menu Menu
วิกฤตต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ หรือ ต้มยำปู?
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in Global Economy, เมืองไทย on March 31, 2013 0 Comments 30 words
ใกล้ชิดกับ Jack Lew : ขุนคลังคนใหม่ของสหรัฐฯ Previous คนพิการขับรถได้อย่างไร? Next

พักนี้มีข่าวว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นพิเศษด้วยหลายปัจจัย และเค้าก็ว่ากันว่ากำลังมีเงินร้อนที่ได้ทะลักเข้ามาในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างร้อนแรง  จึงมีผู้รู้หลายท่านออกมากล่าวเปรียบเทียบถึงเมื่อคราวก่อนโน้นในปี 40 ที่เราโดนต้มยำกุ้งน้ำข้นสูตรโซรอสลวกลิ้นเอาซะอ่วม เกรงว่าจะได้ซดต้มยำกุ้งรอบสอง!

นับเป็นเรื่องดีที่สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตื่นตัว แต่ไม่อยากให้ความเข้าใจของประชาชนคลาดเคลื่อนเวลาอ่านข่าวหรือคุยกันแล้วใช้คำว่า “ปี 40” หรือคำว่า “ต้มยำกุ้ง” มากเกินไป เอาแค่ให้เตือนสะติเราไม่ให้เราประมาทเกินไปก็พอ ไม่อยากให้มันทำให้เราด่วนสรุปหรือเริ่มมองหาปัญหาในกรอบที่แคบเกิน  เพราะว่าสิ่งที่เรากำลังได้ลิ้มรสอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ต้มยำกุ้ง แต่มันคือต้มยำปูผสมกับแฮมเบอร์เกอร์เก่าๆของนายเบอร์นันเก้ต่างหาก!!

ทบทวนบทเรียน

เวลาเราป่วยหนักเราก็ควรนึกดูว่าร่างกายเราไปรับเชื้ออะไรเข้ามา มีอาการเป็นอย่างไร ใครมาดูแลเรา ใจดีหรือใจโหด แต่ละครั้งก็มักไม่เหมือนกัน ต้องระวังไม่ให้ป่วยอีก

วิกฤตเศษฐกิจก็เหมือนกัน  แม้ว่าทุกครั้งจะเกิดจากการหลงระเริง หลอกตัวเอง หรือซ่อนอยู่หลัง “ภาพลวงตา” บางอย่างที่เราสร้างมาปิดปัญหาโดยไม่รู้ตัว แต่วิกฤตเศษฐกิจแต่ละครั้งก็มีที่มาที่ไป ช่องทางการแพร่เชื้อ และผลกระทบท้ายสุดต่อชีวิตผู้คนที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคราว

วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 40 กับ วิกฤตต่อไปที่กำลังฟักตัวอยู่นั้นก็จะแตกต่างกันในรายละเอียด ซึ่งถึงแม้ในบางรายละเอียดจะดูเล็กมากในสายตาเรา การที่เรามองให้ทั่ว เราจะสามารถเตรียมตัวรับมือกับวิกฤตใหม่ได้ดีขึ้น และน่าจะดีกว่าการมองหาสัญญาณซ้ำๆอยู่ที่เดิม

บางคนอาจจะคิดว่าฟองสบู่ฟองไหนก็เหมือนกัน  แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรคิดว่ามันเหมือนกันหมด  เราต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าเรากำลังเผชิญอะไรอยู่? ฟองมันจะเกิดตรงไหน? ถ้าฟองแตกมันจะลุกลามไปแค่ไหน? ใครบ้างจะซวย? ใครจะโดนหนัก? ทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันเตรียมพร้อมและแก้ปัญหาได้ถูกจุดตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่หมกมุ่นกับควางหลังเก่าๆเกินไป

 

ภูมิคุ้มกันเราดีขึ้นจริงหรือ?

ปัจจัยหลักๆที่ทำให้ต้มยำกุ้งมันแซ่บเจ็บลึกทรวงในคือการคงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลล่าห์ไว้ราวๆ 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าห์ ซึ่งเป็นหน้ากากบังสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในระบบการเงินของเรา กับการหลับหูหลับตากู้ยืมของธนาคารมาเป็นสกุลเงินต่างประเทศแล้วนำไปปล่อยต่อจำนวนมหาศาลให้กับภาคเอกชน (บ้างก็เอาไปเป่าฟองเพิ่ม)

image

แต่สิ่งที่พบเห็นในวันนี้คือเศรษฐกิจไทยที่โตได้ดี  ภาคการเงินแข็งแรงกว่าเก่า การกู้เงินต่างประเทศก็ต้องคำนวนความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน  ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เอกชนมีหนี้ต่างประเทศสูงถึงราว 80% ของทั้งหมด เพราะคิดว่าซ่อนอยู่หลังหน้ากาก 25 บาทไปได้เรื่อยๆ

ระดับหนี้เสียด้านบน (NPL) ก็อยู่กันคนละโลกกับตอนปี 40 เราไม่ได้มีหนี้ต่างประเทศมากนัก เงินเฟ้อก็ไม่น่าห่วง ยังอยู่ราวๆ 3% บัญชีเดินสะพัดก็ยังเกินดุลไป 2.7 พันล้านดอลล่าห์เมื่อปีที่แล้ว (เทียบกับขาดดุลเป็นหมื่นล้านในช่วงโน้น) ถึงแม้จะมีความเสี่ยงจากเงินบาทแข็งค่า  ทุนสำรองที่เราสะสมมาตั้งแต่ตอนปี 40 ก็ยังมีมากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก การว่างงานก็ต่ำเกือบที่สุดในโลก การเมืองเราก็ยังพอไหว (ลุ้น!)

image

ส่วนเรื่องของเงินร้อนที่มีการพูดถึงกันอย่างมากนั้นยังไม่ควรด่วนสรุปว่าเงินร้อนที่เข้ามาในช่วงนี้กำลังมาป่วนหรือกำลังทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาด ถ้าลองดูคร่าวๆนะครับ เอาแค่ในตลาดหุ้นก่อน มองกราฟด้านบนแล้วจะเห็นว่าเงินต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในหุ้นนั้นมันทะลักเข้าทะลักออกมากกว่าตอนปี 40 ตั้งนานแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ในปีที่แล้ว เงินก็เข้าๆออกๆน้อยกว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แถมช่วงที่หุ้นขึ้นสูงหลังจากต้นปี 2012 ที่อยู่ราวๆ 1200 จุด ไต่ไปถึงเกือบ 1600 จุด ต่างชาติก็ไม่เห็นจะมีวี่แววว่าเค้าเข้ามาปั่น !? มันแปลได้หลายอย่าง อาจจะเป็นเพราะเราเริ่มกล้า เริ่มฟุ้งเฟ้อ ปั่นกันเอง อันตรายนะครับ  หรืออาจจะเป็นเงินต่างชาติที่ได้เข้ามาทางอื่นแล้วไหลเข้าตลาดแบบอ้อมๆ หรือไม่แนวโน้มธุรกิจเราอาจจะดีจริงๆ ก็เป็นไปได้

image

ส่วนกราฟด้านบนนี้เป็นจำนวนเงินต่างชาติสุทธิที่เข้ามาลงทุนในหุ้นรายวันในช่วงที่ตลาดเราเหวี่ยงแบบว่าแต่ละคนหัวใจจะวาย  จะเห็นว่าที่ปั่นกันไปถึงยอดราวๆ 1600 จุดในวันที่ 15 ต่างชาติเค้าขายกันด้วยซ้ำ  แถมตอนที่ช้อนหุ้นกันจ้าละหวั่นในวันที่ 25 ต่างชาติเค้าก็ไม่ได้ร่วมแจมขนาดนั้น

 

ตั้งคำถามใหม่: ภาพลวงตาคราวหน้าจะเป็นอะไร?

 

image

ตอนนี้เราอาจจะยังไม่แน่ใจว่ากำลังเจออะไรอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในทุกๆวิกฤตการเงินคือ อะไรก็ตามที่ทำลาย “ความศรัทธา” เพราะว่าความเสื่อมของความศรัทธานี่แหละที่เป็น (และจะเป็น) ตัวที่ทำให้เราล้ม  ส่วนจะล้มเร็วแค่ไหน ล้มดังแค่ไหน แล้วเมื่อไหร่จะลุกได้ ขึ้นอยู่กับ “ภาพลวงตา” กับขนาดและชนิดของปัญหาที่แท้จริง

 

จะเป็นอาร์เจนติน่าที่ยืมดอลล่าห์มาโดยที่ยึดเงินตัวเองไว้เท่ากับดอลล่าห์ หรือจะเป็นเครดิตเรตติ้งสั่วๆในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ล้วนต่างก็เป็นภาพลวงตาทั้งนั้น ทำให้คนที่มีความมั่นใจที่สุดในตอนนั้นล้มตึง ที่บางวิกฤตมีผลกระจายไปทั่วโลกมากกว่าวิกฤตอื่นก็เป็นเพราะว่าคนก่อมันเนียนมาก  บวกกับปัญหาร้อยแปดที่ผูกกันทั่วระบบ

ทุกครั้งที่มีวิกฤต คนเราจะสำนึกได้ก็ในตอนหลังเท่านั้นว่า ตลอดมาอะไรบางอย่างมันเป็นเพียงแค่ภาพลวงตาที่ปิดของเน่าๆไว้  ในกรณีปี 40 ที่เราต้องการกลายร่างเป็นเสือตามเพื่อนแต่คอตกกลายเป็นเสือกระดาษก็เหมือนกัน การคงค่าเงินบาทไว้กับดอลล่าห์ที่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลล่าห์ กับการทำนโยบายอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ มันก็คือภาพลวงตาที่ไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงในศักยภาพของเรา ผลที่ตามมาก็คือ ท้ายสุดนักลงทุนต่างชาติก็ได้กลิ่นเหม็นโชยออกมาจากครัวเรา ก็ฉุกคิดได้ว่าพี่ไทยกำลังตุ๋นคนอื่นอยู่ เลยโจมตีเงินบาทและถอนทุกอย่างออกจากไทย (และจากอีกหลายๆประเทศที่มีกลิ่นคล้ายๆกัน) ขายบาทกันจนธปท.ช่วยซื้อไว้ไม่ไหว  ท้ายสุดเงินสำรองหมด ไทยเราก็ต้องปล่อยเงินบาทลอยตัวทั้งที่ภาคเอกชนยังมีหนี้ต่างประเทศติดค้างมหาศาล (และโดนสองเด้งจากการที่เงินบาทลอยตัว)

 

ด้วยเหตุผลที่เขียนมาทั้งหมด ผมจึงไม่อยากให้เรา assume ในหัวเรา ว่าเรากำลังจะเจอกับต้มยำกุ้งภาค 2 เพราะมันจะทำให้เราสะเพร่า มองไม่ทั่ว เพราะว่าอย่างที่ได้เห็นๆกันมา วิกฤตแต่ละครั้งคล้ายกันที่ความหลงระเริงในเงินตรา ตัวเลขดีมาตลอดแล้วจู่ๆก็เน่าเฟะ  หลายประเทศที่พัฒนากว่าเราก็ยังไม่พ้น “บ่วงกรรม” อันนี้  เศรษฐกิจเหล่านี้เคยเจอวิกฤตมานักต่อนักแล้ว  ก็ยังล้มได้เพราะความศรัทธากับภาพลวงตา  ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้เราเริ่มดักรอค้นหาปัญหาจากมุมมองใหม่ ทำตัวเราให้ปลอดภัย โดยการค้นหา “ภาพลวงตา” อันใหม่นั่นเอง

ภาพลวงตาอันใหม่จะเป็นอะไรคือคำถามสำคัญที่เราควรจะหาคำตอบให้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆก่อนที่มันจะสายเกินไป

ผมคิดว่าภาพลวงตาอันใหม่จะแฝงตัวมากับพายุเงินร้อนเบอร์เกอร์กับต้มยำปูที่กำลังปรุงรสอยู่ตอนนี้ 

 

พายุเงินร้อนเบอร์เกอร์ ต้มยำปู ค่าเงิน และ ฟองสบู่

image

 

ต้องอย่าลืมว่าประเทศเราเล็ก  ตอนนี้สภาวะการเงินนอกประเทศเราโหดมาก ปัจจัยภายนอกสามารถส่งผลกระทบมหาศาลกับความเป็นอยู่ของเราได้อย่างมาก  เงินที่สหรัฐฯ  ยุโรป และญี่ปุ่นขยันปั๊มกันออกมากระตุ้นเศษฐกิจเค้าหลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 50 นั้นจะเป็นปัจจัยภายนอกหลักที่เอื้อหนุนให้มีเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนในเอเชียกันมากในช่วงนี้และในอนาคต จนอาจจะทำให้ค่าเงินของเราแข็งค่าขึ้นเป็นพิเศษ อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดฟองสบู่ได้อีกด้วย

เห็นสภาพคล่องที่กำลังล้นมาใส่เอเชียแบบนี้แล้ว วิกฤตใหญ่ๆต่อไปไม่เกินแถวพวกที่ปั๊มเงินก็คงจะเกิดแถวนี้แหละครับ  เงินที่มาง่ายๆก็ไปง่ายๆ  เพราะฉะนั้นประเทศที่ออมไว้ตอนกำลังโตเร็วหรือโตได้แบบยั่งยืนจริงๆ ก็จะรอด (ไปดูประเทศชิลีเวลาเค้าออมตอนที่เค้าได้ประโยชน์จากการที่ราคาทองแดงขึ้น) พวกที่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจะดับ (กำลังดิ้นรนกันหลายรายให้เห็นเป็นตัวอย่าง)

ในมรสุมนี้ เงินบาทจะเป็นอย่างไร ฟองสบู่จะเป็นอย่างไร ธปท.จะทำอย่างไร จึงทำให้เกิดหลายคำถามให้คิด เช่น

 

1. ครั้งนี้อะไรทำให้เงินบาทแข็ง? ขอให้เข้าใจก่อนว่าเงินบาทแข็งได้ด้วยหลายสาเหตุ เวลาพูดถึงเงินบาทเราต้องพูดถึงเงินบาทเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นด้วย (คู่กับดอลล่าห์ เป็นต้น) ไม่ได้ขึ้นกับปริมาณเงินไหลเข้าอย่างเดียว บางคราวก็เป็นผลมาจากทางฝั่งสหรัฐ บางครั้งก็ต้องดูแนวโน้มเศรษฐกิจไทยด้วยว่าจะเติบโตได้ดีหรือไม่ หากต่างชาติเห็นศักยภาพและพื้นฐานเราดีขึ้น ก็ย่อมอยากเอาเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรด้วยอยู่แล้ว จึงอาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้แบบธรรมชาติๆนั่นเอง
แน่นอนถ้าเรามีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อน นักลงทุนเค้าก็อาจจะคิดว่าน่าจะเอาเงินมาลงที่เราถ้าเราดูไม่เสี่ยงเกินไป  ส่วนต่างของดอกเบี้ยเป็นเคสที่คลาสสิค แต่ที่ว่าดอกเบี้ยสูงไปแล้วควรจะให้ธปท.หั่นดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดเงินไหลเข้านั้นมันก็เป็นคนละประเด็นกันครับ

 

2. ธปท.ควรลดดอกหรือไม่? อันนี้สุดแล้วแต่สภาวะเศรษฐกิจไทย  ดอกเบี้ยธปท.เป็นฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจ ปรับทีกระทบหมด  ต้องไปเช็คก่อนว่าเงินร้อนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวมันมีเท่าไหร่แล้วมันกระทบเงินบาทจริงไหม  โดยส่วนตัวคิดว่า ตอนนี้ยิ่งสินเชื่อดูสูงๆ เศรษฐกิจกำลังร้อนแรง ไม่ควรลดดอกครับ ลดไปก็ไม่แน่ว่าจะเลิกดึงดูดเงินต่างชาติแถมอาจจะยิ่งไปเสริมสร้างให้เกิดฟองสบู่จากน้ำมือเราเองอีกด้วย (งานวิจัยของธปท. ล่าสุดก็ชี้ว่าการลดดอกเบี้ยส่วนต่างเพื่อลดเงินไหลเข้าจะมีผลน้อย)

 

3. แก้บาทแข็งกับเงินร้อนได้ด้วยวิธีอื่นได้ไหม? จริงๆก็ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น การเข้าไปแทรกแซงเงินบาท ออกนโยบายห้ามต่างชาติทำโน่นทำนี่ เปิดช่องให้เงินไหลออกได้เร็วๆ หรือเก็บภาษี  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่านโยบายพวกนี้จะห้ามบาทแข็งได้จริง แถมเราก็ไม่ได้อยากไล่เงินดีๆที่จะมาอยู่ยาวด้วย

4. ข่าวร้ายสำหรับผู้ส่งออก  โดยส่วนตัว คิดว่าเราไม่น่าจะสามารถแก้เงินแข็งจากแรงกดดันมหาศาลจากภายนอกได้จริงๆ อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวมันเหมือนกระจกสะท้อนภาพเรามากกว่า การให้ธปท.ทุ่มทุนสร้างช่วยฝืนไปเรื่อยๆมันไม่ยืนยง เดี๋ยวธปท.จะขาดทุนกันเข้าไปใหญ่  เอาแค่ไม่ให้สินค้าเราแพงจนเสียเปรียบชาติอื่นเกินไปก็พอแล้ว  ผมแนะนำว่าให้เราเริ่มกัดฟัน หาทางปรับตัวให้เข้ากับสภาวะการเงินโลกที่พิเรนทร์ๆ แล้วปรับยุทธการการส่งออกใหม่จะดีกว่าครับ เงินบาทแข็งก็ไม่ได้แปลว่ามันแย่เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าเราคุมมันได้แค่ไหนและเราสามารถใช้โอกาสที่มันแข็งเอาไปทำประโยชน์ได้หรือไม่ต่างหาก

5. แล้วเรื่องต้มยำปูล่ะ  เรื่องนี้สำคัญและมีความเสี่ยงสูง แต่ก็ดีใจมากที่มีคนแคร์เรื่องนี้กันเยอะ

จะขอเสนออีกมุมความคิดบ้างว่าจริงๆแล้วตอนนี้ที่ทั้งโลกกำลังหันมาหาเอเชียเป็นโอกาสทองที่เราควรจะเปลี่ยนนโยบายใหญ่ๆแบบ นโยบาย 2 ล้านล้านให้เป็นไพ่ตายให้ได้ (ไม่ได้เล่นคำ) ให้เราได้คัมแบ็คซักทีหลังจากที่ได้เดินวนไปวนมา โดนคลื่นซัด ติดหวัดนก เล่นกีฬาสี และได้สวมบทบาทเป็นโมบี้ดิ๊กนักล่าปลาวาฬ มาเป็นเวลาหลายปีหลังจากโดนต้มยำกุ้งซัดเข้าให้ในคราวก่อน

image

 

อยากจะเตือนใจไว้ว่าประเทศรอบๆเราไม่ได้เป็นเพื่อนเราหรอกนะครับ  ถ้าดูสิงค์โปร์ ดูจีน พวกนี้เค้าลงทุนกันไปมหาศาลกันตั้งนานแล้ว เพื่อที่เค้าจะได้ถีบตัวให้นำหน้าคนอื่น  ความเจริญที่ยั่งยืนไม่ได้อยู่กับตัวเลข SET ไม่ได้อยู่กับตัวเลข GDP ที่ขึ้นทีก็ฮือฮาทีดีใจกันใหญ่ มันขึ้นอยู่กับผลิตภาพที่แท้จริงของทุกๆภาคการผลิตรวมกันต่างหาก  ขึ้นอยู่กับความรู้ มันสมองของแรงงาน นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี  ถ้าอีกหน่อยเผลอๆมีสงครามใหญ่เกิดขึ้นแถวนี้แล้วเรามีเอี่ยว  เศรษฐกิจที่แข็งแรงจะเป็นอำนาจที่สำคัญของเรา มันจะทำให้เรามีโอกาสรอดตายมากขึ้น หากเราไม่คว้าโอกาสทองที่จะเป็นศูนย์กลางในโซนที่ทั้งโลกกำลังจะให้ความสนใจอย่างใหญ่หลวงนี้มาอยู่ในมือเรารอบนี้ แล้วจะไปรอรอบไหนครับ

ที่กลัวกันว่าเดี๋ยวหนี้จะเกิน 50% ของ GDP ผมคิดว่าไม่มีเหตุผลพอครับ  ไม่มีพระเจ้าที่ไหนสั่งว่าถ้าเกิน 50% แล้วเราจะวอดวาย ถ้าเราไม่กู้กับเค้า  World Bank ก็ไม่ใช่พระเจ้าที่จะลิขิตชีวิตเราครับ  เรื่องสภาวะหนี้กับความสามารถในการคืนหนี้มันซับซ้อนกว่านี้มาก ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ปริมาณหนี้ แต่เป็นการเปรียบเทียบปริมาณนั้นกับความสามารถในการใช้หนี้มากกว่า

แต่ก็น่าเสียดายที่ตอนนี้ดูเหมือนว่านโยบายยักษ์พวกนี้จะมีความเสี่ยงที่อาจจะไม่ออกมาช่วยขับเคลื่อนประเทศเราได้จริงในระยะยาว แถมยังอาจจะทำให้เราเป็นหนี้มากเกินไปในช่วงที่มีมรสุมแฮมเบอร์เกอร์  แต่ก็ขอให้เราช่วยๆกันกดดันทุกวิถีทางให้โครงการมันออกมาดีๆ และทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ดำเนินการแบกรับความรับผิดชอบ เราตกรถไปแล้วรอบนึงตอนที่เพื่อนๆในเอเชียเค้ากลายร่างเป็นเสือกัน มัวแต่ซดต้มยำกุ้งกันอยู่ แหม…ก็เรต 25 = 1 มันแซ่บเหลือเกินนี่นะ… แต่ก็พยายามอย่าทะเลาะกันเองไปซะก่อนนะครับ!  เดี๋ยวจะพลาดโอกาสทองให้ชาติอื่นงาบไปซะก่อน

 

แนะนำความโปร่งใสเมื่อสองวิกฤตปนกัน

ตอนนี้มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นดีๆมากมาย ขอไม่พูดซ้ำ แต่จะขอเสริมในเรื่องของความโปร่งใส เพราะว่าถึงแม้เราจะยังไม่ค่อยแน่ใจในรายละเอียดของวิกฤตใหม่นี้ แต่เรารู้แน่ชัดในจุดที่คล้ายๆกันในแต่ละวิกฤตซึ่งก็คือเรื่องของภาพลวงตากับความศรัทธา  ผมจึงเชื่อมั่นมากว่ามันจะช่วยได้ตั้่งแต่วันนี้เลย ไม่ว่าอาหารจานต่อไปมันจะใส่กุ้งหรือใส่ปู จะเผ็ดร้อนแค่ไหน เราจะรับมือมันได้ดีขึ้น

เมื่อมีความโปร่งใส ผมคิดว่าเราและระบบจะปรับตัวหรือตรวจตัวเองได้และจะค่อยๆสะท้อนออกมาทางอาการที่ไม่รุนแรงมากนักก่อน คล้ายๆน้ำมูกไหลหรือเจ็บคอเล็กน้อยเวลาป่วย  และจะมีภาวะที่รุนแรงแบบฉับพลันอย่างการหัวใจวายได้ยากขึ้น  แถมถ้าสองวิกฤตที่มีความซับซ้อนสูงเข้าโจมตีเราพร้อมๆกัน  ความโปร่งใสอาจจะช่วยให้เราเจอเนื้องอกร้ายก่อนที่มันจะสายเกินแก้

 

image

 

ความโปร่งใสในที่นี้คือความโปร่งใสใน 2 เรื่อง  ในเรื่องแรกก็คือเรื่องของนโยบาย 2ล้านล้านและอีกหลายจานเด็ดมากมายที่เสิร์ฟออกมาแล้วหรือกำลังหุงต้มอยู่  เรื่องนี้ค่อนข้างซีเรียสในหลายมิติ ตั้งแต่ในเรื่องของความมั่นคงทางสังคมไปจนถึงเรื่องของประสิทธิภาพในการเอาเงินไปลงทุนและการคืนหนี้ในอนาคต  เกรงว่าการลงทุนเหล่านี้่จะเปลี่ยนไปเป็นภาพลวงตาปลอมๆอันใหม่ ทำเลข GDP สวยได้ปีสองปีเท่านั้น เราไม่ได้เก่งขึ้นตามที่โฆษณาไว้ ทั้งๆที่หนี้เราบานเบอะ  อย่างงี้ไม่เวิร์คเอามากๆ เพราะฉะนั้นแผนการกู้จะสำคัญมาก ต้องเอาให้แน่ๆว่าจะกู้ยังไง กู้สกุลอะไร

เรื่องที่สองก็คือเรื่องของทิศทางและความรุนแรงของพายุเงินร้อนแฮมเบอร์เกอร์ที่จะพัดเข้ามา ว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง เข้าไปที่ไหน แค่ไหน จะมานานเท่าไหร่ และจะมาปนกับต้มยำปูไหม

ตอนนี้ยังมองลำบากว่ามันแฝงตัวมาทางไหน แต่ตั้งแต่นี้ไปก็ลองมองๆดูความสอดคล้องของตลาดกับปริมาณเงินไหลเข้ากันนะครับ

รวมถึงในภาคอสังหาฯ ที่เรามักจะ “นึก” ว่าสินทรัพย์ในภาคอสังหาฯมักจะมีสภาพคล่องต่ำ ไม่เป็นที่น่าดึงดูดต่อเงินร้อนเงินด่วน แต่การ “นึก” แบบนี้มันล่อสหรัฐฯไปแล้วจากความซับซ้อนที่แท้จริงของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์  การบ้านของเราชาวไทยผู้ไม่ค่อยชอบทำการบ้าน ก็คือการทบทวน ดูว่าอะไรที่เราอาจจะมองข้ามไป ตัวเลขไหนที่ดูเริ่มผิดปกติ ดูเว่อร์เกินจริง มองให้กว้าง มองให้ดี แล้วเราจะรอด

ถ้าสองเรื่องนี้มันมาปนกันก็ต้องระวังให้มากขึ้นอีก ในมุมนึงเรามีเงินไหลเข้ามาง่าย อีกมุมนึงเราก็มีความต้องการ ความมั่นใจ และความโลภที่อยากจะแปลงร่างเป็นหน้ากากเสือโดยการซดต้มยำปูบำรุงร่างกาย

ต้มยำปูนี่ทำให้ดีก็ทำได้นะครับ แต่ว่าวัตถุดิบที่ใส่ลงไปนั้นสำคัญ ลงทุนหน่อยครับ you are what you eat แม่ครัวพ่อครัวก็ต้องเก่ง เอาใจใส่ให้มาก ที่สำคัญ​ ต้องทำให้มันสะอาด เพราะว่ากินทีกินกันทั้งประเทศนะครับ

ลองนึกดูว่าใส่เบอร์เกอร์ลงไปในต้มยำ จะเน่าแค่ไหน ภาพลวงตาถึงสร้างมาดีแค่ไหนก็คงปิดกลิ่นที่โชยออกมาไม่ได้  เราต้องหันมาดูธนาคารรัฐ มาเจาะลึกหนี้รัฐบาลที่จะสูงขึ้นเทียบกับความสามารถในการจ่ายของเรา ในขณะที่เงินบาทของเราก็คงจะมีทีท่าที่จะแข็งขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้การส่งออกของเราอาจจะซุดตัวลงได้ในระยะแรก  อีกไม่กี่ปีเมื่อฝั่งตะวันตกเพิ่มดอกเบี้ยในที่สุด ก็อาจจะเกิดอาการ “เงินไหลย้อน” ได้อีกด้วย ต้องระวังให้รอบด้าน

 

สรุป

อ่านมาหมดนี่ผู้อ่านคงเหนื่อยและหิวกันไปตามๆกัน แต่ก็คงจะได้เห็นภาพแล้วว่ามันซับซ้อนเหลือเกินโลกใบนี้ ทั้งปัจจัยในและนอกประเทศ ได้คิดกันจนปวดหัว

แต่ตอนนี้เราจะเห็นได้ชัดว่าได้เกิดศึกชิงจ้าวกระทะเหล็กขึ้นทั่วโลกแล้ว โดยมีวัตถุดิบหลักคราวนี้คือเม็ดเงินปลอมๆที่หุงต้มกันขึ้นมา  เชฟทั่วโลกก็ได้นำอาหารจานเด็ดจานใหญ่ๆ รสชาติรุนแรงออกมาให้ลิ้มลองกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น “แฮมเบอร์เกอร์จากย่านถนนกำแพง” หรือ “ซูชิขั้นเทพจากร้านซูชิอาเบะ” ก็ต้องมาแข่งกันว่าเจ้าไหนจะแน่กว่ากัน

ต้มยำกุ้งมีภาคสองแน่ไม่ต้องห่วง แต่จะเป็นสูตรจาพนม (อาจมีช้างเจือปน) และจะอยู่ในรูปแบบของ 3D กับ DVD เท่านั้น… ที่น่าเป็นห่วงกว่าคือต้มยำที่ใส่ทั้งปู ปลาดิบ และ เบอร์เกอร์มากกว่าimage

จะรับมือกับอะไรที่ซับซ้อนแบบนี้ได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายฝ่ายเพื่อตรวจหาภาพลวงตาอันต่อไป  อย่างที่ได้เกริ่นไว้ เราจะต้องคำนึงถึงไม่รู้กี่ตัวแปร แล้วใครในประเทศเราที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมพวกมัน แล้วใครมีหน้าที่ประสานงานและคอยตรวจสอบผลักดันให้เกิดความโปร่งใส  นี่แหละคือสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดบนโลกสมัยใหม่ที่ก็ยังโหดร้ายเหมือนเดิม

เวลาเราเถียงๆกันก็อย่าได้ลืมฝรั่งที่ตอนนี้กำลังเล่นบทนักเลงใหญ่

เค้าร้ายกาจครับ ลงโทษเราสาหัสตอนเรากินต้มยำกุ้ง เรารับโทษไปเต็มๆ เค้าไม่ได้เสียหายอะไรขนาดนั้น  ตอนนี้ผ่านมากี่ปีจากปี 50 แล้ว เชฟแฮมเบอร์เกอร์ก็ยังลอยนวล แต่แฮมเบอร์เกอร์เน่าๆนั้นได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปทุกหนทุกแห่ง รวมทั้งอาจจะได้เข้ามาผสมผสานคลุกเคล้ากับต้มยำปูรสเด็ดบ้านเราจน “อร่อยโฮก” ถูกใจกันไปตามๆกัน  อย่าปล่อยให้ต้มยำหม้อใหม่นี้ส่งกลิ่นยั่วยวลทำเราตาลาย มองไม่เห็นปัญหากันเอง  หากเราหลงตัวเอง หลอกตัวเอง ด่วนสรุป มองหาปัญหาเดิมๆ แก้ปัญหาผิดที่ ไม่สามัคคีกัน สงสัยจะได้ท้องเสียจากแฮปปี้มีลต้มยำปูกันถ้วนหน้าก็คราวนี้ (ปล. อาจมีแถมชุดของเล่นรถไฟขนผักสดให้ด้วย!)

settakid ต้มยำกุ้ง ต้มยำปู นโยบาย ปี40 ฟองสบู่ รัฐบาล วิกฤต วิกฤติ สหรัฐฯ หนี้ อเมริกา เศรษฐกิจ เศรษฐความคิด แฮมเบอร์เกอร์


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up