เมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นภาวะ “บอนด์ยีลด์ติดลบ” ที่ทำให้หลายคนเกาหัวกันอย่างถ้วนหน้า ภาวะนี้รุนแรงไม่ใช่เล่น มีคนวิเคราะห์แล้วว่ากว่า 27% ของปริมาณตราสารหนี้รัฐบาลในกลุ่มยูโรโซนทั้งหมดนั้นเข้าข่ายให้ผลตอบแทนติดลบไปเรียบร้อยแล้ว ผลตอบแทนของตราสารหนี้รัฐบาลญี่ปุ่นระยะสามปีก็ได้ลงไปติดลบเหมือนกันเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อน น่าประหลาดไหมล่ะครับที่คนเรายอมจ่ายเงินแย่งกันเอาเงินไปให้ญี่ปุ่นยืมทั้งๆ ญี่ปุ่นจริงๆ แล้วเป็นประเทศที่มีอนาคตระยะไกลที่แย่มากๆ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนหนี้รัฐบาลต่อ GDP สูงที่สุด บวกกับมีแนวโน้มชราภาพของประชากรที่ชัดเจน กรณีของญี่ปุ่นนั้นผู้เขียนพอจะยังเข้าใจได้ว่าญี่ปุ่นจะยังไม่เจ๊งในอีกหลายปี (เหมือนที่เคยวิเคราะห์ไว้ที่นี่) แต่ที่น่าฉงนกว่าคือทำไมผลตอบแทนของตราสารหนี้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ระยะสิบปีมันถึงลงไปแตะต่ำกว่าศูนย์ได้ โลกนี้มันไม่มีอะไรดีๆ ให้เอาเงินไปลงทุนแล้วฤา?? หรือว่านักลงทุนเข้าสู่สภาวะซึมเศร้ากันหมด มองไม่เห็นโอกาสทำเงินอะไรใดๆ ในอีกสิบปีข้างหน้า? ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนของบางบริษัท เช่น GE, McDonald’s, Nestle, Royal Dutch Shell และ Proctor&Gamble ก็เคยตกต่ำกว่าศูนย์หรือกำลังมีแนวโน้มว่าจะลงไปติดลบเช่นกัน
บทความนี้จะพูดถึง 3 หัวข้อหลักๆ 1. อธิบายแบบง่ายๆ ว่าอัตราตอบแทนของตราสารหนี้ติดลบนั้นจริงๆ แล้วแปลว่าอะไร 2. อะไรทำให้เกิดภาวะนี้และทำไมนักลงทุนถึงตัดสินใจซื้อ 3. ภาวะแบบนี้บ่งบอกถึงอะไร
การที่ “บอนด์ยีลด์” หรืออัตราตอบแทนของตราสารหนี้ติดลบนั้นแปลว่าเรายอมจ่ายเงินเพื่อให้รัฐบาลเหล่านี้กู้เงินเราไปใช้แทนที่ว่าโดยปกติแล้วเราจะได้ดอกเบี้ยติดไม้ติดมือกลับมา ยกตัวอย่างง่ายๆ คือถ้าเรากำลังจะไปซื้อตราสารหนี้รัฐบาลระยะสั้นที่จะจ่ายเรา 1000 ดอลล่าห์เมื่อถึง maturity ท้ายปีที่มียีลด์ -1% แปลว่าเราจะต้องซื้อมันตอนนี้วันนี้ที่ราคา 1010 ดอลล่าร์เพื่อแลกกับเงินแค่ 1000 ดอลล่าร์ในอนาคต พูดง่ายๆ ก็คือยอมเสียดอกแทนที่จะได้ดอกนั่นเอง ภาพด้านบนสื่อให้เห็นว่า cost of borrowing ของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ต่ำถึงขั้นมีนักลงทุนมากมายแย่งกันเอาเงินมาประเคนให้ถึงที่เพื่อให้รัฐบาลกู้เงินระยะสิบปีได้โดยไม่มีดอกเบี้ย ถามว่าอัตราผลตอบแทนต่ำลงไปกว่าศูนย์ได้อย่างไร คำตอบคือมันมาจากการแปรผกผันระหว่างราคาของตราสารหนี้กับอัตราผลตอบแทนของมัน (ยิ่งราคาปรับตัวสูงขึ้นอัตราตอบแทนยิ่งต่ำลง) การที่อัตราตอบแทนตกทะลุเลขศูนย์ลงไปสามารถตีความได้ว่ามาจากความต้องการของนักลงทุนอันมหาศาลในการครอบครองตราสารหนี้เหล่านี้
“นักลงทุนแห่ซื้อบอนด์ยีลด์ติดลบ” ฟังเผินๆ เหมือนกับว่านักลงทุนทั้งโลกกำลังเสียสติ แต่ที่จริงแล้วมันมีที่มาที่ไปมากกว่านั้น
อัตราผลตอบแทนเป็นแค่หนึ่งในช่องทางที่ตราสารหนี้จะทำเงินให้กับนักลงทุนได้ ที่จริงแล้วสามารถทำเงินได้หลายช่องทางมาก
สรุปได้ง่ายๆ โดยสมการด้านล่าง:
กำไรที่เป็นไปได้ = กำไรจากการขายต่อ (capital gains) + อัตราผลตอบแทน + กำไรค่าเงินแข็ง (ถ้าซื้อข้ามสกุล)
เหตุผลแรก: นักลงทุนเก็งว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด ราคาข้าวของจะตกต่ำ จึงหันเข้าหาตราสารหนี้ที่ “ปลอดภัย” แม้จะได้ผลตอบแทนติดลบ
ข้อนี้สำคัญแต่ผู้เขียนคิดว่าอาจจะเข้าใจยากตอนแรกๆ ที่เคยได้ยินคนพูดถึงข้อนี้กัน หากใครไม่เข้าใจลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ครับ
จากเมื่อครู่ที่เรากำลังจะไปซื้อตราสารหนี้รัฐบาลระยะสั้นที่จะจ่ายเรา 1000 ดอลล่าห์เมื่อถึง maturity ท้ายปีที่มียีลด์ -1% แปลว่าเราจะต้องซื้อมันตอนนี้วันนี้ที่ราคา 1010 ดอลล่าร์เพื่อแลกกับเงินแค่ 1000 ดอลล่าร์ในอนาคต แต่เราเป็นคนชอบบริโภคหลอดไฟ ราคาตอนนี้สมมุติว่าหลอดละ 10 ดอลล่าร์ ด้วยเงินก้อนเดียวกับที่ซื้อตราสารหนี้เมื่อครู่ (1010 ดอลล่าร์) เราสามารถซื้อได้ 101 หลอด แต่ถ้าในอนาคตท้ายปีนี้ราคาข้าวของร่วงตามภาวะเงินฝืดที่เราคาดไว้ ราคาหลอดไฟอาจเหลือแค่หลอดละ 9.5 ดอลล่าร์ เราสามารถควักเอาเงินสด 1010 ดอลล่าร์ก้อนขนาดเดียวกับเมื่อครู่นี้มาซื้อได้ถึง 106.32 หลอด แน่นอนว่านักลงทุนสมัยใหม่คงไม่สะดวกกับการเก็บเงินสดไว้เป็นฟ่อนๆ ไว้ในหีบ เอาเป็นว่าถ้าลงทุน 1010 ดอลล่าร์ในตราสารหนี้วันนี้ให้ได้ 1000 ดอลล่าร์มาในวันหน้า เราจะสามารถเอา 1000 ดอลล่าร์นี้ไปซื้อหลอดไฟท่ามกลางภาวะเงินฝืด (9.5 ดอลล่าร์ต่อหลอด) ในอนาคตได้ถึง 105.26 หลอด ซึ่งมากกว่า 101 หลอดถ้าเราเอาเงิน 1010 ดอลล่าร์ไปซื้อหลอดไฟตั้งแต่ต้นปีแทน
เหตุผลที่สอง: นักลงทุนเก็งว่าราคาของตราสารหนี้รัฐบาลจะพุ่งขึ้นไปอีก เรียกง่ายๆ ว่าเป็นกลยุทธ์ buy low sell high เอาไว้ขายต่อเอา capital gains แบบพื้นบ้านนั่นเอง
ข้อนี้เข้าใจง่ายที่สุด เพราะมันเป็นไปตามกฎธรรมชาติของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางยุโรป ECB กำลังเริ่มทำ QE ของตน นักลงทุนบางค่ายมองว่าจากที่เคยเห็นปรากฏการณ์ QE ในสหรัฐฯและอังกฤษมาแล้วมันมีความเป็นไปได้สูงที่การซื้อของ ECB จะมีแรงดันให้ราคาของตราสารหนี้รัฐบาลสูงขึ้นไปเรื่อยๆ นักลงทุนเหล่านี้ก็เลยอยากขี่คอ ECB ขึ้นดอยไปด้วยคนนั่นเอง
เหตุผลที่สาม: เล่นค่าเงินทางอ้อมผ่านตราสารหนี้
ตราสารหนี้สวิตเซอร์แลนด์ให้ผลตอบแทนติดลบนิดหน่อยก็จริง แต่หากคุณซื้อมันเอาไว้เมื่อปีที่แล้วคุณจะได้ผลประโยชน์จากการแข็งค่าขึ้นกว่า 20-30% ของค่าเงินสวิสฟรังก์หลังจากที่ธนาคารกลางเขาเลิกตรึงค่าเงินไปเมื่อเดือนก่อน! แต่ที่ไม่ค่อยเข้าใจคือถ้าจะเล่นค่าเงิน ทำไมไม่เล่นค่าเงินตรงๆ ทำไมต้องเล่นผ่านตราสารหนี้? หรือเป็นเพราะกองทุนบางประเภทมีกฎหมายห้ามลงทุนในค่าเงินต้องลงทุนแต่ในอะไรที่ปลอดภัยแต่ยังอยากหาวิธีฉลาดๆ เพิ่มผลกำไรจึงไปซื้อตราสารหนี้ประเทศที่คิดว่าค่าเงินจะแข็งขึ้นก็เป็นได้ ฟังดูอันตรายชอบกลนะครับข้อนี้
เหตุผลที่สี่: นักลงทุนบางสังกัดยังไงก็ต้องซื้อและถือตราสารหนี้รัฐบาล
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้อที่สาม ยังไงก็ยังมี institutional investors ที่อาจจะมีข้อบังคับที่จะต้องเอาเงินไปลงทุนใน asset ที่ “เสี่ยงน้อย” เท่านั้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงในสถานะทางการเงิน เมื่อมีเงินไหลเข้ามาในมือก็ต้องนำเงินเหล่านี้ไปลงที่ไหนสักแห่ง ก็จะไปไหนได้ มีอยู่ไม่กี่ที่ๆ เอาเงินไปปักหลักได้ตามที่ข้อบังคับกำหนดไว้ นี่จึงเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงดันให้บอนด์ยีลด์ตกลงไปอีก
เหตุผลที่ห้า: ลบน้อยๆ ดีกว่าลบมากๆ ได้เงินคืนดีกว่าเสียไปหมดเลย
ข้อนี้เหมือนกับว่าเราต้องเรียนเส้นจำนวนกันใหม่ ว่าข้างใต้เลขศูนย์มันมีอะไรบ้าง ขณะนี้มีบางประเทศ เช่นสวิตเซอร์แลนด์ที่ธนาคารกลาง SNB เขาตั้ง deposit rate ที่ -75 basis point ทำให้ธนาคารในประเทศเหล่านี้จะต้องคิดหนักว่าจะเอาเงินไปวางไว้ที่ไหนดี ทางเลือกที่ติดลบไม่เท่ากับ 75 basis point และอาจมีโอกาสขายต่อทำ capital gains ได้จึงกลายเป็นดีขึ้นมานั่นเอง นอกจากนี้แล้วยังอาจเป็นไปได้ว่านักลงทุนบางฝ่าย risk averse ถึงขั้นที่ว่ายอมเอา returns of capital ก็โอเคแล้ว ไม่ต้องมี returns on capital ก็ได้… พูดง่ายๆ ก็คือถ้าวันที่วิกฤตการเงินมาถึง แม้ว่าบริษัทต่างๆ หรือธนาคารจะล่มไปหมดแล้ว แต่รัฐบาลน่าจะยังคืนเงินให้เราได้ (ซึ่งก็ไม่จริงเสมอไป!)
ตอนนี้ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ 100% ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ที่เห็นชัดๆ 100% ตอนนี้คือพฤติกรรมเก็งกำไรด้วยการซื้อสินทรัพย์ที่มีป้ายบอกว่า “ปลอดภัย” โดยนักลงทุนจำพวกทั้งที่เก็งกำไรได้ไม่เป็นไรและนักลงทุนจำพวกที่ไม่ควรเก็งกำไรแบบเสี่ยงๆหรือไม่ควรเข้าไปมีเอี่ยวเพราะตัวเองมีความเกี่ยวโยงกับ real economy สูงและถ้าล้มขึ้นมาจะก่อ systemic risk ได้ง่ายๆ
เรากำลังเริ่มเห็นการเข้าซื้อตราสารหนี้รัฐบาลเป็นว่าเล่น เริ่มเห็นว่าตราสารหนี้รัฐบาลสามารถกลายเป็นช่องทางเก็งกำไรระยะสั้น แถมเป็นช่องทางการเก็งกำไรค่าเงินได้ไปในตัว เห็นทีถ้าเราดูภาวะนี้ไปนานๆ น่าจะเริ่มเห็นคำว่า “bubble” ลอยๆ เข้ามาก็เป็นได้
ธนาคารกลางหลายแห่งเคยประกาศไว้ว่าจะสู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำเฉื่อยชาได้โดยการอัดฉีดเงินในรูปแบบที่เรียกว่า QE เพื่อลดดอกเบี้ย เวลาผ่านไปห้าหกปีตลาดหุ้นบางแห่งฟื้นขึ้นก็จริงแต่ผู้เขียนกังวลว่าอาจมีผลระยะยาวต่อพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุนกับธนาคารกลางท่ามกลางระบบการเงินที่เพี้ยนขึ้นทุกวัน
ทุกวันนี้ธนาคารกลางและผู้นำหลายฝ่ายต่างก็ต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นและเพื่อให้เราไม่ตกลงไปในภาวะเงินฝืด แต่ความเป็นจริงคือนักลงทุนกลับโต้ตอบด้วยการแห่กันไปซื้อบอนด์ยีลด์ติดลบเพราะว่าคนทั้งโลกเขากำลังเก็งว่าเศรษฐกิจจะเน่าไปเรื่อยๆ และภาวะเงินฝืดจะต้องมาเยือนเราอย่างแน่นอน
มีใครคิดบ้างไหมว่าถ้าฝันของเราเป็นจริง เศรษฐกิจมันเกิดฟื้นขึ้นมาหรือเงินเฟ้อมันโผล่ขึ้นมาได้มันจะเกิดอะไรขึ้นกับความเสียหายของนักลงทุนทั้งหมดที่เทเงินลงไปในตราสารหนี้ที่แพงเกินจริงอย่างในขณะนี้
เวลาเรามองเห็นคำว่า “พฤติกรรมเก็งกำไร” เข้ามาปนๆ กับคำว่า “ตราสารหนี้รัฐบาล” หรือ “สินทรัพย์นี้ปลอดภัยชัวร์!!!” เราเดาได้เลยว่ามันคงจบไม่สวยแน่ เพราะเราเห็นมามากแล้วว่าโลกนี้ไม่มีสินทรัพย์อะไรที่มันปลอดภัยจริงๆ อย่างที่ป้ายบอกไว้
หากมีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ในอนาคตพวก Too Big Too Fail ก็คงจะรอดตัวไปได้อีกเพราะว่ากฎหมาย Dodd-Frank Act นั้นยังไม่เข้มงวดพอ หวังว่าสุดท้ายแล้วประชากรที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะไม่ต้องแบกรับกรรมเหมือนเมื่อห้าหกปีที่แล้วอีกรอบ
ขอให้ผู้อ่านทุกท่านโชคดีครับ
qe ตราสารหนี้ ลงทุน สวิตเซอร์แลนด์ หนี้สาธารณะ เศรษฐกิจโลก เศรษฐศาสตร์
Recent Comments