วิกฤตหมีขาวรัสเซียและวิกฤตค่าเงินฟรังก์สวิสหรือจะสู้วิกฤต “ความโสด”
บางคนเพรียกหาความรักแต่ไม่เคยสมหวัง บางคนเนื้อหอมแต่กลับทำใจสละโสดไม่ได้ บางคนสละโสดได้แต่เก็บรักษาความรักไว้ไม่ได้ ปัญหาหัวใจเหล่านี้เป็นปัญหาให้กับคนทั้งโลกไม่ว่าสังคมที่ตนอยู่อาศัยจะพัฒนาแล้ว จะด้อยพัฒนา จะมีวัฒนธรรมบังคับให้คลุมถุงชน หรือจะเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนใช้เว็ป online dating เพื่อหาคู่ ทุกคนล้วนที่จะต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ระดับหินว่า “จะสละโสดดีไหม ทำไม ให้กับใคร และเมื่อไหร่”
บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดของผู้เขียนเองปนๆ ไปกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และแนวคิดในการลงทุนในรูปแบบที่อ่านง่ายๆ เพื่อช่วยตอบโจทย์นี้ เผื่อว่าผู้อ่านบางท่านจะนำข้อคิดเหล่านี้ไปเป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์ภาวะความรักหรือแก้วิกฤตความโสดของตัวเองกันครับ
***ปล.1 settaKid.com ไม่รับผิดชอบผลลัพธ์ของภาวะความรักของคุณที่จะมาจากการนำข้อคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง!!
***ปล. 2 ข้อคิดเหล่านี้ assume ว่าเรามีเป้าหมายทำให้ตัวเราเองได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงสำหรับแต่ละคนก็แล้วแต่กรณีไป
***ปล.3 การใช้คำว่า “ราคา” และ “ตลาด” ในบทความนี้ไม่ได้หมายความว่าความรักหรือร่างกายและจิตใจคนซื้อขายได้ด้วยเงินทองอย่างเดียว แต่แปลว่าในโลกเรามีการนำทรัพยากรบางอย่าง จะเป็นหยาดเหงื่อ เงินทอง ดอกไม้ ตุ๊กตา ความซื่อสัตย์ หรือความจริงใจก็ตามแต่มาแลกกับสินค้าและบริการที่ผลิตออกมาจากสิ่งที่เรียกว่าความรัก
***ปล.4 “ความรัก” ในบทความนี้หมายถึง romantic love ไม่นับรักพ่อแม่รักพี่น้อง “ความโสด” ในที่นี้นั้นหมายถึงการที่ยังไม่มี “serious relationship”
ไม่ว่าจะวิกฤตการเงินหรือวิกฤตความรัก เราจะคลี่คลายวิกฤตได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจต้นตอของมัน
ต้นตอของวิกฤตนี้มีที่มาจากคำถามที่ว่า “จะมีคู่หรือไม่มีคู่ดี”
เราจะตอบคำถามแรกนี้ได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักตัวเองดีพอ ต้องคิดให้ได้ก่อนว่าที่จริงแล้วเราต้องการอะไรในชีวิต ทั้งในขณะนี้และในอนาคต
หลายคนอาจไม่มอง “ความรัก” ในลักษณะนี้ อาจจะคิดว่าเราอยากคบใครเมื่อไหร่ก็คบ ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่หากเราคิดดูดีๆ ยังไงเราก็จะต้องตอบคำถามชีวิตและเข้าใจความต้องการของเราอยู่ดีไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้เพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตรักนั้นมีเวลาจำกัด เมื่อเวลาผ่านไปแล้วไม่หวนคืนกลับมา เช่น การตัดสินใจมีบุตร หรือ จำนวนคู่ครองเป้าหมายที่ยังมีสถานะเป็นโสดอยู่และมีคุณลักษณะที่เราต้องการ
ตัวอย่างของคำถามที่เราควรถามตัวเองก่อนตัดสินใจสละโสดเพื่อคบหากับใครบางคนอย่างจริงจังคือ ในแต่ละห้วงเวลาต่างๆ ของชีวิตเรานั้นเราอยากใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร มีใครอยู่กับเราบ้างไหมตอนเราอายุ 30 แล้วตอนอายุ 70 ล่ะ เราอยากสร้างครอบครัวแบบไหน ตอนเราแก่เฒ่าเราอยากทำอะไร เราอยากมีลูกหรือเราอยาก adopt เราแคร์ไหมว่าสังคมจะมองชีวิตเรายังไงถ้าเราไม่มีคู่ครอง จากนั้นค่อยถามตัวเองว่าการมีคู่นั้นเป็นปัจจัยหลักในการทำให้ภาพในฝันเหล่านี้มันชัดขึ้นมาหรือไม่
ถ้าคุณตอบว่า “ใช่” ก็แปลว่าคุณจะต้องการสละโสดอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้และอาจเป็นความคิดที่ดีหากคุณเริ่มคิดถึงการค้นหาคู่ครองอย่างจริงจัง
เราคงเคยได้ยินกันว่าความรักหรือรักแท้เป็นอะไรที่ priceless เป็นอะไรที่มีมูลค่าสูงจนไม่สามารถตั้งราคาได้
แต่ใครๆ ก็ทราบว่านักเศรษฐศาสตร์มีนิสัยชอบแปะป้ายราคากับทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม จริงอยู่มันอาจจะไม่ได้มี “ป้ายราคา” เป็นตัวเป็นตนพร้อมบาร์โค้ดและคู่มือการใช้งานแปะอยู่บนหน้าผากของผู้ชายหรือผู้หญิงคนที่คุณหมายปอง แต่ทุกการกระทำมีผลดีผลเสีย มี trade off เสมอ การตัดสินใจจะมีคู่หรือจะคงสถานะความเป็นโสดอยู่ก็เหมือนกัน
สำหรับนักเศรษฐศาสตร์แล้วคนเราจะตัดสินใจ “รักจริงหวังแต่ง” หรือ “ขอแต่งงาน” กับคนๆ หนึ่งก็ต่อเมื่อผลลัพธ์ดีที่คาดว่าจะได้จากการคบกันนั้นสูงกว่าผลเสียหรือค่าใช้จ่ายที่จะมาในรูปแบบของ “alternatives foregone” เช่น การเป็นโสด หรือการแต่งงานกับคนอื่น เรียกได้ว่าจะ “เซ็นสัญญารัก” ก็ต่อเมื่อมั่นใจแล้วว่าคนที่หมายปองอยู่นั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว
คำถามถัดมาคือเวลาเราจะเทียบราคาหรือผลตอบแทนของการเป็นโสดกับการมีคู่ เราควรคำนึงถึงอะไรบ้าง
ที่จริงแล้วราคานี้จะขึ้นอยู่กับว่าคู่ครองเป้าหมายของเราคือใครและเขาอยู่ใน “ตลาดความรัก” ที่มีลักษณะอย่างไร หากมองมุมกว้างๆ แล้ว การเป็นโสดนั้นมองเผินๆ ดูเหมือนจะมีราคาที่ต่ำเพราะว่าไม่มีความผูกมัดทั้งทางกฎหมายและทางสังคม มีทางเลือกและทางหนีทีไล่มากมาย ไม่ต้องคำนึงถึงคำมั่นสัญญาใดๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนหักหลัง ไม่ต้องแบกรับความรับผิดชอบของอีกหนึ่งชีวิต (หรือชีวิตของเด็กตัวเล็กๆ อีกสองสามคน) เมื่อการคบกับคนๆ เดิมมันไม่คุ้มค่าเวลาก็สามารถเปลี่ยนไปคบคนใหม่ได้อย่างลื่นไหล transaction cost ทางจิตใจนั้นแทบจะไม่มี
แต่การเป็นโสดนั้นก็มีค่าใช้จ่ายแฝงมากอยู่เหมือนกัน 1) หนึ่งคือสังคมมักให้รางวัลคนที่มีคู่มากกว่าคนโสด เช่นบริษัทประกันมักมีทัศนคติที่ว่าคนโสดนั้นใช้ชีวิตที่โลดโผนกว่าคนที่แต่งงานแล้ว จึงมักเก็บเบี้ยประกันแพงกว่าคนที่แต่งงานมีลูกแล้ว 2) สองคือการมีคู่นั้นถ้าหาคู่ที่เหมาะสมได้อาจจะทำให้ชีวิตเราเติมเต็มขึ้นอย่างที่สถานะโสดทำให้เราไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” นั่นเอง ทั้งนี้คนโสดอาจเถียงว่าเป็นโสดแล้วอาจมีสิบหัวพร้อมๆ กันเลยก็ได้ แต่ผู้เขียนคิดว่ามนุษย์เราโดยธรรมชาติแล้วเป็นสัตว์ที่ไว้ใจอีกฝ่ายยากโดยเฉพาะในมิติของความรัก คนเราไม่น่าจะสามารถควบคุมความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและเปิดใจให้กับคนอื่นเป็นสิบๆ คนพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกันโดยไม่ทะเลาะกันบ้านแตกเสียก่อน
Gary Becker นักเศรษฐศาสตร์โนเบลรุ่นเก๋าได้ริเริ่มสร้างทฤษฎีสำคัญเกี่ยวกับ “การแต่งงาน” ที่ทำให้เราสามารถอธิบายพฤติกรรมการหาคู่ของมนุษย์ได้นอกเหนือจากการใช้แค่ชีววิทยาเป็นคำอธิบายหลัก เช่น การตอบคำถามว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนเราแต่งงานหรือหย่ากัน ทำไมแต่งงานเร็วไปถึงอาจจะนำไปสู่การหย่าร้างได้ง่ายกว่า เป็นต้น
ทฤษฎีของ Gary Becker นั้นอธิบายความรักและการแต่งงานได้ไม่ครบทุกมิติแต่ผู้เขียนก็ยังชอบมิติที่เขากล่าวเอาไว้ว่าการมีชีวิตคู่นั้นเปรียบได้คล้ายกับการทำธุรกิจขนาดย่อม ต่างฝ่ายต่างนำเสนอและแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนเองสามารถให้กับความสัมพันธ์ได้ Gary Becker คิดว่าฝ่ายหญิงมัก specialize ในการเป็นแม่ศรีเรือน ส่วนฝ่ายชายมัก specialize ในการหารายได้ เราจะเห็นได้ว่าชีวิตคู่เช่นนี้สามารถก่อให้เกิด “gains from trade” ได้คล้ายกับในกรณีการค้าระหว่างประเทศที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากการส่งออกสิ่งที่ตนถนัด
ถึงแม้ว่าในสมัยนี้ที่เราจะมีเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน มี Roomba (หุ่นยนต์ทำความสะอาดอัตโนมัติ) อาหารสำเร็จรูปที่อร่อย เร็ว และทำง่าย (และเอาใจไม่ยาก…) บวกกับการที่เพศหญิงสามารถทำงานหาเงินได้ไม่แพ้เพศชาย ผู้เขียนก็ยังคิดว่าทฤษฎีนี้ยังมีความเป็นจริงหลงเหลืออยู่ เพียงแค่สิ่งที่สองฝ่ายนำมาแลกเปลี่ยนกันอาจจะไม่ใช่แค่ความเป็นแม่ศรีเรือนหรือเงินทองเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป อาจจะเป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น เช่น การนำอุปนิสัยใหม่ๆ มุมมองโลกหรือประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อเติมเต็มและยกระดับชีวิตคู่ให้อยู่สูงเหนือกว่าชีวิตโสดของคนสองคนต่างหาก
หากมองในมุมนี้ ในอนาคตนั้นเหล่าพ่อค้าหรือแม่ค้าที่จะเสียประโยชน์ในตลาดความรักก็คงจะเป็นคนที่พยายามเอาอะไรที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำได้ดีหรือที่หาซื้อได้ตามตลาดและถูกกว่ามาแลกเปลี่ยนนั่นเอง
แต่การตัดสินใจจะสละโสดนั้นยากขึ้นมากเนื่องจากสังคมสมัยใหม่ของมนุษย์นั้นสนับสนุนให้คนที่มีคู่นั้นแต่งงานเพื่ออยู่กับคนๆ เดียวตลอดไป (ยกเว้นบางศาสนา) ซึ่งหากลองคิดดูดีๆ แล้วธรรมชาติไม่ได้สร้างข้อบังคับนี้ขึ้นมา อีกทั้งข้อบังคับนี้ยังขัดกับทางทฤษฎีด้วยซ้ำที่พยากรณ์เอาไว้ว่าฝ่ายชายจะต้องการภรรยาจำนวนมากขึ้นเมื่อตนมีรายได้มากขึ้น (หรือว่านี่คือที่มาของการมีชู้…) ด้วยเหตุที่ว่าสัญญาของคู่ครองนั้นไม่เหมือนกับสัญญาในการค้าขายหรือการจ้างพนักงานที่มีการฉีกและเซ็นใหม่อยู่เรื่อยๆ กับคู่ค้าใหม่ๆ หรือพนักงานใหม่ๆ เมื่อความสัมพันธ์ดิ่งลงเหวคนที่มีคู่แล้วจึงมักจะไม่สามารถออกจากสัญญาเก่าได้ง่ายๆ เมื่อเซ็นสัญญารักไปแล้วต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีโอกาสได้ทดลองของใหม่ที่อาจดีกว่าเก่าอย่างคนโสดทั่วไป หากค่าใช้จ่ายในการฉีกสัญญารักยังสูงอยู่ (เช่น ความยากง่ายของการหย่าร้าง หรือ ความเจ็บปวดของจิตใจเรา) จุดนี้จะทำให้เราเห็นว่าการตัดสินใจจะมีคบใครบางคนอย่างจริงจังหรือจะเป็นโสดนั้นไม่ง่ายอย่างที่เราคิดและอาจจะต้องไปวัดกันที่ว่าคู่ครองที่จะสามารถสร้างชีวิตคู่ในฝันร่วมกับเรานั้นมีตัวตนอยู่ใน “ตลาด” ที่เราสามารถเข้าถึงได้จริงๆ หรือไม่
หากใครยังกังวลว่าเราไม่สามารถเทียบราคาหรือผลตอบของการเป็นโสดหรือการมีคู่ได้ ขอให้ลองสำรวจตลาด ทำ market research ไปพลางๆ ก่อนเพราะพลังของอุปสงค์และอุปทานบวกกับลักษณะของตลาดจะเป็นตัวกำหนดว่าตัวเลขนั้นจะตั้งอยู่ที่เท่าไหร่ อีกทั้งสิ่งเหล่านี้ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนด “โอกาสจีบติด” และ “ค่าแรง” ของเราด้วยว่าเราจะต้องลงทุนทรัพยากรของเรามากแค่ไหน
หากเราต้องการคู่ครองที่มีคุณลักษณะที่หายากในตลาดและมีคนมากมายหมายปอง (สมัยนี้หน้าตาอาจจะไม่นับว่าเป็นอะไรที่หายากมากแล้วก็ได้เพราะว่าอาจเปลี่ยนได้ด้วยศัลยกรรม) เราจะลำบากที่จะต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งผู้ซื้อมากมายและลักษณะตลาดที่มีผู้ขายเพียงคนเดียวที่สามารถทำตัวเป็น monopoly ในตลาดนั้นและเรียก “ราคาจีบติด” ที่สูงกว่าปกติได้ ไอเดียนี้คล้ายๆ กับคำพูดที่ว่า “หล่อ/สวย/รวย เลือกได้” และอาจอธิบายได้ว่าทำไมคนที่ popular มากๆ สมัยตอนเราเด็กๆ มักจะมีรุ่นพี่ซื้อดอกไม้ ตุ๊กตาใหญ่โตมาถมแทบไม่เห็นโต๊ะเรียน ในขณะที่คนที่ไม่ popular เท่าแค่ลูกอมหรือแค่เปลือกลูกอม heartbeat ยังไม่มีใครเอามาให้สักชิ้น!
หากคุณเคยผิดหวังกับราคาและการกระทำของคู่แข่งในอดีต เห็นทีคุณจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ไม่เปลี่ยนความต้องการใหม่หมดเลยก็เปลี่ยนไปหาตลาดที่มีผู้ซื้อจำนวนน้อยลง อาจจะเปลี่ยนไปหาคนแบบเดิมนอกที่ทำงาน เช่น ในสังคมอื่น แวดวงเพื่อนอื่นๆ หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อทำให้อำนาจในการต่อรองราคาของคุณสูงขึ้นด้วยการเป็นคนดีขึ้นหรือดูแลรูปลักษณ์ตัวเองมากขึ้น
เราคงเคยได้ยินว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” คำเตือนนี้ยังคงความจริงนอกตลาดหุ้น ในตลาดความรักนั้นถ้าจะถือสั้นเราอาจไม่ต้องศึกษาอะไรมากนัก แต่หากจะถือยาวไปชั่วชีวิตเราคงจะต้องทุ่มเทพลังและเวลาเพื่อศึกษา fundamentals ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เป็นแมงเม่าไม่ได้นะงานนี้
อุปสรรคนี้มีต้นตอความเสี่ยงมาจากภาวะ “imperfect information” เวลาเราเลือกคู่ชีวิตเราไม่สามารถทราบได้ทุกอย่างเกี่ยวกับคนคนหนึ่งได้เหมือนกับเวลาเราจะเลือกซื้อสินค้าบางอย่าง เช่น iPad หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างที่โน๊ตอุดมเคยเล่าเป็นเรื่องตลกไว้ว่าทำไมเวลาคบหากันมันถึงไม่มีคู่มือการใช้งานแนบมาด้วย ก่อนเราจะซื้อ iPad เรารู้ spec ทุกอย่างเกี่ยวกับความสามารถ น้ำหนัก ความบาง ความเร็ว พลังงาน ความสวยงาม ความฉลาด หรือรู้แม้กระทั่งความง่ายในการขายต่อและราคามือสอง ตอนแรกๆ ที่เรากำลังลังเลเลือกคู่ของเรารู้อะไรแค่ไหนกันเชียวจากการไปดูหนังหรือกินข้าวด้วยกันไม่กี่มื้อ
ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมานั่งคิดดูให้ดีว่าราคาค่าตัวที่แปะอยู่บนบ่าคนในฝันของเรานั้นมันเหมาะสมกับคุณลักษณะทั้งที่จับต้องได้ (รูปลักษณ์และฐานะ) และทั้งที่มองไม่เห็น (ใบหน้าข้างใต้ make-up จิตใจเบื้องลึก หนี้สินที่ซ่อนไว้ บุคลิกที่แท้จริงข้างหลังหน้ากาก ฯลฯ) ว่ามันคุ้มราคาหรือ alternatives foregone เช่น การคงความเป็นโสด ไม่จีบ หรือไปจีบคนอื่นหรือไม่
ยังมีอีกหลายคำถามที่น่าคิดมาก เช่น คนเราควรหลอกหรือโก่งมูลค่าตัวเองเพื่อเอาชนะคู่แข่งหรือไม่เวลาตัวเองหาคู่ในตลาดความรัก ผู้เขียนคิดว่าคงมีงานวิจัยทางทฤษฎีเกมที่จะช่วยตอบคำถามนี้ได้ ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่น่ามีประโยชน์ที่จะหลอกกันตราบใดที่ทุกคนอยาก “ถือยาว” และค่าใช้จ่ายในการหย่าร้างนั้นต่ำ ผู้อ่านเห็นว่าอย่างไรก็ comment มาได้ครับ
ทางเลือกที่ดีที่สุดคงจะเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เคยพูดเอาไว้ว่าให้ “คบหาดูใจกันไปก่อน” เก็บข้อมูลเอามาเทียบกับสิ่งที่ตัวเองต้องการให้มากที่สุดก่อนจะเซ็นสัญญา คำพูดนี้อาจจะฟังดูไม่ถูกใจวัยรุ่นเท่าไหร่นักแต่เป็นคำพูดที่ถูกทดสอบแล้วด้วยกาลเวลาเพราะมันสะท้อนปัญหาจากภาวะ imperfect information ได้ดีเหลือเกิน
ผู้เขียนคงตอบไม่ได้ว่า “อะไรคือความรัก” แต่คิดว่าบทความนี้ตอบได้ว่า “อะไรไม่ใช่ความรัก”
ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างบนนั้นไม่ใช่ความรักต่ออีกคนเลยสักนิด เป็นแค่ความรักต่อตัวเองทั้งสิ้น
บางคนอาจคิดว่าเวลาคบกันใหม่ๆ ความหวานชื่นช่วงแรกที่หวานที่สุดนั้นคือความรัก แต่ผู้เขียนคิดว่าในช่วงนั้นความรักที่แท้จริงยังไม่ได้ผลิบานเลยด้วยซ้ำ…เป็นแค่การค้นหาเมล็ดพันธุ์ที่ตนต้องการเท่านั้น
กรอบความคิดเหล่านี้อาจจะพาคุณไปหาคู่ครองในฝันที่คุณวาดภาพเอาไว้ได้จริงในวันที่คุณทั้งสองเซ็นสัญญารักร่วมกันแต่มันไม่การันตีว่าสัญญาของคุณจะถูกต่อออกไปยาวจนชั่วชีวิตหรือจะมีความสุขอย่างที่ใฝ่ฝันเอาไว้ตั้งแต่ต้น
ความรักไม่ใช่แค่เกมหรือสัญญาระหว่างสองคู่ค้า หากมัวแต่ “เก็บแต้ม” แข่งกัน (ผมทำตั้ง 10 ทำไมคุณทำให้กับครอบครัวเราแค่ 7) หรือเอาสัญญาที่เคยเซ็นไว้มาคอยจับผิดกันตลอด สุดท้ายแล้วสิ่งที่ตามหามานานตั้งแต่ต้นก็จะไม่ใช่ความรักอีกต่อไป
สิ่งที่จะทำให้ชีวิตคู่มีความสุข มีรสชาติ และไม่เสียดายชาติเกิดจะมาจากการหมั่นดูแลดอกไม้ที่มาจากเมล็ดพันธุ์ที่คุณหามาได้ด้วยความรักและการกระทำของคุณหลังจากทั้งหมดนี้ต่างหาก
Happy Valentines Day ล่วงหน้าครับ
****1. สำหรับ tips เกี่ยวกับชีวิตคู่แนะนำให้อ่านบทความนี้ของ Huffington Post
****2. สำหรับแนวคิดเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการหาคู่ ขอแนะนำบทความที่เพื่อนผู้เขียนเคยเขียนไว้ในบล็อกนี้
****3. สำหรับใครที่สนใจภาวะคนโสดขอแนะนำบทความซีรีส์พิเศษนี้ เกี่ยวกับภาวะ fertility rate ตกต่ำ
เขียนได้น่ารักมากนะคะ อ่านแล้วชอบเลย เปรียบเทียบ เล่นคำได้น่ารักมาก
นั่งอ่านบทความของผู้เขียนย้อนหลังมาเรื่อย ต้องชื่นชมว่าใช่คำได้อ่านง่ายดีค่ะ
แต่เพิ่งทราบเหมือนกันว่า การมีคู่ ในแนวคิดนักเเศรษฐศาสตร์เป็นสไตลนี้
น่าสนใจ…ดิฉันเลยไดhไอเดียดีที่จาก บทความนี้ต่อมาเลยว่า
ผู้หญิงวัย 30 ที่ยังโสดล่ะ ลองเขียนจากสิ่งที่ตัวเองพบดู น่าสนใจ
ขอบคุณบทความดีๆค่ะ