menu Menu
วิจัยข้ามศตวรรษ: "คันไถ" กับบทบาทของผู้หญิงในสังคมสมัยใหม่
By ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Posted in เศรษฐศาสตร์ภาษาคน on September 9, 2014 One Comment 17 words
5 วิธีพัฒนาการศึกษานอกรั้วโรงเรียน Previous [Life+] วิธีเลือกซื้อร่มให้คุ้มที่สุด Next

ในหลายประเทศ เพศหญิงยังคงเป็นเพศที่ถูกเอาเปรียบและกดดันทั้งในด้านการศึกษา ความปลอดภัย โอกาสทางหน้าที่การงาน และการมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง  รายงานจาก UN พบว่าผู้หญิงและเด็กหญิงในประเทศอียิปต์กว่า 99.3% เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ   ในแบบสอบถามของ World Values Survey (หากสนใจอ่านเรื่องของประเทศไทยคลิกที่นี่) ชาวอียีปต์กว่า 99.6%เห็นด้วยว่าเพศชายควรได้สิทธิในการได้ทำงานมากกว่าเพศหญิงเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่คนจากประเทศไอซ์แลนด์เพียงแค่ 3.6% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับความคิดแบบนี้

อะไรคือต้นตอของความแตกต่างของบทบาทและจุดยืนทางสังคมของเพศหญิงในแต่ละประเทศ ? งานวิจัยชิ้นโบแดงของ Alesina, Giuliano, และ Nunn (2013) ทดสอบสมมุติฐานพิลึกที่ว่าความแตกต่างของบทบาทของทั้งสองเพศในแต่ละสังคมในสมัยใหม่นั้นมีต้นตอมาจากวิธีที่บรรพบุรุษสมัยก่อนทำการเกษตรและสามารถสรุปได้ว่าสมมุติฐานนี้เป็นเรื่องจริง

คันไถข้ามศตวรรษ

ploughstar

ในสมัยก่อนสังคมที่ทำการเกษตรแบบไถ (Plough Cultivation) นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแบ่งเวลาและแรงงานมาเตรียมดินก่อนที่จะเริ่มทำการเกษตร  เนื่องจากว่าการทำการเกษตรแบบไถนั้นต้องการความแกร่งของร่างกายท่อนบนเพื่อคุมคันไถหรือคุมสัตว์จึงเกิดการแยกบทบาททางการงานของทั้งสองเพศขึ้นโดยที่ผู้ชายมักจะออกนอกบ้านไปทำงานในทุ่ง ส่วนผู้หญิงมักจะ specialize ในงานบ้าน  ซึ่งทำให้บทบาทของหญิงชายในสังคมที่ทำการเกษตรแบบนี้แตกต่างจากในสังคมที่ทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย (Shifting Cultivation) เป็นอย่างมาก

เนื่องจากมีการแยกแยะหน้าที่ในการทำงานระหว่างหญิงชายที่ชัดเจนแบบนี้ เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีการยึดถือเป็น “ความเชื่อ” ในเรื่องของบทบาทที่เหมาะสมสำหรับแต่ละเพศนั่นเอง  โดยที่นักวิจัยเหล่านี้คิดว่ามุมมองและความเชื่อเหล่านี้ที่ยังหลงเหลืออยู่กับมนุษย์เรามาได้จนถึงทุกวันนี้แม้ว่าระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่นั้นจะไม่ได้พึ่งพาการทำเกษตรเท่าสมัยก่อนแล้ว อาจเป็นผลพวงมาจาก…

  1. ระบบของสังคม นโยบายรัฐบาล และกฎหมายอันเก่าแก่ที่สามารถหล่อหลอมสังคมยุคหลังได้ด้วยการปรับเปลี่ยนสิทธิบางอย่างเช่นสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย การเลือกตั้ง หรือนโยบายการลาบุตร
  2. วงจรถึก ซึ่งเกิดจากความเชื่อว่าสองเพศนั้นเก่งไม่เท่ากันตั้งแต่แรก จึงทำให้สังคมพยายาม specialize ในสิ่งที่เน้นถึกมากกว่า
  3. ความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ “ตายยาก” ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ จะเปลี่ยนไปมากแล้วก็ตาม

นักวิจัยทั้งสามท่านนั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าสังคมที่เคยมีการทำการเกษตรแบบไถในสมัยก่อนจะมีความไม่เท่าเทียมกันในบทบาทของทั้งสองเพศมากกว่าสังคมอื่น ๆ

ที่น่าสนใจกว่านั้น งานวิจัยชิ้นนี้ยังสามารถพิสูจน์ว่าสาเหตุที่ 3 ด้านบนนั้นเป็นจริงอย่างที่สันนิษฐานไว้โดยการดูผู้ที่อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่ ๆ มีสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

เชื่อมข้อมูลยุคดึกดำบรรพ์กับข้อมูลยุคใหม่

ploughmap

งานวิจัยนี้สามารถตีพิมพ์ใน Journal ที่ดีที่สุดของสาขาเศรษฐศาสตร์ได้ก็เพราะว่านักวิจัยสามท่านนี้สามารถเชื่อมข้อมูลยุคหินกับข้อมูลยุคดิจิตอลได้อย่างไม่น่าเชื่อ

โดยนักวิจัยทั้งสามได้ข้อมูลการทำการเกษตรก่อนยุคอุตสาหกรรมมาจาก the Ethnographic Atlas ซึ่งรวมข้อมูลการทำเกษตรจากรอบโลกไว้กว่า 1,265 กลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน  เมื่อทราบแล้วว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไหนมีการทำการเกษตรแบบไถนักวิจัยทั้งสามก็สามารถทำการเชื่อมมันกับข้อมูลการทำงานของแต่ละเพศในสมัยก่อน (เพื่อเช็คว่าคันไถนั้นทำให้เกิดการแบ่งแยกทางหน้าที่การงานขึ้นจริง)  ซึ่งน่าประทับใจมากที่ข้อมูลเขาดีพอที่จะทำการควบคุมตัวแปรอื่น ๆ เช่น มีหมูหมากาไก่ชนิดไหนบ้างแล้วในตอนนั้น มีความเจริญทางวัตถุ ทางผังเมือง ทางการเมืองการปกครองแล้วในระดับไหน เป็นต้น 

หลังจากนั้นนักวิจัยก็ทำการเชื่อมข้อมูลดึกดำบรรพ์เข้ากับข้อมูลสมัยใหม่เพื่อที่จะทดสอบสมมุติฐานหลัก โดยวิธีของเขาคือการใช้ข้อมูลของการใช้ภาษากว่า 7,612 ภาษาในแต่ละดินแดนของโลกเป็น “ตัวเชื่อม” กับ ภาษาที่ 1,265 กลุ่มชาติพันธุ์ใช้กันในสมัยก่อนเพื่อดูว่าลูกหลานของคนยุคก่อนทั้ง 1,265 กลุ่มชาติพันธุ์พวกนี้สุดท้ายแล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศใดในปีค.ศ. 2000 จากนั้นก็คิดเป็นสัดส่วนของประชากรของแต่ละประเทศ… ต้องยอมรับเลยว่าเป็นวิธีที่เท่ห์มาก ๆ ครับ

เมื่อเชื่อมข้อมูลได้ถูกต้องแล้วก็สามารถดูว่าการมีคันไถนั้นมีผลอย่างไรกับตัวแปรตามเช่น ผลสำรวจเรื่องมุมมองต่อบทบาทของทั้งสองเพศ ความเท่าเทียมกันของทั้งสองเพศ และบทบาทของผู้หญิงในตลาดแรงงาน เป็นต้น

คันไถเปลี่ยนสังคม…หลายร้อยปีให้หลัง…ในหลายประเทศ

6164541970_f4c306e360_z

หลังจากการทำการวิเคราะห์เศรษฐมิติอย่างเรียบร้อยและรัดกุมแล้ว นักวิจัยพบว่าการมีคันไถในสังคมสมัยก่อนทำให้

  1. เกิดการแบ่งแยกหน้าที่การงานระหว่างสองเพศในสมัยก่อนจริง (ชายไปทุ่ง หญิงอยู่บ้าน)
  2. ลดอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของเพศหญิงในยุคปัจจุบัน
  3. ลดอัตราการมีเป็นเจ้าของกิจการของเพศหญิงในยุคปัจจุบัน
  4. ลดอัตราการมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองของเพศหญิงในยุคปัจจุบัน

ผลวิจัยเหล่านี้ยังคงกระพันแม้ว่าเราจะเข้าไปสำรวจในแต่ละประเทศทีละประเทศเพื่อเช็คว่าสิ่งที่เราพบไม่ได้มาจากแค่ความแตกต่างของวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ

นอกจากนั้นงานวิจัยชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าภูมิศาสตร์และภูมิอากาศตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดการใช้คันไถขึ้นหรือไม่และสามารถทำนายได้ว่าสังคมสมัยใหม่จะเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างทั้งสองเพศหรือไม่ สาเหตุคือความเหมาะสมในการใช้คันไถสำหรับแต่ละสภาพของดินฟ้าอากาศ เพราะว่าการปลูกพืชชนิดที่ใช้คันไถนั้นส่วนมากจะต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ ในดินที่ไม่ตื้น พื้นที่ไม่เอียง และไม่มีหินเกินไป

ที่น่าสนใจที่สุดคงจะเป็นผลวิจัยที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเชื่อเรื่องบทบาทของหญิงชายในสมัยก่อนนั้นสามารถแฝงตัวมาถึงทุกวันนี้ได้แม้กระทั่งสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างไม่มีเค้าเดิม จากการทำการศึกษากลุ่มลูกหลานของผู้ที่อพยพไปอยู่ในประเทศอื่น  พบว่าผู้อพยพที่มีบรรพบุรุษมาจากสังคมที่มีการใช้คันไถนั้นจะมีความคิดที่ความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายน้อยกว่าคนอื่นในประเทศเดียวกัน และหากหากผู้อพยพผู้นั้นเป็นเพศหญิงก็จะการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่น้อยกว่าด้วย

บทส่งท้าย

หลายอย่างในสังคมศาสตร์นั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้ง่าย ๆ  ไม่สามารถทำการทดลองในห้องแล็ปได้เหมือนการทดลองฟิสิกส์  แม้จะมีข้อจำกัดอีกมากแต่งานวิจัยชิ้นนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างทองคำที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของการเก็บข้อมูลคุณภาพและการใช้ข้อมูลและทฤษฎีอย่างชาญฉลาด  ทำให้เราเริ่มเห็นที่มาที่ไปของสังคมมนุษย์และเข้าใจต้นตอของสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในยุคปัจจุบันมากขึ้น

หลายคนอาจมองว่าประเทศในยุโรปและประเทศใหม่ ๆ ที่แตกออกมาจากยุโรปเช่นประเทศอเมริกา ทั้งหมดนี้เคยมีการใช้คันไถแต่ทำไมสังคมเขามีความเท่าเทียมกันระหว่างทั้งสองเพศล่ะ? คำตอบคือนี่เป็นมุมมองที่คาดเคลื่อน เพราะที่จริงแล้วแม้ประเทศเหล่านี้จะมีความเท่าเทียมกันมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลก แต่ก็ไม่ได้ทำได้ดีกว่าซักเท่าไหร่นัก ยกตัวอย่างเช่นอเมริกามีผู้หญิงแค่ 13% ของตำแหน่งนักการเมือง อยู่ที่อันดับ 50 จาก 156 ประเทศ  ส่วนการมีส่วนร่วมในแรงงานของผู้หญิงก็มีแค่ 59.5% เท่านั้น (อันดับ 47 จาก 181 ประเทศ)

หลังจากที่สมมุติฐานนี้ถูกพิสูจน์ว่ามีความจริงอยู่สูง ผมคิดว่าหลาย ๆ อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ประเทศรวย ประเทศจน ประเทศไหนมีพละกำลังมาก บางทีมันอาจจะขึ้นอยู่กับแค่ว่าภูมิอากาศสมัยบรรพบุรุษของเขาเป็นอย่างไรก็เป็นได้ครับ

ความเชื่อ ความเท่าเทียมกัน คันไถ วิจัย


Previous Next

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Cancel Post Comment

  1. สนใจอยากอ่านงานวิจัยฉบับเต็มของคันไถ กับบทบาทของผู้หญิงในสังคมสมัยใหม่ค่ะหาอ่านได้ที่ไหนคะ

keyboard_arrow_up