเข้าใจง่ายครับ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ

  7. Great article krub, well structured and easy to follow. Like your comment about China too, could be the most realistic scenario. =)

  8. 1. มีหลายบทความที่กล่าวว่าเศรษฐกิจ USA จะพังเพราะหลายประเทศยกเลิกการค้า USD หันมาซื้อขายโดยสกุลเงินของตัว Chinaได้ทำการค้าแบบนี้กับหลายประเทศ
    2. การที่ทองถูกรัสเซียได้ซื้อตุลไว้เยอะและต้องการหาทางแก้ลำ USA โดยให้เงินสกุลที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกต้องอิงกับทองคำแทนที่จะเป็น USD เงินที่นึกอยากพิมพ์เท่าไหร่ QE เท่าไหร่ก็ทำได้
    คุณNapat คิดอย่างไรช่วยเขียนวิเคราะห์ด้วยค่ะขอบคุณมากค่ะ
    Charlotte

  9. อยากร้องขอให้เขียนเรื่องวิเคราะห์แนวโน้มราคาทองคำ แต่ละไตรมาสของปี 2016 ครับ

  10. ขอบคุณครับที่ได้รับรู้ข่าวสารและสิ่งดีๆครับ.

keyboard_arrow_up