menu Menu
“พิธีฮัจญ์” ทำให้ทัศนคติต่อเพื่อนร่วมโลกดีขึ้น
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in เศรษฐศาสตร์ภาษาคน on August 18, 2014 0 Comments 16 words
Galactic Pizza: พิซซ่าพิทักษ์โลก Previous [Life+] วิธีซื้อดอกไม้ให้คุ้มค่าที่สุด Next

ความยาว: 4 นาที
สรุป: 1. แม้ผู้ที่ได้ไปประกอบพิธีฮัจน์จะ “เคร่ง” กว่าชาวมุสลิมปกติ เขากลับมีทัศนคติที่เป็นมิตรกับเพื่อนร่วมโลกมากกว่า 2. มีมุมมองทางบวกต่อบทบาทของเพศหญิงมากขึ้น

หมู่คนในแถบประเทศทางตะวันตกชอบคิดว่าความเคร่งครัดในศาสนาอิสลามมักนำไปสู่ความเป็น extremism ความรุนแรงและความเกลียดชังต่อผู้นับถือศาสนาอื่น  อย่างไรก็ตามความเชื่อนี้ไม่เคยถูกวิเคราะห์หรือพิสูจน์อย่างเป็นทางการจริง ๆ สักครั้ง  ความคิดเช่นนี้มักจะมาในรูปแบบของการซุบซิบ เรื่องน่าหวาดกลัวจากสิ่งพิมพ์ หรือเรื่องเล่าแบบปากต่อปากเท่านั้น  งานวิจัยของ Clingingsmith, Khwaja, กับ Kremer ที่วัดผลกระทบของการไปประกอบพิธีฮัจญ์ต่อทัศนคติที่ดีขึ้นต่อเพื่อนร่วมโลกและต่อผู้หญิงมุสสลิมเผยให้เห็นถึงความงดงามที่แท้จริงในศาสนาอิสลามและการเข้าใจผิดอย่างรุนแรงของชาวตะวันตกโดยส่วนมาก

ทำไมงานชิ้นนี้ถึงสำคัญ?

งานชิ้นนี้สำคัญเพราะว่าเป็นการชี้ให้เห็นว่าความเคร่งครัดในศาสนาอิสลาม (อย่างน้อย ๆ ในกรณีชาวปากีสถาน) ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงในความคิดแต่อย่างใด  กลับจะมีผลดีต่อทัศนคติต่อเรื่องอื่น ๆ ในสังคมมนุษย์อีกด้วยซ้ำ…

ในปี 2007 45% ของชาวอเมริกันที่ PEW ไปสำรวจนั้นเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าศาสนาอิสลามนั้นทำให้สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงมากกว่าศาสนาอื่น ๆ ในโลก

ปัญหาอยู่ที่ว่าเรากำลังเข้าใจศาสนานี้ผิดอยู่หรือไม่

ผมเองเคยเขียนเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของอัลกออิดะห์ไว้ในบล็อกนี้ ใครที่ติดตามเรื่องการก่อการร้ายอย่างลึกซึ้งจะทราบดีว่ากลุ่มหัวรุนแรงนั้นถือเป็นส่วนที่น้อยมาก ๆ ของชาวมุสลิมทั้งหมดบนโลกนี้  หากเราสามารถเข้าใจหรือพิสูจน์ได้ว่าศาสนาอิสลามโดยส่วนมากนั้นไม่ได้สอนให้คนรุนแรง  สื่อตะวันตกก็จะไม่ใส่ไฟเท่าที่เห็นอยู่ดังขณะนี้ โลกเราก็อาจจะสงบสุขกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้

เทคนิคในการค้นหาผลกระทบนี้

lott

ปกติแล้วการวัดผลกระทบของพิธีฮัจญ์นั้นทำได้ยาก เพราะว่าคนที่ตัดสินใจเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในดินแดนอันไกลโพ้นในวันที่กำหนดเป็นระยะเวลายาวนานกับคนที่ไม่ได้เดินทางไปนั้นมีลักษณะและความคิดที่แตกต่างเกินกว่าจะทำให้เราจะนำทัศนะคติจากคนในสองกลุ่มนี้มาเทียบกันได้  ยิ่งไปกว่านั้น การไปฮัจญ์นั้นมีค่าใช้จ่ายทั้งทางการเงินและทางร่างกายและจิตใจ ต้องลางาน ต้องเดินทางระยะเกิน 80 กิโลเมตร

Clingingsmith, Khwaja, กับ Kremer สามนักวิจัยจึงใช้ข้อมูลผลการสุ่ม lottery ของการได้รับวีซ่าฮัจญ์ในปากีสถาน  สมัยก่อนเราคงเคยได้ยินกันว่าการไปประกอบพิธีนี้นั้นอาจมีความไม่ปลอดภัย มีโอกาสถูกเดินทับตายได้  เนื่องจากจำนวนคนอันมหาศาลจากทั่วโลกที่ล้วนต่างต้องการไปที่กรุงเมกกะ  ประเทศซาอุดิอาราเบียจึงทำการจำกัดจำนวนนักเดินทางที่จะมาทำพิธีฮัจญ์ของแต่ละประเทศ (ในงานวิจัยนี้ปากีสถานได้วีซ่าไป 150,000 ใบในปี 2006) โอกาสได้วีซ่าผ่านทาง lottery นั้นมีประมาณ 59% และ 99% ของผู้ที่ได้วีซ่านั้นเดินทางไปกรุงเมกกะจริง

ผลจากการสอบถามผู้ที่ได้ไปและผู้ที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์

งานชิ้นนี้พบอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบผู้ที่ได้วีซ่าฮัจญ์ (แล้วเดินทางไป) กับผู้ที่ไม่ได้วีซ่าฮัจญ์  พบว่าพิธีฮัจญ์นั้น…

  1. ทำให้ผู้ที่ได้ไปกรุงเมกกะนั้นเคร่งในศาสนาและพิธีกรรมมากขึ้นแต่ว่า…
  2. เคร่งในพิธีกรรมที่ “ถือเป็นสากล” เช่นการไปมัสยิดบ่อยครั้งขึ้นกว่า 26% และเคร่งในพิธีกรรม “ท้องถิ่น” น้อยลง
  3. ทำให้มองว่าผู้นับถือศาสนาต่างกันนั้นเท่าเทียมกันมากขึ้นกว่า 22% และมองว่าความเชื่อที่ต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมากขึ้น 11%
  4. ทำให้ประนามและไม่ยอมรับการกระทำของนายโอซามะ บินลาดินมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้วีซ่ากว่าเท่าตัว
  5. ต้องการหาทางสู่ความสงบสุขระหว่างประเทศของตนกับอินเดีย (สองประเทศที่ทะเลาะกันมานาน) มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้วิซ่า
  6. ทำให้คิดว่าการลงโทษคนในครอบครัวที่ทำให้ครอบครัวเสียชื่อเสียงนั้นผิดมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้วีซ่ากว่า 17% (อันนี้เคยเป็นข่าวอยู่พักใหญ่)
  7. ทำให้มีมุมมองบวกต่อเพศหญิงมากขึ้นในหลายด้าน เช่น คิดว่าเพศหญิงนั้น “spiritually better than men” มากขึ้นถึง 6% และ บ่งบอกว่าต้องการให้โอกาสทางการศึกษาและการงานกับลูกสาวมากขึ้นถึง 8%

บทส่งท้าย

hajj

การรวมตัวกันทำอะไรบางอย่างสามารถก่อให้เกิดทัศนคติทั้งดีและร้ายต่อผู้คนจากหลาย ๆ กลุ่ม  การที่งานชิ้นนี้พบผลที่น่าชื่นใจดังกล่าวนั้นอาจเป็นเพราะว่าพิธีฮัจญ์มีลักษณะอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ขึ้น  นักวิจัยเหล่านี้คิดว่าลักษณะต่าง ๆ ของพิธีฮัจญ์นั้นสร้างสถานที่พิเศษที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งทางเชื้อสาย ภาษา และชนชั้น เข้าด้วยกันในสถานที่และวันเวลาเดียวกัน เพื่อทำกิจกรรมที่ค่อนข้างหนักหน่วงทางร่างกายและต้องการการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน

ข้อจำกัดสำคัญของงานวิจัยนี้ก็คือเขาดูแค่ประเทศปากีสถานในปี 2006 เท่านั้น และเป็นผลจากผู้ที่ตั้งใจส่งใบสมัคร lottery เท่านั้น

โดยทางเทคนิคแล้วเราไม่มีทางรู้เลยว่านอกเหนือจากคนกลุ่มนี้แล้วผลของพิธีฮัจญ์จะเป็นอย่างไร  อีกข้อจำกัดคือเราไม่รู้แน่ชัดว่าสิ่งที่พบคือแค่ “ผลทางความรู้สึก” จากการ “ถูกล็อตเตอรี่” vs. “ไม่ถูกล็อตเตอรี่” หรือไม่ โดยที่จริงแล้วพิธีนี้อาจจะไม่ได้มีผลอะไรเลยด้วยซ้ำไป  เราสามารถคิดข้อสันนิษฐานได้ว่าผู้ถูกล็อตเตอรี่อาจจะคิดว่าฟ้าบันดาล ทำให้ตนได้เดินทางไปเมกกะ เลยอารมณ์ดีกว่าอีกกลุ่มนึง!

แต่ที่น่าสนใจมาก ๆ คือมันยังมีกิจกรรมอื่น ๆ บนโลกนี้ที่มีลักษณะคล้ายลักษณะบางอย่างในพิธีฮัจญ์ อาทิเช่น ค่ายทหาร ค่ายอบรม ค่ายกวดวิชา ที่สามารถรวบรวมคนที่หลากหลายแต่แชร์อะไรบางอย่างด้วยกัน เครื่องแต่งกายแบบเดียวกันหรือมีทรงผมคล้ายกันในวันนั้น มาทำกิจกรรมร่วมกัน

ล็อตเตอรี่วีซ่าฮัจญ์นั้นมีเกือบทุกประเทศ หากมีคนทำวิจัยแบบนี้อีกในประเทศอื่นนอกจากปากีสถาน พวกเราคงจะได้รู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทั้งศาสนาอิสลามและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีขึ้นต่อผู้คนที่ต่างจากเราครับ

พิธีฮัจญ์ ล็อตเตอรี่ วิจัย อิสลาม


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

keyboard_arrow_up